ฝิ่นและภาษีฝิ่นทางหัวเมืองภาคใต้

         ฝิ่น เป็นยาเสพติดที่คนไทยรู้จัก และนำมาสูบกินกันหลายศตวรรษแล้ว โดยในระยะแรก ๆ จะนิยมนำมาใช้เป็นยาระงับประสาทก่อน ต่อมาภายหลังสูบกินกันจนติด และแพร่หลายออกไปจนกระทั่งกลายเป็นปัญหาทางด้านสุขภาพอนามัย และปัญหาสังคม สูญเสียทั้งกำลัง แรงงาน และเงินทองไปโดยเปล่าประโยชน์ มีปัญหาสืบเนื่องติดต่อกันไปถึงปัญหาอื่น ๆ ทางฝ่ายรัฐบาลจึงต้องยื่นมือเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังปรากฏหลักฐานในกฎหมายตราสามดวง เล่มที่ ๔ เกี่ยวกับพระอัยการอาญาหลวงว่า พระรามาธิบดีที่ ๑ (อู่ทอง) ได้ออกกฎหมายห้ามข้าราชการ ขุนนางไม่ให้สูบฝิ่นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๑๘๙๕ หลังจากตั้งกรุงศรีอยุธยาได้ ๒ ปี นับเป็นกฎหมายฉบับแรกที่เกี่ยวกับเรื่องฝิ่นในประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งกำหนดโทษไว้รุนแรงมากคือ ถ้าผู้ใดสูบฝิ่นถือว่าเป็นผู้ทรยศกบฏต่อแผ่นดิน ให้ลงโทษ ๖ สถานคือ ฟันคอ ริบเรือน ริบราชบาตรให้สิ้น ให้ไหมจตุรคูณ ให้จำไว้ ๗ วัน และให้หวดด้วยลวดหนัง ๒๕ ที…” อย่างไรก็ตามการสูบฝิ่นในสมัยอยุธยาคงไม่แพร่หลายไปสู่ราษฎรมากนัก เพราะมีเจ้าขุนมูลนายคอยดูแล และยังมีการผลิตฝิ่นอยู่ในวงจำกัดกว่าในสมัยต่อมา โดยเฉพาะตั้งแต่ตอนต้นสมัยรัตนโกสินทร์เป็นต้นมา

         ชัย เรืองศิลป์ ได้กล่าวถึงความเป็นมาของการนำเอาฝิ่นมาสูบไว้ในหนังสือ “ประวัติศาสตร์ไทย พ.ศ. ๒๓๒๕-๒๔๕๓ ด้านเศรษฐกิจ” ว่า ฝิ่นเป็นพืชที่ปลูกกันมากในมณฑลบังกะหล่า (ของอินเดียแล้วพ่อค้าอังกฤษนำมาขายให้แก่คนไทยและคนจีนในเมืองไทย ในขั้นแรกคนไทยถือว่า ฝิ่นเป็นยารักษาโรคไข้เจ็บ เข้าใจว่าจะนำฝิ่นไปผสมกับเครื่องยาหรือน้ำกระสายสำหรับดื่ม ต่อมามีชาววิลันดาที่อยู่ในเกาะไต้หวันริเริ่มเอาฝิ่นเข้าผสมกับบุหรี่สำหรับสูบแก้ไข้จับสั่น พวกจีนเอาอย่างไปทำบ้าง แล้วเปลี่ยนแปลงเป็นสูบฝิ่นล้วน ๆ เพื่อให้แก้ไข้ชะงัดขึ้น...” 

