ดนตรีพื้นเมืองภาคใต้

     ดนตรีพื้นเมืองภาคใต้ มีเอกลักษณ์ที่เด่นชัดคือถือเอาจังหวะเป็นเอก ส่วนทำนองเพลงเป็นเพียงช่วยสอดเสริม เครื่องดนตรีที่เป็นของพื้นบ้านพื้นเมืองจริง ๆ จึงเป็นเครื่องตีให้จังหวะแทบทั้งสิ้น การบรรเลงก็มีขึ้นเพื่อประกอบการละเล่นพื้นเมืองเป็นส่วนใหญ่ ที่เป็นการบรรเลงหรือประโคมล้วน ๆ มี แต่กาหลอซึ่งประโคมในงานศพและการประโคมโพน ฆ้อง กลองในประเพณีลากพระ

     ลีลาของดนตรีพื้นเมืองภาคใต้มีจังหวะกระชั้นหนักแน่นเฉียบขาดเร้ารุกมากกว่าความอ่อนหวานเนิบช้า ลีลาเช่นนี้สอดคล้องกับลักษณะนิสัยทั่วไปของชาวใต้ที่บึกบึน หนักแน่น เด็ดขาดและค่อนข้างแข็งกร้าว

     เครื่องตีที่ใช้เป็นหลักมี ทับ กลอง โพน ปืด โหม่ง ฆ้อง ฉิ่ง กรับ และแตระ (คล้ายกรับพวง) เครื่องตีที่รับมาจากมลายูคือ ทน (กลองแขก) รำมะนา ส่วนเครื่องตีที่นิยมกันเฉพาะกลุ่มไทยมุสลิมมีกลองบานอ กรือโต๊ะ (ทั้ง ๒ ชนิดนี้เป็นเครื่องตีแข่งขันกันเพื่อนันทนาการโดยตรง จึงจัดเป็นดนตรีโดยอนุโลม)

     เครื่องดีดสีที่เป็นของพื้นเมืองแท้ ๆ ไม่มี นอกจากดนตรีของพวกซาไก ซึ่งทำขึ้นจากปล้องไม้ไผ่สำหรับดีดที่รับมาจากมลายูคือระบับ (Rebab) หรือรือบะ คล้ายซอสามสายแต่มีเพียง ๒ สาย นิยมใช้ในวงดนตรีมะโย่ง วายังยาวอ เป็นต้น นอกจากนี้ก็มีซอที่รับไปจากภาคกลางใช้ประกอบดนตรีหนังตะลุงและโนรา

     เครื่องเป่ามีแต่ปี่ ซึ่งขนาดใกล้เคียงกับปี่ในมากที่สุด ใช้ประกอบการเล่นหนังตะลุงและโนราเป็นสำคัญ จากคำบอกเล่าว่าสมัยก่อนการเป่าปี่จะเน้นที่จังหวะมากกว่าทำนอง คนเป่าปี่ต้องคอยฟังเสียงทับเสียงกลอง ต้องเป่าทอดเสียงหรือหดเสียงตามจังหวะทับและกลอง และจะหยุดเมื่อใดก็ได้แล้วแต่เสียงทับกำหนด ไม่พบทำนองเพลงปี่ที่เป็นของพื้นเมืองแท้ ๆ ที่มีอยู่ล้วนเป็นเพลงไทยเดิมอย่างภาคกลางและเป็นเพียงการสอดเสริม การเป่าปี่เป็นทำนองเพลงจึงอาจเกิดขึ้นชั้นหลัง มีอีกชนิดหนึ่งคือปี่ห้อ หรือปี่อ้อซึ่งรับมาจากมลายู ใช้ประกอบการละเล่นที่รับมาจากมลายู เช่น สิละ กาหลอ เป็นต้น

