แฝก : พืช

          แฝก มี ๓ ชนิด คือ แฝกเถื่อน (แฝกน้ำ) กับ แฝกหอม แฝกทั้งสองชนิดอยู่ในวงศ์เดียวกัน คือ วงศ์ GRAMINEAE (ดูภาพหน้า) แต่มีชื่อพฤกษศาสตร์ไม่เหมือนกัน แฝกเถื่อนมีชื่อว่า Tnemeda villosa ส่วนแฝกหอมมีชื่อว่า Veltiveria zizanioides แฝกชอบขึ้นตามคันนา ริมฝั่งน้ำมีทั่วไปในภาคใต้ โดยขึ้นเองตามธรรมชาติ ลักษณะเหมือนต้นหญ้า ลำต้นแบนติดกันเป็นกอ สูงประมาณ ๑ เมตร เป็นข้อมีปล้อง รากเป็นรากฝอย แต่หยั่งลึกมั่นคง แข็ง เหนียว และมีรากย่อยแตกสานกันเป็นตาข่าย มีกลิ่นหอม ใบ เดี่ยวแยกเป็น ๒ แถว กาบใบซ้อนขึ้นบน คือใบแก่อยู่ล่าง ใบอ่อนอยู่บนเป็นลำดับ ความยาวของใบประมาณ ๘๐ เซนติเมตร ใบกว้างประมาณ ๑ เซนติเมตร หลังใบสีเขียวเป็นมัน ท้องใบสีเขียวอ่อนอมขาวขอบใบกลางใบแข็ง บาดมือบาดเท้าได้ง่าย ดอก เป็นช่อ ดอกมีสีม่วงอ่อน ขยายพันธุ์ด้วยการแยกกอ ถ้าในฤดูฝนนำไปปลูกได้เลย คนโบราณนำไปปลูกตามคันนา ที่มีน้ำขังตลอดปี ช่วยให้คันนายึดแน่น ปลูก ๒ ข้าง หูนบที่ทำด้วยดิน เพื่อป้องน้ำกัดเซาะ ใบแฝกเย็บหรือผูกเป็นตับมุงหลังคา เป็นอาหารวัวควายในยามขาดแคลน แฝกทนน้ำและทนต่อความแห้งแล้งได้ดีมาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันสนพระทัยเรื่องแฝกมาก ให้ปลูกแฝกป้องกันการพังทลายของดินในฤดูฝน ช่วยรักษาความชุ่มชื้นในฤดูแล้ง ช่วยรักษาหน้าดินให้อุดม เปลี่ยนสภาพของดินที่ขาดปุ๋ยให้ดีขึ้น สามารถปลูกพืชอื่น ๆ ได้ ทั้งเป็นการอนุรักษ์ดินและน้ำ ขณะนี้กำลังขยายพื้นที่ปลูกอย่างกว้างขวาง และบังเกิดผลคุ้มค่า แฝกใช้สกัดน้ำมันหอมระเหยได้ สรรพคุณทางยา ใช้รากต้มน้ำอาบให้รู้สึกกระชุ่มกระชวยขึ้น ใช้รับประทานช่วยละลายนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ขับเหงื่อ ขับปัสสาวะ บำรุงหัวใจ แก้อาการกระหายน้ำ และทำให้ธาตุปกติ แฝกปลูกแล้วมีอายุนานปี ต้นเดิมตายไปแตกกอใหม่ขึ้นแทน ถ้าไม่ขุดออก จะขยายพันธุ์ออกเป็นบริเวณกว้าง  (พ่วง บุษรารัตน์

ชื่อคำ : แฝก : พืช
หมวดหมู่หลัก : ธรรมชาติ ชีวิต และสิ่งแวดล้อม
หมวดหมู่ย่อย : พืช พืชสมุนไพร
ชื่อผู้แต่ง : พ่วง บุษรารัตน์
เล่มที่ : ๑๐