         ตั้งแต่ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๔ บริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษเริ่มสนใจที่จะนำฝิ่นจากอินเดียและตุรกีนำเข้าไปขายในประเทศจีนอย่างจริงจัง โดยนำเข้าไปยังจีนประมาณปีละ ๔,๕๐๐ หีบ หลังจากนั้นปริมาณฝิ่นที่นำเข้าไปยังจีนได้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งตอนปลายพุทธศตวรรษเดียวกันเพิ่มขึ้นมากกว่า ๘ เท่าตัว และฝิ่นเริ่มแพร่กระจายเข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย เพราะมีกุลีจีนซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่นิยมสูบฝิ่นอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก สิงคโปร์ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญของอังกฤษทางแถบนี้ ได้กลายเป็นแหล่งพำนักของสินค้าฝิ่น ก่อนที่พ่อค้าจีนจะเป็นคนลักลอบนำเข้ามาขายยังชุมชนชาวจีนในประเทศต่าง ๆ รวมทั้งบริเวณหัวเมืองชายฝั่งทะเลของไทยทั้ง ๒ ฝั่งของภาคใต้และฝั่งตะวันออกของอ่าวไทย ระยะหลังได้แพร่หลายขึ้นไปยังหัวเมืองภายในพระราชอาณาเขตมีการสูบฝิ่น กินฝิ่นกันแพร่หลายทั้งไทย จีน และเชื้อชาติอื่น ๆ จนกระทั่งกลายเป็นปัญหาสุขภาพอนามัย และปัญหาสังคมขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพิจารณาเห็นว่าจะปล่อยให้มีการสูบฝิ่น กินฝิ่นอย่างแต่ก่อนไม่ได้อีกแล้วจึงทรงหาทางที่จะระงับปัญหานี้โดยใช้มาตรการทางกฎหมาย กล่าวคือในปี พ.ศ. ๒๓๕๔ พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ประกาศใช้พระราชกำหนด “ห้ามสูบซื้อขายฝิ่นในพระราชอาณาจักรไทย” ถ้าใครขัดขืนจับได้ลงพระราชอาญา เฆี่ยน ๓ ยก ตระเวนบก ๓ วัน ตระเวนเรือ ๓ วัน ริบราชบาตรบุตรภรรยา และทรัพย์สิ่งของให้สิ้นเชิงแล้วส่งตัวไปตะพุ่นหญ้าช้าง

         ถึงแม้จะมีการกำหนดโทษผู้กระทำผิดเรื่องฝิ่นไว้อย่างรุนแรงก็ตาม แต่ไม่สามารถจะยับยั้งการแพร่ระบาดของธุรกิจเกี่ยวกับการลักลอบค้าฝิ่นได้ เพราะต้นตอของปัญหาอยู่นอกพระราชอาณาเขต พ่อค้าชาวจีนยังคงลักลอบนำฝิ่นเข้ามาขายตามหัวเมืองท่าของไทยอย่างเดิม โดยเฉพาะที่เมืองสงขลา นครศรีธรรมราช ไชยา ชลบุรี และระนอง จะมีมากเป็นพิเศษ เพราะมีชาวจีนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ยิ่งไปกว่านั้นมีการลักลอบนำเอาฝิ่นเทลงเรือขนาดเล็ก เพื่อนำเข้าไปจำหน่ายในหัวเมืองชั้นใน ลึกเข้าไปในพระราชอาณาเขตอีกด้วย ในปี พ.ศ. ๒๓๕๖ รัฐบาลกลางได้ส่งสารตราออกไปกำชับเจ้าเมืองท่าเรือทางภาคใต้ให้เข้มงวดในเรื่องการจับกุม และปราบปรามผู้ลักลอบค้าฝิ่นเป็นพิเศษ ถ้าละเลยจะเอาโทษเจ้าเมือง กรมการเมืองด้วย ดังปรากฏข้อความตอนหนึ่งในสารตราที่มีไปถึงพระยานคร (น้อย) เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชในปีเดียวกันว่า

         แต่นี้สืบไปเมื่อน่า ถ้าเรือเสาเรือใบลูกค้า ณ หัวเมืองใด จะเข้ามายังกรุงเทพมหานคร ให้เจ้าเมืองกรมการตรวจตราค้นคว้าดูแลจงกวดขัน อย่าให้ผู้ใดเอาฝิ่นเข้าไป ณ กรุงเทพฯ แต่เฟื้องหนึ่งขึ้นไปได้เป็นอันขาดทีเดียว ถ้าแลเจ้าเมืองกรมการมิได้ตรวจตรา ให้เอาฝิ่นเข้าไปซื้อขาย ณ กรุงเทพฯ เจ้าพนักงานค้นคว้าจับฝิ่นได้ในเรือของผู้ใด ให้การว่ามาแต่เมืองใด จะเอาตัวเจ้าเมืองกรมการเป็นโทษ...” 

