ชนควาย

ชนควาย



         ชนควาย หรือ ฟันควาย เป็นกีฬาอย่างหนึ่งซึ่งนิยมกันมากที่เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพราะที่นี่นิยมเลี้ยงเฉพาะควายไว้ไถนาและใช้งาน ไม่นิยมเลี้ยงวัวเหมือนอย่างที่อื่น ๆ การชนควายคือ การใช้ควายต่อสู้กัน เช่นเดียวกับการชนวัว หรือชนไก่ ควายที่นำมาใช้ชนกันจะต้องมีลักษณะดี โดยมีผู้รู้ลักษณะควายจะเป็นผู้ไปเสาะหามา ลักษณะ ควายดีตามที่มีผู้ประมวลลักษณะเอาจากควายชนชั้นดี ๓ ตัว ซึ่งมีประวัติการชนเป็นเลิศ (ได้เสียชีวิตไป แล้ว ๑ ตัว และยังมีชีวิตอยู่ ๒ ตัว จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๒๘) คือ อ้ายขาวโรงสี มีลักษณะรวม ๆ คล้ายราชสีห์ ร่างงามกว่าควายใดเท่าที่นักเลงควายได้เคยเห็นมา มีตาเล็ก หัวโหนก เขารูปคันช้อน ขนสีขาว ขนที่คอยาว มีขวัญ ๗ ขวัญ คือขวัญขนาบ หนอกหน้า หนอกหลัง ขนาบหูทั้ง ๒ ข้าง และขวัญหน้าโพ ข้อเท้าสั้นเป็นข้อมะขาม ลักษณะนิสัย ไม่ยอมต่อหัวกับควายสีอื่น (จะชนเฉพาะควายสีขาวเท่านั้น) พยศ ไว้ตัวไม่ยอมให้คนขี่หลัง ค่อนข้างดุ ถ้าเจ้าของแสดงอาการโกรธ จะโกรธตอบ แต่ถ้าดีด้วยก็จะดีตอบ ไม่ยอมให้ไล่หลัง วิธีการเอาชนะคู่ต่อสู้ใช้วิธีสับยก คือ สับตาคู่ต่อสู้แล้วยกให้ล้ม มีน้ำใจนักกีฬาไม่ยอมทำร้ายเพื่อนเมื่อแพ้ เพียงแต่ไล่ใช้คางเกยท้าย (เสียชีวิตแล้วเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๘)อ้ายดำเขายาว เป็นควายสีดำสนิทคล้ายสีแมลงภู่ หน้าคางคกหรือหน้ายักษ์ (หน้าสั้น) เขายาวโค้งเป็นวงกลม ขนยาว ข้อเท้าสั้น ลักษณะนิสัยเป็นควายใจแข็ง อดทนเป็นเลิศ แต่นิ่มนวล ใจเย็น ไม่หยาบ ไม่ดุร้าย เชื่องกับทุกคน โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็ก ให้ขี่หลังได้ครั้งละ ๒-๓ คน ชอบกินข้าวสุก และขนมทุกชนิด นอนดึกตื่นเช้า วิธีการชนจะดูชั้นเชิงคู่ต่อสู้ก่อนเมื่อเห็นว่าคู่ต่อสู้เหนื่อยแล้วจะรุกทันทีแล้วไม่ยอมลด และฟันคู่ต่อสู้ตามหู แก้ม และคอและฉลาดในการแก้ลำคู่ต่อสู้เมื่อเกิดเพลี่ยงพล้ำ (ยังมีชีวิตอยู่ แต่เลิกชนแล้วเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๘)อ้ายขาวหน่อตง เป็นควายสีขาว เขาสั้นรูปคล้ายหน่อไม้ไผ่ตง มีขวัญขนาบหนอก อัณฑะย้อยยาน ข้อเท้าสั้น หางสั้น (ยังมีชีวิตอยู่แต่เลิกชนแล้วเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๘) จากลักษณะควายเด่นทั้ง ๓ ตัวนี้ สรุปเป็นลักษณะควายดีได้ ดังนี้ คือ จะต้องมีร่างกายกำยำ ล่ำสัน ข้อเท้าสั้นไม่เก้งก้าง มีความเฉลียวฉลาด อดทนเป็นเลิศ ส่วนลักษณะอื่น ๆ เป็นลักษณะเด่น เฉพาะตัว ในการชนควาย เมื่อนำควายมาเปรียบกันจนได้คู่ต่อสู้เรียบร้อยแล้ว ต่างฝ่ายต่างก็ขุนควายของตน ต่างบำรุงดูแลเป็นอย่างดี พอใกล้วันชนจะใช้เศษแก้วเสี้ยมเขาทั้ง ๒ ข้างให้แหลมคม บางรายใช้พริกขี้หนูตำละเอียดพอกเขาไว้เผื่อว่าเมื่อขวิดถูกคู่ต่อสู้จะได้เจ็บแสบทรมานยิ่งขึ้น (มักกระทำก่อน ถึงเวลาชนเล็กน้อย) เมื่อถึงวันชนจะมีการทำพิธีทางไสยศาสตร์ ลงคาถาอาคมโดยลงเลขยันต์อักขระขอมตรงสีข้างทั้งสองใกล้บริเวณสันหลังของควาย มีการผูกคอและเท้าทั้งสี่ด้วยด้ายที่เสกเป่าด้วยหมอผู้ชำนาญ เท้าหน้าข้างซ้ายผูกด้วยด้ายสีแดง ส่วนเท้าอื่น ๆ ผูกด้วยด้ายสีขาว

