ชนไก่ : กีฬาพื้นบ้าน
การต่อสู้แข่งขันที่มนุษย์ได้ใช้ตัวแทนของตนเข้าต่อสู้แข่งขันกัน โดยมนุษย์จัดการปรับปรุงให้การต่อสู้นั้นเป็นไปโดยยุติธรรม โดยให้มีกฎเกณฑ์และกติกาต่าง ๆ ขึ้น เช่น การแข่งขันประชันเสียงของนกเลี้ยง อันได้แก่ นกเขา นกกรงหัวจุก (ปรอดหัวโขน) การกัดปลา ชนวัว และชนไก่ เป็นต้น จัดว่าเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง เมื่อมีการแข่งขันต่อสู้เกิดขึ้นก็ย่อมมีผู้ถือหางของแต่ละฝ่ายกัน การพนันขันต่อก็ได้เกิดขึ้นด้วยในระยะเวลาต่อมา อย่างน้อยก็เป็นเครื่องผ่อนคลายอารมณ์ เพราะมนุษย์มีจิตใจ มีอารมณ์ การพนันขันต่อย่อมมีทั้งแพ้และชนะ มีทั้งความผิดหวังและสมหวัง เป็นเครื่องประคับประคองใจให้มนุษย์มีความอดทนและมีความหวังในชีวิตขึ้น
เมื่อครั้งเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ยังเป็นพระวิจิตรวรสาสน์ เป็นข้าหลวงพิเศษตรวจราชการเมืองสงขลา พัทลุง ใน ร.ศ.๑๔๔ (พ.ศ.๒๔๓๘) ได้บันทึกกราบทูลพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ ๒๓ มีนาคม ตอนหนึ่งว่า “บ่อนไก่ในเมืองแถวนี้ร้ายแรงเป็นล้นเกล้าฯ จำเปนที่จะทิ้งไว้ให้เล่นกันต่อไปอีกไม่ได้ โรงบ่อนในกรุงหรือหัวเมืองฝ่ายเหนือ เขาเล่นละครมีเพลงล่อคนให้เล่นเบี้ย แต่พวกเมืองแถวนี้ ใช้บ่อนไก่ต่างละคร บ่อนโปมีเท่าไรบ่อนไก่เท่านั้น” จึงกราบทูลให้เลิกบ่อนไก่เสีย แต่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงให้เหตุผลประกอบว่า “ถ้าจะเลิกเสียหมดทีเดียว ยังไม่ควรก่อน ถึงเป็นการเล็กน้อยน่าที่จะเป็นความเดือดร้อนแก่ราษฎร เพราะเป็นความสนุกที่นิยมอยู่ทั้งพวกแขกแลไทย” จากข้อความดังกล่าวย่อมแสดงให้เห็นวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี
การชนไก่ คือ การเอาไก่ตัวผู้มาให้ต่อสู้กัน ให้แพ้ชนะกันไปข้างหนึ่งตามกติกาที่กำหนดไว้
ความเป็นมาของการชนไก่ มีอยู่หลายกระแสดังต่อไปนี้
วิเศษ อัครวิทยากุล ได้กล่าวไว้ในหนังสือเรื่อง ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงไก่ชนว่า การชนไก่เริ่มมีเป็นครั้งแรกเมื่อใด และมีขึ้นในที่ใด ก็ยากที่จะสันนิษฐานได้แต่ผู้สันทัดกรณีสันนิษฐานว่า แหล่งกำเนิดน่าจะอยู่ในทวีปเอเชียก่อน เพราะนอกจากจะนิยมเล่นชนไก่ในประเทศไทย ประเทศชาติในแถบนี้ก็นิยมเล่นไก่ชนกันอย่างแพร่หลาย เช่น อินเดีย พม่า บังคลาเทศ ลาว เวียดนาม เขมร มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เป็นต้น แม้แต่ปราสาทนครวัดในประเทศเขมร ที่สร้างมากว่าพันปี ก็ยังมีรูปสลักลงในหินแสดงว่ามีการชนไก่ ไว้เป็นหลักฐาน นอกจากนี้นักประวัติศาสตร์ยังมีหลักฐานแสดงว่า มนุษย์ได้เริ่มเลี้ยงไก่ชนในแถบลุ่มแม่น้ำสินธุในประเทศอินเดียมาก่อนส่วนอื่นในโลก เมื่อประมาณ ๔๕๐๐ ปีมาแล้ว (วิเศษ อัครวิทยากุล. มปป., หน้า ๘.)
นอกจากนี้ยังพบหลักฐานอีกหลายแห่งที่มีการชนไก่หรือตีไก่มาแต่โบราณกาลด้วยเช่น คั่งไถ่ (Kang Tai) ทูตจีนที่เดินทางมาอาณาจักรฟูนัน เมื่อปลายพุทธศตวรรษที่ ๘ (ราว พ.ศ.๗๐๑-๘๐๐) ได้บันทึกไว้ในส่วนเกี่ยวกับประชาชนว่า “ประชากรของอาณาจักรฟูนัน ผิวดำ ผมหยิก เดินเท้าเปล่า ผู้ชายสวมโสร่ง ผู้หญิงใช้ผ้าโพกศีรษะ... มีความเป็นอยู่อย่างง่าย ๆ ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ รู้จักต่อเรือใช้เอง ชอบเล่นสนุกด้วยการตีไก่...” (ฮอลล์. ๒๕๒๒, ๔๑.)
รองศาสตราจารย์ ดร.อภิชัย รัตนวราหะ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “ไก่ชน เทคนิคการผสมพันธุ์และการเลี้ยงดู” ว่า ประวัติการเล่นชนไก่เพื่อเกมกีฬานั้นเริ่มเกิดขึ้นมาเป็นเวลาช้านานแล้วเท่าที่พอจะค้นหาหลักฐานได้พบว่าเมื่อ ๔๘๐ ปีก่อนคริสต์ศักราช ขุนศึกจากนครเอเธนส์ (ประเทศกรีก) ได้ยกทัพเรือไปโจมตีเปอร์เซีย ที่เกาะแซลอะมิส (Salamis) แล้วได้เห็นกีฬาชนไก่ของชาวเปอร์เซีย จนเกิดความสนใจในความแข็งแกร่งของไก่ชน หลังจากรบชนะแล้วจึงได้นำไก่ชนกลับมายังนครเอเธนส์ด้วย และได้จัดให้มีการชนไก่เป็นประจำขึ้นที่นั่น จากนั้นก็ได้แพร่หลายเข้าสู่กรุงโรม (ประเทศอิตาลี) ในสมัยของ เทมิสโตเคลส (Themistocles) แล้วแพร่กระจายไปทั่วทวีปยุโรปแม้จะถูกกลุ่มผู้นำศาสนาคริสต์ขัดขวาง แต่การชนไก่ก็ยังคงเป็นกีฬาที่นิยมกันในประเทศอังกฤษ อิตาลี เยอรมัน สเปน และบรรดาเมืองขึ้นของประเทศเหล่านี้ จากทวีปยุโรป กีฬาชนไก่ก็แพร่หลายไปยังทวีปอเมริกาเริ่มต้นโดยชาวอังกฤษที่อพยพจากเกาะอังกฤษที่ไปตั้งรกรากที่รัฐนิวอิงแลนด์ หลังจากนั้นกีฬาชนไก่ก็แพร่ไปในรัฐอื่น ๆ และประเทศอื่น ๆ ด้วย ในปี ค.ศ.๑๘๓๖ รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ออกกฎหมายห้ามชนไก่ เพราะถือว่าโหดเหี้ยมทารุณต่อสัตว์ซึ่งเช่นเดียวกันกับประเทศไทย ในช่วงปี พ.ศ.๒๔๗๗-๒๔๗๘ ก็ได้นำมาอ้างในการออกกฎหมายบ้าง โดยมีเหตุผลอีกประการหนึ่งว่า หากปล่อยให้เล่นกันแล้วชาวไร่ชาวนาจะพากันหมกมุ่นอยู่กับการพนันไม่เป็นอันทำนา ส่วนในเมืองไทยนั้น กีฬาชนไก่พอสรุปได้ว่าเริ่มมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงปัจจุบัน (อภิชัย รัตนวราหะ. ๒๕๓๗, หน้า ๑-๒.)
พบหลักฐานทางภาคใต้ในตำนานพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ถึงการสร้างวิหารพระม้าหรือวิหารพระมหาภิเนษกรมณ์ว่า ผู้สร้างคือเศรษฐีชาวลังกาสองคน พี่น้องชื่อ พลิติ กับ พลิมุ่ย ได้เดินทางมาเพื่อสร้างพระบรมธาตุที่เมืองนครศรีธรรมราช แต่เมื่อมาถึง ปรากฏว่าพระบรมธาตุได้สร้างเสร็จแล้ว แต่ด้วยแรงศรัทธาของเศรษฐีทั้งสอง จึงได้สร้างวิหารพระมหาภิเนษกรมณ์หรือวิหารพระม้าขึ้นแทน ในระยะเวลาเดียวกันบุตรชายของเศรษฐีทั้งสองเกิดทะเลาะวิวาทกันเรื่อง การพนันชนไก่ และได้ฆ่ากันตายทั้งสองคนทำให้เศรษฐีทั้งสองเศร้าสลดใจมาก จึงเอาอัฐิของบุตรทั้งสองมาตำคลุกเคล้ากับปูนแล้วปั้นรูปเป็นพระสิทธิธัตถะ พระนางพิมพา พระราหุล นายฉันนะ ม้ากัณฐะ เทวดา พรหม มาร โดยอาศัยพุทธประวัติตอนพระพุทธองค์เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ติดไว้ที่ฝาผนังในวิหารนั้น (จากตำนานพระธาตุนครศรีธรรมราช) นอกจากนั้นยังได้พบในวรรณกรรมของไทยอีกหลายเรื่อง เช่น เรื่องรถเสน และวรวงศ์ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังพบหลักฐานในภาคใต้อีกแห่งหนึ่งคือ เรื่องราวของการชนไก่ในภาคใต้ที่วัดเววน ตำบลป่าเว อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี อีกว่า “...ที่วิหารเก่าในวัดเววนเคยมีพระพุทธรูปสมัยทวารวดี ๒ องค์ (ชำรุด) องค์ใหญ่ชาวไชยาเรียกว่า “พ่อตาเชี่ยว” เป็นที่เคารพนับถือกันมาก โดยเฉพาะ นักเลงชนไก่ ถือว่าเป็นเจ้าพ่อสำหรับบนบานของการชนไก่” ในสมัยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ถูกส่งไปยังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร แล้วส่งต่อไปไว้ยังพิพิธภัณฑสถานวัดพระปฐมเจดีย์ โดยเห็นว่าเป็นสมัยทวารวดี มีแหล่งกำเนิดที่นครปฐม เชื่อกันว่าพระพุทธรูปสมัยทวารวดีที่พบในเมืองไชยานั้นก็คงจะถูกส่งไปจากเมืองนครปฐมหรือภาคกลาง จึงตั้งใจให้รวบรวมเป็นหมวดหมู่อยู่ในที่เดียวกัน พระพุทธรูปสมัยทวารวดี ศิลาสององค์ จากวัดเววน เมืองไชยา จึงประดิษฐานอยู่ที่ระเบียงพิพิธภัณฑสถานวัดพระปฐมเจดีย์มาจนทุกวันนี้
นอกจากนั้นยังได้พบตุ๊กตาดินเผาเป็นรูปเด็กไว้ผมจุก มือหนึ่งอุ้มน้อง มือหนึ่งอุ้มไก่ เรียกกันว่า “เจ้ามรรคผล” คือตุ๊กตาเสียกบาลที่ชาวบ้านสร้างถวายแก้บน “พ่อตาเชี่ยว” เนื่องด้วยการชนไก่ชนะ (สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้. ๒๕๒๙, หน้า ๓๓๗๑.)
ไก่ชนไทย
ไก่ชนไทยนั้นยังไม่มีใครรู้ชัดเจนว่าพันธุ์ดั้งเดิมมีความเป็นมาอย่างไร เพราะไม่มีการบันทึกไว้เป็นระบบที่แน่นอน จะบันทึกไว้บ้างก็เพียงตำราดูลักษณะและความเชื่อต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับไก่ชนเท่านั้น ส่วนเรื่องชาติพันธุ์ของมันนั้นไม่มีใครบันทึกไว้เลย เพียงแต่ทราบได้จากการสันนิษฐานและคำบอกเล่าสืบต่อกันมาว่า วิวัฒนาการมาจากไก่ป่าเมืองไทยหรือแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี่เอง โดยทั่ว ๆ ไป แล้วเรียกไก่พวกนี้ว่า “ไก่บ้าน” หรือ “ไก่พื้นเมือง” บางท้องถิ่นเรียกว่า “ไก่อู” อันเป็นพันธุ์ไก่ชนิดหนึ่งซึ่งมีกระจัดกระจายอยู่ทั่วทุกภาคในประเทศไทย และประเทศแถบเอเชียอาคเนย์มากกว่าแหล่งอื่น เป็นไก่พื้นเมืองที่มีรูปร่างสง่างามกว่าไก่ชนิดอื่น ๆ เป็นไก่พันธุ์หนึ่งที่ชอบการต่อสู้ ดุดัน มีน้ำอดน้ำทน พละกำลังและชั้นเชิงในการต่อสู้เหนือกว่าไก่ชนิดอื่น ๆ
ไก่ที่นำมาชนกันหรือตีกันนั้น ล้วนแต่ได้รับการคัดเลือกจากนักเลงไก่ชนมาแล้วทั้งสิ้น ชาวภาคใต้จะแบ่งไก่ทั่วไปตามรูปร่างลักษณะของไก่พื้นเมืองออกเป็น ๒ ประเภท คือ “ไก่ชน” กับ “ไก่แกง” การคัดเลือกว่าตัวใดเป็นไก่ชนนั้นดูได้จากรูปร่าง สีสัน เกล็ด ปาก หงอน แร้ง แข้ง ขน หาง ไหล อก เดือย ฯลฯ ถ้ามีลักษณะดีตรงตามตำราหรือความเชื่อและเป็นไก่ที่มีสุขภาพดี ก็จะคัดเลือกไว้เป็นไก่ชน ส่วนไก่พื้นเมืองที่มีลักษณะไม่ดีหรือมีสุขภาพไม่ดีพอก็จัดเป็นประเภท “ไก่แกง” แม้ไก่ดังกล่าวจะเป็นไก่ครอกเดียวกันก็ตาม
การพิจารณาลักษณะไก่ชนเป็นศาสตร์ที่ต้องศึกษากันอย่างลึกซึ้งและส่วนใหญ่จะประมวลขึ้นจากประสบการณ์ จึงมีหลายครูหลายตำรา แต่ส่วนใหญ่มักจะคล้ายคลึงกัน
ลักษณะชั่วดีของไก่ชน
การดูลักษณะชั่วดีของไก่ชนนั้น ถือเป็นความลับและของหวงของนักเลงเล่นไก่ชนในอดีตยิ่งนัก ซึ่งมักปกปิดเป็นความลับ จะบอกกล่าวถ่ายทอดให้ก็เฉพาะญาติมิตรที่สนิทสนมนับถือกันจริง ๆ เท่านั้น และส่วนมากก็เป็นมุขปาฐะ ทำให้ตำราการดูไก่ชนไม่ได้รับการถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังมากนัก
ไก่ชนทั่วไปมีลักษณะดีชั่วหลายประการ ดังต่อไปนี้คือ
๑. หัว โดยทั่วไปมักจะรวมถึง หงอน หน้า ปาก ตา หู แร้งหรือเหนียง คาง และตุ้มหู ฯลฯ ด้วย แต่ในที่นี้จะแยกเป็นเรื่อง ๆ ไป ดังนี้ หัว หมายถึงกะโหลกศีรษะส่วนบนตั้งแต่หน้าหงอนไปจรดต้นคอ มีลักษณะโค้งมน หัวหรือศีรษะของไก่ชนที่ดีจะมีขน คือขนหัวตรงหัวคิ้วทั้งสองข้างไปประสานกันตรงกลางสันหัวและเป็นขนที่หนาแน่นไม่มีลักษณะเป็นไก่หัวล้าน ตรงกระหม่อมก็ไม่มีรอยถลอกหรือที่เรียกว่า “รอยไข” แต่อย่างใด นักเลงไก่ชนภาคใต้เรียกรอยตำหนิดังกล่าวว่า “หม่อมเผย” (กระหม่อมเผย) (สำหรับเรื่องนี้แตกต่างกับความนิยมหรือความเชื่อของนักเลงไก่ชนภาคอื่น ๆ อย่างสิ้นเชิงที่ถือว่าเป็นลักษณะดี)
๒. หน้า เป็นส่วนสำคัญของไก่ชนมาก หน้าหรือใบหน้าของไก่ชนที่ดีนั้นจะต้องเกลี้ยงเกลาคมคาย หน้าลื่นเป็นมัน สำหรับใบหน้าของไก่ชนนั้นจะต้องพิจารณาร่วมกับหงอน ตา และอื่น ๆ ประกอบด้วย เช่น เมื่อหน้าลื่นเป็นเงาแล้ว หงอนจะต้องลื่นเป็นเงามันด้วย ถ้าหากเป็นไก่หงอนเล็กและลื่นด้วยแล้ว เชื่อกันว่าเป็นไก่ฉลาดและจัดจ้าน หน้าแหลมเหมือนยิ่ว (เหยี่ยว) ดุดัน หน้ากลมเหมือนลูกสะบ้าเป็นหน้าดีมาก ฉลาด มีไหวพริบ หน้ากลมเล็กคล้ายหน้านกกระจอก ถือว่าดีพอใช้ได้ เป็นหน้าไก่ชนที่บ่งบอกถึงความเฉลียวฉลาด แต่ใจน้อยหรือใจเสาะ หน้าใหญ่หรือที่เรียกว่า “หน้ายักษ์” เป็นใบหน้าที่ไม่ลื่น มีหนามหรือรอยขรุขระไปทั่วทั้งหน้าและหงอน ไก่ที่มีลักษณะหน้าเช่นนี้ถือว่าพอใช้ได้ แต่บางตัวถ้า มีลักษณะอื่นดีก็อาจเป็น หัวไก่ ได้เช่นกัน หน้าชนิดนี้บ่งบอกถึงความบึกบึนดุดันแต่ค่อนข้างทึบ ไม่ยอมแพ้ง่าย ๆ หน้ารูปสี่เหลี่ยมใหญ่ คล้ายหน้าคางคก เป็นหน้าไก่ที่อัปลักษณ์และโง่ จัดเป็นหน้าไก่ชนที่ใช้ไม่ได้เลย
๓. หงอน หงอนของไก่นั้นธรรมชาติได้สร้างไว้เพื่อปกปิดกะโหลกศีรษะ และเพื่อเป็นเครื่อง บ่งบอกเพศของไก่ ไก่ตัวผู้มักจะมีหงอนใหญ่กว่าไก่ตัวเมียในพันธุ์เดียวกัน (ยกเว้นไก่ทำเหมียหรือไก่กะเทย) ลูกไก่รุ่นหงอนยังเล็กยังไม่แดงจัด หงอนใหญ่เต็มที่และแดงจัดเมื่อเป็นไก่หนุ่มหรือไก่กระทง ถ้าหงอนไก่ตัวใดไม่แดงจัด หรือมีดำปนอยู่เหมือนกับรอยช้ำแสดงว่าไก่ตัวนั้นไม่สมบูรณ์ ไก่ที่สมบูรณ์จะต้องมีหงอนแดงจัดตลอดทั้งหงอน
หงอนไก่แบ่งเป็น ๒ ประเภท ได้แก่
๓.๑ หงอนหินหรือหงอนกุหลาบ
หงอนหินมีหลายชนิด เช่น
๓.๑.๑ หงอนทั่ง หมายถึงหงอนที่มีเนื้อหงอนหนา ข้างบนเป็นแป้นเสมอกัน คล้าย ๆ กับรูปทั่งที่ใช้สำหรับตีเหล็ก หงอนทั่งของไก่บางตัวมีโคนหงอนใหญ่ บางตัวก็มีโคนหงอนเล็ก สำหรับไก่ที่มีหงอนทั่งชนิดโคนหงอนเล็กเป็นหงอนที่ไม่แข็งแรงขณะที่เคลื่อนไหวไม่ว่าจะเดินหรือวิ่ง หงอนจะไหว ภาษานักเลงไก่ชนภาคใต้เรียกว่า “หงอนหวย” เป็นหงอนที่มีลักษณะเลว
๓.๑.๒ หงอนดอกหงอนไก่ ส่วนมากมี ๓ แถว ตามแนวความยาวของหงอน โดยมีแถวกลางสูงกว่าแถวข้างทั้งสอง บางทีตัวหงอนชนิดนี้ลื่นไม่มีหนาม แต่บางตัวหงอนชนิดนี้ก็ขรุขระหรือมีหนามอยู่ทั่วไปตั้งอยู่บนหัวด้านหน้าของหงอนมีลักษณะบางตรงอยู่เหนือปากบน
๓.๑.๓ หงอนหอย มีรูปร่างคล้ายกับหอยเปลือกหอยทาก หน้าหงอนพับลงเล็กน้อย ปลายหงอนกลมมนและลื่น หงอนชนิดนี้ถ้ามีอยู่ที่ไก่ที่มีใบหน้ากลมคล้ายลูกสะบ้าแล้วจะเป็นลักษณะของไก่ที่ดีมากเป็นพิเศษ
๓.๑.๔ หงอนหงส์ เป็นหงอนที่ยกสูงขึ้นคล้ายหงอนของหงส์ในวรรณคดีหรือหงส์อันเป็นพาหนะของพระพรหมนั่นเอง ปลายหงอนสูงแหลมไปทางด้านหลังเล็กน้อย เป็นหงอนที่เหมาะสมกับไก่เหลืองใหญ่คือไก่เหลืองหัวหงอก หางขาว ข้อลายเท่านั้น หงอนหงส์จะไหวหรือหวยอย่างไรก็ไม่ถือว่าเป็นลักษณะเลวเหมือนหงอนชนิดอื่น ๆ
๓.๑.๕ หงอนบ่อ คือหงอนชนิดใดก็ได้ แต่ถ้าที่ปลายหงอนด้านหลังมีหลุมหรือรูอยู่เรียกหงอนชนิดนั้นว่า “หงอนบ่อ”
๓.๑.๖ หงอนปาง หมายถึงหงอนที่แตกเป็น ๒ ง่าม เป็นหงอนที่ดีอย่างหนึ่ง และถ้าที่ขวดน้ำมันแตกเป็น ๒ ง่ามด้วยก็จะยิ่งดีเป็นพิเศษ ภาษานักเลงไก่ชนเรียกว่า “ง่ามหัวง่ามท้าย”
๓.๑.๗ หงอนปราบ มีลักษณะหงอนคล้ายหงอนห่านนั่นเองเป็นหงอนชนิดที่ราบเรียบติดกับกะโหลกศีรษะ ไก่ชนประเภทชนแข้งไม่นิยมใช้เป็นไก่ชน เพราะถ้าเกิดปากหัก ปากแตกขณะที่ชนอยู่ก็ไม่สามารถจะผูกปากได้ แต่มีบางคนบอกว่าไก่หงอนปราบมักมีปากหนาแข็งแรงไม่เคยปรากฏว่าไก่หงอนปราบปากขาดเลยเป็นลักษณะของหงอนไก่ที่ดีพอใช้ได้
๓.๒ หงอนแจ้
โดยทั่วไปแล้วไก่หงอนแจ้นั้นไม่ค่อยนิยมนำมาทำเป็นไก่ชนกัน นอกจากจะมีลักษณะดีพิเศษอื่น ๆ คือมีเชิงชนดี ลำหนัก ฉลาด หรือแทงจัด ฯลฯ เพราะไก่หงอนแจ้ ถ้าไม่ชนะเร็วจะชนหลายอันเป็นชนนานไม่ได้ เพราะหนักหัวเนื่องด้วยหงอนเทอะทะนั่นเอง นานเข้า ๆ ก็มักจะก้มหัวให้คู่ต่อสู้ตีเอา ๆ ชนแพ้ไปในที่สุด ไก่หงอนแจ้ก็มีหลายชนิดเช่นกันคือ
๓.๒.๑ หงอนแจ้ธรรมดา คล้ายกับหงอนของไก่แจ้นั่นเอง โดยเนื้อหงอนใหญ่ แบน สูง และมีจักหรือยอดเรียงรายกันอยู่บนปลายหงอน ไก่หงอนแจ้โดยทั่วไป มี ๓ ยอด ถึง ๗ ยอด ถ้าได้ ๗ ยอด ถึงจะดี
๓.๒.๒ หงอนชบา คือ หงอนแจ้ที่มีขนาดเล็กกว่าหงอนแจ้ทุกชนิดและจะต้องมีปลายหงอนพับลงข้างใดข้างหนึ่งของตาหรือใบหน้า
๓.๒.๓ หงอนแจ้กำแพงเศียร คือหงอนแจ้ธรรมดานั่นเอง แต่เป็นไก่หงอนแจ้ที่ไม่มีแร้งหรือเหนียงมาแต่กำเนิด เป็นไก่หงอนแจ้ที่มีลักษณะดีชนิดหนึ่ง (ชาติ ไชยณรงค์. ๒๕๓๓, หน้า ๓๖.)