         แม้จะมีกฎหมายกำหนดโทษผู้ลักลอบซื้อขายฝิ่นอย่างรุนแรง และกำชับให้เจ้าเมืองกรมการกวดขันในเรื่องฝิ่นเป็นพิเศษแล้วก็ตาม แต่ขบวนการลักลอบค้าฝิ่นในราชอาณาจักรไทยยังสามารถดำเนินการต่อไปได้โดยไม่มีการหยุดยั้งแต่อย่างใด และยิ่งนานวันดูเหมือนจะยิ่งเพิ่มมากขึ้นหลายเท่าทวีคูณ ทั้งนี้เพราะธุรกิจการค้าฝิ่นเป็นธุรกิจที่มีกำไรสูงมาก มีบุคคลเข้าไปเกี่ยวข้องมีผลประโยชน์เกือบทุกระดับ ตั้งแต่เจ้าเมือง กรมการ เจ้าภาษี นายอากร และจีนลูกค้าทั่ว ๆ ไป

         ระหว่างปี พ.ศ. ๒๓๘๒-๒๓๘๓ พระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ข้าหลวงออกไปชำระฝิ่นครั้งใหญ่ทั่วประเทศ ทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมือง ปรากฏว่าสามารถจับฝิ่นดิบได้ทั้งหมดมากกว่า ๓,๗๐๐ ก้อน และฝิ่นสุกอีก ๒ หาบ ในจำนวนนี้จับได้จากเมืองนครศรีธรรมราช ฝิ่นดิบ ๑,๐๐๐ ก้อน ฝิ่นสุก ๑๐ ชั่ง และเมืองสงขลาฝิ่นดิบมากกว่า ๑๔๖ ก้อน ฝิ่นสุก ๗ ชั่ง ๑๕ ตำลึงครึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่าจับได้จากเมืองสงขลาน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเจ้าเมืองไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องการค้าฝิ่นเลย แสดงให้เห็นอย่างแจ้งชัดว่าเจ้าเมืองสงขลามีส่วนรู้เห็นเป็นใจกับการลักลอบค้าฝิ่นอยู่ด้วย ซึ่งพระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบเป็นอย่างดี ในปี พ.ศ.๒๓๘๒ พระองค์ทรงมีรับสั่งไปยังพระยาศรีพิพัฒน์ (ทัด) แม่ทัพใหญ่ที่ยกออกไปช่วยเมืองสงขลาปราบกบฏเมืองไทรบุรีและบริเวณ ๗ หัวเมือง ให้เอาตัวพระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) เจ้าเมืองสงขลาในระยะดังกล่าว พร้อมด้วยผู้ซื้อขายฝิ่นในเมืองสงขลา มาสาบานตัวว่าจะไม่ทำการซื้อขายสนับสนุนพวกค้าฝิ่นอีก ดังปรากฏข้อความในจดหมายหลวงอุดมสมบัติตอนหนึ่งว่า “...ให้ช่วยชำระคนขายฝิ่นที่เมืองสงขลาเสียให้สิ้น แล้วให้ชักถามพระยาสงขลา (เถี้ยนเส้งว่า ได้ขายฝิ่นและรู้เห็นว่าผู้ใดซื้อขายบ้าง พระยาสงขลา (เถี้ยนเส้งก็ชุบเลี้ยงเป็นถึงเจ้าเมืองสงขลารู้อย่างธรรมเนียมอยู่แล้วให้บอกความแต่ตามจริงให้จงได้ แล้วให้ทำคำสาบานส่งออกมาให้เอาตัวพระยาสงขลา และผู้ซื้อขายฝิ่นมาสาบานเสียให้เข็ดหลาบ อย่าให้ทำต่อไปได้...” 