     อันที่จริงเครื่องเป่าส่งสัญญาณหรือเป่าเลียนเสียงสัตว์ในวัฒนธรรมของชาวใต้มีอยู่ไม่น้อย ส่วนใหญ่เป็นเครื่องเป่าที่ไม่มีรูสำหรับไล่เสียงให้แตกต่างกัน เพียงแต่ใช้วิธีผ่อนลมหนักเบาและสั้นยาวก็สามารถเลียนเสียงสัตว์ต่าง ๆ ได้เกือบทุกชนิด โดยใช้ลำไม้ไผ่ที่มีรูปแบบและขนาดที่ต่างกัน อาศัย ความชำนาญของผู้เป่าเป็นสำคัญ เขาสามารถใช้เครื่องเป่าเหล่านั้นทำเสียงหลอกนกและสัตว์แต่ละชนิดให้สำคัญผิดว่าเป็นเสียงร้องเรียกของคู่ของมันจนสามารถจับนกและสัตว์นั้น ๆ ได้ ซึ่งเครื่องเป่าเหล่านี้พวกพรานป่าจะมีความชำนาญทั้งในแง่การทำและการใช้

     ลักษณะของปี่ห้อที่ใช้ประกอบในวงกาหลอมีรูไล่เสียง ๗ รู แต่คนเป่าก็สามารถทำเสียงต่าง ๆ กันได้มากเสียง ทราบจากนายปี่กาหลอว่าเสียงที่เขาเป่าออกมาล้วนเลียนถ้อยคำของคนเช่นเดียวกับที่พรานป่าเลียนเสียงสัตว์ จึงสรุปได้ว่าการเป่าเครื่องเป่าของชาวภาคใต้เน้นให้เป็นภาษาคนหรือเสียงนกเสียงสัตว์มากกว่าจะเป่าให้เป็นเพลงที่มีจังหวะและทำนองตายตัว

     ชื่อเพลงเท่าที่ปรากฏมักตั้งตามลีลาของเครื่องตี เช่น เพลงที่ใช้ประกอบการเล่นโนรามี “เพลงหน้าแตระ” และ “เพลงร่ายหน้าแตระ” เป็นการเกริ่นขับที่ใช้เสียงแตระเป็นหลัก “เพลงทับ เพลงโทน” มีการขับร้องและรำตีท่าประกอบบทร้อง ใช้จังหวะทับเป็นหลัก “เพลงปี่” ใช้เสียงปี่เป็นหลักแต่ก็ใช้ทับและกลองเป็นเครื่องควบคุมลีลา หรือเพลงโหมโรงของหนังตะลุงซึ่งของดั้งเดิมมีอยู่ ๑๒ เพลง เรียกชื่อต่างกันตามลีลานั้น ๆ แต่ล้วนเอาจังหวะทับเป็นหลัก จึงเรียกว่า “เพลงหน้าทับ” ในระยะหลังจึงมีเพลงโหมโรงที่เรียกชื่อตามทำนองของเพลงไทยเดิม เช่น เพลงพัดชา เพลงลมพัดชายเขา เป็นต้น ซึ่งชุดเพลงโหมโรงที่หนังตะลุงแต่ละคณะใช้อยู่จะไม่เหมือนกัน แสดงว่าเป็นการจัดขึ้นในระยะหลังและค่อนข้างสับสนปนเปกันกับเพลงหน้าทับ

     การเทียบเสียงในการร้องขับของภาคกลางมักเทียบกับเครื่องดีดสีหรือเครื่องเป่า แต่ของภาคใต้จะเทียบกับเครื่องตีคือเทียบกับเสียงโหม่ง นักแสดงที่ต้องร้องรับต้องพยายามปรับเสียงของตนให้มีเสียงใสกลมกลืนกับเสียงโหม่ง ถ้าเหมาะกันดีจะเรียกว่า “เสียงเข้าโหม่ง” เหตุนี้นายโรงโนราหรือหนังตะลุงส่วนใหญ่จะต้องสรรหาหรือว่าจ้างให้หล่อโหม่งให้ได้เสียงเหมาะกับสุ้มเสียงของตน