๔. คิ้ว ไก่ชนที่ดีจะต้องมีโหนกคิ้วนูนเป็นสันโค้งปิดเบ้าตาตอนบน คิ้วดังกล่าวยังเป็นเครื่องบ่งบอกถึงความทรหดอดทนของไก่ตัวนั้น คิ้วลักษณะเช่นนั้นยังเป็นเครื่องป้องกันนัยน์ตาได้ดีอีกด้วย
๕. ตา ตาไก่ชนที่ดีจะต้องนิ่งไม่ลอกแลกและไม่หลบสายตาคู่ต่อสู้ หรือมีตาดุเหมือนตาเหยี่ยว และจะต้องเป็นตาเล็กแบบตาปลาดุก นัยน์ตาดำเล็ก นัยน์ตาขาวมีเส้นเลือดเล็ก ๆ สีแดง อยู่ทั่วไป เรียกตามภาษานักเลงไก่ชนว่า “เส้นตาหยาบ” วงของดวงตาจากหัวตามาจรดหางตาเป็นรูปตัววีตะแคง (>) คล้ายตาของคน จึงดูเหมือนตาเรียวเล็กสดใส และนัยน์ตาจะอยู่ลึกลงไปในเบ้าตา ไก่ชนที่มีตาเหลือก ตาลอกแลก ถึงจะดีเพียงใดก็ตาม แต่เป็นไก่ชนที่ไม่รักเดิมพัน บทมันจะไม่สู้ขึ้นมาก็จะวิ่งหนีเสียดื้อ ๆ เท่านั้นเอง ไก่ชนชนิดตาลอยมีนัยน์ตากลม สดใส นัยน์ตาลอยกลอกกลิ้งลอกแลกอยู่เสมอ มักเป็นไก่ฉลาด แต่ใจน้อย นัยน์ตาขาวหรือตาขาวของไก่ชนมีหลายสี เช่น แดง เหลือง ขาว ดำ หม่น (ค่อนข้างดำ) และบางตัวมีจุดประดำในตาขาวด้วย นัยน์ตาสีขาวเป็นลักษณะของนัยน์ตาไก่ชนที่ดีที่สุด แต่ก็มีบางตัวที่มีนัยน์ตาคือตาขาวไม่เหมือนกัน เช่น ข้างหนึ่งขาวแต่อีกข้างหนึ่งเหลือง บางตำราว่าดี บางตำราว่าไม่ดี เรียกว่า “ลักเค้า”
๖. หู ไก่ชนที่ดีจะต้องมีขนหูปกปิดมิดชิดทั้งสองข้างตามลักษณะสีขนของไก่แต่ละตัว และต้องไม่มีขี้หูหรือมีก็น้อยมาก แต่ถ้าไก่ชนตัวใดมีขี้หูมากผิดปกติก็หมายถึงว่าไก่ชนตัวนั้นไม่สมบูรณ์
๗. จมูก ไก่ชนที่ดีจะต้องมีรูจมูกกว้าง ยาว และใหญ่ ช่วยให้หายใจคล่องเวลาเหนื่อย ถ้ารูจมูกแคบจะหายใจไม่สะดวกในขณะที่ชนทำให้เป็นลมตายได้
๘. ปาก ปากของไก่มีความสำคัญมาก เพราะเป็นอาวุธอย่างหนึ่งของไก่ก็ว่าได้ ใช้สำหรับจิก ขยุ้ม คาบ ขนหนังของคู่ต่อสู้ และต้องมีความสัมพันธ์กับปีก แข้ง และเดือยของมันด้วย ปากไก่ชนที่ดีจะต้องมีปากสั้น (บางตำราว่าไม่สั้น ไม่ยาว) มีโคนปากใหญ่และมีร่องปากทั้งสองข้าง ปลายปากคม หนา และงุ้มเล็กน้อย คล้ายปากเหยี่ยว เป็นปากที่แข็งแรงทนทาน ทั้งยังต้องมีสีเดียวกับแข้งของไก่อีกด้วย
๙. คอ นับจากใต้คางถึงหัวไหล่ จะต้องยาวใหญ่ กระดูก ลำคอถี่ถึงจะดี คอบางไม่ดีหรือคอยาวแต่บาง โดยมีลักษณะแบนออกข้างไม่ดี เพราะเป็นคอที่ไม่แข็งแรงเรียกว่า “คองู”
๑๐. คาง คางไก่คือส่วนล่างของใบหน้า นับตั้งแต่โคนปากล่างไปจรดกับคอต่อ มีอยู่ ๔ รูปแบบ คือ
๑๐.๑ คางรัด หรือ คางตรง นับว่าเป็นคางของไก่ชนที่ดีมาก
๑๐.๒ คางเหลี่ยม นับว่าเป็นคางของไก่ชนที่ดีพอสมควร
๑๐.๓ คางกลม นับว่าเป็นคางของไก่ชนที่พอใช้ได้
๑๐.๔ คางรูปผสม หรือ คางผสม ก็คือมีคางรัดตรงไปจรดคอดีมาก แต่ใบหน้าส่วนบนของคิ้วของตาไม่ดีก็เท่ากับดีน้อยกว่าไม่ดี จึงถือเป็นไก่ชนที่คางไม่ดี (ชาติ ไชยณรงค์. ๒๕๓๓, หน้า ๔๑.)
๑๑. บ่า หรือ ไหล่ ไก่บ่าใหญ่มักจะเป็นไก่ที่แข็งแรง แต่ก็มีไก่บางตัวเป็นไก่บ่าใหญ่ แต่พอเอาไปเปรียบหรือเอาไปเคียงกับคู่ต่อสู้ มันจะหุบบ่าลงให้เล็กหรือแคบ หรือเจ้าของคนเลี้ยงแกล้งจับรัดไหล่ให้เล็กเพื่อเอาเปรียบคู่ต่อสู้
๑๒. แร้ง คือแผ่นเนื้อสีแดง ๒ แผ่น ที่อยู่ใต้คาง ตั้งแต่โคนปากล่างทั้งสองข้างมาปิดลูกกระเดือก มีสีแดงเหมือนสีหน้าของไก่ แร้งที่ดีจะไม่ยานมากนัก (ในท้องถิ่นอื่นเรียกว่าเหนียง แต่เหนียงในท้องถิ่นภาคใต้หมายถึงกระเพาะอาหารที่อยู่บริเวณหน้าอก) ไก่แร้งใหญ่ยานมักจะเป็นเป้าให้คู่ต่อสู้จิกคาบได้
๑๓. ตุ้มหู คือเนื้อแดงที่อยู่ใต้หูลงมา ต้องมีสีแดงจัดเหมือนสีหน้าของไก่ มีลักษณะกลมรีเล็กน้อย ตุ้มหูนับเป็นจุดอ่อนของไก่แห่งหนึ่ง ไก่ชนที่ดีต้องมีตุ้มหูเล็กเพราะถ้าตุ้มหูใหญ่มักจะตกเป็นเป้าของคู่ต่อสู้ได้ง่าย
๑๔. ลำตัว ไก่ชนที่ดีต้องมีลำตัวลักษณะกลมยาวเหมือนรูปร่างของปลีกล้วย แต่ไม่ใช่กลมเหมือนผลมะพร้าวหรือยาวเหมือนแตงกวาหรือฟักเขียว
๑๕. อก ไก่ชนที่ดีต้องมีหน้าอกกว้างใหญ่ มีกล้ามเนื้อเต็ม กระดูกหน้าอกใหญ่และแข็งแรงทรงพลังเป็นอย่างยิ่ง ไก่หน้าอกใหญ่มักยืนขาถ่าง
อกกลม ลักษณะเมื่อมองจากด้านหน้าคล้ายกับไข่ไก่ ด้านบนกลมรีและค่อย ๆ รีเล็กลงเลยปั้นขาลงไป ที่อกมีกล้ามเนื้อเต็มนูนแต่ไม่ยาวนัก เป็นอกไก่ที่ดีอีกอย่างหนึ่ง
อกยาน มีกระดูกหน้าอกห่างลำตัวลงล่างมาก จะเป็นไก่ซ่อนรูปมักได้เปรียบคู่ต่อสู้ แต่ต้องเป็นไก่อกยานที่มีหลังกว้างแบนด้วย ถ้าเป็นอกยานหลังกลมหรือหลังหลอไม่ดี เพราะมักจะเป็นไก่ผอมจึงไม่ค่อยมีกำลัง
อกคด เป็นลักษณะที่เลวอย่างหนึ่งของไก่ชน ทั้งนี้เพราะกระดูกหน้าอกโค้งงอไม่ได้สัดส่วน ไก่อกคดเป็นไก่ที่ไม่มีกำลังและขี้โรค
อกชัน เป็นอกไก่ที่ยกตั้งขึ้น มีกระดูกหน้าอกเล็ก เป็นอกไก่ที่ไม่ดีนัก และมักจะเป็นเป้าให้คู่ต่อสู้อีกด้วย
๑๖. หลัง หรือ แผ่นหลัง จะต้องกว้างแบนหลังไม่นูนหรือหลังค่อม ไก่ที่มีลักษณะหลังดังกล่าวจะเป็นไก่ที่มีความบึกบึน มีน้ำอดน้ำทน และมีพละกำลังดีกว่าไก่หลังกุ้งหรือไก่หลังกลม (ไก่หลังกลมในภาคใต้เรียกว่า “หลังหลอ” เป็นลักษณะของไก่ที่ไม่ค่อยรักเดิมพัน)
๑๗. ช่องท้อง ได้แก่ ส่วนอกด้านล่างถัดโคนขาเข้าไปด้านในเป็นช่องว่างไม่มีกระดูกมีแต่เฉพาะเนื้อหนัง ไก่ชนที่ดีต้องมีช่องท้องเล็กหรือแคบ
๑๘. ปีก ไก่ชนที่ดีจะต้องมีกล้ามเนื้อที่โคนปีกหนา เมื่อกางปีกออกจะสังเกตเห็น และต้องหนาแน่นจนไปถึงปลายปีก โดยมีเอ็นยึดกระดูกหนาแน่น และขนปีกจะต้องแน่นหนาด้วย ขนปีกจะต้องยาวไปถึงขวดน้ำมันที่โคนหาง ถ้ามีขนปีกยาวเลยลำตัวได้ยิ่งดี เพราะปีกของไก่ชนเป็นฐานของอาวุธอื่น ๆ ของมัน ถ้าปีกสั้นหรือปีกไม่แข็งแรง ไก่จะไม่มีแรงส่งในการตีหรือแทงคู่ต่อสู้ได้เลย
๑๙. กีบ ในท้องถิ่นอื่น ๆ เรียกว่า ตะเกียบ กีบคือกระดูกบริเวณกระดูกสันหลังกับกระดูกซี่โครง ไปบรรจบกันที่ใต้ก้นของไก่ ตะเกียบหรือกีบที่ดีต้องเป็นปุ่มแข็ง และอยู่ชิดติดกันจนแทบจะเป็นกระดูกชิ้นเดียวกัน ไก่ชนที่มีกีบแข็งแสดงว่าเป็นไก่กระดูกแข็ง และถ้ามีช่องกีบชิดแสดงว่าเป็นไก่จัดจ้านและตีแม่นด้วย
๒๐. ขน ในวงการนักเลงไก่ชนภาคใต้แบ่งขนออกเป็น ๘ ชนิด คือ
๒๐.๑ ขนแข็ง เป็นขนที่มีก้านใหญ่ยาวและแข็ง เช่น ขนปีก ขนพัด และขนหาง เป็นต้น
๒๐.๒ ขนลูกแมว คือขนที่อยู่ตามตัว ข้างลำตัว หน้าอกและใต้ท้องของไก่
๒๐.๓ ขนสร้อย หรือ สร้อย ขนสร้อยอยู่ตาม ลำคอ หลังและปีกของไก่ตัวผู้ ขนสร้อยของไก่ชนที่ดีจะต้องเป็นขนค่อนข้างเล็กปลายแหลมและยาวคลุมทับอยู่บนขนลูกแมวอีกทีหนึ่ง มีหลายสี ขึ้นอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายถ้าขึ้นที่คอเรียกว่า “สร้อยคอ” ขึ้นที่หลังเรียกว่า “สร้อยหลัง” ขึ้นที่ปีกเรียกว่า “สร้อยปีก” ถ้าขึ้นที่ข้างตัวเรียกว่า “สร้อยหลง” ไก่ที่มีสร้อยหลงเป็นไก่ที่หายากประเภทหนึ่ง
๒๐.๔ ขนปุย คือขนสร้อยที่โคนหางนั่นเอง แต่โคนขนมีขนาดใหญ่กว่าขนสร้อยธรรมดา
๒๐.๕ ขนหาง หรือ ขนชัย ไก่ตัวหนึ่งมีขนหางหรือขนชัย ๑-๔ เส้น บางแห่งเรียกว่า “ขนลวย” เป็นขนยาวปลายแหลม มี ๒ ชนิด คือชนิดหางแข็งและหางอ่อน ชนิดหางอ่อนนั้นหมายถึงหางลวยที่มีโคนขนแข็งแต่ปลายหางอ่อน
๒๐.๖ ขนไร เป็นขนที่เล็กที่สุดขึ้นอยู่ใต้ขนลูกแมว ที่ลานขวดน้ำมันหรือลานนกหว้าหรือในบ่อที่ปลายปีกด้านใน ในไก่บางตัวจะมีขนชนิดนี้ขึ้นอยู่แต่บางตัวไม่มี
๒๐.๗ ขนบัว ขึ้นอยู่ส่วนบนของก้นไก่ติดกับโคนหางมีทั้งบัวคว่ำและบัวหงาย แต่ส่วนมากมีเฉพาะบัวหงายเท่านั้น ไก่ชนที่มีบัวคว่ำนับเป็นไก่ที่หายาก และถ้ามีทั้งบัวคว่ำ บัวหงายแล้ว ก็นับเป็นลักษณะดีพิเศษสุดลักษณะหนึ่ง
๒๐.๘ ขนเป็ด บางแห่งเรียก ขนนกเอี้ยง หรือ ขนนกนางแอ่น เป็นขนที่อยู่ปลายปีกทั้งสองของไก่ เป็นขนแข็งแต่เล็กและสั้นเหมือนขนนกดังกล่าว มีอยู่ประมาณ ๒-๕ เส้น
ขนตัวของไก่ชนจะเป็นสีอะไรก็แล้วแต่แยกออกได้เป็น ๒ ประเภท คือ ขนแห้ง กับ ขนเปียก ขนแห้ง คือขนที่มีมันน้อย คล้ายกับขนไก่ตาย นักเลงไก่ชนนิยมกันมากเพราะถือว่าเป็นลักษณะที่ดีอย่างหนึ่ง เวลาให้น้ำหรือพานน้ำจะอุ้มน้ำได้ง่าย ส่วนขนเปียก คือขนที่เป็นมันเลื่อมพรายอยู่ตลอดเวลา บางแห่งเรียกว่า “ขนแพร” ก็ว่า เวลาให้น้ำไม่ใคร่เปียกหรืออุ้มน้ำได้ง่ายเหมือนขนแห้ง ไก่ชนที่มีขนแบบนี้นักเลงไก่ชนไม่ค่อยนิยมเอามาเลี้ยงกันนัก เพราะถือว่าเป็นลักษณะที่ไม่ดีอย่างหนึ่ง
๒๑. หาง หางไก่เป็นเครื่องช่วยในการทรงตัวของไก่ขณะที่ชนหรือเคลื่อนไหวและเป็นส่วนเชิดชูความงามของไก่ได้มาก ปรกติไก่ชนที่มีหางงามมักมีกำลังดีและการทรงตัวก็ดีกว่าไก่ที่มีหางไม่งาม หางไก่ที่นิยมและว่างามนั้น ต้องเป็นหางพวงใหญ่ แต่ต้องไม่ยาวเกินไป เพราะเมื่อชนหรือเดินถอยหลังแล้วจะเหยียบหางตัวเองล้มลงได้ ทำให้เสียเปรียบคู่ต่อสู้ได้ง่าย นักเลงไก่ชนภาคใต้นิยมหางชัยหรือหางลวยอ่อนมากกว่าหางแข็ง และขนหางประกอบด้วยขนหลายชนิด คือ ขนพัด ขนลวย ขนบัว และขนปุย เป็นต้น
หางไก่มีอยู่หลายประเภท เช่น หางถก หรือ หางแจ้ คือหางที่คล้ายหางไก่แจ้นั้นเอง คือยาวเป็นพวงแล้วพุ่งขึ้นข้างบนก่อนแล้วปลายหางชี้ลงล่าง หางชนิดนี้โดยทั่ว ๆ ไป ถือว่าไม่ดี นอกจากไก่ตัวนั้นมีหงอนประเภท หงอนหงส์ อกชัน และแข้งทอก จึงจะเข้าลักษณะที่ว่า “หงอนหงส์ หางถก อกชัน แข้งทอก” (แข้งทอก หมายถึง แข้งที่มีเกล็ดพองไม่แน่นเหมือนเกล็ดที่ดีทั่วไป) คือมีลักษณะเหมือนหงส์นั่นเอง
หางบอก หรือ หางกระบอก ก็เป็นประเภทหางไก่ชนอีกประเภทหนึ่ง คือหางแน่นเป็นกำใหญ่ ไก่บางตัวมีขนหางลวยหรือหางชัยแข็งตลอดทั้งเส้น แต่บางตัวมีหางอ่อนสลับหางแข็ง โดยเฉพาะหางชัยหรือขนลวยอาจจะแข็งตลอดทั้งเส้นหรือโคนหางแข็งแต่ปลายหางอ่อนก็มี หางอ่อนชนิดนี้แหละที่อยู่ในความนิยมของนักเลงไก่ชนภาคใต้ หางบอกหรือหางกระบอกนับเป็นหางที่มีลักษณะดีอย่างหนึ่งของไก่ชน
หางไหว้พระ คือหางที่มีรูปแบบคล้ายคลึงกับมือประนมขณะไหว้พระนั่นเอง จัดเป็นหางที่มีลักษณะดีอีกอย่างหนึ่ง
หางเข้าขี้ คือหางที่มีขนหางลวยหรือหางชัยพุ่งออกไป แต่ปลายหางกลับโค้งเข้าหาก้น บางแห่งเรียกกันว่า “โจงเบนตีเหล็ก” บางแห่งถือว่าเป็นหางประเภทเลว แต่บางแห่งโดยเฉพาะภาคใต้บางท้องถิ่นถือว่าเป็นหางที่มีลักษณะดี
หางลุ่น เป็นทรงหางที่ไม่ค่อยมีขนหางหรือหางสั้นเกินไป มักไม่ค่อยเป็นที่นิยมเอามาเป็นไก่ชนเพราะไม่ได้ช่วยพยุงน้ำหนักตัวหรือช่วยในการทรงตัวแต่อย่างใดเลย มักจะล้มลุกคลุกคลานขณะที่ ต่อสู้กัน
นอกจากนั้นแล้วต้องพิจารณาถึงรายละเอียดต่อไปอีก เช่น ไก่ชนที่ดีต้องหางแน่นหนา หางชัยหรือขนลวยมีเส้นเดียวถึงจะดี หรือไม่ก็ให้มีตั้งแต่ ๔-๕ เส้น ถึงจะดีเช่นกัน แต่ถ้ามีเพียง ๒-๓ เส้นไม่ดี และถ้าไก่ชนตัวใดมีหางชัยหรือหางลวยสีขาวตลอดก็ถือว่าเป็นลักษณะที่ดีอย่างหนึ่ง แต่ต้องมีเพียงเส้นเดียวเท่านั้น หรือถ้าหางชัยหรือหางลวยสีดำแต่ประน้ำแป้งสีขาวหรือสีแดงก็นับว่าดี หางชัยหรือหางลวยปนขี้หนู (คือหางชัยหรือหางลวยสีขาวที่มีสีดำประทั่วไป) ก็พอใช้ได้
ส่วนหางพัดหรือขนพัดนั้นให้สังเกตดังนี้ ถ้าไก่ตัวใดมีหางพัดหรือขนพัดข้างละ ๗ เส้น นับว่าเป็นลักษณะที่ดีเลิศ แต่ถ้ามีหางพัดสั้นและอยู่ห่างกันไม่แน่นหนา ถือว่าเป็นลักษณะที่ไม่ดีชนแพ้ทุกตัว
๒๒. ขวดมัน หรือ ขวดน้ำมัน เป็นอวัยวะที่ตั้งอยู่เหนือทวารบริเวณโคนหางกับช่วงสุดท้ายของหลังไก่ มีขนาดโตเท่าหัวไม้ขีดไฟ ขวดน้ำมันนี้เป็นแหล่งสะสมน้ำมันของไก่ เพื่อใช้ประโยชน์ในการทำให้ขนของมันเป็นเงางาม ไก่ทุกตัวจะใช้ปากไซร้หรือใช้ใบหน้าเกลือกกลิ้งที่ขวดมัน เพื่อเอาน้ำมันจากขวดมันมาตกแต่งขนปีกขนสร้อยของมัน โดยใช้ปากและใบหน้าของมันอีกทอดหนึ่ง ไก่ที่ดีจะต้องมีขวดน้ำมันเพียงอันเดียวและมีขนาดใหญ่กว่าปรกติด้วย ทั้งต้องมีขนบนขวดมันอีกด้วย ยิ่งมีขนมากเท่าใดยิ่งดี ส่วนขวดมันที่แยกออกจากกันเป็นสองอันถือว่าเป็นไก่สองใจไม่ดี แต่ถ้าเป็นขวดน้ำมัน อันเดียวกันแต่แตกเป็นง่ามตอนปลายถือว่าพอใช้ได้ ยิ่งมีหงอนเป็นง่ามสองง่าม และมีขวดน้ำมันแตกเป็นสองง่ามด้วยถือว่าดีเลิศที่เรียกกันว่า “ง่ามหัวง่ามท้าย” นั่นเอง
๒๓. หวั้น หรือ ขั้ว หมายถึงขั้วโคนหางนั่นเอง ไก่ชนที่ดีต้องมีหวั้นชิด ถือว่าเป็นไก่ที่จัดจ้าน เฉลียวฉลาด
๒๔. ปั้นขา หมายถึงโคนขาส่วนที่อยู่ติดจากสะโพกลงไปถึงข้อขาหรือเขาของไก่ ไก่ชนที่ดีและมีกำลังมากจะต้องมีปั้นขาใหญ่ มีกล้ามเนื้อเป็นมัดแข็งยาวได้สัดส่วนกับแข้ง ลำคอ ไหล่ และตัว นักเลงไก่ชนภาคใต้เรียกไก่ที่มีสัดส่วนเช่นนี้ว่า “หลักล่ำ”
๒๕. ข้อข้า หรือ เข่า ไก่ชนที่ดีจะต้องมีข้อขาหรือเข่าแข็งแรง เพราะถ้าข้อขามีกระดูกแข็งและมีเส้นเอ็นยึดหลายเส้น สามารถยืนหยัดต่อสู้ได้นาน ไก่เข่าอ่อนเป็นไก่ชนิดเลว เมื่อต่อสู้ไปนาน ๆ แล้วมักจะนอนฟุบตัวลง การบำรุงข้อขาหรือเข่า นักเลงเลี้ยงไก่ชนมักจะให้ไก่ของตนกินเปลือกหอยเผาไฟมาตั้งแต่ไก่ตัวนั้นยังเป็นลูกไก่อยู่หรือด้วยการฝึกปรือด้วยการล่อ เวียน หรือบินหลุม ฯลฯ
๒๖. แข้ง แข้งไก่มีความสำคัญในด้านเป็นอวัยวะช่วยพยุงน้ำหนักตัวรวมทั้งปั้นขา ข้อขา อุ้งเท้า และนิ้ว ทั้งยังใช้เป็นอาวุธที่สำคัญอีกด้วย แข้งของไก่ชนโดยทั่วไปแบ่งออกเป็นลักษณะต่าง ๆ ดังนี้
๒๖.๑ แข้งกลมแบบเส้นหวาย ลักษณะกลมและค่อนข้างเล็กแล้วค่อย ๆ เรียวลงมาจากข้อขาจนถึงนิ้วเท้าจะค่อย ๆ โตขึ้น เป็นแข้งที่เตะได้ว่องไว
๒๖.๒ แข้งกลมใหญ่ มักเป็นไก่ที่มีลำหักลำโค่นรุนแรงแต่ตีหรือเตะช้า และมักจะตีถูกลำตัวมากกว่าตีถูกหัว
๒๖.๓ แข้งเหลี่ยมใหญ่ คือแข้งที่มีลักษณะเป็นเหลี่ยมมองเห็นชัดเจน มักเป็นไก่ตีช้าและตีไม่แม่น
๒๖.๔ แข้งเหลี่ยมเล็ก นักเลงไก่ชนเรียกว่า “แข้งคัด” จัดเป็นแข้งไก่งามและไก่เก่งชนิดหนึ่ง
๒๖.๕ แข้งสั้น ไก่แข้งสั้น อาจจะเป็นแข้งกลม หรือแข้งเหลี่ยมก็ตาม มักเป็นไก่เตะไวและแม่นยำ แต่ทั้งนี้ต้องไม่สั้นจนผิดสัดส่วน
๒๖.๖ แข้งยาว ไก่แข้งยาวมักตีไม่แม่น ส่วนมากมักจะคร่อมหายไปหมด (วิเศษ อัครวิทยากุล. มปป., หน้า ๒๗.)