         หนังสือกระทำสัตย์สาบานของพระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) และผู้ซื้อขายฝิ่นในเมืองสงขลา ยังคงเก็บรักษาไว้ในห้องสมุดวชิรญาณ หอสมุดแห่งชาติ มีข้อความน่าสนใจดังนี้คือ

          “...ข้าพระพุทธเจ้า พระยาสงขลา และผู้มีชื่อซึ่งได้ซื้อฝิ่นขายฝิ่น ขอพระราชทานกระทำสัตยาธิษฐาน สบถสาบานตัว ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว จำเพาะพระพักตร์พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เจ้า 

         ด้วยตั้งแต่นี้สืบไปเบื้องหน้า ข้าพระพุทธเจ้าไม่ซื้อไม่ขายฝิ่น รู้เห็นเป็นใจให้ผู้อื่นซื้อขายฝิ่น และคบหาจีน แขก ฝรั่งนอกประเทศให้เข้ามาซื้อขายฝิ่นในบ้านในเมืองสงขลา และให้อุบายไปแก่จีน แขก ฝรั่ง ให้เอาฝิ่นเข้ามาเที่ยวขายในเมืองสงขลา และเมืองซึ่งอยู่ในขอบขัณฑสีมาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถ้าสลูบ กำปั่น เรือพาย เรือจีน เรือแขก เรือฝรั่งเอาฝิ่นเข้ามาซื้อขายในเมืองสงขลา ข้าพระพุทธเจ้าจะจับกุมเอาตัวเจ้าของฝิ่น และยาฝิ่นส่งเข้าไป ณ กรุงเทพฯ ลูกค้าในบ้านในเมืองสงขลายังซื้อขายฝิ่นก้อนฝิ่นสุกอยู่ ข้าพระพุทธเจ้ารู้ ถ้าซื้อขายกันแต่น้อย จะกระทำโทษให้เข็ดหลาบ ถ้ามากตั้งแต่หนักหนึ่งชั่งขึ้นไป จะจับเอาตัวเจ้าของฝิ่นและยาฝิ่นส่งเข้าไป ณ กรุงเทพฯ ไม่เห็นแก่อามิสสินจ้างสินบนปิดบังไว้จะตั้งอยู่ในความสัตย์สุจริต 

         ถ้าข้าพระพุทธเจ้ามิได้ตั้งอยู่ในคำสัตย์สาบานดังกล่าวมานี้ ขอให้เทพยเจ้าอันรักษาโลก ในมงคลจักรวาลแสนโกฏิจักรวาล พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระหลักเมือง พระกาฬ เทพยบุตรเจ้า ซึ่งรักษาเศวตฉัตร ดลพระทัยสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ให้ตัดผ่าอกข้าพระพุทธเจ้าแต่ในปัจจุบันนี้ แล้วขอให้ภูมิเทพยดา อากาศเทพยดา อักรักษ์เทพยดา รุกขเทพยดา ท้าวจตุโลกบาล ท้าวอัฏโลกบาล ท้าวทัศโลกบาล อันมีฤทธิ์สิทธิศักดิ์ จงสังหารผลาญชีวิตข้าพระพุทธเจ้าใน ๓ วัน ๗ วัน ตายให้บังเกิดในมหาอเวจี นรกหมกไหม้อยู่สิ้นแสนกัลป์อนันตชาติ ครั้นกาลจากที่นั้นแล้วจะไปบังเกิดในภพใด ๆ อย่าให้ ข้าพระพุทธเจ้าพบพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสงฆ์เจ้า ซึ่งจะมาโปรดข้าพระพุทธเจ้าเลยทุก ๆ ชาตินี้เถิด 

         แลผู้อื่นซึ่งซื้อขายฝิ่นนอกจากพระยาสงขลานั้น ก็ให้สาบานแต่ส่วนตัวว่า ไม่ซื้อฝิ่น ขายฝิ่น ไม่ให้อุบายกับผู้อื่นให้ซื้อฝิ่นขายฝิ่น ถ้ารู้ว่าผู้ใดซื้อขายฝิ่นแล้ว จะมาบอกกับเจ้าเมืองกรมการ 