เมื่อได้ฤกษ์จะจูงควายออกจากคอกด้วยการเลือกทิศที่เป็นชัยมงคล เรียกการนำออกอย่างถูกทิศทางนี้ว่า “บุ่มควาย” และเรียกการนำออกไปอย่างสำรวมและถูกต้องตามทิศประจำวันว่า “จามทิศ” ซึ่งมีตำราว่าวันไหนห้ามนำออกทางทิศใดไว้ดังนี้

วันจันทร์ ห้ามทิศอีสาน
วันอังคาร ห้ามทิศอาคเนย์
วันพุธ ห้ามทิศประจิม
วันพฤหัสบดี ห้ามทิศทักษิณ
วันศุกร์ ห้ามทิศบูรพา
วันเสาร์ ห้ามทุกทิศ
วันอาทิตย์ ห้ามทุกทิศ

สนามชนควาย เดิมไม่มีการจัดแต่งใด ๆ เพียงเลือกบริเวณที่มีลานกว้างพอที่จะให้ควายต่อสู้กันได้ มีพื้นที่พอให้ผู้ชมการต่อสู้ได้ยืนดูตามสมควรก็เป็นอันเพียงพอ ส่วนใหญ่จะเป็นลานกว้างในสวนมะพร้าวหรือกลางทุ่งนา การชนควายในสนามเช่นว่านี้เรียกว่า “ชนควายลาน” การชนควายแบบดังกล่าวเป็นการชนเพื่อความสนุกสนานมากกว่าอย่างอื่น