๒๖.๗ ตามปรกติไก่ชนพันธุ์ไทยแท้จะไม่มีขนที่หน้าแข้ง ถ้าไก่ชนตัวใดมีอยู่ก็แสดงว่ามีเลือดไก่ตะเภาปนอยู่ ถ้ามีขนยาวและหนามากไม่ดี เพราะจะเป็นอุปสรรคในการต่อสู้และตอนให้น้ำ และจะขาดความคล่องตัว จึงไม่เหมาะนำมาเป็นไก่ชน แต่ถ้ามีขนเล็กน้อยและมีลักษณะอื่น ๆ ดี ก็อาจจะนำมาเลี้ยงฝึกเป็นไก่ชนได้เช่นกัน
การเล่นชนไก่ในภาคใต้ปัจจุบัน มักจะชนไก่เดือยมากกว่าไก่แข้ง โดยนิยมตัดเดือยออกแล้วสวมเดือยต่อเดือยที่ประดิษฐ์ขึ้นด้วยเดือยไก่ที่มีลักษณะงามและแข็งแกร่ง บ้างก็เอากระดูกปลาฉนากมาทำเป็นเดือย และที่นิยมที่สุดในปัจจุบันนี้คือ ใช้เขาคูรำ (เลียงผา) ที่แก่จัดมาทำเป็นเดือยสวมแทนเดือยไก่จริง ๆ ดังนั้นเมื่อนิยมเล่นไก่เดือย จึงมักเลือกเอาไก่แข้งกลมแบบเส้นหวาย แข้งกลมใหญ่ หรือมักจะเป็นแข้งสั้นเสียมากกว่าแข้งชนิดอื่นที่กล่าวมา เพราะแข้งชนิดตีแม่นกว่าแข้งชนิดอื่น ๆ
แข้งของไก่ทุกตัวจะมีเกล็ดห่อหุ้มอยู่รอบข้างทั้งข้างหน้าและข้างหลัง แต่มีชื่อเรียกแตกต่างไปดังนี้ เกล็ดที่อยู่หน้าแข้งเรียกว่า “เกล็ดหน้า” หรือ “เกล็ดแข้ง” เกล็ดที่นิ้วเรียก เกล็ดนิ้ว ส่วนด้านข้างและด้านหลังแข้ง เช่นเกล็ดที่อยู่ข้างแข้งด้านนอก เกล็ดที่อยู่ด้านข้างและด้านหลังแข้งไม่ได้เรียกว่าเกล็ด แต่จะเรียกชื่อเฉพาะลงไปเลย เช่น เกล็ดกลมเล็ก ๆ สีแดงเรียงรายขึ้นไปจากเท้าจนถึงเข่าหรือข้อขาว่า “ลำเพ็ง” ถัดจากลำเพ็งมาทางด้านหลังเป็นเกล็ดขนาดใหญ่จากเท้าเรียงขึ้นไปถึงเข่าเรียกว่า “หน้าดาน” (หน้ากระดาน) จากหน้าดานเป็นเกล็ดกลมเล็ก ๆ มีสีเดียวกับเกล็ดอื่นเรียงขึ้นไปถึงเข่าเรียกว่า “เบี้ยร้อย” จากเบี้ยร้อยถัดมาเป็นเกล็ดกลมเล็กเช่นกันแต่เม็ดโตกว่าลำเพ็งหรือเบี้ยร้อย เรียงขึ้นไปจากเดือยโดยมีเม็ดใหญ่อยู่บนเดือยแล้วเรียงขึ้นไปเป็นเม็ดเล็กตามลำดับเรียกว่า “เบี้ยนำเดือย” จากเบี้ยนำเดือยบางตัวอาจจะมี เบี้ยร้อยขนาบอยู่อีกแถวหนึ่ง
๒๗. เกล็ดแข้ง
ดังได้กล่าวมาแล้วว่า เกล็ดแข้งนั้นมีอยู่หลายประเภท คือ เกล็ดหน้าแข้ง เกล็ดนิ้ว เกล็ดข้างแข้ง และเกล็ดหลังแข้ง โดยเฉพาะเกล็ดข้างแข้งและเกล็ดหลังแข้งนั้นมีชื่อเรียกกันว่า หน้าดาน เบี้ย ลำเพ็ง เป็นต้น นักเลงไก่ชนในอดีตถือว่าเกล็ดแข้งของไก่ชนเป็นสิ่งสำคัญยิ่งอันดับหนึ่งทีเดียว
เกล็ดแข้งด้านหน้าเป็นเกล็ดใหญ่ห่อหุ้มแข้งตั้งแต่เข่าหรือข้อเท้าลงไปถึงโคนนิ้วเกล็ดของไก่ชนนั้นมีรูปร่างสีสันเป็นเรื่องเฉพาะตัวแตกต่างไปแต่ละตัว แม้จะเป็นไก่ครอกเดียวกันก็ตาม เกล็ดแข้งของไก่ชนจึงมีหลายรูปแบบดังนี้
๒๗.๑ เกล็ดร่วง หมายถึงเกล็ดที่ไม่มีเกล็ดเหน็บ ไม่มีเกล็ดพัน หรือเกล็ดชนิดอื่น ๆ ปะปน มักจะเป็นเกล็ด ๒ แถวธรรมดาเรียงรายลงมาตลอดไปถึงเกล็ดนิ้วและเกล็ดอื่นที่อยู่ด้านหลังด้วย และจะต้องเป็นเกล็ดร่วงเหมือนกันทั้งสองข้างแข้ง ไก่เกล็ดร่วงมักจะมีเดือยหลวมหรือเดือยพุ่ง ไก่เกล็ดร่วงทั่ว ๆ ไป เป็นไก่ที่มีลักษณะดี ไก่เกล็ดร่วงดังกล่าวชนได้กับไก่ทุกสีทุกชนิดและมักชนะเร็ว หรือถ้าแพ้ก็แพ้เร็วเช่นกัน ถ้าเป็นไก่ เกล็ดร่วงเดือยคัดซึ่งเป็นไก่ที่มีลักษณะดีเลิศด้วยแล้วชนแพ้ยาก สำหรับไก่เกล็ดร่วงโดยทั่วไปเชื่อกันว่าจะแพ้ไก่แรก ตอนหลังจะชนะตลอดไม่ว่ากับไก่ลักษณะใด
๒๗.๒ เกล็ดพัน หมายถึง เกล็ดที่มีลักษณะเอนพันรอบแข้ง อาจมีตั้งแต่ ๑-๔ เกล็ด เกล็ดพันที่มีลักษณะดีต้องพันตรงเดือย พันตรงเดือยหรือพันหน้าเดือยเชื่อกันว่าแทงจัด พันรับน้ำขน หรือพันรับเพลาพัน ๓ เกล็ดถึงจะดี ที่ข้อเท้า หรือพันที่หัวหมัดหรือพันช่อตีน ซึ่งอยู่ตรงกับข้อนิ้วที่อยู่ติดกับแข้ง เป็นลักษณะของเกล็ดที่ดีอย่างหนึ่ง ยิ่งถ้าได้ไก่เกล็ดพันเดือยหลวมหรือเดือยพุ่งด้วยแล้วก็จะเป็นลักษณะดีเลิศ สำหรับเกล็ดพันนี้แถวสุราษฎร์ธานีและชุมพร เรียกว่า “พัด” หรือ “เกล็ดพัด” สำหรับเกล็ดพันนั้น บางคนเชื่อว่าพันต่ำแพ้พันสูง
๒๗.๓ เกล็ดเข้าเขี้ยว หรือ จระเข้ขบพัน หมายถึงเกล็ดหน้าแข้งที่สลับประสานกันอย่างมีระเบียบโดยเกล็ดบนซ้อนใต้เกล็ดล่างลงไปตามแนวของแข้งถึงจะดี นับเป็นเกล็ดที่มีลักษณะดีอย่างหนึ่ง
๒๗.๕ เกล็ด ๓ แถว หมายถึงเกล็ดที่กดเข้ากับแข้งไม่แนบแน่นมีอยู่ ๓ แถว นับเป็นเกล็ดที่มีลักษณะดีเช่นกัน
๒๗.๖ เกล็ดดอกจัน มีลักษณะเป็นเกล็ดกลมเล็ก ๆ อยู่ตรงกลางระหว่างเกล็ด ๔ เกล็ด อยู่ที่บริเวณใต้เดือยหรือบนเดือย ถ้าอยู่ตรงเดือยดีเลิศ แต่อยู่บนเดือยจะชนะดอกจันใต้เดือย
๒๗.๗ เกล็ดกำไล คือเกล็ดหุ้มแข้งตรง ๆ คล้ายกับกำไล อยู่ตรงส่วนไหนของแข้งก็ได้แต่ถ้าอยู่สูงจะดีกว่าอยู่ต่ำ
๒๗.๘ เกล็ดเหน็บ เกล็ดเหน็บคือเกล็ดเล็กเกล็ดเดียวที่ซ้อนอยู่ใต้เกล็ดอื่น อาจจะซ้อนเกล็ดบน ๑-๒ เกล็ดก็ได้ เกล็ดเหน็บมีหลายลักษณะดังนี้ เหน็บตรงเดือยเชื่อว่าใช้เดือยมากหรือแทงจัด เหน็บเกล็ดจม คือเกล็ดเหน็บที่อยู่ระหว่างข้อพับของนิ้วกลางส่วนบนกับข้อเท้า เหน็บนิ้วใน คือเกล็ดเหน็บที่อยู่ตรงนิ้วนางของไก่จะเป็นส่วนไหนของนิ้วก็ได้ เหน็บข้างแข้ง คือเกล็ดเหน็บที่อยู่ข้างแข้งส่วนใดส่วนหนึ่งก็ได้นับเป็นเกล็ดที่หายากอย่างหนึ่ง เกล็ดเหน็บดังกล่าวล้วนเป็นเกล็ดที่มีลักษณะดีทั้งสิ้น
๒๗.๙ เกล็ด ๒ แถว แต่ต้องมีเกล็ดใหญ่หรือแม่เกล็ดมาก ๆ จะชนะไก่ที่มีเกล็ด ๓ แถว
๒๗.๑๐ เกล็ดนิ้วก้อย เรียงรายขึ้นไปถึงหัวเข่าหรือข้อขาดี เป็นลักษณะของไก่ชนที่หายากชนิดหนึ่ง สำหรับเกล็ดประเภทนี้ขึ้นพ้นเดือยก็พอใช้ได้แล้ว
๒๗.๑๑ เกล็ดนิ้วกลาง คือเกล็ดที่เริ่มจากเกล็ดที่คู้พับติดกับแข้งไปจดปลายนิ้วให้มีถึง ๑๙ ๒๑ ๒๒ และ ๒๓ เกล็ด จะดีมาก (โดยไม่นับเกล็ดเหน็บ)
๒๗.๑๒ แตกขุมเล็บ ถ้าแตกขุมเล็บที่เกล็ดที่ ๑ ทุกนิ้วดี แตกเฉพาะนิ้วกลางพอใช้ได้ โดยเฉพาะนิ้วกลางถ้าแตกที่เกล็ดที่ ๑ เกล็ดที่ ๒ เป็นเกล็ดเหน็บ แล้วแตกที่เกล็ดที่ ๓ อีกทีหนึ่ง ถือว่าดีเลิศเป็นลักษณะที่หายาก
๒๗.๑๓ เกล็ดแตกข้อบน หมายถึงการแตกของเกล็ดที่ข้อบนหรือเกล็ดที่ติดเข่า ถือว่าดีกว่าแตกที่ข้อล่าง
๒๗.๑๔ เกล็ดแตกนอก หมายถึงเกล็ดด้านนอกของแข้งจะเป็นลักษณะดีกว่าแตกด้านใน
๒๗.๑๕ เกล็ดงู คือเกล็ดหน้าแข้งคล้ายเกล็ดของงู โดยทั่ว ๆ ไปแล้วไม่ดี แต่ถ้าเป็นชนิดเกล็ดงูที่มี ๓ แถวถึงจะดี
๒๗.๑๖ ผีขีด คือรอยขีดลงมาตรง ๆ ที่เกล็ดไก่ ถ้าไก่ชนตัวใดมีรอยขีดที่เกล็ดริมแข้งนอก ๒-๓ เกล็ดถึงจะดี หรือมีขีดข้างเล็บนิ้วกลาง ๓ เกล็ด ก็ยิ่งดีเช่นกัน
๒๘. ลำเพ็ง คือเกล็ดเม็ดเล็ก ๆ สีแดงที่อยู่ข้างแข้งนอก มี ๒-๓ แถว ไก่ที่ดีจะต้องมีลำเพ็งเรียงรายขึ้นไปจากเท้าจนถึงหัวเข่า
๒๙. เกล็ดหน้าดาน ซึ่งเป็นเกล็ดด้านหลังของแข้งไก่ ถ้าเกล็ดหน้าดานหรือหน้าดานลงมาพ้นเดือย หรือขึ้นเป็นรูปเจดีย์ถึงเข่าถึงจะดี ถ้าเกล็ดหน้าดานแตกเพียงเกล็ดเดียวก็เชื่อว่าดีมากแล้ว ถ้าแตกหลายเกล็ดและแตกทั้งสองแข้งยิ่งดีเลิศ เชื่อกันว่าไก่ชนตัวใดที่มีเกล็ดหน้าดานแตก มักจะแทงหรือตีคู่ต่อสู้ล้มลงแล้วลุกขึ้นไม่ได้หรือตายไปเลย เรียกว่าเป็นไก่ที่มักจะชนะน็อกเอ๊าท์
นอกจากนั้นถ้าเกล็ดหน้าดานหลบลงล่างทุกเกล็ด ตั้งแต่หัวเข่าหรือริมขนลงมาพ้นเดือยที่เรียกว่า “ชี้ธรณี” ก็จะเป็นลักษณะดีอย่างหนึ่ง หรือเกล็ดหน้าดานขึ้นจากล่างไปครึ่งหนึ่งหรือครึ่งแข้ง แล้วหลบลงมาจากริมขนหรือเข่าลงมาอีกครึ่งหนึ่ง เสมือนแบ่งแยกกันกลางแข้ง เรียกว่า “ครอบเพชร” ก็เป็นลักษณะที่ดีอีกอย่างหนึ่งด้วยเช่นกัน
๓๐. เบี้ยนำเดือย พูนตลอดถึงจะดี เบี้ยลุ่มไม่ดี และถ้าเบี้ยนำเดือยเรียงรายพ้นไปจากเดือยหลายเม็ด ก็แสดงว่าไก่ตัวนั้นชนะไก่อื่นหรือคู่ต่อสู้ตามจำนวนของเม็ดเบี้ยนำเดือยนั้น แต่ถ้าเบี้ยนำเดือยขาดตอนไปที่เม็ดใด ไก่ตัวนั้นก็จะชนะเพียงเท่านั้น
๓๑. เบี้ยร้อย ไก่ตัวใดไม่มีเบี้ยร้อยเลยแม้แต่เม็ดเดียว ไก่ตัวนั้นจะแพ้เมื่อชนครั้งแรก ครั้งต่อ ๆ ไป จะไม่แพ้เลย
๓๒. เกล็ดหน้าแข้งไม่ประสานกัน โดยมีขีดตรงกลางเป็นร่อง ไก่ตัวนั้นมักจะยอมแพ้คู่ต่อสู้ง่าย ๆ
๓๓. เกล็ดหน้าแข้งพ่านและไม่แน่น เป็นลักษณะที่ไม่ดีของไก่ชน (พ่าน หมายถึงมีอยู่หลายเกล็ดที่ไม่เป็นระเบียบ เหน็บก็ไม่เชิงพันก็ไม่เชิง)
๓๔. เกล็ดบาง ไม่ดีเพราะไม่มีลำหักลำโค่น ส่วนมากไก่ที่ดีต้องมีเกล็ดแน่นหนา
๓๕. เกล็ดลุ่ม หรือ เกล็ดกลด หรือ ลุ่มค้อน เชื่อกันว่าเป็นเกล็ดไม่ดี เป็นไก่ไม่รักเดิมพัน เกล็ดพวกนี้เป็นเกล็ดลุ่มไม่เสมอและไม่นูน
นอกจากเกล็ดดังกล่าวแล้วยังมีสีผิวของแข้งไก่ที่พึงสังเกตไว้ด้วย สีผิวของเกล็ดมีหลายสี เช่น แข้งขาวหรือ แข้งหยวก แข้งเหลือง แข้งสีหวายตะค้า แข้งสีดำ แข้งสีเขียวดำ สีของแข้งไก่ชนขึ้นอยู่กับสีของปากและเดือยของไก่นั้นด้วย สีแข้งเป็นสีอะไรปากและเดือยจะต้องเป็นสีเดียวกัน ถ้าเป็นคนละสี ก็เป็นลักเค้า คือเป็นลักษณะที่ใช้ไม่ได้
ผิวสีแข้งของไก่ที่ไม่นิยมเอามาทำไก่ชนมีดังนี้ สีอมเลือด สีเปลือกกุ้งเน่า (สีเทาดำ) ผิวสีแข้งแบบนี้ท่านห้ามเอามาเลี้ยงเป็นไก่ชนโดยเด็ดขาด เพราะจะไม่ชนะเลย
๓๖. นิ้วเท้าและเล็บ เชื่อกันว่าไก่ที่มีนิ้วเท้ายาวดีกว่านิ้วสั้น โคนเล็บต้องใหญ่และหนา เนื่องจากในระหว่างที่ยกแข้งขึ้นตีคู่ต่อสู้และวางเท้าลงบนพื้นดิน ในจังหวะนี้เล็บและนิ้วเท้ายาวจะสามารถยึดจับพื้นดินหรือทรงตัวได้ดีกว่าเล็บสั้นหรือนิ้วเท้าสั้น ที่ว่ายาวนั้นหมายความว่ายาวที่สมส่วนกับส่วนต่าง ๆ ของร่างกายของไก่ตัวนั้น เล็บส่วนมากมักจะมีสีเดียวกันกับนิ้วหรือแข้ง มีเล็บอีกชนิดหนึ่งที่ถือเป็นของดีของไก่ชน เรียกกันว่า “เล็บเสี้ยน” คือเล็บไก่ชนที่มีสีขาวขุ่นปนกับสีเทาโดยสีทั้งสองอยู่กันคนละซีกเล็บ
๓๗. เดือย เดือยที่ดีจะต้องกลมแข็งเป็นมัน ปลายแหลมคมดังขนเม่น ตอเดือยมีขนาดใหญ่ และเดือยของแต่ละตัวจะต้องมีความยาวเหมาะสมกับลำแข้งและตามอายุของไก่ หากไก่ตัวใดที่มีเดือยปักเฉียงลงข้างล่างเล็กน้อยพองามเชื่อกันว่าเป็นไก่แทงจัด แต่หากว่ามีลักษณะโค้งงอขึ้นด้านบนเกินไปก็จะแทงไม่ถูกเป้า ตำแหน่งที่ดีของเดือยควรอยู่ต่ำขนานไปในทิศทางเดียวกับนิ้วก้อยที่เรียกว่า “เดือยตามก้อย” นั่นเอง เดือยมีหลายประเภท หลายชนิด เช่น เดือยขนเม่น เดือยเข็ม เดือยคัด เดือยคุด เดือยขวาน เดือยแฝด เดือยหลวมหรือเดือยพุ่ง เดือยรูปงาช้าง และเดือยแพะ ฯลฯ แต่ปัจจุบันในวงการชนไก่ของภาคใต้มักจะไม่ค่อยมีปัญหาอะไรกับเดือยดังกล่าวเพราะทุกแห่งใช้เดือยประดิษฐ์สวมหรือต่อเข้าที่โคนเดือย โดยมีกรรมวิธีในการต่อเดือยเป็นพิเศษจนแข็งแรงเหมือนเดือยจริงและงามกว่า ได้ศูนย์เที่ยงกว่าเดือยจริงเสียอีกเรียกกันในวงการไก่ชนภาคใต้ว่า “ซ่อมเดือย” หรือ “เดือยซ่อม”
๓๘. อุ้งเท้าหรืออุ้งตีน ต้องบาง แห้ง แฟบ เวลายืนอุ้งตีนต้องไม่ติดพื้น เพราะไก่ที่มีอุ้งตีนบวมหรือนูนออกมามากเกินไป จะทำให้เป็นสาเหตุของการอักเสบ เป็นหนอง หรือเป็นแผล หรือเป็นฝีที่ตีนได้ ในภาษาของนักเลงไก่ชนภาคใต้ว่าเป็น “เภตรา” บางตำรากล่าวว่าไก่ที่มีเกล็ดที่บริเวณอุ้งตีนจะเป็นไก่ที่มีชาติตระกูลสูง นับเป็นมงคลลักษณะอย่างหนึ่งเรียกว่า “เทวดาเหยียบกรวด”
๓๙. ท่ายืนและท่าเดิน ไก่ที่ดีต้องยืนตัวตรง ข้อขาไม่งอ หัวปีกยกตามลักษณะที่เรียกว่า “ยืนผงาดดังราชสีห์” ยืนเชิดหน้าแบบนักเลง อันแสดงถึงนิสัยว่าไม่ยอมลงหัวให้ใคร ข้อขาที่ยึดตรงแสดงถึงการเตะแม่น การเดินสง่าเหมือนกับท่ายืน จังหวะยกเท้าจะกำนิ้วทั้งหมด ภาษานักเลงไก่ชนภาคใต้เรียกว่า “กำหมัด” หรือ “เดินกำหมัด” และเมื่อย่างลงกับพื้นจะแบนิ้วออกทั้งหมด การเดินจะมีความระแวดระวังเฉลียวฉลาด แสดงถึงความเป็นไก่เหลี่ยมจัด สามารถเปลี่ยนชั้นเชิงในการตีได้หลายแบบ (“ไก่ดี ไก่เก่งในสายตาเซียน” ไก่ชน, หน้า ๒๔.)