     การเล่นดนตรีของภาคใต้ไม่มีการเล่นเดี่ยว จะต้องเล่นประกอบกันเป็นวง หรือไม่ก็ต้องมีการร้องขับหรือร่ายรำประกอบ เช่น เล่นเพลงบอก โนรา หนังตะลุง ลิเกป่า โต๊ะครึม เป็นต้น หรือไม่ก็เป็นการตีแข่งขันกัน เช่น การแข่งโพน (กลองเพล) แข่งกลองบานอ กรือโต๊ะ ปืด เป็นต้น การสำเริงอารมณ์เฉพาะตนมีแต่การขับบทกลอนหรือผิวปาก การเป่าปี่หรือขลุ่ยเล่นคนเดียวอย่างชาวภาคอื่นเป่านั้นจะพบก็แต่เฉพาะการฝึกซ้อมหรือการทบทวนเท่านั้น จึงนับได้ว่าการดนตรีของภาคใต้เป็นสื่อประสานความสามัคคีของชาวบ้านประเภทหนึ่งเพราะต้องเล่นประสมวง

     เครื่องดนตรีพื้นเมืองภาคใต้แต่ละอย่างมีลักษณะและทำหน้าที่หลักต่างกันดังต่อไปนี้

     ทับ คือโทนชาตรี นิยมขุดหรือกลึงด้วยไม้ขนุน หุ้มด้วยหนังค่าง หรือหนังสัตว์ชนิดอื่นที่มีความเหนียวและค่อนข้างบาง ตรึงหนังด้วยเส้นหวายให้ตึงได้ที่ ถ้าหย่อนไปบ้างอาจใช้ขี้เถ้าผสมกับข้าวสุกบดละเอียดทาตรงกลางของหน้าทับ เมื่อแห้งสนิทก็จะตึงเต็มที่ การถักหรือร้อยเส้นหวายจะทำอย่างประณีตและสวยงาม

     การใช้ทับประกอบการแสดงหนังตะลุงและโนรา ต้องใช้ ๑ คู่ แต่ละใบมีขนาดต่างกันเล็กน้อย ที่ใช้เล่นหนังตะลุงจะมีขนาดย่อมกว่าใช้เล่นโนราและรูปจะคล้ายโทนมโหรี ถ้าใช้บรรเลงโต๊ะครึมต้องทำให้ขนาดโตกว่าและยาวกว่าที่ใช้เล่นหนังตะลุงและต้องใช้ตั้งแต่ ๓-๕ ใบ แต่ละใบมีขนาดต่างกันมีชื่อเรียกเฉพาะทุกใบ (ดู โต๊ะครึม

     การตีทับใช้ปลายนิ้วมือตี มีเสียงหลัก ๒ เสียง คือเสียง “ฉับ” และเสียง “เทิง” เมื่อตี เสียงฉับต้องใช้นิ้วกดหน้าทับพร้อมกับใช้สันมืออีกข้างหนึ่งปิดก้นทับใบนั้นไว้ ถ้าตีเสียงเทิงต้องไม่กดหน้าทับและไม่ปิดก้นทับ เสียงทั้ง ๒ ลักษณะนี้อาจตีสลับกันเป็นหลายลักษณะ เช่น ฉับกับเทิงสลับกัน ฉับ ๒ หรือ ๓ ครั้ง เทิง ๑ ครั้ง หรือ ฉับ ๓ ครั้ง เทิง ๓ ครั้ง ดังนี้เป็นต้น โดยวิธีเหล่านี้ทำให้ได้เพลงที่มีจังหวะและลีลาแตกต่างกันออกไปมากมาย โดยเฉพาะเพลงโหมโรงตะลุงซึ่งมีอยู่ ๑๒ เพลง แต่ละเพลงต่างกันตรงที่จำนวนการตีเสียงฉับและเสียงเทิง จึงเรียกเพลงโหมโรงเหล่านั้นว่า “เพลงหน้าทับ” เมื่อนำเพลงที่มีลีลาต่างกันนี้ไปประกอบการเชิดรูปตอนแสดงจะเหมาะแก่การเชิดให้เกิดอารมณ์แตกต่างกันไป เช่น ตอนยักษ์เดินใช้ลีลาหนึ่ง ตอนนางเดินใช้อีกลีลาหนึ่ง ที่ใช้ประกอบการเล่นโนราก็เช่นเดียวกัน เช่น เมื่อใช้ตอนว่ากลอน ๔ ก็ใช้ลีลาหนึ่ง ถ้าว่ากลอน ๘ ก็เป็นอีกลีลาหนึ่ง ทั้งการเล่นหนังตะลุงและโนรา ทับจะเป็นเครื่องคุมจังหวะและนำเครื่องดนตรีอย่างอื่นทั้งหมด นายทับ (คนตีทับ) จึงมีความสำคัญที่สุดของวง