          ต่อมาเมื่อการชนควายได้เปลี่ยนรูปแบบมาเป็นชนเพื่อเอาเดิมพันเอา “ค่าหน้า” และมีการท้าพนันในการแพ้ชนะของคู่ควายที่ลงชนในสนาม มีผู้คนทั้งในถิ่นและต่างถิ่นเข้าชมมาก การเสี่ยงต่ออันตรายของผู้ชมซึ่งอาจเกิดจากการต่อสู้และหลบหนีคู่ต่อสู้ของควายฝ่ายแพ้ จึงได้มีการกำหนดให้ ผู้จัดชนควาย จัดทำสนามให้แข็งแรงป้องกันอันตรายได้และถูกต้องตามธรรมชาติของควายในการหลบหนีเมื่อพ่ายแพ้ด้วย บริเวณที่นิยมเลือกเป็นสถานที่สร้างสนามตามที่ปรากฏที่เกาะสมุย นิยมเลือกเอาบริเวณดงมะพร้าวที่มีต้นมะพร้าวห่าง ๆ ไม่ไกลจากชุมชนใหญ่เท่าใดนัก โค่นต้นมะพร้าวที่ให้ผลน้อยหรือไม่ให้ผลออก จัดหาไม้มาล้อมเป็นคอกวงกลม มีปีก ๒ ข้าง ซ้ายขวา เป็นทางเข้าออก และเป็นทางวิ่งของควายเมื่อเกิดการพ่ายแพ้ พื้นที่ของคอกประมาณ ๕๐๐-๖๐๐ ตารางเมตร ไม้ที่นำมาล้อม ทั้งเสาและไม้รั้วต้องแข็งแรง โดยทั่วไปจะใช้ไม้มะพร้าวตัดเป็นท่อน ๆ ขนาดยาวประมาณ ๒.๕-๓.๐ เมตร มาทำเป็นเสา ปักห่างกันประมาณ ๑.๕-๒.๐ เมตร ใช้ไม้ไผ่ทั้งลำมาทำเป็นไม้รั้ว ใช้เชือกคาดอย่างแข็งแรง ปีก ๒ ข้าง อันเป็นทางเข้าออกและทางหนี กว้างประมาณ ๓ เมตร ยาวประมาณ ๓๐-๔๐ เมตร ใช้วัสดุแบบเดียวกันทำเป็นรั้วต่อจากวงกลมปากทางจดกับรั้วสนามชั้นนอกที่กั้นขึ้นเพื่อบังตาคนที่ไม่ได้เสียเงินค่าดู สนามแต่ละสนามจะมีพื้นที่ว่างรอบ ๆ วงกลมประมาณ ๓-๔ เท่า ของพื้นที่สำหรับควายชน ใช้เป็นที่พักควายชนก่อนถึงวันชน และเป็นบริเวณที่ผู้ชมและผู้เกี่ยวข้องได้ใช้เป็นที่ยืนชมและดำเนินการในการชนควาย เมื่อถึงวันกำหนดชนจะมีการสร้างศาลเพียงตาและนำไม้มาปักเป็นวงกลมสำหรับวงสายสิญจน์ทำพิธีทางไสยศาสตร์ เรียก “มณฑลควาย” สำหรับแต่งควายก่อนวางชน ซึ่งห้ามคนภายนอกเข้าไปในบริเวณมณฑล กึ่งกลางสนามมีผ้าม่านขนาดกว้างประมาณ ๔ เมตร ยาวประมาณ ๑๐ เมตร กั้นเป็นม่านบังตาควายไม่ให้มองเห็นคู่ต่อสู้ขณะเข้าพิธีทางไสยศาสตร์ เมื่อได้เวลาปล่อยควาย เสาไม้และผ้าม่านจะถูกนำออกเหลือที่เป็นลานโล่งสำหรับควายทั้งคู่จะต่อสู้กัน

         สำหรับสถานที่นั่งชมนั้น ต่อมาทางราชการได้กำหนดให้เจ้าของสนามหรือผู้จัดทำอัฒจันทร์ให้ผู้เข้าชมได้นั่งอย่างปลอดภัยด้วย ดังนั้นทุกสนามจะมีอัฒจันทร์เล็กใหญ่ แล้วแต่ความเหมาะสมหรือ จำนวนผู้ชมที่คาดว่าจะมาชมควายชนในนัดนั้น ๆ ส่วนใหญ่คนต่างถิ่นจะนิยมนั่งอัฒจันทร์เพราะเกรงอันตรายมากกว่าคนในถิ่น

         สนามชนควายแม้จะเป็นงานที่ไม่ละเอียดประณีต แต่เป็นงานที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ เพื่อป้องกันภัยอันตรายและหาทางให้สอดคล้องกับลักษณะนิสัยของควายซึ่งเมื่อเกิดพ่ายแพ้จะวิ่งหนี ส่วนตัวที่ชนะจะไล่ตามข่มขวัญทำอันตรายคู่ต่อสู้จนมั่นใจว่าชนะเด็ดขาดแน่แล้ว ในการชนแต่ละคู่ แต่ละครั้งจะมีการเสี่ยงเลือกแดนแบ่งแดนกัน เมื่อได้แดนแล้วหมอประจำของแต่ละฝ่ายจะใช้น้ำมนต์ประพรมทั่วมณฑลของตนเพื่อขับไล่เสนียดจัญไร ต่อจากนั้นจึงนำควายเข้าสู่มณฑลของตน แล้วมีการตั้งศาลเพียงตาจุดธูปเทียนบูชาไหว้เจ้าที่และบริกรรมคาถาเรียกกำลังให้กับควายของตน แล้วเดินไปที่เขตแดนกลาง ทำทีตัดไม้ข่มนามคู่ต่อสู้ (ห้ามเดินเลยเข้าไปในแดนของฝ่ายตรงกันข้าม) โดยใช้มีดปักลงในดินที่เป็นเขตของฝ่ายตรงกันข้าม ซึ่งถือเป็นเคล็ดว่าควายของฝ่ายตนแทงถูกคู่ต่อสู้ บางทีก็หาวิธีทำให้เวทมนตร์ของอีกฝ่ายหนึ่งเสื่อมความขลังโดยกลอุบายต่าง ๆ ซึ่งเรียกว่า “ปลอง”