๔๐. สีของไก่ชน สีของไก่ชนนับเป็นชาติตระกูลของไก่ก็ว่าได้ ไก่ที่มีชาติตระกูลสูงสุดคนโบราณกล่าวว่าไว้ดังนี้ “เหลืองกาวิน ทองอ่อนโกมิน นิลสาลิกา”
เหลืองกาวิน คือไก่ชนสีเหลือง มีสีสร้อยขนบนหลังสีเหลืองแก่เกือบเป็นสีน้ำตาลไหม้หรือเหลืองก่ำคล้ายสีของผลระกำสุก ที่หน้าอกมีสีเหลืองประปรายอยู่ทั่วเหมือนสีขนของนกเป็ดน้ำ ปีกเช็ดขี้ คือกลางและปลายขนปีกเส้นนอกสุด ๒-๓ เส้นมีสีเหลืองติดอยู่คล้ายปลายขนปีกของไก่คด และมีก้านขนหางทุกเส้นหรือมากเส้นเป็นสีแดงตลอด อย่างที่เรียกกันว่า “ก้านทองแดง”
ทองอ่อนโกมิน คือไก่ชนสีทองอ่อนเหมือนสีดอกบวบ แต่มีนัยน์ตาขาวสีหม่นดำ ปากดำ ขนหางดำ แข้งดำ และเดือยดำหมด
นิลสาลิกา หรือ นิลสาริกา คือไก่ที่มีสีขนเขียวค่อนข้างดำทั้งตัวคล้าย ๆ กับขนของไก่เขียวกา แต่มีนัยน์ตาขาวสีเหลือง ปากเหลือง แข้ง เดือยเหลือง ตุ้มหูสีเหลืองหรือสีขาว ลักษณะดังกล่าวคล้ายกับสีสันของนกสาลิกาหรือนกขุนทองนั่นเอง เป็นไก่ตระกูลสูงที่หายากมาก
ไก่ ทั้ง ๓ ตระกูลดังกล่าวนี้ โบราณถือว่าเป็นชาติของไก่ชนที่มีชาติตระกูล สูงกว่าไก่ทั้งหลาย
สีของไก่ชนทั่วไป
สีทั่วไปของไก่ชนภาคใต้มีอยู่หลายสี โดยมีแม่สีหรือชาติตระกูลใหญ่ ๆ ดังนี้คือ เหลือง เขียว ด่าง กด ยิ่ว (เหยี่ยว) ชี ขี้เถ้า เคี่ยม แดง เข็ม ดอกหมาก ลาย ฯลฯ
๑. เหลือง
๑.๑ เหลืองใหญ่ คือไก่เหลืองที่มีสีขนตามตัวสีดำ แต่มีขนสร้อยสีเหลือง หัวหงอก ข้อลาย ขนปีกมีสีขาวแซม ขนหางขาวบางเส้น
๑.๒ เหลืองนุ้ย (เหลืองเล็ก) คือไก่เหลืองที่มีสีขนตามตัวสีดำขนสร้อยสีเหลือง หางดำ ปีกดำ ข้อไม่มีขาวประที่เรียกว่าข้อลายเหมือนเหลืองใหญ่ (แต่ถ้าหางพัดเป็นดอกจัดเป็นไก่ไม่ดีใช้ไม่ได้)
๑.๓ เหลืองแก่ หรือ เหลืองน้ำผึ้งไหม้ คือไก่เหลืองที่มีสีขนตามตัวสีดำ ขนสร้อยสีเหลืองแก่หรือเหลืองอมแดง ปีกดำ หางดำล้วน
๑.๔ เหลืองหางขาว คือ ไก่เหลืองที่มีสีขนตามตัวสีดำ ขนสร้อยสีเหลือง ปีกขาว หางขาวบางเส้น ถ้าขาวเส้นเดียวดี
๑.๕ เหลืองอ่อน คือไก่เหลืองที่มีสีขนตามตัวสีดำ ขนสร้อยสีเหลืองอ่อนหรือเหลืองซีด ๆ มีทั้งหางขาวหางดำ
๑.๖ เหลืองกระ หรือ เหลืองลูกลาย หรือ เหลืองลูกปลา ก็เรียก คือไก่เหลืองหรือไก่ลาย มีสีขนตามตัวสีดำปนขาว ขนสร้อยบนหลังและคอสีเหลืองปลายขนสร้อยสีแดง และมีดอกขาวปนดำแซมอยู่ทั่วไป
๑.๗ เหลืองขี้หนิม (ขี้สนิม) คือไก่เหลืองที่มีขนตามตัวสีดำ แต่มีขนสร้อยคอ สร้อยบนหลังตลอดจนสร้อยปีกมีสีเหลืองปนสีน้ำตาลแก่หรือขี้สนิมเหล็ก ขนหางขาวปนดำด้วย
๑.๘ เหลืองเลา คือไก่เหลืองที่มีขนตามตัวสีดำ ขนสร้อยสีเหลืองแต่โคนสร้อยขาวทั้งตัว ขนหางสีขาวปนดำ
๑.๙ เหลืองลาย หรือ เหลืองลูกลาย ขนตามตัวลายขาวดำ ขนสร้อยคอสร้อยหลังเป็นสีเหลืองสลับขาว หรืออาจจะมีจะดำนิด ๆ แซมก็มี ปากร่อง ตาขาว หางขาวแกมม่วง เกล็ดอย่างผิวหวายตะค้า
๑.๑๐ เหลืองเถื่อน ไก่เหลืองที่มีขนตามตัวสีดำ ขนสร้อยสีเหลืองคล้ายสีทองแดง สีตาค่อนข้างดำ หางดำ เดือยมีลักษณะคล้ายข้าวโพดปิ้ง (คงจี) คือดำสลับเหลืองและดำที่ปลาย
๒. เขียว
๒.๑ เขียวหางขาว คือไก่เขียวที่มีขนตามตัวสีดำ ขนสร้อยสีเขียว ปีกขาว หางขาว เขียวบินหลา ก็เรียก
๒.๒ เขียวคอแดง คือไก่เขียวที่มีขนตามตัวสีดำ ขนสร้อยทั่วไปสีเขียวปนแดง หางดำหรือหางเขียว
๒.๓ เขียวไฟ คือไก่เขียวที่มีขนตามตัวสีดำ ขนสร้อยทั่วไปสีเขียวปนแดง ขนหางแดง (หางไฟ)
๒.๔ เขียวกา คือไก่เขียวที่มีขนตามตัวสีดำ ขนสร้อยสีเขียวดำทั่วทั้งตัว หางเขียวดำตลอดไม่มีสีอื่นแซม
๒.๕ เขียวขี้หนิม คือไก่เขียวที่มีขนตามตัวสีดำ ขนสร้อยคอ สร้อยบนหลัง สร้อยปีกสีเขียวปนสีน้ำตาลไหม้หรือสีสนิมเหล็ก หางขาวปนดำและบางตัวมีสีน้ำตาลไหม้ประที่ขนลวยอีกด้วย
๒.๖ เขียวเลา คือไก่เขียวที่มีขนตามตัวสีดำ ขนสร้อยคอ หลัง ปีก สีเขียว แต่โคนขนสร้อยสีขาว ขนหางสีขาวปนดำ
๒.๗ เขียวแมงภู่ หรือ เขียวใหญ่ คล้ายสีของปีกแมลงภู่หรือสักหลาดดำ ปากขาว แข้งขาว เดือยขาว
๒.๘ เขียวลอกอ หรือ เขียวมะละกอ ลักษณะขนสีเขียวคล้ายปีกแมลงทับมีสีขาวแซมโดยเฉพาะที่ปีกและหาง แต่ปากสีไม่ขาว หากปรากฏว่าปากสีขาวเรียกว่า “ซ่อนเลา” หรือถ้าขนปุยมีสีขาวปนเรียกว่า “สอดเลา” ไม่ใช่ชนิดเขียวลอกอ
๓. ด่าง
๓.๑ ด่างขี้ควาย สีขนดำปนขาว สีดำมากกว่าสีขาว เกล็ดถี่ ๆ แน่น เกล็ดมาก สีเกล็ดเป็นมัน หางดำปนขาว
๓.๒ ด่างน้ำทอง สีขนขาวมากมีสีดำน้อย ขนสร้อยมีขนสีขาว สีแดง เหลืองและดำสลับกันอยู่บ้าง หางขาวปนดำ
๓.๓ ด่างกระ สีขนขาวมีลายดำเล็ก ๆ ประอยู่ทั่วไป ขนสร้อยคอ สร้อยหลังสีเหลือง
๓.๔ ด่างบัว มีขนสีขาวทั้งตัว สร้อยคอสร้อยหลังสีเหลืองอ่อน ๆ จนเกือบขาว
๓.๕ ด่างกากพร้าว มีขนสีขาวปนดำทั้งตัว แต่ขนขาวมากกว่าขนดำ
๓.๖ ด่างน้ำผึ้งไหม้ มีขนสีแดงเหมือนสีน้ำผึ้งไหม้ปนสีขาวทั้งตัว แต่มีสีแดงเหมือนสีน้ำผึ้งไหม้มากกว่าปนสีขาว
๓.๗ ด่างตายาย เป็นไก่ด่างที่มีชาติตระกูลสูงชนิดหนึ่ง มีขนสีขาวปนกับขนสีดำทั้งตัว แต่ขน สีดำมีมากกว่า ด่างตายาย ปากดำ แข้งดำ เดือยดำ เล็บดำ และบางตัวตาดำด้วย หางขาวปนดำแต่มีขนดำมากกว่าขนขาว
๓.๘ ด่างโด หรือ ด่างประดู่ เป็นไก่ด่างที่มีสีขนตัวขาว สร้อยคอ สร้อยหลังสีดอกประดู่ มีสีดำประเล็กน้อย
๔. กด
ไก่กด คือไก่ที่มีขนตรงสันหลังหรือกลางหลังสีน้ำผึ้งไหม้หรือสีม่วงโดยเฉพาะโคนขนสร้อย ส่วนปลายขนสร้อยสีแดงอมดำ ปลายปีกเช็ดสีเหลืองแดง ไก่กดมีหลายชนิด เช่น
๔.๑ กดหางดำ คือไก่กดที่มีพวงหางดำหมด
๔.๒ กดหางขาว คือไก่กดที่มีสีขนหางขาวสลับดำ โดยมีสีดำมากกว่าสีขาว
๔.๓ กดขี้หมิ้น คือไก่กดที่มีปลายขนสร้อยสีเหลืองอ่อนเหมือนสีขมิ้นอ่อน
๕. ยิ่ว หรือ เหยี่ยว ไก่ชนิดนี้ตรงสันหลังมีขนสร้อยสีม่วง คือลักษณะของไก่กดนั่นเอง แต่มีหัวขาวหรือหัวหงอก และมีสีขาวที่ปีก หางขาวและข้อลาย ไก่ยิ่ว มีดังนี้
๕.๑ ยิ่วโนรี คือไก่ยิ่วที่มีสีแดง แต่มีหัวหงอก ปีกขาว หางขาว และข้อลาย
๕.๒ ยิ่วหางดำ คือไก่ยิ่วแต่มีหางดำตลอด
๕.๓ ยิ่วหางขาว คือ ไก่ยิ่วหรือเหยี่ยวแต่มีขนหางขาวแซม
๕.๔ ยิ่วแดง คือไก่ยิ่วหรือเหยี่ยวที่มีหัวหงอกและหางขาวแซม นอกนั้นสีแดงตลอด
๖. ชี คือ ไก่ชนที่มีสีขาวตลอดทั้งตัว ไก่ชีมี ๓ ชนิด คือ
๖.๑ ชีหางขาว คือไก่ชีที่มีสีขาวตลอดทั้งตัว มักเป็นไก่ที่ไม่ค่อยนิยมเลี้ยงกันเพราะส่วนมากใจน้อย หรือเป็นไก่ขี้แพ้ จนเกิดสำนวนถ้อยคำล้อเลียนคนที่ไม่กล้าสู้ใคร ๆ ว่า “ไอ้ไก่ชี”
๖.๒ ชีหางดำ เป็นไก่ชีชนิดที่หายากมาก ไก่ชีหางดำแม้จะมีหางดำเพียงเส้นเดียวก็ถือว่าเป็น “มงคลลักษณะ” ไก่ชีหางดำไม่เคยแพ้ไก่ชนิดใดเลย เท่าที่สังเกตมา เปรียบคู่กับไก่อื่น ๆ ก็ยาก มักได้ชนเพียงครั้งเดียวหรือ ๒ ครั้ง เท่านั้น เพราะไม่มีเจ้าของไก่ตัวใดอยากชนด้วยเลย
๖.๓ ชีไฟ หรือ ชีหางไฟ คือไก่ชีที่หางสีแดงแม้มีเพียงเส้นเดียวก็ตาม
๗. เคี่ยม ไก่เคี่ยม คือไก่ที่มีสีตัวทั่วไปดำ แต่ขนสร้อยจะมีสีน้ำตาลแก่เกือบดำ เป็นไก่ที่มีลักษณะดีหรือสีดีชนิดหนึ่ง ชนกับไก่ได้ทุกสี
๘. ทองอ่อน ไก่ทองอ่อน คือไก่ที่มีสีตัวทั่วไปดำ เว้นแต่ขนสร้อย ขนหลัง คอ ปีก เท่านั้น ที่มี สีเหลืองเหมือนสีดอกบวบ ไก่ทองอ่อน แบ่งออกได้ดังนี้
๘.๑ ทองอ่อนโกมิน คือไก่ทองอ่อนที่มี ปาก ตา แข้ง เล็บ เดือย และขนหางดำหมด
๘.๒ ทองอ่อนดอกปุด สีอื่นเหมือนไก่ทองอ่อนทั่วไป เว้นแต่ปลายขนสร้อยสีแดงเท่านั้นเอง
๘.๓ ทองอ่อนเดือยหลาก ลักษณะทั่วไปคล้ายคลึงกับทองอ่อนดอกปุด แต่เกล็ดเดือยมีสีดำเสริม
๘.๔ ทองอ่อนใหญ่ สีทองอ่อนธรรมดา แต่มีเกล็ดผิวหวายตะค้า เดือยขาว ปากขาวแซมดำ
๙. เข็ม ไก่เข็มจะเป็นสีอะไรก็ได้ แต่ถ้ามีปลายสร้อยมีสีดำหรือสีขาวก็เรียกว่า เข็ม แต่ส่วนมากเป็นไก่สีเขียว ไก่เข็มแบ่งออกได้ดังนี้
๙.๑ เข็มดำ คือ ไก่เข็มที่มีปลายสร้อยดำ
๙.๒ เข็มขาว คือ ไก่เข็มที่มีปลายสร้อยขาว
๙.๓ เข็มแดง คือไก่เข็มที่มีปลายสร้อยแดง
๑๐. แดง ไก่แดงเป็นไก่ที่มีสีตัวแดงทั้งตัว ไก่แดงพัฒนาการมาจากไก่กดนั่นเอง แต่สีไม่เหมือนไก่กดทีเดียว ไก่แดงสีแดงอ่อนกว่าไก่สีกด ซึ่งมีเส้นขนหรือสร้อยบนหลังสีม่วงดังกล่าวแล้ว
๑๑. เลาไฟ คือไก่แดงที่โคนขนสร้อยสีขาว
๑๒. เถน คือไก่สีหมากสุกทั้งตัว ไม่ค่อยมีใครนำมาเลี้ยงเป็นไก่ชนกัน เพราะถือว่าเป็นไก่ที่ลักษณะสีไม่ดีอย่างหนึ่ง
๑๓. ขี้เถ้า คือไก่สีขนเป็นสีขี้เถ้าทั้งตัว ยกเว้นขนสร้อยจะเป็นสีอะไรก็ได้ ไก่สีขี้เถ้ามีดังนี้
๑๓.๑ ขี้เถ้าแดง คือไก่สีขี้เถ้าที่มีขนสร้อยสีแดง
๑๓.๒ ขี้เถ้าดำ คือไก่สีขี้เถ้าที่มีขนสร้อยสีเขียวหรือสีดำหม่น ๆ สำหรับไก่สีขี้เถ้าดำบางแห่งเรียกว่า “พิราบ” ก็เรียกกัน
๑๓.๓ ขี้เถ้าขาว คือไก่สีขี้เถ้าซีด ๆ บางแห่งเรียกว่า “มาว”
๑๔. ดอกหมาก คือไก่ที่มีขนทั่วไปสีดำ เว้นแต่เฉพาะขนสร้อยที่มีสีขาวขุ่นแต่ก้านขนดำ
๑๕. จำปา คือไก่ที่มีสีเหลืองอ่อนเหมือนสีดอกจำปา
๑๖. จำปี คือไก่ที่มีสีขาวซีด ๆ ที่มีสีเหลืองเจือปนอยู่เล็กน้อย
๑๗. พริก คือไก่ลายสีขาวเทาและลายเช่นนั้นตลอดทั้งตัว เหมือนสีของไก่เยอรมนีพันธุ์บาร์พลีมัทร้อก เป็นไก่พันธุ์ผสมข้ามพันธุ์กับไก่ยุโรป บางทีเรียกว่า “ลูกพริก” เป็นไก่ตีเจ็บแต่ใจน้อยหรือใจเสาะ
๑๘. ลัก คือไก่ที่มีสีขนบนหลังสีกดหรือสีม่วง ส่วนปลายเส้นสีขาวและมีสีอื่น ๆ อีก เช่น เหลือง เขียว แดง ขี้เถ้า ฯลฯ ปนอยู่ในไก่ตัวเดียวกันถือกันว่าเป็นไก่พื้นเมืองที่มีชาติต่ำที่สุด เอามาเลี้ยงเป็นไก่ชนไม่ได้เลย เป็นไก่ชาติต่ำทราม
นอกจากที่กล่าวมาแล้วไก่ชนยังมีลักษณะพิเศษอื่น ๆ อีกหลายสิ่งหลายอย่าง เช่น แข้งขน เครา ทำเหมียและเทศ เป็นต้น สำหรับไก่แข้งขน คือไก่ชนที่มีขนที่แข้งนั้น ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น
ไก่เครา คือไก่ที่มีเคราอยู่ใต้คาง ไม่ว่าไก่นั้นจะมีสีอะไรก็ตาม และเคราของไก่ไม่ว่าไก่สีอะไรมักจะเป็นเคราสีดำทั้งสิ้น ถ้าไก่ตัวใดมีเคราเหมือนสีตัวนับเป็นไก่หายาก (ยกเว้นไก่ชี) เช่น ไก่ด่าง มีเคราสีขาว ไก่แดง มีเคราสีแดง นับเป็นไก่ที่หายากทั้งสิ้น ไก่เคราที่มีลักษณะดีอีกอย่างหนึ่งนั้นจะต้องเป็นไก่เคราที่มีหงอนใหญ่จึงจะถูกโฉลกกัน ในบางท้องถิ่นเชื่อว่าไก่เคราเป็นไก่ที่มีลักษณะไม่ดี ไม่นิยมเอามาเลี้ยงเป็นไก่ชน แต่สำหรับท้องถิ่นภาคใต้เชื่อว่าเอามาเลี้ยงเป็นไก่ชนได้ ไก่เคราที่มีลักษณะที่ดีดังกล่าวบางทีก็เป็น หัวไก่ ก็มี