     กลอง เป็นกลองหุ้ม ๒ หน้า ขนาดเล็ก หน้ากลองกว้างประมาณ ๖-๘ นิ้ว สูงประมาณ ๘-๑๐ นิ้ว บางถิ่นเรียกว่ากลองตุ๊ก รูปร่างและวิธีหุ้มเป็นแบบเดียวกับกลองทัด นิยมใช้สลักเป็นหมุดยึดหนัง โดยรอบ ใช้ขี้เถ้าผสมกับข้าวสุกบดปะหน้าให้ตึงยิ่งขึ้น เนื่องจากเป็นกลองขนาดเล็กเสียงจึงแหลมเล็กคล้ายเสียง “ตุ้ง” ใช้ตีด้วยไม้ ๑ อัน ถ้าต้องการรัวหรือเชิดจะใช้ไม้ตี ๒ อันตีสลับกัน (ตีหน้าเดียว) เมื่อใช้ตีจะวางตั้งขึ้น มีไม้ค้ำ ๒ อันค้ำให้ด้านหลังสูงขึ้นเพื่อตีสะดวกและไม่ให้หน้ากลองด้านล่างแนบกับพื้น

     บทบาทหน้าที่ของกลองคือช่วยสอดเสริมและย้ำจังหวะให้หนักแน่นกระชับและเร้าใจยิ่งขึ้น

     ดนตรีโนรา ทับกับกลอง เป็นเครื่องหลักคู่กัน ต้องตีหลอกล้อขัดเสียงสลับกัน โดยปกติเมื่อทับตีเสียง “เทิง” กลองจะต้องตีย่ำเสียง “ตุ้ง” ตาม แต่ถ้าทับตีเสียงฉับกลองจะต้องหยุดตี เสียงกลองจะเป็นสัญญาณให้ผู้รำยักย้ายจังหวะและทิ้งจังหวะให้พร้อมกับเสียงย่ำกลอง

     ดนตรีหนังตะลุงจะใช้เสียงกลองสอดเสริมมากกว่าย้ำจังหวะ มักตีเสริมปลายจังหวะเป็นตุ้ง ตุ้ง ตุ้ง เพียงเบา ๆ หรือไม่ก็ใช้เชิดรัว โอกาสที่จะต้องใช้ไม้ตี ๒ อัน จึงมีมากกว่าตีอันเดียว ในการเว้นจังหวะจะเปิดว่างให้เสียงโหม่งเด่นขึ้นแทน

     ทน เป็นกลองขึ้นหนัง ๒ ด้าน กว้างไม่เท่ากัน ด้านหัวกว้างประมาณ ๗-๑๐ นิ้ว และกว้างกว่าด้านท้ายประมาณ ๒-๓ นิ้ว ยาวประมาณ ๔๐-๕๐ นิ้ว ร้อยโยงด้วยสายหนัง ถ้าร้อยโยงด้วยหวายเรียกว่า “กลองแขก” แต่อาจใช้แทนกันได้ ใช้ตีด้วยมือและไม้ตี ไม้ตีเป็นไม้ขนาดเล็กปลายเรียวและงอนเล็กน้อย ใช้ประกอบการแสดงที่รับหรือดัดแปลงมาจากมลายู เช่น สิละ มะโย่ง ลิเกป่า กาหลอ โนราแขก วายังยาวอ

     รำมะนา เป็นกลองขึ้นหนังหน้าเดียว รูปกลมแบนและตื้นมีหลายขนาด หน้ากว้างตั้งแต่ ๘ นิ้วจนถึง ๒๐ นิ้วกว่าก็มี ใช้มือตีโดยจับให้หน้ากลองตั้งขึ้น ใช้เป็นหลักในการเล่นลิเกฮูลู ลิเกป่าหรือลิเกรำมะนา ทั้ง ๒ อย่างนี้จะใช้รำมะนา ๓ ใบขึ้นไป นอกจากนี้อาจใช้ประกอบการเล่นรองแง็ง รำวง มะโย่ง เป็นต้น