วิธีการทางไสยศาสตร์และการใช้ยาชนิดต่าง ๆ ที่เจ้าของควายกระทำเพื่อให้ควายของตนชนะ เรียกว่า “การแต่งควาย” เรื่องนี้เป็นขนบนิยมที่ยึดถือและปฏิบัติกันมาแต่โบราณจนถึงปัจจุบันนี้ มีหลักฐานเป็นเอกสารวรรณกรรมท้องถิ่นเรื่อง “แต่งควาย” ที่สืบค้นได้และเก็บรักษาไว้ที่สถาบันทักษิณคดีศึกษา ๓ สำนวน ๆ ละ ๑ เล่ม เป็นหนังสือบุดดำและบุดขาว ได้มาจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี ภูเก็ต และนครศรีธรรมราช จากเอกสารทั้ง ๓ ฉบับ แสดงให้เห็นว่าจุดประสงค์ใหญ่ของการแต่งควายก็คือมุ่งที่จะทำให้ควายของตนมีชัยชนะ ส่วนรายละเอียดปลีกย่อยเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของแต่ละฉบับนั้นแตกต่างกันไป

         การแต่งควายใช้ทั้งเวทมนตร์คาถาและยา เช่น เวทมนตร์เมื่อจะจับเชือกควายว่าดังนี้ อะ อา อิ ติ ผัน ทุ ทุ ขัง อนิจจัง อนัตตา นอกจากนี้ยังมีคาถาสำหรับเรียกจิตควาย ผูกจิตควาย ปลุกควาย คาถาสำหรับใช้เสกล้อมตัวควายเพื่อมิให้คู่ต่อสู้ชนกระทบ ตลอดจนเวทมนตร์คาถาที่ใช้ประกอบยันตร์ลงปลายเขา หัว เท้าหน้าและหลังของควาย เพื่อให้คงทนเป็นสิริมงคล ส่วนการใช้ยามีการใช้ยาที่ทำให้ควายกินเพื่อเสริมกำลัง หรือทาตัวเพื่อให้คงกระพัน เช่น ให้เอา “...หญ้าขัดมอน ๑ ทนดี ๑  สัพชัย ๑ ลูกลอกอ ๑ เทียนฉา ๑ หัวชงอ ๑ ขมิ้นอ้อย ๑ น้ำมันงา ๑” แล้วใช้คาถาเสกยาดังนี้ โอมเพชรตึง เพชรตัง ตัวทรพีคงเป็นกรัง หนังทรพีคงเป็นเหล็ก ตัวทรพีคงคือเพชร สวาหะสวาโหม”  หรืออีกวิธีหนึ่งใช้คาถาว่า ทุสมะนิ ลงขมิ้นอ้อย ๔ แว่น เสก ๗ คาบ ให้ควายกินคงนักแล

เรื่องแต่งควาย ยังมีตำรายา เวทมนตร์ถาถา และพิธีกรรมที่ทำให้ควายตรงข้ามเจ็บป่วย เขาหัก ไม่มีกำลังสู้ควายของผู้แต่งควาย ทั้งยังทำให้ผู้แต่งควายฝ่ายตรงข้ามมือเท้าอ่อน งงงัน ไม่สามารถกระทำต่อควายของผู้แต่งได้ นอกจากนี้ยังมียาสำหรับป้องกันหรือแก้เมื่อควายถูกฝ่ายตรงข้ามวางยา