ไก่ทำเหมีย คือไก่กะเทยนั่นเอง ไก่ประเภทนี้มีรูปร่าง หน้าตา ขน หงอน เหมือนไก่ตัวเมีย ทุกอย่าง แต่ขันเหมือนไก่ตัวผู้และมีขนาดโตกว่าไก่ตัวเมียพันธุ์เดียวกัน คือเท่า ๆ ไก่ตัวผู้ในพันธุ์นั้น ๆ นักเลงไก่ชนภาคใต้ในอดีตเคยเลี้ยงไก่ประเภทนี้ไว้ทำไก่ชนเช่นกัน มีหลายตัวที่เป็นหัวไก่มาแล้ว
เทศ หรือ ลูกเทศ คือไก่ที่มีหน้าตาดำ แข้งดำ จะเป็นสีอะไรก็ได้ ถ้าหากปากดำ จมูกดำ ขอบตาดำ ตาดำเหมือนลูกหว้า (ถ้าไม่สังเกตจะไม่เห็นนัยน์ตาดำ) แข้งดำ ไก่เทศหรือลูกเทศนี้ ลักษณะทั่วไปคล้ายกับไก่เนื้อดำ เป็นไก่พันธุ์พันทางไม่ค่อยมีใครเอามาทำไก่ชนกันนัก
ลักษณะพิเศษหรือหว้าของไก่ชน
คำว่า หว้า เป็นภาษาถิ่นใต้ หมายถึง โชคดี เกณฑ์ดี ไก่ชนนั้นถึงแม้จะมีลักษณะดีชั่วโดยทั่วไปแล้ว ยังมีลักษณะดีเป็นพิเศษเฉพาะตัวอีกด้วย ลักษณะดังกล่าว นักเลงไก่ชนเรียกว่า “หว้า” หรือ “หว้าดี” หว้าของไก่ชนมีมากมาย ขอยกตัวอย่างให้เห็นโดยสังเขป ดังนี้
๑. ขนรูเดียวแต่มี ๒ เส้น หรือ ขนแฝด
๒. ปีกกว้าง
๓. หางพัดหงาย ขนลวยหรือขนชัยเส้นหนึ่งเส้นใดหงาย
๔. งอกขนที่อุดเหลี้ยม (งอกขนที่ก้นแหลม) เรียกว่า “เอกชัย”
๕. เกล็ดร่วงเดือยคัด เกล็ดพัด (พัน) เดือยหลวม
๖. ขันเมื่อแจ้ง ไม่แจ้ง ไม่ขัน (ไก่จะขันเมื่อรุ่งสว่างแล้ว)
๗. หางขาวเส้นเดียว (หางชัยหรือหางกะลวยขาวเส้นเดียว)
๘. นอนกิน บินขัน
๙. แต่งตัวทั้งวัน หมายถึงไซร้ขนตลอดเวลา
๑๐. สะบัดสร้อย
๑๑. หนักเกินตัว หมายความว่าเวลาจับตัวยกขึ้น รู้สึกว่ามีน้ำหนักมากเกินขนาดของตัวจริง
๑๒. เหน็บเกล็ดที่ ๕ ของนิ้วกลาง
๑๓. เกล็ดก้อยถึงเข่า หมายถึงเกล็ดจากนิ้วก้อยเรียงรายขึ้นบนไปถึงเข่า
๑๔. เวลาพานน้ำหรือให้น้ำจะร้องจ๊อก ๆ
๑๕. อกชัน ขวั้นชิด หงอนบิด ปากร่อง พัดเจ็ด ปีกสิบเอ็ด เกล็ดนิ้วยี่สิบสอง
๑๖. หงอนหงส์ หางถก อกชัน แข้งทอก
๑๗. เดือยคลอน หงอนหวย ขนลวย ๒ เส้น
๑๘. ขนเป็ดบางแห่งเรียกขนนกนางแอ่นหรือขนนกเอี้ยงยาวเท่ากันและมีสีเดียวกัน
๑๙. นอนตื่นสาย เจ้าของไม่จับลงจากคอนจะไม่ลงเอง
๒๐. เปลี่ยนสีทุกปี ปีหนึ่งเป็นสีหนึ่ง เช่น ปีนี้เป็นเหลืองแก่พอไปถึงปีหน้ากลายเป็นเหลืองหัวหงอกหรือเหลืองใหญ่
๒๑. งอกขนในบ่อเลยหรือบ่อเลือด
๒๒. งอกขนในลานมันหรือลานขวดน้ำมันหรือลานนกหว้า
๒๓. เดือยปัดตลอด หมายถึงว่าเดือยไก่นั้นมีรูเล็ก ๆ จากปลายเดือยถึงโคนเดือย เอาเส้นผมแยงดูได้ เป็นหว้าชั้นดีของไก่ชนชนิดหนึ่ง
๒๔. ฟักไข่และเลี้ยงลูกเอง หมายความว่า ทำหน้าที่แทนไก่ตัวเมียเองไม่ว่าจะเป็นการฟักหรือการเลี้ยงลูก อันนี้เรียกว่า “หว้าใหญ่”
๒๕. ที่แผ่นหลังมีหลุมหรือที่ลุ่มอยู่แห่งหนึ่ง เรียกว่า “บ่อทรัพย์” นับเป็นหว้าใหญ่ของไก่ชนอย่างหนึ่ง
ลักษณะไก่เลว
ซึ่งได้กล่าวไว้บ้างแล้วในลักษณะชั่วดีของไก่ชนข้างต้น ในที่นี้ขอเพิ่มเติมถึงลักษณะนั้นในบางสิ่งบางอย่างดังนี้คือ ไก่เลวที่เอามาเลี้ยงเป็นไก่ชนไม่ได้นั้นมีลักษณะดังนี้คือ
๑. ขนน้อย คือ สะโพกไม่มีขนหรือสะโพกล่อน
๒. สร้อยสั้น
๓. ขนไม่เป็นมัน
๔. ปากล่องลม คือปากบนกับปากล่างประกบกันไม่สนิท
๕. รูปร่างไม่ดี ดูแล้วไม่สง่างาม
๖. ขนผุหักง่าย
๗. เกล็ดแข้ง ๒ ข้าง ไม่เหมือนกันที่เรียกว่า “ลักเค้า” ยกเว้น “พันซ้ายเหน็บขวา” (คือ มีเกล็ดพันที่แข้งซ้ายและมีเหน็บที่แข้งขวา) เท่านั้น
๘. เกล็ดน้อย หมายถึงที่แข้ง นิ้ว หลังแข้ง มีเกล็ดไม่มาก และเป็นเกล็ดอยู่ห่าง ๆ กัน
๙. สีผิวของเกล็ดไม่เหมือนสีของปาก
๑๐. แข้งเขียว
๑๑. ตาลาย คือนัยน์ตาขาวมีจุดประไปทั่ว
๑๒. หลังกุ้งหรือหลังค่อม
๑๓. คอสั้น
๑๔. เป็นไก่เขียวมากลาย
๑๕. ไก่ยิ่วพัดดอก คือเป็นไก่ยิ่วหรือเหยี่ยวแต่ขนพัดมีจุดขาวประอยู่ทั่ว
ลักษณะการต่อสู้ของไก่ชน
ลักษณะการต่อสู้หรือวิธีการต่อสู้ของไก่ชนนั้นมีอยู่หลายแบบหลายวิธี มีชื่อเรียกต่าง ๆ กันออกไปตามท้องถิ่น โดยเฉพาะท้องถิ่นภาคใต้แบ่งออกเป็น ๓ ลักษณะใหญ่คือ
๑. ไก่ทง เป็นไก่ที่ต่อสู้โดยใช้วิธีปักตีหรือบุกตีกันซึ่ง ๆ หน้า แลกลำกันอย่างชนิดใครดีใครอยู่ โดยไม่เอาหัว ตัว คอ เข้าไปซุกซ่อนตามลำตัว ใต้ท้อง หรือปีกของคู่ต่อสู้แต่อย่างใด คำว่า “ทง” ในภาษาถิ่นใต้แปลว่า “ปัก” เรียกการตีด้วยวิธีการจิกหัว จิกคอ จิกหลังตีกัน หรือบางทีตีสาดด้วยแข้งเปล่าโดยไม่จิกคู่ต่อสู้และไม่ยอมให้คู่ต่อสู้เข้าถึงตัวได้ ไก่ทงเป็นไก่ชนที่ไม่มีเชิงชนแต่อย่างใด เป็นไก่ที่ใช้ความแข็งแกร่ง ความแม่นยำ หนักหน่วง เข้าต่อสู้กัน ไก่ทงที่ฉลาดก็มีคือเป็นไก่ที่กดบ่าตี จิกหลังตี หรือหาหัวคู่ต่อสู้ได้เก่งกาจรวดเร็ว อย่างชนิดที่เรียกว่า รื้อบนก็มี
๒. ไก่ทาง เป็นไก่ที่ไม่ชอบเข้าแลกตีกันซึ่ง ๆ หน้า แต่จะใช้ชั้นเชิงลวดลายของมันเอาเปรียบคู่ต่อสู้ โดยวิธีการใช้หัว ตัว คอ เข้าซุกซ่อนตามใต้ตัว ท้อง หรือใต้ปีกของคู่ต่อสู้ แล้วค่อยขึ้นมาแอบตีทางด้านข้างหลัง ข้างตัว หรือตีมาแต่ข้างล่างก็มี การซุกซ่อนหรือมุดเข้าใต้ตัวคู่ต่อสู้เช่นนี้ ภาษานักเลงไก่ชนภาคใต้เรียกว่า “ลง” การที่ลงไปซุกซ่อนใต้ตัวแล้วลอดหรือมุดเข้าใต้ท้องคู่ต่อสู้ออกไปทางด้านหลังหรือทางหาง เพื่อตลบขึ้นตีคู่ต่อสู้ทางด้านหลัง เรียกวิธีการเช่นนี้ว่า “ลงผ่าหาง” และถ้าลอดเข้าไปใต้ปีกคู่ต่อสู้แล้วโผล่หัวออกมาทางกลางหลังของคู่ต่อสู้พร้อมกับหมุนตัวเข้าไปเทียบ จิกหัว จิกคอ คู่ต่อสู้หรือกดลงแล้วตี เรียกวิธีการเช่นนี้ของมันว่า “มัด” บางตัวอาจจิกหน้าอก จิกด้านข้างตัวแล้วตีขึ้นมาจากข้างล่างก็มี เช่นนี้เรียกว่า “รื้อล่าง”
๓. ไก่พานขึ้นพานลง เป็นไก่ที่ชนได้ทั้งสองแบบ คือทงก็ได้ ทางก็ดี เป็นไก่ที่มีวิธีการต่อสู้ที่ชาญฉลาด ไม่ว่าคู่ต่อสู้มาไม้ไหนแก้ไขสถานการณ์ได้หมด ชนได้ทั้งไก่ทงไก่ทาง คือลงมัดก็เป็น หาหัวคู่ต่อสู้ก็เก่ง กดบ่าตีก็ได้ คือทำได้ทั้งสองเชิงนั่นเอง
ไก่ทงบางตัวสู้ไก่ทางไม่ได้ เพราะจะตีแต่หัวอย่างเดียวและหาหัวคู่ต่อสู้ไม่เป็น จึงไม่ค่อยได้ตี ถูกไก่ทางหลอกตีเสียจนพ่ายแพ้ไป ส่วนไก่ทางบางตัวเมื่อถูกไก่ทงที่ตีไม่เลือกไม่ว่าจะเป็นหัว บ่า หลัง คอ เข้าก็พ่ายแพ้ได้ง่ายเช่นกัน ไก่ทางบางตัวหลอกตี เตะคู่ต่อสู้จนบอบช้ำหรือเกือบจะร้องอยู่แล้ว แต่ไม่รู้จักซ้ำเติม กลับทำทางหรือใช้ลวดลายชั้นเชิงของตนจนเพลิน เผลอ ๆ ไก่ทงหาหัวพบแล้วตีทีเดียวตายไปก็มีอยู่ให้เห็นอยู่เช่นกัน
การผสมพันธุ์ไก่ชน
รองศาสตราจารย์ ดร.อภิชัย รัตนวราหะ ได้แนะนำไว้ในหนังสือไก่ชน เทคนิคการผสมพันธุ์และเลี้ยงดู ดังนี้
๑. ควรมีการคัดพ่อพันธุ์ไก่แยกไว้ต่างหาก ไม่ควรให้มีพ่อพันธุ์ไก่ปะปนอยู่หลายตัว เพราะอาจได้ไก่ที่ไม่ตรงตามความประสงค์
๒. พยายามแยกพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ที่ต้องการออกไปอยู่กันตามลำพัง โดยพยายามให้ผสมพันธุ์กันตามอิสระในบริเวณกว้าง ซึ่งจะทำให้ตัวผู้มีความกระตือรือร้นในการผสมพันธุ์ ทำให้เปอร์เซ็นต์การฟักสูง
๓. อัตราส่วนพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ ไม่ควรเกิน ๑ : ๔
๔. อาหารไก่ช่วงนี้ควรมีคุณค่าทางโภชนาการสูง อาหารเสริม เช่น ผงถ่านป่นหรือเปลือกหอยป่นเสริมในอาหารหลัก เช่น ปลายข้าว รำอ่อน ใบกระถินบด ปลาป่นจืด จะช่วยเสริมกระดูกและสร้างเปลือกไข่ได้ดี ถ้าปลาป่นจืดหายากอาจใช้พวกเนื้อสัตว์ต่าง ๆ ให้กินวันละครั้งก็พอ แต่ควรระวังอย่าให้ไก่อ้วนเกินไป
๕. อายุของพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ไม่ควรเกิน ๓ ปี พ่อพันธุ์ที่มีเดือยแหลมคม ควรตัดเดือยเสียก่อน เพราะทำให้แม่พันธุ์เจ็บสันหลังขณะผสมพันธุ์ ส่วนแม่พันธุ์ที่เป็นไก่สาวที่ยังไม่เคยผ่านการมีลูกมาก่อน ก็ไม่ควรเอาลูกครอกนั้นมาใช้สำหรับเป็นไก่ชน เพราะแม่พันธุ์ยังไม่มีความสมบูรณ์เพียงพอ ไข่ครอกแรกนี้จะมีขนาดของฟองเล็กกว่าไข่มาตรฐานทั่วไป
๖. ไม่ควรเอาไก่ครอกเดียวกันมาผสมกัน เพราะจะทำให้เกิดการผสมแบบเลือดชิดเกิดขึ้น
๗. แม่พันธุ์พ่อพันธุ์ควรมีขนาดพอดี ไม่เล็กหรือไม่ใหญ่เกินไป เพราะจะหาคู่ได้ยาก
๘. ไก่ที่มีนิสัยไม่ดี เช่น จิกตีลูกไก่หรือไก่ตัวเมียในขณะให้อาหาร ไม่ควรเอามาทำเป็นพ่อพันธุ์
๙. ควรเปลี่ยนพ่อพันธุ์ทุกปี เพื่อป้องกันการผสมพันธุ์เลือดชิด จะทำให้มีลักษณะผิดปรกติเกิดขึ้นกับรุ่นลูกหลานได้
หลักการวางรังไข่
การวางรังให้แม่พันธุ์ไก่ชน ที่วางไข่หลังจากได้รับการผสมพันธุ์กับพ่อไก่แล้วก็ถือว่าเป็นเคล็ดลับและเป็นความเชื่ออย่างหนึ่งด้วย มีวิธีทำและวิธีการดังนี้ คือ
๑. วัสดุรองพื้นรังไข่ ควรใช้ใบยาสูบตากแห้งจะดีมาก เพราะสามารถป้องกันพวกเห็บและไรได้ดี
๒. ใช้หัวงูเห่าตากแห้ง จะได้ช่วยให้ไก่ที่เกิดมาตีคู่ต่อสู้หน้าตามืดมัวมองไม่เห็น
๓. ใช้ชิ้นส่วนหรือเศษของไม้คานหักทำให้ไก่มีลำหักลำโค่นดี
๔. ให้เศษใบไม้ใบหญ้าของลมหมุนหรือลมหัวด้วน พยายามจับเศษใบไม้และเศษหญ้าให้ได้ขณะที่ยังไม่ตกถึงพื้นดิน เอามาผสมผสานกับวัสดุอื่นใช้รองรัง เชื่อว่าจะทำให้ลูกไก่ที่เกิดมาตีคู่ต่อสู้ด้วยลำหนักจนหมุนเวียนเหมือนลมชนิดนั้น
๕. ต้องวางไข่สำหรับฟักในตอนเช้าของวันอังคารหรือวันเสาร์เพราะถือเป็นวันแข็ง
๖. ห้ามไม่ให้ผู้หญิงเป็นผู้วางสำหรับไข่ฟักเป็นอันขาด เพราะลูกไก่ที่ออกมาจะอ่อนแอเหมือนเพศหญิง
๗. ที่ก้นรังให้เอาหนาม ๕ อย่าง คือ หนามแดง หนามพุงดอ หนามเส้น หนามหวาย และหนามไม้ร้อง เป็นเคล็ดให้ไก่แทงแม่น
๘. ที่ใต้รังไข่นอกจากหัวงูเห่าแล้ว อาจรองรังด้วยหัวเหยี่ยวนกเขา หัวเหยี่ยวขาว หัวพังพอน ฯลฯ รองไว้ด้วย เพราะจะทำให้ลูกไก่ที่ออกมามีตบะเดชะเป็นที่ครั่นคร้ามแก่คู่ต่อสู้
๙. ไม้คอนจับหน้ารังไข่ ให้หาไม้ค้อนหรือไม้ที่เคยขว้างปาไก่ตัวผู้ถึงกับชักหรือตายมาวางขวางไว้ข้างหน้ารังไข่ ให้แม่ไก่ได้ข้ามขึ้นลงขณะที่ขึ้นไปวางไข่ (อภิชัย รัตนวราหะ. ๒๕๓๗,หน้า ๑๐-๑๑.)