     ปืด เป็นกลองขึ้นหนัง ๒ หน้า รูปร่างคล้ายตะโพนของภาคกลาง หัวและท้ายกว้างไม่เท่ากัน ตรงกลางโป่งออกพองามภายในตัวปืดเจาะหัวท้ายเป็นรูปกรวยเข้าหากัน ร้อยโยงด้วยหวาย ใช้ประกอบการประโคมและแข่งขันกัน (ดู ปืด)

     บานอ เป็นกลองขึ้นหนังหน้าเดียว รูปกลม แบน ตื้นคล้าย รำมะนา แต่ขนาดใหญ่กว่าที่หน้ากลองทำเป็นสลักไม้สี่เหลี่ยมฝังยื่นออกมาโดยรอบ มีเชือกร้อยโยงแน่นหนา อาจมีการเขียนแต่งหน้ากลองอย่างสวยงาม ใช้ตีแข่งขันกัน (ดู บานอ)

     กรือโต๊ะ มักทำด้วยไม้ขุดเป็นรูปทรงคล้ายกระโถน แต่หนัก หนาและใหญ่ (อาจทำด้วยไห กระปุก หรืออย่างอื่นก็ได้) มีแผ่นไม้วางพาดปากเป็นที่สำหรับตี ใช้ตีแข่งขันกัน (ดู กรือโต๊ะ

     โพน เป็นกลองขึ้นหนัง ๒ ด้าน ขนาดใหญ่ คือ กลองทัดและกลองเพลของภาคกลางใช้ตีบอกเวลาส่งสัญญาณประโคมในประเพณีลากพระ ทอดกฐิน และใช้ตีแข่งขันกัน โพนของภาคใต้จึงไม่เหมือนกับตะโพนของภาคกลาง (ดู โพน)

     โหม่ง เป็นเครื่องตีประเภทที่ทำด้วยโลหะ ใช้ไม้ทำเป็นรางรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าตอนบนมีแผ่นเหล็กคล้ายลูกระนาด ๒ อัน หรือลูกฆ้องทองเหลืองขนาดลูกฆ้องวง ๒ ใบสำหรับตี ต้องทำให้มีระดับเสียงต่างกันเป็นเสียงแหลม ๑ ใบ เรียกว่าเสียง “โหม่ง” และเสียงทุ้ม ๑ ใบ เรียกว่าเสียง “หมุ่ง” ถ้าลูกสำหรับตีทำด้วยแผ่นโลหะเรียกว่า โหม่งฟาก ถ้าหล่อด้วยทองเหลืองเรียกว่าโหม่งหล่อ ปัจจุบันนิยมกันแต่เฉพาะโหม่งหล่อ

     รางโหม่งมักทำด้วยไม้เนื้ออ่อน หนาประมาณ ๑ นิ้ว ทั้งนี้เพื่อช่วยให้เกิดเสียงก้องกังวานยิ่งขึ้น รอบรางจะเจาะรูหรือฉลุเป็นลวดลาย นอกจากจะดูสวยงามยิ่งขึ้นแล้วยังช่วยให้เสียงลอดออกมาพอเหมาะ

     โหม่งเป็นเครื่องดนตรีชิ้นสำคัญของโนราและหนังตะลุงจะขาดไม่ได้ โดยปกติคนที่ตีโหม่งจะทำหน้าที่ตีฉิ่งและกรับคู่ควบไปด้วย โดยใช้นิ้วเท้าหนีบฉิ่งข้างหนึ่งให้หงายขึ้น ใช้มือที่ตนถนัดรองลงมาจับปลายสายฉิ่งอีกข้างหนึ่งไปตีในบางจังหวะ บางทีจะเอาไปตีกับรางโหม่งเพื่อให้ได้เสียงฉับแทน ถ้าต้องการให้ได้เสียงดังเร้ารุกยิ่งขึ้นอาจใช้กรับตีกับรางโหม่งแทนฉิ่ง รางโหม่งจึงมีประโยชน์ดังกล่าวมาแล้ว