         คำแช่งสาบานอันเดียวกันถ้าเป็นจีนก็ให้สาบานอย่างไทยก่อนแล้วให้สาบานตามอย่างจีนที่ศาลเจ้า…” 

         ผลจากการกวดขันปราบปรามการค้าฝิ่นของทางฝ่ายไทยคงจะมีผลบ้างในระยะสั้น แต่ในระยะยาวขบวนการค้าฝิ่นก็คงขยายตัวและแพร่กระจายออกไปมากขึ้น มีเจ้าเมืองกรมการเมืองหลายคนสูบฝิ่นจนติด ในปี พ.ศ. ๒๓๙๑ รัฐบาลไทยพยายามที่จะระงับปัญหานี้โดยเข้าไปถึงต้นตอ กล่าวคือติดต่อกับผู้ว่าราชการเกาะสิงคโปร์ ขอร้องให้ห้ามปรามเรือจีนลูกค้า ไม่ให้นำฝิ่นเข้ามาขายในพระราชอาณาเขต ซึ่งก็ไร้ผลเพราะยังมีการลักลอบค้าฝิ่นกันอยู่หนาแน่นเช่นเดิม ยิ่งไปกว่านั้นวิธีการค้าฝิ่นยังได้วิวัฒนาการก้าวหน้ามากยิ่งขึ้นไปอีกจนรัฐบาลไทยตามไม่ทัน ทำได้แต่เพียงโหมการปราบปรามรุนแรงขึ้นเท่านั้น

         ในสมัยพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทำสัญญาเบาว์ริ่งกับอังกฤษ และทำสัญญาเช่นเดียวกันกับประเทศอื่น ๆ ในสัญญาเหล่านี้มีข้อกำหนดว่า รัฐบาลไทยอนุญาตให้มีการนำเอาฝิ่นเข้ามาขายในพระราชอาณาเขตได้โดยไม่ต้องเสียภาษี แต่มีข้อแม้ว่าผู้นำเข้ามาขายจะต้องขายให้แก่เจ้าภาษีฝิ่นเพียงคนเดียวเท่านั้น ถ้าเจ้าภาษีฝิ่นไม่ซื้อก็ต้องนำกลับออกไปโดยไม่ต้องเสียภาษีฝิ่น เป็นรายได้ก้อนใหญ่ที่รัฐบาลและผู้มีอำนาจอยากได้ รัฐบาลจึงจัดเป็นยาเสพติดให้โทษที่ก่อปัญหาทางด้านสุขภาพอนามัยและลุกลามออกไปเป็นปัญหาสังคมได้ ประกอบกับรายได้จากการค้าฝิ่นเป็นรายได้ก้อนใหญ่ที่รัฐบาลและผู้มีอำนาจอยากได้ รัฐบาลจึงยื่นมือเข้าควบคุมการซื้อขายจ่ายแจกฝิ่นอย่างใกล้ชิด โดยการผูกขาดการค้าฝิ่น ผู้ใดต้องการจะเป็นตัวแทนจำหน่ายฝิ่นให้แก่ลูกค้าย่อยในพระราชอาณาเขต จะต้องไปยื่นประมูลทำภาษีฝิ่น ณ กรมพระสมุหกลาโหมภายในกรุงเทพฯ แต่เพียงแห่งเดียวเท่านั้น รัฐบาลยังได้ออกประกาศห้ามราษฎรที่เป็นไทย มอญ ลาว เขมร ญวน พม่า ทวาย แขก ฝรั่ง โปรตุเกสเดิม ซึ่งเป็นอาณาประชาราษฎร์เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร สูบฝิ่นซื้อขายฝิ่น อนุญาตให้สูบฝิ่นได้เฉพาะชาวจีนเท่านั้น ดังปรากฏหลักฐานในสารตราเจ้าพระยาอัครมหาเสนาฯ สมุหพระกลาโหม ที่มีไปถึงเจ้าเมืองต่าง ๆ ทางภาคใต้ ในปี พ.ศ.๒๓๙๘ หลังจากทำสัญญาเบาว์ริ่งแล้วมีข้อความตอนหนึ่งว่า