๑๐. ให้เอาต้นหญ้าที่งอกผ่านรูกะลามะพร้าวที่คว่ำอยู่โดยบังเอิญ มาเป็นส่วนผสมของขยะรองรังด้วย เพราะจะทำให้ไก่ตีแม่นยำหรือแทงถูกที่บังคับได้แม่นยำ
๑๑. ให้เอาซังปลอกเลียงข้าวที่สวมติดคอไก่โดยบังเอิญมาเป็นส่วนผสมของขยะรองรังด้วย เพราะจะทำให้ไก่ที่ออกมาตีแม่นแทงแม่น
การเลี้ยงดูไก่เล็ก
เมื่อลูกไก่ออกจากเปลือกเป็นตัวแห้งแล้ว และเดินเหินได้แล้ว ซึ่งอยู่ในความคุ้มครองของแม่ของมัน ในระยะ ๑-๗ วัน ขังทั้งแม่และลูกไว้ในสุ่มหรือกรอม โดยหาน้ำและอาหารอ่อน ๆ เช่น ปลายข้าวและรำมาให้กิน หลังจากนั้นก็ปล่อยให้แม่ของมันเลี้ยงตามธรรมชาติ แต่ก็คอยช่วยเหลือและให้อาหารเป็นปกติ ลูกไก่อายุ ๓-๑๐ สัปดาห์ จำเป็นต้องหาอาหารให้อย่างเพียงพอ โดยให้อาหารวันละ ๒ มื้อ เช้า-เย็น พอลูกไก่มีอายุย่างเข้า ๒ เดือนครึ่ง ระยะนี้กินข้าวเปลือกได้แล้ว นอกจากนั้นมันหาอาหารเองตามธรรมชาติ อาหารเหล่านี้ได้แก่ ไส้เดือน แมลง ปลวก เคง และหญ้าอ่อน ๆ ถ้าลูกไก่ตัวไหนผอม ไม่เจริญเติบโต ก็ควรหายาถ่ายพยาธิให้กินเสีย
เมื่อลูกไก่มีอายุเลยสองเดือนขึ้นไปนับเป็นไก่รุ่นกระทง จัดเป็นไก่ปีกกล้าขาแข็ง ระยะนี้แม่มันจะเริ่มทิ้งแล้ว ลูกไก่รุ่นนี้ก็จะเริ่มหาอาหารกินเอง โดยเจ้าของต้องเอาใจใส่ให้กินข้าวเปลือกวันละ ๒ ครั้ง ดังกล่าว ก็อาจจะมีอาหารเสริม เช่น ปลา เนื้อ แมลง อันเป็นอาหารจำพวกโปรตีนบ้าง
การเลี้ยงไก่ชน
ไก่ชนจะเริ่มเลี้ยงชนได้เมื่อมีอายุ ๑ ปีเต็ม จนถึง ๓ ปี ชาวภาคใต้เรียกอายุไก่ชนว่า “ขน” ถ้า ขนหนึ่ง หรือ ขนเดียว ก็หมายถึงมีอายุแค่ปีเดียวหรือ ๑ ปี ๓ ขน ก็ ๓ ปี แต่ก็ไม่แน่นอนเสมอไป เพราะไก่บางตัวชนได้ถึง ๔ ขน หรือ ๔ ปี ก็มี แต่ก็มีน้อยมาก เพราะไก่อายุเท่านั้นเป็นไก่ที่แก่หรืออยู่ในวัยชรามากแล้ว
การเลี้ยงไก่ชนต้องคำนึงถึงความสมบูรณ์และแข็งแกร่งเป็นสำคัญ คือจะต้องสมบูรณ์และแข็งแรงมาตั้งแต่เล็ก ๆ ด้วยการบำรุงอาหารและให้ออกกำลังกายอยู่เสมอ เช่น ตามลานบ้านทำราวไว้หลายขนาด สูง ต่ำ ไม่เท่ากัน เพื่อให้ไก่วัยต่าง ๆ บินขึ้นลงทุกวัน ถ้าบำรุงด้วยอาหารประเภทโปรตีนมาก ๆ จะต้องหลอกล่อให้ออกกำลังกายมาก ๆ ด้วย มิฉะนั้นไก่จะอ้วนเกินไป อาหารของไก่ชน ได้แก่ ข้าวเปลือก ของภาคใต้ใช้ข้าวเจ้า โดยนำมาล้างให้สะอาด สงขึ้นใส่กระด้งตากไว้ให้แห้ง คลุกด้วยไข่ไก่ ตากแดดจนไข่แดงและไข่ขาวจับผิวข้าวเปลือกจึงให้ไก่กินหรือให้กินไข่สดเลยก็ได้ บางทีต้องหาเขียดหรือจิ้งจกให้กินก็มี เพราะได้โปรตีนและแคลเซียม การกินของไก่ชนต้องกินเป็นเวลาอย่างสม่ำเสมอเช่น เช้า-บ่าย หรือ ก่อนนอน นอกจากนั้นอาจบำรุงด้วยหอยขม หรือทำยาให้กิน โดยนำปลาช่อนตัวใหญ่ทั้งเกล็ดมาย่างให้สุก ใส่ครกใหญ่ตำให้แหลก ผสมด้วยเครื่องยาดังนี้ส่วนละเท่า ๆ กัน คือ บอระเพ็ด ขมิ้นอ้อย ใบมะขาม ใบส้มป่อย ผักคราดหัวแหวนทั้งห้า ใบคนทีสอและเกลือเล็กน้อย ฯลฯ นำเครื่องยาเหล่านั้นมาตากแห้งเสียก่อน แล้วตำปนลงไปกับเนื้อปลาช่อนให้แหลกคลุกเคล้าปนกันกับน้ำผึ้งรวง เก็บใส่กล่องหรือโหลไว้ทำเป็นก้อนขนาดปลายนิ้วชี้ให้กินวันละ ๒ ครั้ง คือ เช้าและก่อนเข้านอน ยาขนานนี้เป็นทั้งอาหารและยาบำรุงไก่ชนที่กล่าวไว้ในสมุดข่อยหรือบุดดำที่ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช อาหารบำรุงนี้ให้กินก่อนชนประมาณ ๒-๓ สัปดาห์ก่อนชน มิเช่นนั้นอาจจะทำให้ไก่อ้วนไป อืดอาด กระโดด จิก บินไม่คล่องตัว ถ้าหากเห็นว่าจะทำให้อ้วนมากเกินไป ก็อาจให้กินวันละครั้งตอนเช้าหลังจากให้น้ำเสร็จ ไก่อืดอาดเพราะบำรุงเลี้ยงดูเกินไป นักเลงไก่ชนเรียกว่า “พลุก” แต่ถ้ากระโดดหรือบินคล่องตัวเรียกว่า “ร่วง” จะต้องฝึกปรือและเลี้ยงดูให้ไก่ร่วงก่อนจะนำไปชน โดยคอยหมั่นลูบนวดเบา ๆ ด้วยน้ำอุ่น เพื่อให้กล้ามเนื้อแข็ง ขา ปีก ลำคอมีความแข็งแรง แต่ต้องระมัดระวังไม่ให้กล้ามเนื้อเกร็งเกินไป มิฉะนั้นแล้วจะขาดความประเปรียว
เครื่องยาที่ใส่น้ำต้มไว้อาบไก่หรือให้น้ำไก่ในตอนเช้านั้น ประกอบด้วยสมุนไพรหลายสิ่งหลายอย่างเป็นต้นว่า เจ็ดหมูนย่าน (บอระเพ็ด) ใบมะขาม ใบส้มป่อย ขมิ้นอ้อย ขมิ้นฤๅษี กระดูกไก่ทั้งสอง คือทั้งสองชนิด ขาว-ดำ ไหลเผือก ย่านเอ็น ใบคนทีสอ เฉียงพร้า หัวไพล ไม้ค้อนตีหมา อัญชันดอกขาว ฟ้าทะลายโจร ชะพลูช้าง ขมิ้นชัน เถาวัลย์เปรียงดอกแดง ตาไม้ไผ่สีสุก ฯลฯ
นอกจากใช้น้ำอุ่นผสมตัวยาลูบเคล้าถูตามกล้ามเนื้อแล้ว ต้องใช้ขมิ้นฝนกับปูนแดงแล้วนำมาลูบตามตัวตลอดถึงข้อเท้าทุกครั้ง เพื่อให้ขนเปียกน้ำได้ง่ายยิ่งขึ้นเวลาลูบน้ำหรือให้น้ำในครั้งต่อ ๆ ไป และขมิ้นจะรักษาผิวเนื้อได้ดีตลอดจนเป็นยาขับไล่ เหา ไร ตามตัวไก่ได้อีกด้วย การทาขมิ้นน้ำจะทาให้เมื่อลูบน้ำแล้วขณะที่ผิวเนื้อหนังยังหมาด ๆ อยู่ ก่อนจะถึงวันชน ๒-๓ วัน ต้องเว้นทาขมิ้นเพราะขมิ้นจะรัดตัวไก่ทำให้ไก่มีอาการเกร็งไม่คล่องแคล่ว เรียกว่า “คลายขมิ้น”
เมื่อให้น้ำหรือลูบน้ำประจำวันแล้ว จะต้องนำไก่ไปขังกราดแดดให้ตัวแห้งอีก กรอมขังไก่ชน แถวจังหวัดสุราษฎร์ธานี ชุมพร ระนอง ภูเก็ต พังงา เรียกว่า “กรงกราด” ไก่ชนเลี้ยงใหม่ ๆ หรือเป็นไก่อ่อน จะกราดแดดไม่มากนัก กะดูพอตัวแห้งก็เอามาเก็บไว้ในที่ร่ม แต่เพิ่มเวลากราดขึ้นทุกทีจนไก่หอบ ภายในกรงกราดหรือกรอมไก่ขณะที่กราดแดด ต้องไม่มีน้ำให้ไก่กิน เพื่อให้ไก่มีน้ำอดน้ำทนและแข็งแกร่ง ขณะที่เอาเข้าร่มก็ต้องให้อยู่สักพักใหญ่ จึงจะใส่น้ำให้กินได้
เมื่อเลี้ยงโดยการให้น้ำมาชั่วระยะเวลาหนึ่งประมาณ ๕-๗ วัน จึงนำไก่ไป “วาง” หรือ “ซ้อม” ดูทางชน ถ้าเห็นว่ามี “ทางชนดี” หรือ “พอใช้ได้” ก็นำมาเลี้ยงต่อไป แต่ต่อมาต้อง “โร่เบื้อง” (บางถิ่นเรียกว่า “คบเบื้อง” หรือ “ฉาบเบื้อง”) เพื่อให้ไก่หายเข็ดยอกและเพิ่มความแข็งแกร่งให้เนื้อหนังอีกด้วย ไก่ชนตัวหนึ่ง ๆ ก่อนออกชนต้องเลี้ยงอย่างน้อย ๑-๒ เดือน จึงออกชนได้และต้องวางหรือซ้อมคู่ ๓-๔ ครั้ง และต้องล่อวันเว้นวันหรือวันเว้นสองวันตลอดเวลาที่เลี้ยง บางแห่งเช่นที่พังงาฝึกให้บินหลุมด้วย โดยขุดหลุมกว้างยาว ๑.๐-๑.๕ เมตร ลึกประมาณ ๒-๓ เมตร โยนไก่ลงไปในหลุม โดยให้มีไก่ขังกรอมล่ออยู่ข้างบนปากหลุม ไก่จะบินขึ้นปากหลุมเมื่อได้ยินไก่บนขัน ทำอย่างนี้วันละหลายครั้ง แล้วจึงนำไปอาบน้ำหรือให้น้ำประจำวันแล้วจึงกราดแดด นำมาพักผ่อนในร่มให้กินข้าวหรืออาหาร
ถ้าเป็นฤดูร้อนราว ๆ เดือนเมษายน ตอนบ่ายต้องลูบน้ำหรือให้น้ำเย็น โดยใช้น้ำยาในหม้อน้ำนั้น แต่ไม่ต้องต้มหรืออุ่นแต่อย่างใด เพื่อช่วยคลายความร้อนให้ไก่ทุกวัน ตอนบ่ายหรือตอนเย็นจึงให้กินข้าวเปลือก ค่ำขึ้นก็พาเข้านอน ในปัจจุบันไก่ชนแต่ละตัว เจ้าของกางมุ้งให้นอน โดยนำไปขังในกรอมนอนขนาดใหญ่ ภายในกรอมหรือกรงกราดนั้นก็มีคอนสำหรับนอนโดยมีที่รองขี้ด้วยกระสอบป่านอีกทีหนึ่ง แล้วใช้มุ้งครอบที่ขังนั้นไว้เพื่อกันยุงรบกวน ทำให้ไก่นอนหลับสนิท เวลาชนจะได้มีกำลังเต็มที่
การออกกำลังให้ไก่นั้น นอกจากซ้อมคู่โดยพันเดือยทั้งสองตัวแล้ว ก็มีการล่อโดยใช้ไก่ล่อ ล่อให้วิ่งตามหรือให้บินตามหรือบินหลุมดังกล่าวแล้ว บางทียังมีการเวียนอีก โดยขังไก่ตัวหนึ่งไว้ข้างในกรอมหรือกรงกราดที่ครอบสองชั้นเพื่อป้องกันไม่ให้ไก่สอบปากกัน ไก่นอกจะวิ่งเวียนเมื่อหอบแล้วนำไปกราดแดดต่อ คนเลี้ยงไก่ชนจะทำอยู่เช่นนี้ตลอดทั้งเดือนหรือเกินกว่านั้นกระทั่งนำไปชน
การควบคุมน้ำหนักตัวนับเป็นเรื่องสำคัญมากเช่นกัน เพราะถ้าน้ำหนักน้อยเกินไปแสดงว่าไก่ขาดสมบูรณ์ แรงน้อย และถ้าน้ำหนักตัวมากเกินไปไก่จะขาดความประเปรียวว่องไวในการต่อสู้ วิธีลดน้ำหนักอย่างหนึ่งคือการนำไก่ไปกราดแดดดังกล่าวนั่นเอง
ไก่ที่มีสุขภาพดีและแข็งแรง จะมีความทนทานได้มาก มีความคึกคะนองอยากจะต่อสู้และมีความเหี้ยมโหดมากขณะต่อสู้ ไก่ที่กำลังเลี้ยงเพื่อชนต้องขังแยกกับตัวเมีย นาน ๆ ทีหนึ่งจึงให้เหยียบตัวเมียได้ เพื่อคลายความเครียดกลัดมันของมัน นักเลงไก่ชนจะต้องมีไก่รองบ่อนหรือไก่ชนลูกไล่ไว้สำหรับใช้ล่อใช้เวียน อย่างน้อย ๑-๒ ตัว ผลัดเปลี่ยนกัน ส่วนการซ้อมคู่นั้นอาจนำไปซ้อมหรือวางกับไก่อื่นที่มีขนาดเท่ากันได้
นอกจากนี้จะต้องคอยหาโอกาสให้ไก่ได้ซ้อมชนอยู่เสมอ เว้นแต่ระยะที่ไก่กำลังผลัดขนจึงต้องงดซ้อมหรืองดวาง เพราะไก่กำลังขาดความสมบูรณ์ ไม่คล่องตัว และอาจทำให้ขนอ่อนเสียหาย ไม่ขึ้นเป็นปกติ
สนามหรือบ่อนไก่ชน
การขออนุญาตเพื่อขอจัดตั้งบ่อนไก่ นายบ่อนจะต้องไปทำคำร้องถึงนายอำเภอ แจ้งความประสงค์ในการจัดตั้งบ่อนไก่ โดยระบุสถานที่และวันเวลาการชนไก่ให้ชัดเจน ทางอำเภอก็จะเสนอเรื่องตามลำดับจนถึงผู้มีอำนาจอนุมัติตามกฎกระทรวง ลงวันที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๓ ซึ่งออกตาม พ.ร.บ. การพนันประเภทเดียวกับการชนโค กัดปลา และชนไก่ พุทธศักราช ๒๔๗๘ และระเบียบของกระทรวงมหาดไทยออกตาม พ.ร.บ. พ.ศ.๒๕๒๕ ตามกฎกระทรวงดังกล่าว อนุญาตให้ชนไก่ได้เดือนละ ๒ ครั้ง เหมือนกันทั่วพระราชอาณาจักร ถ้าวันชนวันใดตรงกับวันสำคัญทางพุทธศาสนาก็ไม่อนุญาต ในงานมงคลก็ไม่อนุญาตให้ชนไก่ วันหนึ่งจะเริ่มได้ไม่เร็วกว่า ๐๖.๐๐ นาฬิกา และเลิกไม่ช้ากว่า ๑๘.๐๐ นาฬิกา ในบ่อนห้ามการขายสุราและห้ามการเมาเหล้า ผู้ได้รับอนุญาตเป็นเจ้าของบ่อนต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เมื่อฝ่าฝืนอาจถูกยึดใบอนุญาต นอกจากนี้นายบ่อนยังต้องวางระเบียบให้ผู้เกี่ยวข้องปฏิบัติตาม และต้องรักษากติกาของการเล่นและระเบียบปลีกย่อยของบ่อน เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยด้วย
ดังระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพนันชนไก่และกัดปลา พ.ศ.๒๕๒๕ ดังนี้
ระเบียบกระทรวงมหาไทย
ว่าด้วยการพนันชนไก่และกัดปลา
พ.ศ. ๒๕๒๕
เนื่องด้วยปรากฏว่าตามชนบทส่วนใหญ่ประชาชนนิยมเล่นการพนันชนไก่และกัดปลากันมาแต่โบราณ จนเป็นประเพณีในบางท้องที่ไปแล้ว กระทรวงมหาดไทยมีนโยบายที่จะลดแหล่งอบายมุขต่าง ๆ ลง เพื่อมิให้ประชาชนลุ่มหลงมัวเมาในการพนัน อันเป็นบ่อเกิดแห่งอาชญากรรมและความยากจนของประชาชน โดยลดจำนวนบ่อนและลดวันอนุญาตเล่นการพนันชนไก่และกัดปลาให้น้อยลง แต่ยังเปิดโอกาสให้ประชาชนในชนบทส่วนใหญ่ได้มีสถานที่พักผ่อนหย่อนใจในวันหยุดบ้างตามสมควร ทั้งนี้เพื่อสนองนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งรักษาความสงบเรียบร้อยและขจัดความยากจนของประชาชนด้วย
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช ๒๔๗๘ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยวางระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพนันชนไก่และกัดปลา พ.ศ.๒๕๒๕”
ข้อ ๒ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตังแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๒๖ เป็นต้นไป
ข้อ ๓ บรรดาระเบียบหรือคำสั่งใดที่ขัดแย้งกับระเบียบนี้ ให้ใช้ระเบียบนี้แทน
ข้อ ๔ ในจังหวัดใดที่เคยอนุญาตให้การเล่นการพนันชนไก่และกัดปลาอยู่ก่อนแล้ว หากผู้ได้รับอนุญาตเดิมประสงค์จัดให้มีการเล่นการพนันดังกล่าว จะต้องเสนอเรื่องราวการขออนุญาตไปยังผู้มีอำนาจสั่งอนุมัติตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๗ (พ.ศ.๒๕๐๓) เดือนละครั้ง เมื่อได้รับอนุมัติแล้วเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตจึงจะออกใบอนุญาตได้
ข้อ ๕ การอนุญาตให้เล่นการพนันชนไก่หรือกัดปลา ให้อนุญาตให้เล่นได้เดือนละสองครั้ง โดยให้เล่นเฉพาะในวันอาทิตย์ของสัปดาห์ที่สองและสัปดาห์ที่สี่ของเดือนพร้อมกันทั่วประเทศ หากวันอาทิตย์ใดตรงกับวันสำคัญทางพุทธศาสนาให้งดอนุญาตโดยเด็ดขาด
ข้อ ๖ สถานที่เล่นจะต้องบริเวณกว้างขวางมั่นคง ไม่ขัดต่อสุขลักษณะและอนามัย
ข้อ ๗ ผู้ขออนุญาตจะต้องมีฐานะมั่นคงพอเชื่อถือได้ และมีความประพฤติเรียบร้อย
ข้อ ๘ ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตกระทำการดังต่อไปนี้ ให้ผู้มีอำนาจอนุมัติการอนุญาตตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๗ (พ.ศ.๒๕๐๔) มีอำนาจที่จะไม่อนุมัติการอนุญาตในคราวต่อไปเป็นครั้งคราวหรือตลอดไปก็ได้แล้วแต่จะเห็นสมควร
(๑) ทำผิดเงื่อนไขหลังใบอนุญาต
(๒) ไม่จัดสถานที่ให้เป็นไปตามนัยข้อ ๖
(๓) จัดให้มีการเล่นการพนันอย่างอื่นในบริเวณที่เล่นการพนันชนไก่หรือกัดปลา
(๔) มีการก่อความไม่สงบเรียบร้อย หรือมีเหตุอันควรเชื่อว่า จะมีความไม่สงบเรียบร้อยเกิดขึ้นในสถานที่หรือบริเวณที่เล่นการพนันชนไก่หรือกัดปลา
(๕) มีการขายสุราหรือดื่มสุรา หรือยอมให้คนเมาสุราเข้าไปในสถานที่และบริเวณที่เล่นการพนันชนไก่หรือกัดปลา
ข้อ ๙ ภายใต้บังคับ ข้อ ๔ นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ห้ามมิให้อนุมัติการอนุญาตเล่นการพนันชนไก่และกัดปลาเพิ่มขึ้นใหม่โดยเด็ดขาด เว้นแต่การขอย้ายสถานที่เล่น