     ฆ้อง เป็นเครื่องตี ทำด้วยโลหะผสม รูปร่างเป็นแผ่นวงกลมงองุ้มลงมารอบตัวมีปุ่มกลมนูนอยู่ตรงกลางสำหรับตี มักถือห้อยหรือห้อยแขวนกับขาหยั่ง ใช้ตีประกอบจังหวะการละเล่นหลายอย่าง เช่น สิละ กาหลอ มะโย่ง โนราแขก ลิเกป่า เป็นต้น อาจใช้ ๑-๒ ใบ ถ้าใช้ ๒ ใบ จะมีขนาดไม่เท่ากัน ขนาดเล็กสุดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ ฟุต ใหญ่สุดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ ฟุตครึ่ง ใช้คนตีคนเดียว

     ฉิ่ง เป็นเครื่องตีทำด้วยโลหะหล่อหนา รูปร่างและวิธีใช้ประโยชน์ทำนองเดียวกับของภาคกลาง โดยเฉพาะการเล่นเพลงบอก จะใช้ฉิ่งเป็นเครื่องให้จังหวะ

     แตระ เป็นเครื่องเคาะหรือตีเป็นจังหวะ ทำด้วยแผ่นไม้ไผ่บาง ๆ ขนาดกว้างประมาณ ๑-๒ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๑๕-๒๐ เซนติเมตร เหลาให้บางจนเมื่อใช้ตีหรือเคาะมีความอ่อนตัวปลายสั่นสะบัดได้เล็กน้อย ใช้หลาย ๆ อัน ร้อยปลายด้านหนึ่งซ้อนและรวบเข้าด้วยกันเหมือนอย่างทำพัด แต่ปลายอีกข้างหนึ่งปล่อยทิ้งไว้ เพื่อใช้เคาะหรือขยับให้เกิดเสียงดัง หรืออีกแบบหนึ่งทำด้วยแผ่นไม้ไผ่ขนาดยาวเท่าเดิม แต่ทำให้กว้างประมาณ ๓ เซนติเมตร ให้หนาประมาณครึ่งเซนติเมตรเจาะรูร้อยเป็นพวงทั้งหัวและท้ายใช้ขยับขึ้นลงให้กระทบกันเป็นจังหวะ หรืออาจทำอย่างง่าย ๆ โดยเอาตอกไม้ไผ่ขนาดที่ใช้สานกระด้งมาตัดให้ยาวประมาณ ๒๐ เซนติเมตร แล้วมัดรวบเป็นกำก็ใช้เป็นแตระได้ แตระดังกล่าวมาแล้วจะใช้ประกอบการเล่นโนราโดยเฉพาะใช้สำหรับเล่นเพลงหน้าแตระและเพลงร่ายหน้าแตระโดยไม่ต้องใช้เครื่องดนตรีอื่น ๆ ปัจจุบันไม่นิยมใช้

     ปี่นอกและปี่ใน เป็นเครื่องเป่าเป็นจังหวะเป่าเลียนเสียงพูดและเป่าเป็นทำนองใช้ประกอบการเล่นหนังตะลุงและโนรา ใช้เสริมเสียงทับและเสียงกลองมากกว่าจะเน้นที่ทำนองดังได้กล่าวมาแล้ว

     ปี่ห้อ เป็นปี่แบบมลายู เลาเล็ก ปากบานคล้ายปากแตร แล้วค่อยเล็กเรียวมาตามลำดับ มีรูระบายลมด้านล่าง ๑ รู และรูไล่เสียง ๗ รู อาจทำเป็น ๒ ท่อนสวมต่อกัน นิยมใช้ประกอบการละเล่นที่เนื่องมาจากวัฒนธรรมชวา-มลายู เช่น สิละ กาหลอ มะโย่ง เป็นต้น