การแต่งควายชน ผู้แต่งจะต้องว่ามนตร์ส่งหรือให้พรแก่ควาย เช่น ความบางตอนของบทให้พรกล่าวว่า โอมสิทธินางคูรำ ก็มาให้พร แก่พระยาทรพี ในศิริยบรรพต ปรากฏทุกแห่ง ทั่วแหล่งหล้า นางจึงก็มาร้องเชิญหมู่เทพยุดาให้ลงมาทั้ง ๑๖ ชั้นฟ้า ๑๕ ชั้นดิน...ขอเชิญพระอิศวรมาอยู่เขาซ้าย ขอเชิญพระนารายณ์มาอยู่เขาขวา ขอเชิญเทพดาอักรักษาสถานอันมีฤทธิ์ ทั้งพระ ๑ พระ ๒ พระ ๓ พระ ๔ พระ ๕ พระ ๖ พระ ๗ อันตัวนี้เข้ามาอยู่ ขอให้มีกำลังดังพระยาหลมานผู้ผลาญลังกา ขอให้มาราพ่ายแพ้ เดชะน้ำนมแม่ ขอมาคงกระพันชาตรี วันนี้วันดีจงมีฤทธิ์ คฤๅดังไฟประลัยกัลป์ คงทั้งกลางวัน คงทั้งกลางคืน คงทั้งหลับ คงทั้งตื่น คงทั้งซ้าย คงทั้งขวา คงข้างหน้า คงข้างหลัง คงทั้งสรรพเครื่องสุชล โอม ทน ๆ คง ๆ สวาโหม” (คง หมายถึง อยู่ยงคงกระพัน) และมีความเชื่อว่ามนต์บทนี้อาจใช้ปลุกควายทำน้ำมนต์รดหรือเสกน้ำมันทาควายก็ได้ จะทำให้คงทนและชนชนะ

ข้อความข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่าเรื่องแต่งควายนี้ได้รับอิทธิพลบางส่วนจากวรรณคดีเรื่อง รามเกียรติ์ ตอนกำเนิดทรพีดังมีการเปรียบเทียบควายชนเหมือนทรพีซึ่งมีฤทธิ์แกล้วกล้า

         เมื่อเสร็จพิธีแล้ว กรรมการกลางจะมาตรวจสอบเขาควาย ใช้ผ้าเช็ดทั่วเขาเพื่อไม่ให้มีรอยยาพิษติดอยู่ ต่อจากนั้นต่างฝ่ายต่างอาบน้ำให้ควายของตนเพื่อให้ตัวลื่นและจะมีสัญญาณเริ่มการชนควาย ทั้ง ๒ ฝ่ายจะเริ่ม “ตัดเลาะ” (ตัดเชือกที่สนตะพายให้เหลือไว้เพียงพอดึงจมูกไว้) แล้วหมอจะเดินนำหน้า ควาญผู้ชำนาญการคุมควายก็จะเดินตามหลังหมอ แต่ละฝ่ายจะถอนหลักของตน ควาญก็จะปล่อยให้ควายเข้าชนกัน

การต่อสู้ของควายจะขวิดกันอย่างดุเดือดและรุนแรงกว่าวัว นักการพนันขันต่อจะคอยสังเกตที่ลึงค์ของควาย ถ้าลึงค์ฝ่ายใดหดย่อมหมายถึงฝ่ายนั้นหมดกำลังทั้งกายใจที่จะต่อสู้ต่อไปเวลาต่อสู้มักแพ้ เมื่อแพ้ชนะกันมักไล่ขวิดกันต่ออย่างเคียดแค้น ผู้ชมจึงต้องระวังอันตรายเพราะอาจถูกลูกหลงได้ง่าย ๆ 

 

ชื่อคำ : ชนควาย
หมวดหมู่หลัก : การละเล่น และนันทนาการ
หมวดหมู่ย่อย : กีฬา กายกรรม และการพนัน
ชื่อผู้แต่ง : สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์, สุภาคย์ อินทองคง, อุบลศรี อรรถพันธุ์
เล่มที่ : ๔
หน้าที่ : ๑๘๖๓