บ่อนหรือสนามชนไก่โดยทั่ว ๆ ไป มักจะปลูกเป็นเรือนไม้ หลังคามุงจาก เพื่อคุ้มแดดคุ้มฝนสำหรับไก่และนักเลงไก่ชนทั้งหลาย แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วหลายแห่งแล้ว จากโรงเรือนปลูกด้วยไม้เป็นเสาคอนกรีต หลังคามุงกระเบื้อง มีอัฒจันทร์สำหรับคนดูคนเล่นก็เป็นคอนกรีตหมด ขนาดก็โตขึ้นกว่าเดิมจุคนได้หลายร้อยคน ตัวสังเวียนซึ่งทำเป็นวงกลมก็กว้างขึ้นจากเดิม มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๖-๘ เมตร ขอบสังเวียนบุด้านในด้วยโฟมหุ้มด้วยพลาสติกหลังอย่างดี เรียกว่า “เปาะ” หรือ “ป้อ” พื้นดินภายในสังเวียนหรือเปาะจะถูกกระทุ้งจนแน่นราบเรียบ ก่อนเริ่มชนทุกครั้งต้องทำความสะอาดและใช้น้ำพรมให้ชุ่มอยู่เสมอ และยังมีพัดลมเพดานติดตั้งไว้เพื่อบรรเทาความร้อนแก่นักเลงชนไก่อีกด้วย
ภายในบริเวณสนามจะมีห้องน้ำให้ไก่ ๑ ห้อง กว้างพอที่จะให้พี่เลี้ยงหรือ “มือน้ำ” ทั้งสองฝ่ายให้น้ำไก่ได้ การให้น้ำไก่ก็ต้องทำในห้องเดียวกัน และน้ำที่จะให้น้ำไก่ก็จะต้องตักมาจากแหล่งเดียวกัน เพื่อป้องกันการวางยาพิษหรือทำให้เป็นอันตรายแก่ไก่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ห้องน้ำไก่จะมีอุปกรณ์สำหรับให้น้ำและปฐมพยาบาลอยู่พร้อม ได้แก่ ผ้าขี้ริ้ว มีด เข็มเย็บ ด้าย และเตาเผาเหล็กหรือกระเบื้อง นอกจากนั้นแล้วเจ้าของบ่อนยังต้องเตรียมเครื่องจับเวลา เครื่องสัญญาณ ในการเริ่มและหยุดการแข่งขัน
การเปรียบไก่
ก่อนมีการชนต้องมีการประกบคู่กันเสียก่อน เรียกว่า “การเปรียบไก่” หรือ “การเปรียบคู่” การเปรียบไก่นั้นคนเลี้ยงไก่หรือเจ้าของไก่จะต้องพยายามไม่ให้เสียเปรียบคู่ต่อสู้ เจ้าของไก่หรือคนเลี้ยงไก่จะนำเอาไก่ของตนมาตั้งเคียงกัน โดยต่างคนต่างจะเอาเปรียบซึ่งกันและกัน โดยเอามือกดให้ไก่ยืนก้มและลดปีกลงล่าง เพื่อจะช่วยให้ไก่ของตัวได้เปรียบ แต่ต่างคนต่างก็รู้เชิงกันจึงเอาเปรียบกันไม่ค่อยได้ นอกจากคนเคราะห์ร้ายบางคนที่หลงหูหลงตาไปบ้างก็มี แต่มีน้อยมาก การเปรียบไก่โดยทั่ว ๆ ไป มีหลักเกณฑ์ดังนี้
๑. ตัวและรูปร่าง จะต้องมีขนาดตัวเท่ากัน มีความสูงไล่เลี่ยกันรวมทั้งความยาวของช่วงคอก็ไม่เสียเปรียบกัน
๒. ดูลักษณะของสีขนและลักษณะอื่น ๆ ดูว่าไก่สีอะไรที่วันนั้นเป็นพญาไก่ มีกำลังแรงของวันสูงกว่ากันหรือมีเศษสูงกว่ากัน ดูความสดใสของไก่ว่าตัวไหนสด ตัวไหนเงื่องหงอย ดูขนว่าของตัวไหนผุหักเป็นขนไก่แก่ หรือลูกไก่กว่ากัน เพราะมีบางตัวกำลังเปลี่ยนขนหรือถ่ายขนจึงขาดความปราดเปรียวไป
๓. ความยาวและความงามของเดือย ไก่เดือยดีคือไก่เดือยงามพุ่งตรงและงอนที่ปลายนิด ๆ หรือปลายเดือยเบี่ยงเบนลงล่างนิด ๆ เป็นไก่ที่ใช้เดือยมาก เดือยจัด ดูความยาวของเดือยโดยวัดดูกันได้ว่าของใครยาวกว่าสั้นกว่ากันมากแค่ไหน พอจะชนกันได้หรือไม่ แต่ในปัจจุบันการเล่นชนไก่ในภาคใต้ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วโดยสิ้นเชิงในเรื่องการชนด้วยเดือยธรรมชาติ แต่จะใช้เดือยประดิษฐ์หลายขนาดหรือหลายนัมเบอร์แล้วแต่คู่กรณีจะตกลงกันว่าจะใช้เดือยนัมเบอร์ใด จึงนำเดือยนั้นมาต่อเดือยเข้าที่แข้งไก่ชนของตน โดยตัดเดือยจริงออกเสียก่อน การต่อเดือยจึงเป็นกรรมวิธีอย่างหนึ่งไปแล้ว ดังนั้นไก่จะชนะหรือแพ้ได้ ไม่ใช่อยู่ที่ไก่ทั้งหมด ขึ้นอยู่กับคนสวมเดือยหรือต่อเดือยด้วย ถ้าใครต่อเดือยได้เที่ยงตรงกว่าหรือแข็งแรงไม่หักหลุดก็สามารถเอาชนะไก่ชนที่ดีที่เก่งกล้าแต่ต่อเดือยสวมเดือยไม่ดี ได้เช่นกัน
การต่อเดือยหรือสวมเดือย
เมื่อไก่ติดคู่แล้วก็นำไก่มาประกอบเดือยด้วยเดือยประดิษฐ์เข้ากับแข้งเรียกว่า “ซ่อมเดือย” การซ่อมเดือยมีอุปกรณ์หลายอย่างคือ เดือย (เดือยประดิษฐ์) แป้นเดือยหรือสนับแข้ง มีดเล็ก ๆ แต่คม ด้ายดิบ ปลาสเตอร์ กาวตราช้าง โดยนำแป้นเดือยหรือสนับแข้งที่ทำด้วยแผ่นอะลูมิเนียมแผ่นบาง ๆ มีรูปเดือยเป็นตอยื่นออกมาเล็กน้อยขนานเข้ากับแข้งโดยให้ตำแหน่งเดือยอยู่ตรงกับตุ่มตอของสนับแข้ง เอาเดือยประดิษฐ์สวมเข้ากับตอนั้นโดยทาด้วยกาวดังกล่าว แล้วสักด้วยด้ายดิบอีกทีหนึ่ง ต่อจากนั้นจึงใช้ปลาสเตอร์พันรอบแข้งและโคนเดือย เพื่อรั้งเดือยกับแข้งให้ยึดกันแน่นแล้วสักหรือพันด้วยด้ายดิบอีกชั้นหนึ่ง จึงเอานิ้วจับโยกดูจนเห็นว่าแข็งแรงทนทานดีแล้วจึงนำเข้าห้องน้ำเพื่อเตรียมชนได้ การต่อเดือยต้องช่วยกันหลายคน โดยยกตัวไก่วางบนที่สูงระดับสายตาของผู้ซ่อมที่นั่งยอง ๆ อยู่ช่วยกัน การต่อเดือยหรือการซ่อมเดือย ต้องกระทำก่อนไก่จะชนในช่วงเวลาที่ไม่นานนัก ถ้าทำไว้ก่อนนาน ๆ จะทำให้ไก่ตีนชาหรือง่อยได้ และเมื่อชนเสร็จแล้วจะต้องใช้มีดตัดออกทันที ไม่เช่นนั้นแล้วไก่จะเป็นง่อย เพราะเลือดลมเดินไม่สะดวก
การแข่งขัน
กำหนดเวลาในการชนไก่เป็น “อัน” หรือ “ยก” แต่ละอันอาจกำหนดเป็น ๒๐ นาที พัก ๒๐ นาที รวมคู่ละ ๕ อัน ทั้งนี้แล้วแต่นายบ่อนหรือเจ้าของไก่จะกำหนด จะเห็นว่าถ้าไม่มีการชนะกันกลางคัน ไก่แต่ละคู่จะต้องชนกันนาน (รวมทั้งเวลาพัก) ถึง ๓-๔ ชั่วโมง
เครื่องมือที่กำหนดเวลาที่เรียกว่า “อัน” หรือ “ยก” นั้น แต่เดิมใช้ผ้าดิบพันเป็นเกลียวเชือก เรียกว่า “ชุด” โดยเอาไม้สอดไว้เป็นช่อง ๆ ช่องหนึ่งถือเป็น ๑ อัน เมื่อไก่เริ่มชนก็เริ่มจุดไฟอันแรก เมื่อไฟไหม้ลามผ้าหมดช่องแรกถือว่าหมดเวลาอันแรก ต้องหยุดเพื่อให้น้ำไก่ แล้วเริ่มอันต่อไปจนแพ้ชนะกันหรือครบอัน นอกจากใช้ “ชุด” จับเวลาแล้วยังใช้เครื่องจับว่าที่ทำด้วยกะลามะพร้าวนาฬิเก เจาะรูเล็ก ๆ ลอยน้ำไว้ในขวดโหลเรียกว่า “นาเก” หรือบางแห่งเรียกว่า “อันจม” คือเมื่อน้ำไหลเข้ากะลาจนเต็มมันก็จะจม นับเป็น ๑ ยก หรือ ๑ อันจม ปัจจุบันมีการใช้นาฬิกาจับเวลาคู่ควบกับอันจมด้วย
ในการชนไก่แต่ละคู่จะต้องวางเดิมพันก่อน โดยทั้งสองฝ่ายเอาเงินเดิมพันไปวางไว้กับนายบ่อน พร้อมทั้ง “ค่าน้ำ” (ร้อยละ ๑๐ ของเงินเดิมพัน) ค่าน้ำนี้ผู้แพ้จะต้องจ่ายให้บ่อน เดิมพันที่วางกันมีตั้งแต่ ๕,๐๐๐ บาท ไปจนถึง ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท หรือมากกว่านี้แล้วแต่ความพอใจของทั้งสองฝ่าย
เกณฑ์การตัดสิน
เกณฑ์การตัดสินการชนไก่มีดังนี้
๑. ไก่ตัวใดถูกตีจนร้อง ถือว่าตัวนั้นแพ้
๒. ไก่ตัวใดถูกตีหรือถูกฝ่ายหนึ่งแทงด้วยเดือยจนตาย หรือถูกตีตาย ถือว่าตัวตายนั้นแพ้
๓. ไก่ตัวใดวิ่งแล้วร้อง ถือว่าตัวนั้นแพ้ ถ้าวิ่งหนีแต่ไม่ร้องให้เอามาวางใหม่ ถ้าวาง ๓ ครั้ง แล้วยังไม่สู้ถือว่าตัวนั้นแพ้
๔. ถ้าชนกันจนครบอันยังไม่แพ้ชนะกัน ถือว่าเสมอกัน
๕. เจ้าของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยอมแพ้
๖. ทั้งสองฝ่ายยอมเสมอกัน เพราะคาดการณ์ว่าถึงจะชนต่อไปก็คงไม่แพ้ชนะกัน
๗. ตีกันหรือชนกันจนหมดแรง และเอาอกปะทะกันไว้ เอาคอไขว้กันนิ่งอยู่ พอแยกออกก็วิ่งเข้าซุกเช่นนั้นกันอีก โดยที่ไม่ทำร้ายกันและไม่มีฝ่ายใดหนี ถือเป็นเสมอกัน กรณีนี้เจ้าของต่างได้รับเงินเดิมพันคืน นายบ่อนก็ไม่ได้ค่าน้ำ
เล่ากันว่าเคยมีกรณีที่ไก่ชนกันจนมีแผลฉกรรจ์ทั้งคู่ ต่างฝ่ายต่างเห็นพ้องกันว่าไม่ควรชนต่อไปให้เสียเวลา เจ้าของไก่ทั้งสองและเจ้าของบ่อน จะเอากรงหรือกรอมสำหรับขังไก่มาครอบขังไว้ทั้งในบ่อน ถ้าฝ่ายหนึ่งจิกตีอีกฝ่ายหนึ่งจนร้องหรือแสดงกิริยาว่าแพ้จึงจะถือเป็นแพ้ แต่ถ้าตีข้างหนึ่งยังไม่ร้อง ให้เอาตัวที่ไม่ร้องและไม่ตีนั้นขึ้นวางบนขาหยั่ง ถ้าฝ่ายตรงกันข้ามจิกตีจนตกจากขาหยั่ง จึงตัดสินให้แพ้ แต่ถ้าตีแล้วยังไม่ตกก็ตัดสินให้เสมอกัน
การวางไก่
เมื่อทั้งสองฝ่ายนำเงินเดิมพันรวมทั้งค่าน้ำไปวางไว้กับนายบ่อน และตกลงกติกาปลีกย่อยกันแล้ว เจ้าของไก่ทั้งสองจะนำไก่เข้าไปในห้องน้ำเพื่อ “แต่งไก่” ให้พร้อมที่จะชนคือ ให้น้ำหรือพานน้ำเช็ดหน้า เช็ดตา เมื่อถึงสัญญาณจะมีคนตีเครื่องบอกสัญญาณ คือ “เหลาะ” หรือ “เกราะ” แต่ในปัจจุบันนี้บางแห่งใช้นกหวีด มือน้ำหรือเจ้าของไก่ทั้งสองก็จะนำไก่ของตนเข้าสังเวียน ก่อนชนจะต้องเช็ดล้างไก่อีกครั้งหนึ่งเพื่อให้ฝ่ายตรงข้ามตรวจสอบดูว่าไม่มีการใช้ยาหรือสิ่งที่เป็นพิษทาตัวไก่ให้ฝ่ายตรงข้ามได้รับพิษนั้น ซึ่งจะดูละเอียดเพียงใดย่อมขึ้นอยู่กับความละเอียดถี่ถ้วนของแต่ละคน จากนั้นก็ล้างแข้งล้างเดือยโดยใช้น้ำของสนามหรือของบ่อน มีน้ำผสมผงซักฟอกเอามาขัดถูบริเวณแข้งไก่และเดือยไก่ แล้วล้างด้วยน้ำมะนาวอีกทีหนึ่ง เสร็จแล้วจึงเริ่มปล่อยไก่เข้าต่อสู้กัน โดยส่งไก่ของตนให้กรรมการกลางเป็นผู้ปล่อย เรียกตามภาษานักเลงไก่ชนว่า “วางไก่”
ในการนั่งของมือน้ำที่เอาไก่เข้าสังเวียนแล้วเพื่อเช็ดล้างแสดงความบริสุทธิ์ มือน้ำที่มีความเชื่อแบบโบราณจะนั่งในทิศทางที่เป็นมงคล ซึ่งมีอยู่หลายครูหลายตำราซึ่งจะกล่าวต่อไปข้างหน้า ตัวอย่างเช่น ทั้งสองฝ่ายจะเลือกนั่งในทิศทางให้ถูกตำราด้วย คือจะไม่นั่งหรือปล่อยไก่ใน “ทิศผีหลวง” หรือ “หลาวเหล็ก” เช่น วันอาทิตย์ห้ามหน้าไปสู่ทิศพายัพ จันทร์ห้ามทิศบูรพา อังคารห้ามอีสาน พุธห้ามอุดร พฤหัสบดีห้ามทักษิณ ศุกร์ห้ามประจิม เสาร์ห้ามอาคเนย์ ฯลฯ
ก่อนส่งไก่ให้กรรมการเพื่อปล่อยไก่ให้ชนกัน มือน้ำจะเอาขมิ้นชันทาปากไก่ทั้งข้างในข้างนอก เพื่อให้ปากจิกติดดีมั่นคง แล้วแย่งทิศทางกันส่งไก่ให้กรรมการ
เมื่อเริ่มชนกันจะมีกรรมการคอยดูแลอยู่ และคอยแยกอยู่ในสังเวียนอย่างน้อย ๑ คน ตลอดเวลา เมื่อหมดอันหรือหมดยก กรรมการจะเข้าแยกไก่ทั้งสองออกจากกัน พี่เลี้ยงไก่หรือมือน้ำจะรีบนำไก่เข้าห้องน้ำเพื่อให้น้ำซึ่งเตรียมไว้ในบ่อน
การให้น้ำไก่และการปฐมพยาบาลไก่
เมื่อหมดอันในการต่อสู้ พี่เลี้ยงหรือมือน้ำ จะนำไก่ไปให้น้ำหรือพานน้ำดังกล่าวแล้ว และจะทำการปฐมพยาบาลให้ไก่มีสภาพร่างกายและจิตใจดีขึ้น โดยวิธีการต่าง ๆ ดังนี้
๑. การให้น้ำหรือพานน้ำในระหว่างอัน ต้องลูบน้ำให้ตัวเปียกเพียงบางจุดเท่านั้น ได้แก่ ใต้ท้อง หน้าอก ใต้ปีก ขา คอด้านหน้า อุดหรือส่วนท้าย แต่ก่อนจะให้น้ำนั้น ต้องใช้วิธีเอาเสมหะและเลือดออกจากลำคอไก่เสียก่อน โดยใช้ขนไก่แข็ง (ขนปีก) ที่เตรียมมา ยอนคอแล้วหมุนจนติดเสมหะและเลือดที่คั่งค้างอยู่ออกมาจนหมด การให้น้ำระหว่างอันนี้เรียกว่า “อัดน้ำ” โดยใช้ผ้าชุบน้ำให้ชุ่มแล้วเช็ดใต้ปีกหรือสีข้างของไก่ จะต้องไม่ให้น้ำเปียกขน สร้อย คอ ปีกใหญ่ และหาง เพราะจะทำให้ไก่บินไม่คล่อง ขาดความประเปรียวหลบหลีกไม่ทัน
๒. ต้องช่วยกันสำรวจว่ามีบาดแผลตรงไหนบ้าง ถ้ามีบาดแผลต้องใช้เข็มเย็บผ้าและด้ายเย็บบาดแผลที่ถูกแทง เพื่อป้องกันไม่ให้ฟองอากาศเข้าไป อันจะเกิดอาการ “พองลม” แผลก็จะอักเสบ
๓. ฉาบเบื้องหรือคบเบื้อง (โร่เบื้องก็เรียก) ที่แผลเพื่อให้เกิดอาการชาบรรเทาความเจ็บปวดและอักเสบ
๔. ถ้าตาเจ็บลืมตาไม่ได้ ต้องล้างตาแล้วเย็บดึงให้ตาเปิดกว้างออก โดยเย็บถ่วงตรงขอบตาล่างเรียกว่า “ถ่วงตา” ทั้งนี้เพราะไก่กะพริบตาจากล่างขึ้นบน การเย็บที่ใช้เข็มด้ายธรรมดา ถ้าเย็บหนังตาบนกับหนังตาล่างดึงรั้งไว้ให้ตาเปิดเรียกว่า “ขลิบตา” หรือ “ยิบตา” (ในกรณีที่ตาบวมมาก) และถ้าลูกตาหรือนัยน์ตาแตกต้องเย็บปิดเสีย เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกซ้ำอีก เมื่อเย็บแล้วก็จะทิ้งเงื่อนให้โผล่ออกมา เพื่อเวลาชนคู่ต่อสู้ถูกเงื่อนจะได้รู้ตัวและไหวตัวต่อสู้ได้ทัน
๕. ถ้าปากหักหรือหลุด (ส่วนมากปากบนจะหลุด) จะต้องผูกปากและดามไว้ให้แข็ง ใช้ด้ายผูกเงื่อนกระตุกเบ็ด แล้วเอาไปรั้งไว้กับหงอน และถ้าปากหลุดหายหรือชำรุดจนใช้การไม่ได้ก็จะมีปากสำรองซึ่งเตรียมมาจากบ้านก่อนแล้ว โดยใช้ปากไก่จริง ๆ ที่ได้มาจากไก่ที่ตายแล้ว ที่ต้องซ่อมปากเพราะธรรมชาติของไก่จะต้องใช้ปากจิกก่อนจึงสามารถบินขึ้นต่อสู้ได้
๖. ถ้าไก่ขัดยอก ต้องนวดหรือประคบ ถ้าเกิดบวมหรืออักเสบ ต้องฉาบเบื้องหรือคบเบื้อง ถ้ายังไม่หายต้องผ่ารีดเอาเลือดออกเสีย แล้วเย็บไว้ตามเดิม
๗. ต้องมีการไขหัวทุกครั้งที่พักยกหรือพักอัน การไขหัวคือการรีดเอาเลือดคั่งที่อยู่บนหัวออก โดยแทงด้วยเข็มคือ แทงให้ติดหนังหัวแล้วเอามีดผ่าจนถึงเข็ม หัวไก่ก็จะเป็นรู จึงเอาก้นเข็มที่พันด้วยด้ายแทงเข้าไปในรูนั้นตื้น ๆ แล้วกวนให้ติดเนื้อเยื่อใส ๆ ออกมา ซึ่งเป็นระบายลมในหัวไก่อย่างหนึ่ง ทำให้ไก่หัวเบา ไม่มึนงง ไก่จะประเปรียว สดชื่นขึ้นทันที
๘. ถ้าเดือยหักหรือหลุดจะต้องผูกรัดใหม่ให้แน่นในตำแหน่งเดิม แต่ถ้าผูกไม่ได้ก็จะต้องปล่อยให้ชนต่อไปทั้ง ๆ เดือยหลุด
๙. ถ้าขนปีกหักจะซ่อมด้วยการใช้ขนปีกไก่ที่เตรียมไว้ เย็บผูกต่อกับตอขนปีกท่อนในที่เรียกว่า “ตอ” ของขนปีก ซึ่งวิธีเช่นนี้ภาษานักเลงไก่ชนเรียกว่า “สอบปีก” ไก่ที่ชนจนปลายปีกหักมาก ๆ เรียกว่า “ปีกพุกรา” โดยปรกติแล้วเจ้าของจะไม่นำไปชนจนกว่าจะผลัดปีกใหม่ ซึ่งต้องใช้เวลาเป็นปีหรือ “หยาม” ต่อไป หรือสมัยชนต่อไป
จุดอันตรายของไก่
เมื่อไก่ถูกจิก ตี แทง ถูกจุดอันตรายหรือจุดอ่อนเข้าอาจถึงแก่ความตายหรือพิการได้ เจ้าของไก่มักปรารถนาให้ไก่ของตนจิกตีหรือแทงคู่ต่อสู้ตรงจุดนั้น ได้แก่
๑. ขนเสียบ คือส่วนที่ติดกับหงอนส่วนหลัง หรือส่วนที่กะโหลกศีรษะต่อกับคอด้านบนหรือคอต่อนั่นเอง
๒. ตา คือ นัยน์ตาทั้ง ๒ ข้าง
๓. กาล้วงหม้อ คือส่วนที่อยู่ระหว่างหัวปีกกับเหนียง (กระเพาะอาหารด้านหน้า)
๔. ใต้คาง หรือ คอเชือด
๕. บ่อเลย หรือ บ่อเลือด คือส่วนที่อยู่ระหว่างสะบักกับหัวปีก
๖. ซี่โครงอ่อน คือส่วนที่อยู่ใต้ปีก
๗. ในปาก คือส่วนใดส่วนหนึ่งของเพดานปาก หรือส่วนอื่น ๆ ในปาก
๘. คอ คือส่วนต่าง ๆ ของคอ
๙. บนหลัง คือ ส่วนใดส่วนหนึ่งของสันหลัง
๑๐. หน้าขา คือส่วนใดส่วนหนึ่งของขาด้านหน้า
๑๑. ลูกกระเดือก
๑๒. หน้าอก
ฯลฯ
การพนันขันต่อ