     เครื่องเป่าเลียนเสียงสัตว์ ส่วนมากทำด้วยปล้องไม้ไผ่ ถ้าต้องการได้เสียงทุ้มก็ใช้ปล้องขนาดใหญ่ ตัดให้ยาวประมาณ ๑ คืบ ด้านหนึ่งมีข้ออุดตัน อีกด้านหนึ่งเปิด ตรงกลางเจาะรูเล็ก ๆ แล้วใช้ปล้องไผ่ขนาดเล็ก ๆ ฝังต่อเป็นคันยาวออกมาเป็นลิ้นสำหรับเป่า เมื่อต้องการให้ได้เสียงต่างกันก็ใช้ฝ่ามือปิดและเปิดที่ปากปล้องข้างที่เปิดทิ้งไว้ ก็จะเกิดเสียงตามต้องการ หรืออีกแบบหนึ่งใช้ลำไผ่ขนาด ต่างกัน ๒ ท่อน ท่อนเล็กสำหรับเป่า ปล่อยเสียงเข้าในท่อนของปล้องใหญ่ ที่ปล้องสำหรับใช้เป่าทำเป็นรูระบายลม เพื่อปิดเปิดให้ได้เสียงต่างกัน เครื่องเป่าเลียนเสียงสัตว์ทั้ง ๒ แบบนี้เรียกว่า “ลูกร้อง” การเป่าต้องอาศัยความชำนาญของคนเป่าเป็นสำคัญ ถ้าไม่ชำนาญจริงก็เป่าไม่ออกเป็นเสียงสัตว์

     เครื่องดนตรีซาไก เครื่องดนตรีของพวกซาไกมีทั้งใช้ดีดหรือเคาะ และใช้ตบหรือตี ทั้ง ๒ อย่างนี้ล้วนทำด้วยไม้ไผ่ ถ้าทำเป็นเครื่องดีดหรือเคาะใช้ไม้ไผ่ ๑ ปล้อง ตัดให้ติดข้อทั้ง ๒ ด้าน อาจทะลวงข้อให้ทะลุเล็กน้อย ใช้มีดกรีดเปลือกส่วนหนึ่งแยกจากปล้องตามแนวยาวทำเป็นสายสำหรับดีด หรือเคาะ อาจทำเป็นสายเดี่ยวหรือ ๒ สายขนานกัน ขนาดของสายกว้างประมาณครึ่งเซนติเมตร หนาประมาณเท่าความหนาของตอกกระด้งหรือบางกว่าเล็กน้อย ยาวเกือบตลอดปล้องไม้ไผ่นั้น ใช้หมอนหนุนหัวท้ายและกลางสายให้สายลอยสูงขึ้นมา เป็นส่วนที่ใช้นิ้วมือดีดหรือเคาะเป็นเสียงต่าง ๆ ถ้าทำเป็นเครื่องตบหรือตีอาจใช้ไม้ไผ่หนึ่งปล้อง หนึ่งปล้องครึ่ง หรือ ๒ ปล้องติดกัน ด้านหนึ่งตัดให้ติดข้อไว้อีกด้านหนึ่งกลวงสำหรับใช้ฝ่ามือตบหรือใช้สันมืออัดกระแทกให้เกิดเสียง ส่วนอีกด้านหนึ่งอาจปาดเป็นรูปปากเป็ด สำหรับปักกับพื้นดิน ทั้งที่ใช้ดีดหรือเคาะและที่ใช้ตบหรือตี ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางและความยาวที่ต่างกันจะช่วยให้มีเสียงต่างกันส่วนหนึ่ง และเกิดจากวิธีดีดหรือตบที่ต่างกันอีกส่วนหนึ่ง เมื่อเล่นหลาย ๆ คนประกอบกันก็มีเสียงสอดเสริมกัน ชวนให้อึกทึกครึกครื้นเป็นอย่างดี

     สรุปได้ว่าการดนตรีพื้นเมืองของภาคใต้เป็นดนตรีประเภทเจ้าแห่งจังหวะเด่นกว่าลักษณะอื่น ๆ (สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์

ดูเพิ่มเติม กาหลอ ; กรือโต๊ะ โนรา หนังตะลุง บานอ ปืด

ชื่อคำ : ดนตรีพื้นเมืองภาคใต้
หมวดหมู่หลัก : การละเล่น และนันทนาการ
หมวดหมู่ย่อย : ดนตรี การบรรเลงดนตรีล้วน
ชื่อผู้แต่ง : สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์
เล่มที่ : ๕
หน้าที่ : ๒๕๘๘