         ด้วยมีพระบรมราชโองการ ตรัสเหนือเกล้าสั่งว่า...โปรดเกล้าให้แจกพระราชบัญญัติ ให้จีนเป็นเจ้าภาษีซื้อขายฝิ่นตามแต่พวกจีน คนที่เป็นเพศไทย มอญ ลาว เขมร ญวน พม่า ทวาย แขก ฝรั่ง พุทเกติเดิมซึ่งเป็นไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน ห้ามมิให้ซื้อฝิ่นขายฝิ่น ถ้าราษฎรคนใดเป็นคนขายฝิ่น ฝิ่นยังมีอยู่กับ บ้านเรือนให้เร่งมาขายกับเจ้าภาษีเสียให้สิ้น คนที่สูบฝิ่นกินฝิ่นติดมาแต่ก่อน ให้อดเสียแต่ในเดือน ๔ ปีกุน ตรีศก (.๒๓๙๙ถึงเดือน ๕ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีชวด จัตวาศก จะแต่งกองออกจับ จับได้พิจารณาเป็นสัตย์ว่า เป็นผู้ขายฝิ่นจะประหารชีวิตเสีย ถ้าเป็นแต่ผู้สูบให้ลงพระอาญาเฆี่ยนสักหน้า จำไว้ ณ คุก ถ้าผู้ใดจะรักสูบฝิ่นต่อไป ให้ขวั้นเปียไว้ผมเป็นจีน... ถึงกำหนดผูกปี้ จะได้ผูกปี้เรียกเอาเงินคนละ ๑๕ ตำลึง... 

         ให้เจ้าเมืองกรมการหมายประกาศบอกกล่าวป่าวร้อง อนาประชาราษฎรชายหญิง ผู้ใดเคยตัดผมไว้ผมอย่างไร ก็ให้ตัดให้ไว้ผมตามใจชอบ แต่คนที่สูบฝิ่นกินฝิ่นอดฝิ่นไม่ได้นั้น มีอยู่ในบ้านเมืองมาก น้อยเท่าใด ให้เจ้าเมืองกรมการชำระตรวจบัญชีให้รู้จำนวนไว้... ถ้าเป็นกรมการขุนหมื่นเก่าใหม่ ใช้สอยอยู่ในเจ้าเมืองกรมการก็ดี และแอบแฝงอยู่ในกองนอกส่วยก็ดี ให้เจ้าเมืองกรมการ นายกอง ปลัดกองถอดออกเสียจากที่ เอาตัวมาว่าให้ขวั้นเปีย เสียให้สิ้นในครั้งนี้ทีเดียว...” 

         จากข้อความข้างต้นแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลอนุญาตให้มีการนำฝิ่นเข้าขายได้โดยถูกกฎหมาย ก็จริง แต่ขายได้เฉพาะคนจีนเท่านั้น เนื่องจากเป็นกลุ่มคนที่นิยมสูบฝิ่นกันมากกว่าเชื้อชาติใด ๆ ทั้งสิ้นประกอบกับในประเทศจีนได้ยินยอมให้ชาวต่างชาตินำฝิ่นเข้าไปขายได้ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๘๕ แล้ว รัฐบาลไทยจึงยินยอมให้คนจีนในประเทศไทยทำได้เช่นเดียวกันกับคนจีนในประเทศจีน ในขณะนั้น และแท้จริงแล้วมีการนำเอาฝิ่นมามอมเมาให้กุลีจีนในเหมืองแร่สูบกันจนติดมาตั้งแต่เริ่มแรก ที่มีการใช้ระบบเหมาเมืองแล้ว ภาษีฝิ่นได้รวมเข้าอยู่ในภาษีผลประโยชน์ของหัวเมืองชายฝั่งตะวันตกมาตั้งแต่ต้น และรัฐบาลกลางก็มิได้ห้ามปรามเพราะถือว่าสูบกันเฉพาะแต่คนจีน ดังนั้นหลังจากอนุญาตให้มีการนำฝิ่นเข้ามาขายได้อย่างถูกกฎหมาย จึงอนุญาตให้สูบได้เฉพาะชาวจีนเท่านั้น คนเชื้อชาติอื่นถ้าจะสูบก็ต้องได้รับโทษและการกีดกันอย่างแข็งแรง แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลมีความห่วงใยในเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง

         ส่วนนายอากรชาวจีนผู้ประมูลทำภาษีฝิ่น ในระยะแรก ๆ ต้องไปประมูลที่กรมสมุหพระกลาโหม ซึ่งเป็นเจ้าภาษีฝิ่นในกรุงเทพฯ แต่เพียงแห่งเดียว นอกจากในเมืองที่ทำภาษีแบบเหมาเมือง เจ้าเมืองผูกขาดทำภาษีฝิ่นด้วย จึงไม่รวมอยู่ในภาษาฝิ่นที่เปิดประมูลในกรุงเทพฯ หัวเมืองที่ต้องเปิดประมูลรวมกันในกรุงเทพฯ จึงมีเพียง ๒๔-๒๕ หัวเมือง ผู้ที่ประมูลได้ต้องไปสร้างโรงจำหน่ายฝิ่นเองทุกเมือง เจ้าภาษีฝิ่นจึงจำเป็นจะต้องเป็นคนกว้างขวางมีฐานะดี มีอำนาจบารมีสูงพอควร และต้องเป็นคนมีความรับผิดชอบสูง เพราะต้องดูแลผลประโยชน์ที่คิดเป็นเงินหลายล้านบาท และรับผิดชอบเงินภาษีของรัฐบาลเป็นแสน ๆ บาทในหัวเมือง ๒๔-๒๕ หัวเมือง

         รายชื่อเจ้าภาษีฝิ่นและจำนวนเงินภาษีที่ประมูลได้ระหว่างปี พ.ศ. ๒๓๙๘-๒๔๑๓ มีปรากฏในเอกสารรัชกาลที่ ๔-๕ สรุปได้ดังตาราง


ตารางแสดงรายชื่อเจ้าภาษีฝิ่น และจำนวนเงินภาษีที่ประมูลจากกรมสมุหพระกลาโหม

ระหว่างปี พ.๒๓๙๘-๒๔๑๓

ลำดับที่

ชื่อเจ้าภาษี

ทำภาษีระหว่างปี พ..

จำนวนเงินภาษีปีละ

(บาท)

เพิ่มขึ้น

(ร้อยละ)