เมื่อไก่เริ่มต่อสู้กันด้วยเดิมพันเท่าไรก็ตาม นักเลงพนันไก่ชนก็จะเริ่มเล่นพนันกันอีกทีหนึ่ง นอกเหนือจากเดิมพันที่วางไว้แต่เดิม ตอนนี้คนอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เจ้าของไก่ก็เล่นพนันด้วย และที่จริงแล้วบางทีบางคนพนันกันตั้งแต่ไก่เริ่มติดคู่กันแล้ว อาจจะเริ่มด้วยราคา “เสมอ” หรือ “ต่อ” หรือ “รอง” ตามแต่จะตกลงกัน ไก่ตัวที่มีประวัติและลักษณะดีหรือมีร่างกายได้เปรียบมักจะเป็นต่อเสมอ เมื่อไก่ต่อสู้กันไปสักพักหนึ่งราคาต่อรองอาจเปลี่ยนไป แล้วแต่ผู้เล่นจะเห็นว่าตัวใดจะมีทางแพ้หรือชนะ
การเล่นเสมอกันจะใช้ “แบหงาย” เป็นสัญลักษณ์ในการท้าพนัน ถ้าฝ่ายตรงข้ามจะเล่นด้วยก็แบมือตอบมา เช่น ผู้ท้าจะร้องว่า “เสมอเขียวพัน” ซึ่งหมายถึงเขาจะเล่นข้างไก่ตัวสีเขียวในราคา ๑,๐๐๐ บาท ถ้าใครจะเล่นด้วยข้างฝ่ายตรงข้ามก็จะเอามือมาตบ แปลว่า ตกลง ถ้าไก่คู่นี้แพ้ชนะกัน ฝ่ายชนะก็จะได้รับเงิน ๑,๐๐๐ บาท
ถ้าต้องการเล่นในราคาต่อ ผู้ท้าพนันจะ “คว่ำมือ" แล้วร้องท้า เช่น “เขียวต่อ ๒ : ๑ สักพัน” ถ้ามีคนจะเล่นด้วยก็ต้อง “หงายมือ” รับ หมายความว่าถ้าฝ่ายต่อชนะจะได้เพียง ๑,๐๐๐ บาท ถ้าฝ่ายรองชนะจะได้ ๒,๐๐๐ บาท เมื่อตกลงเล่นกับใครทั้งสองฝ่ายต้องจดบันทึกไว้หรือจำว่าตัวเองเล่นกับใครไว้เท่าไร ในวงนักเลงนาน ๆ จะมีการบิดพลิ้วกันสักครั้ง
นักพนันอาชีพบางรายสามารถเล่นโดยไม่มีทางแพ้ก็มี กล่าวคือเริ่มด้วยการเล่นเสมอ แต่เมื่อตัวที่เล่นเป็นต่อนาน ๆ ก็จะหันไปรองฝ่ายตรงกันข้ามไว้ สมมติว่า เสมอเขียว ๑,๐๐๐ บาท แต่พอชนไปสักพักหนึ่งไก่เขียวเป็นต่อ ๒ : ๑ (๑,๐๐๐ : ๕๐๐) ผู้เล่นกลับไปรองไว้ ถ้าเขียวชนะเขาจะชนะ ๕๐๐ บาท และถ้าแพ้เขาก็จะไม่เสียเงินเลยเท่ากับราคาที่เล่นเสมอไว้ เรียกว่า ไม่ได้ไม่เสียเข้าลักษณะ “ชนะได้แพ้ไม่เสีย”
การกระทำอะไร ๆ ของคนไทยมักจะมีความเชื่อต่าง ๆ เป็นเครื่องช่วยให้เกิดความมั่นใจในกิจการนั้น ๆ การเล่นชนไก่ก็เช่นกัน ได้มีความเชื่อหลายสิ่งหลายอย่างเกี่ยวกับกีฬาพื้นบ้านประเภทนี้ดังกล่าวแล้ว
ต่อไปนี้เป็นความเชื่อเรื่องกำลังของไก่ชนในวันต่าง ๆ ทั้งข้างขึ้นข้างแรมในรอบเดือนหนึ่ง ๆ และที่นั่งของมือน้ำในสังเวียน (ได้คัดลอกมาจาก หนังสือบุดดำของนายพร้อม เทพรักษ์ แห่งอำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช) ดังนี้
๑. กำลังของไก่ชนในวันต่าง ๆ ข้างขึ้นของเดือนทุกเดือน
สีของไก่ชน |
อาทิตย์ |
จันทร์ |
อังคาร |
พุธ |
พฤหัสบดี |
ศุกร์ |
เสาร์ |
๑. เหลืองน้ำผึ้งไหม้ |
๕ |
๒ |
๓ |
๔ |
๔ |
๔ |
๕ |
๒. เหลืองหางขาว |
๒ |
๖ |
๗ |
๑ |
๔ |
๒ |
๒ |
๓. เหลืองแก่ |
๗ |
๔ |
๕ |
๖ |
๖ |
๖ |
๗ |
๔. เหลืองหางไฟ |
๖ |
๓ |
๔ |
๕ |
๕ |
๔ |
๖ |
๕. เหลืองกระ |
๗ |
๗ |
๒ |
๒ |
๗ |
๒ |
๓ |
๖. เหลืองหางดำ |
๕ |
๒ |
๖ |
๗ |
๗ |
๓ |
๑ |
๗. ดอกเข็ม |
๗ |
๔ |
๑ |
๒ |
๐ |
๒ |
๓ |
๘. ทองอ่อน |
๖ |
๓ |
๒ |
๕ |
๐ |
๓ |
๖ |
๙. ด่างโด |
๔ |
๑ |
๖ |
๖ |
๓ |
๗ |
๔ |
๑๐.ด่างกระ |
๓ |
๑ |
๖ |
๖ |
๓ |
๗ |
๔ |
๑๑.ด่างกากมะพร้าว |
๗ |
๔ |
๒ |
๔ |
๒ |
๓ |
๗ |
๑๒.ด่างน้ำทอง |
๒ |
๐ |
๑ |
๖ |
๔ |
๓ |
๖ |
๑๓.ด่างขี้ควาย |
๖ |
๗ |
๐ |
๕ |
๒ |
๖ |
๗ |
๑๔.ด่างน้ำผึ้งไหม้ |
๒ |
๖ |
๕ |
๐ |
๒ |
๕ |
๒ |
๑๕.เขียวกา |
๗ |
๔ |
๒ |
๖ |
๖ |
๓ |
๗ |
๑๖.เขียวขี้สนิม |
๔ |
๑ |
๔ |
๓ |
๓ |
๗ |
๔ |
๑๗.ยิ่วหางขาว |
๓ |
๔ |
๑ |
๖ |
๒ |
๖ |
๖ |
๑๘.ยิ่วหางดำ |
๗ |
๑ |
๔ |
๖ |
๖ |
๓ |
๗ |
๑๙.ยิ่วมะโนรี |
๔ |
๑ |
๒ |
๓ |
๓ |
๓ |
๐ |
๒๐.ยิ่วแดง |
๔ |
๑ |
๒ |
๓ |
๓ |
๗ |
๔ |
๒๑.ดอกหมาก |
๔ |
๒ |
๓ |
๓ |
๗ |
๔ |
๑ |
๒๒.เคี่ยม |
๑ |
๕ |
๖ |
๖ |
๓ |
๗ |
๔ |
๒๓.ชีหางขาว |
๓ |
๑ |
๗ |
๔ |
๑ |
๔ |
๒ |
๒๔.ชีหางดำ |
๕ |
๑ |
๔ |
๖ |
๓ |
๗ |
๔ |
๒๕.เขียวสาลิกา |
๐ |
๓ |
๕ |
๔ |
๕ |
๒ |
๖ |
๒๖.ไก่เลา |
๐ |
๓ |
๐ |
๗ |
๑ |
๕ |
๐ |
๒๗.เถน |
๐ |
๖ |
๔ |
๘ |
๔ |
๑ |
๐ |
๒๘.ด่างบัว |
๐ |
๑ |
๖ |
๖ |
๓ |
๗ |
๔ |
๒๙.กด หางดำ |
๐ |
๕ |
๐ |
๐ |
๐ |
๐ |
๐ |
๓๐.กดหางขาว |
๐ |
๗ |
๐ |
๐ |
๐ |
๐ |
๐ |
๓๑.จำปี |
๐ |
๐ |
๐ |
๓ |
๗ |
๐ |
๐ |
๒. กำลังของไก่ชนในวันต่าง ๆ ข้างแรม ของทุกเดือน
สีของไก่ชน |
อาทิตย์ |
จันทร์ |
อังคาร |
พุธ |
พฤหัสบดี |
ศุกร์ |
เสาร์ |
๑. เหลืองน้ำผึ้งไหม้ |
๕ |
๑ |
๖ |
๓ |
๗ |
๔ |
๕ |
๒. เหลืองหางขาว |
๒ |
๖ |
๓ |
๔ |
๔ |
๑ |
๒ |
๓. เหลืองแก่ |
๓ |
๕ |
๑ |
๐ |
๒ |
๖ |
๗ |
๔. เหลืองหางไฟ |
๖ |
๓ |
๑ |
๐ |
๑ |
๕ |
๖ |
๕. เหลืองอ่อน |
๖ |
๐ |
๔ |
๐ |
๐ |
๐ |
๐ |
๖. เหลืองหางดำ |
๑ |
๕ |
๒ |
๐ |
๓ |
๗ |
๑ |
๗. เหลืองหางขาว |
๐ |
๐ |
๐ |
๐ |
๐ |
๐ |
๐ |
๘. เหลืองกระ |
๓ |
๗ |
๓ |
๐ |
๕ |
๕ |
๓ |
๙.เขียวขี้สนิม |
๕ |
๑ |
๕ |
๐ |
๓ |
๐ |
๕ |
๑๐.เขียวกา |
๗ |
๔ |
๑ |
๐ |
๖ |
๐ |
๗ |
๑๑.เขียวสาลิกา |
๖ |
๓ |
๗ |
๐ |
๕ |
๐ |
๖ |
๑๒.ดอกเข็ม |
๓ |
๗ |
๗ |
๐ |
๐ |
๐ |
๐ |
๑๓.ด่างโด |
๔ |
๑ |
๒ |
๐ |
๒ |
๓ |
๔ |
๑๔.ด่างกระ |
๔ |
๑ |
๒ |
๐ |
๖ |
๓ |
๔ |
๑๕.ด่างน้ำทอง |
๖ |
๓ |
๔ |
๐ |
๑ |
๕ |
๖ |
๑๖.ด่างกากมะพร้าว |
๗ |
๔ |
๕ |
๐ |
๔ |
๖ |
๒ |
๑๗.ด่างขี้ควาย |
๖ |
๗ |
๑ |
๐ |
๑ |
๒ |
๗ |
๑๘.ด่างบัว |
๕ |
๑ |
๒ |
๐ |
๖ |
๓ |
๔ |
๑๙.ด่างน้ำผึ้งไหม้ |
๒ |
๖ |
๐ |
๐ |
๒ |
๑ |
๒ |
๒๐.ยิ่วหางขาว |
๓ |
๐ |
๔ |
๐ |
๑ |
๐ |
๖ |
๒๑.ยิ่วหางดำ |
๗ |
๐ |
๑ |
๐ |
๕ |
๐ |
๗ |
๒๒.ยิ่วมโนรี |
๔ |
๑ |
๐ |
๐ |
๒ |
๐ |
๔ |
๒๓.ยิ่วแดง |
๕ |
๐ |
๕ |
๐ |
๒ |
๐ |
๔ |
๒๔.เคี่ยม |
๔ |
๑ |
๕ |
๐ |
๖ |
๗ |
๐ |
๒๕.ดอกหมาก |
๔ |
๐ |
๕ |
๐ |
๐ |
๓ |
๑ |
๒๖.เลา |
๒ |
๖ |
๓ |
๕ |
๐ |
๑ |
๒ |
๒๗.เถน |
๕ |
๒ |
๖ |
๓ |
๗ |
๐ |
๕ |
๒๘.ชีหางดำ |
๓ |
๕ |
๕ |
๑ |
๒ |
๐ |
๔ |
๒๙.ชีหางขาว |
๓ |
๑ |
๒ |
๗ |
๘ |
๐ |
๒ |
๓๐.กดหางขาว |
๐ |
๗ |
๐ |
๐ |
๐ |
๐ |
๐ |
๓๑.กดหางดำ |
๐ |
๕ |
๐ |
๐ |
๐ |
๐ |
๐ |
๓๒.ลัก |
๐ |
๑ |
๐ |
๐ |
๐ |
๐ |
๐ |
๓๓.ทองอ่อน |
๐ |
๐ |
๕ |
๐ |
๑ |
๔ |
๕ |
๓๔.เลาไฟ |
๐ |
๐ |
๐ |
๗ |
๐ |
๐ |
๐ |
๓๕.ชีไฟ |
๐ |
๐ |
๐ |
๕ |
๐ |
๐ |
๐ |
๓๖.เขียวแมลงภู่ |
๐ |
๐ |
๐ |
๕ |
๐ |
๐ |
๐ |
๓๗.เข็มแดง |
๐ |
๐ |
๐ |
๐ |
๔ |
๒ |
๐ |
๓๘.เข็มขาว |
๐ |
๐ |
๐ |
๐ |
๒ |
๐ |
๐ |
๓๙.เข็มดำ |
๐ |
๐ |
๐ |
๐ |
๗ |
๐ |
๐ |
๔๐.จำปา |
๐ |
๐ |
๐ |
๐ |
๖ |
๐ |
๐ |
๔๑.จำปี |
๐ |
๐ |
๐ |
๐ |
๗ |
๐ |
๐ |
๔๒.เลาแดง |
๐ |
๐ |
๐ |
๐ |
๔ |
๐ |
๐ |
การชนไก่ในประเทศไทยมีอยู่ ๒ ประเภท คือ
๑. ชนแข้ง หรือ ชนไก่แข้ง ไก่ที่นำมาชนในประเภทนี้เรียกว่า “ไก่แข้ง” ได้แก่ ไก่ที่มีเดือยคุดหรือเดือยคัด คือเดือยที่งอกออกมาจากแข้งไก่พอเป็นตุ่มไม่ยาวและแหลมคมแต่อย่างใด อีกชนิดหนึ่งคือ เดือยตัด ได้แก่ นำไก่ที่มีเดือยยาวแต่ตัดให้สั้นลงเสมอแข้ง ดังนั้นไก่แข้งจึงต้องหาไก่ที่ตีแม่น ลำหนัก และตีหัวคู่ต่อสู้ได้แม่นยำอย่างเก่งกาจ ใช้เวลาชน ๗-๘ อัน ถ้ายังไม่แพ้ชนะกันก็เสมอกันไป ชนแข้งมักนิยมเล่นกันในภาคกลางและภาคอื่น ๆ ของประเทศไทย ยกเว้นภาคใต้เท่านั้น
๒. ชนเดือย หรือ ชนไก่เดือย ไก่ที่นำมาชนในประเภทนี้เรียกว่า “ไก่เดือย” คือไก่ที่มีเดือยยาวและแหลมคมกว่าเดือยของไก่แข้ง ไก่ประเภทนี้จะใช้เดือยทำร้ายร่างกายของคู่ต่อสู้ได้ทุกส่วน แต่เดิมที่ใช้เดือยธรรมชาติของไก่ตัวนั้น ๆ ที่มันมีอยู่ แต่ในปัจจุบันนิยมต่อเดือยโดยตัดเดือยเดิมออก และนำเดือยประดิษฐ์เข้าสวมใส่แทนดังได้กล่าวแล้วข้างต้น การชนไก่เดือยทำให้ไก่มีบาดแผลฉกรรจ์กว่าไก่แข้ง จึงทำให้แพ้ชนะกันเร็ว ได้กำหนดเวลาในการชนไว้เพียง ๔-๕ อัน ถ้าไม่แพ้ชนะกันหรือตายกันข้างใดข้างหนึ่งก็ถือว่าเสมอกัน การชนไก่เดือยนิยมกันมากในภาคใต้ ตลอดไปถึงประเทศเพื่อนบ้านเช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน และฟิลิปปินส์
ไก่ชนที่ดีนั้น นอกจากลักษณะและสีสันจะดีดังกล่าวแล้ว ยังจะต้องมีพละกำลังดี มีน้ำอดน้ำทน เชิงชนดี เฉลียวฉลาด และตีหรือแทงได้แม่นยำอีกด้วย ดังที่กล่าวกันว่า “ใจดี แรงดี ชนดี ตีแม่น”
ถ้อยคำสำนวนที่เกิดจากการชนไก่
กีฬาชนไก่เป็นที่มาของถ้อยคำในภาษาไทย และภาษาถิ่นใต้อยู่หลายคำ เช่น
ไก่ดีตีเมื่อหล้า ไก่ขี้ข้าตีหัวที หมายถึง ผู้เก่งจริงมักจะสงวนท่าทีไว้ก่อนแล้วค่อยปล่อยทีเด็ดออกมาภายหลัง ตรงกันข้ามกับคนที่มีฝีมืออ่อน มักรีบอวดความสามารถของตนทันทีเมื่อสบโอกาส
ไก่รองบ่อน หมายถึง ผู้ที่อยู่ฐานะตัวสำรอง ซึ่งจะเรียกมาใช้เมื่อไรก็ได้ เปรียบเหมือนไก่ของบ่อนที่นำมาชนเพื่อฆ่าเวลาก่อนไก่ตัวอื่นจะประกบคู่ได้ หรือถ้าตัวอื่นหาคู่ไม่ได้ เจ้าของบ่อนก็เอาไก่ของตนมาชนแทนให้
ขันนอกเปาะ หมายถึง อวดความกล้าหาญแต่นอกวง เมื่อถึงคราวเผชิญหน้าไม่กล้าสู้ เปรียบได้กับไก่ชนตัวที่ขันคึกแต่นอกสังเวียน (เปาะ) พอให้ชนกันก็วิ่งหนีไม่กล้าสู้
ชนผ่าเดือย ยอมเสียเปรียบทั้ง ๆ รู้ เพราะอาจจะมีทีเด็ดอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่
ชนปล่อยเดือย หมายถึง สู้แบบไม่ยั้งมือหรือไม่ไว้หน้า (โดยปรกติถ้านักเลงไก่ชนจะนำไก่มาประลองกำลังกันหรือซ้อมคู่ เขาจะใช้ผ้าและเชือกห่อหุ้มเดือยเสียก่อน เพื่อไม่ให้เกิดอาการบาดเจ็บเกินควร แต่ถ้าชนแบบปล่อยเดือยคือ ไม่พันหุ้มห่อเดือยก็หมายถึงว่า ให้ชนกันเต็มที่ เพื่อให้รู้แพ้รู้ชนะกันไปข้างหนึ่ง)
ชับคอชับคาง หมายถึง มีความถนัด เช่น ถนัดมือ ถนัดเท้า ฯลฯ
เดือยหนามทอง หมายถึง คนที่อยู่ในวัยคะนอง มีน้ำใจห้าวหาญไม่คิดหน้าคิดหลัง ดังข้อความในเรื่องราชาธิราชของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนอำมาตย์ทินมณีกรอด กราบทูลพระเจ้าราชาธิราชถึงอุปนิสัยของมังรายกะยอฉวาว่า “อันน้ำพระทัยมังรายกะยอฉวานั้น ดุจไก่ผู้อาจพึ่งลอกเดือยหนามทอง แล้วเคยมีชัยแก่ไก่ทั้งปวง ถึงมีผู้ขัดขวางไว้ก็ดี ถ้าได้ยินเสียงไก่อื่นแล้วเมื่อใดก็มิอาจนิ่งอยู่ได้ คงจะวิ่งออกมาชนเมื่อนั้น” เดือยหนามทอง เป็นเดือยของไก่หนุ่มฉกรรจ์ ยังไม่ยาวนักและก็ไม่สั้นจนเกินไป ไก่ที่มีเดือยดังกล่าวนั้นเป็นไก่ที่อยากประลองเดือย จึงคึกคะนองยิ่งนัก
ตีปีก หมายถึง การแสดงความดีใจ เปรียบเหมือนไก่ตีปีกก่อนขัน
ตีใส่ปีก หมายถึง ทำอะไร ๆ ดูท่าทีเหมือนเรื่องใหญ่โต แต่เนื้อแท้จริง ๆ แล้วไม่มีแก่นสาร แต่อย่างใดเลย เหมือนการตีของไก่บางตัวที่ใช้ปีกตีมากกว่าใช้เท้าเตะ ได้ยินเสียงดังเหมือนไก่ลำใหญ่ แต่มักไม่ได้ใช้แข้งใช้เดือย คู่ต่อสู้จึงไม่เจ็บปวดแต่อย่างใด
ตื่นแต่ไก่โห่ หมายถึง ตื่นตั้งแต่ไก่ขัน หรือตื่นก่อนรุ่งสาง
ถือหาง หมายถึง เข้าทางฝ่ายหนึ่งที่ตนพอใจ มาจากภาษาชนไก่ที่ว่ายึดเอาไก่ตัวใดตัวหนึ่งในการต่อรอง
พุกรา หมายถึง เก่าแก่ ถูกละทิ้งโดยไม่ได้รับการเอาใจใส่แต่อย่างใด เปรียบเหมือนไก่ที่หมดสภาพแล้วเอามาชนไม่ได้
ไม่ตายก็คางเหลือง หมายถึง ถ้าไม่ตายก็มีอาการสาหัส เหมือนไก่ชนที่ชนกัน เพราะตามธรรมดาไก่ชนทุกตัวจะต้องทาขมิ้นตามตัวตลอดไปถึงหน้า ตา คาง คอ การต่อสู้ของไก่ชนนั้นฉกาจฉกรรจ์นัก สู้กันจนตายหรือสาหัสกันไปข้างหนึ่ง
ลงเหล่า หมายถึง มีกำพืดดี มีชาติตระกูลดี มีเลือดนักสู้เหมือนบรรพบุรุษ เกล็ดดี ก็มีความหมายเช่นเดียวกัน
ลำร่วมดี หมายถึง ทำอะไร ๆ พร้อม ๆ กับคนอื่นได้ดี เข้ากับคนอื่นได้ดี
ลำหักลำโค่น หมายถึง การกระทำที่รุนแรงมาก เปรียบเหมือนไก่ที่ตีแรง สามารถตีคู่ต่อสู้ให้หมอบกระแตได้
วิ่งชน หมายถึง สู้พลางหนีพลาง เหมือนอาการหรือเชิงชนอย่างหนึ่งของไก่ชน
สู้ยิบตา หรือ สู้เย็บตา หมายถึง ต่อสู้จนถึงที่สุด สู้ไม่ถอย เหมือนการต่อสู้ของไก่ชนที่ต้องถึงกับเย็บตา ถ่วงตา
หยำไม่ถึงน้ำ หรือ หยำไม่ถึงมือ หมายถึง ฝึกปรือมาไม่เพียงพอ หรือยังไม่ถึงขั้นที่จะสู้รบปรบมือกับใครได้ (คำว่า “หยำ” มาจากภาษานักเลงเลี้ยงไก่ชนว่า “หยำไก่” คือการที่เจ้าของไก่ชนต้องใช้มือ ใช้ผ้าชุบน้ำลูบขยำ นวด เฟ้น ตามตัว ตามแข้ง ขา หรือกล้าเนื้อของไก่ชนของตน เพื่อให้ไก่แข็งแกร่งมีกำลัง ยิ่งกระทำต่อเนื่องกันหลายมื้อก็ยิ่งทำให้แข็งแกร่งมากขึ้น)
หลักล่ำ หมายถึง กำยำ, ล่ำสัน
อุ้มไก่แพ้ หมายถึง ถือหางฝ่ายแพ้ จึงพลอยอับอายขายหน้าไปด้วย หรือทั้ง ๆ ที่รู้ว่าผู้ที่เราสนับสนุนไม่มีทางสู้ได้ แต่จำต้องถือหางเพราะมีภาวะบังคับ
อุ้มไก่เหมีย หมายถึง ไม่กล้าสู้รบปรบมือกับใคร มักจะตกเป็นเบี้ยล่างของคนอื่นตลอดเวลา
การชนไก่เป็นการเล่นหรือกีฬาประเภทหนึ่งของชาวบ้านในชนบทซึ่งมีแต่โบราณกาล อันเป็นการที่เอาไก่มาเป็นตัวแทนของคนให้ต่อสู้กันอย่างเอาเป็นเอาตาย นับเป็นกีฬาที่น่าหวาดเสียวอย่างหนึ่ง แต่วิสัยของมนุษย์ที่ชอบเอาชนะคะคานกันตามสัญชาตญาณแห่งการต่อสู้ และได้กระทำกันมาหลายชั่วคนทั่วโลกมานานแล้ว แต่ก็น่าจะปรับปรุงให้มีศิลปะและเป็นธรรมชาติให้มากกว่าเท่าที่เป็นอยู่ โดยให้มันใช้อาวุธคือเดือย แข้ง ปากของมันเอง ไม่ใช่ไปเสริมสร้างหรือประดิษฐ์อาวุธให้มันประหัตประหารกันเหมือนกับการชนไก่ในภาคใต้ของประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้านคือ มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน และฟิลิปปินส์ในปัจจุบัน