พระยาพิศาลศุภผล

พ.ศ. ๒๓๙๘-๒๓๙๙

๑๖๐,๐๐๐


พระภาษีสมบัติและพวก

พ.ศ. ๒๔๐๐-๒๔๐๒

๓๒๐,๐๐๐

๑๐๐.๐๐

พระยาพิศาลศุภผล

พ.ศ. ๒๔๐๓-๒๔๐๕

๔๐๔,๔๐๐

๑๕๒.๗๕

พระภาษีสมบัติบริบูรณ์

พ.ศ. ๒๔๐๕-๒๔๑๐

๕๗๓,๒๐๐

๒๕๘.๒๕

พระบริบูรณ์โกษากร

พ.ศ. ๒๔๑๑-๒๔๑๓

๖๓๓,๒๐๐

๒๙๕.๗๕


         ภาษีฝิ่นจึงนับได้ว่าเป็นรายได้สำคัญของรัฐบาลกลาง โดยเฉพาะกรมสมุหพระกลาโหมซึ่งเป็นเจ้าภาษี มีรายได้จากภาษีชนิดนี้ปีละหลายแสนบาท ในระยะ ๑๕ ปีแรกเงินภาษีที่ได้จากภาษีชนิดนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก ๑๖๐,๐๐๐ บาท เป็น ๖๓๓,๐๐๐ บาท หรือเพิ่มขึ้นเกือบ ๓ เท่าตัว แต่พอถึงปี พ.ศ. ๒๔๑๔ พระบริบูรณ์โกษากรเจ้าภาษีคืนภาษีให้แก่กรมสมุหพระกลาโหม โดยอ้างว่าขาดทุนไม่ สามารถทำต่อไปได้ เงินภาษีสูงจนเกินไป และมีผู้ลักลอบซื้อขายฝิ่นกันชุกชุม รัฐบาลจึงได้ออกกฎหมายเรียกว่า “กฎหมายภาษีฝิ่น” ให้อำนาจแก่เจ้าจำนวนภาษีสามารถบังคับให้ชำระภาษี ตัดสินลงโทษผู้ลักลอบซื้อขายฝิ่นได้อย่างรุนแรงและแบ่งตัดตอนภาษีฝิ่นออกเป็นเขต ๆ ดังปรากฏหลักฐานในเอกสารรัชกาลที่ ๕ ราชการ กรมพระกลาโหม จ.ศ. ๑๒๓๓ (พ.ศ. ๒๔๑๔) ว่า ได้แบ่งภาษีฝิ่นเมืองสงขลา พัทลุง และเทพาออกจากหัวเมืองอื่น ๆ เป็นเขตหนึ่งต่างหาก ส่วนหัวเมืองอื่น ๆ ไม่พบหลักฐานว่าแบ่งเขตอย่างไร ผู้ประมูลทำภาษีฝิ่นเขตเมืองสงขลา พัทลุง และเทพาได้ในปี พ.ศ. ๒๔๓๔ คือจีนฮวด ได้รับแต่งตั้งเป็นขุนจงวารี เจ้าภาษีฝิ่น ๓ เมือง ทำภาษีส่งรัฐบาลกลางปีละ ๘๐ ชั่งหรือ ๖,๔๐๐ บาท ต่อจากจีนฮวดมีผู้ทำภาษีฝิ่นในเขตดังกล่าวอีกหลายคน ตัวอย่างเช่นในปี พ.ศ. ๒๔๒๗ รัฐบาลแต่งตั้งให้พระยาสมบัติภิรมย์ (ชุ่ม) ผู้ช่วยราชการผู้รักษาราชการเมืองสงขลา เป็นผู้รับทำภาษีฝิ่นต่อมา แต่ขอลดเงินภาษีลงเหลือเพียง ๔,๓๓๓ บาท ๒๕ สตางค์ ทำได้เพียงปีเดียว ในปีต่อมาจีนบุเหล็งประมูลได้ รับทำภาษีเท่ากับปี พ.ศ. ๒๔๒๗

         เป็นที่น่าสังเกตว่าเงินภาษีฝิ่นในเมืองสงขลา พัทลุง และเทพาลดลงไปเรื่อย ๆ ทั้งนี้เพราะมีการ ลักลอบค้าฝิ่นเถื่อนกันมาก และการอพยพของชาวจีนมายังเมืองไทยลดลงด้วย และหลังจากมีการจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลในปี พ.ศ. ๒๔๓๙ ได้มีการจัดระบบการทำภาษีฝิ่นเสียใหม่ เป็นภาษีฝิ่นมณฑลต่างกันไป ตัวอย่างเช่น ภาษีฝิ่นมณฑลนครศรีธรรมราช ปี พ.ศ. ๒๔๓๙ มีจำนวนประมาณปีละ ๔๓,๔๗๐ บาท เป็นต้น การเก็บภาษีฝิ่นในมณฑลต่าง ๆ นั้น รัฐบาลไม่สามารถจะมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลจัดเก็บโดยตรงได้ จึงต้องใช้วิธีการประมูลตัดตอนมอบให้เจ้าภาษีไปทำ แล้วส่งเงินให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลตามที่ประมูลตัดตอนไปได้อย่างที่เคยกระทำกันมาตั้งแต่เริ่มแรก จึงมักมีการยักยอกเงินภาษีฝิ่นไปใช้ในกิจการต่าง ๆ กันก่อน แล้วค่อยส่งรัฐบาลภายหลังเมื่อมีการทวงถาม (สงบ ส่งเมือง

ชื่อคำ : ฝิ่นและภาษีฝิ่นทางหัวเมืองภาคใต้
หมวดหมู่หลัก : สิ่งของ เครื่องมือเครื่องใช้
หมวดหมู่ย่อย : เบ็ดเตล็ด
ชื่อผู้แต่ง : สงบ ส่งเมือง
เล่มที่ : ๑๐