จันทาราม, วัด

      วัดจันทาราม เป็นวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และสังคม กล่าวคือเป็นวัดที่ตั้งอยู่ ชายแดนใกล้เขตแดนสาธารณรัฐสังคมนิยมแห่งสหภาพพม่า เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างของจังหวัดระนอง ทางราชการใช้เป็นสถานที่ประชุมและอบรมข้าราชการ ราษฎร มีสถานที่ให้ราษฎรที่เดินทางไกล พักค้างแรม และมีกิจกรรมอื่น ๆ ที่เป็นผลดีต่อการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาที่สำคัญยิ่งวัดหนึ่ง 

      วัดจันทาราม ตั้งอยู่ตำบลน้ำจืด อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๓ เดิมชื่อว่า “วัดประทุมธาราเทพนิมิต”

      ได้ความตามคำบอกเล่าว่า เมื่อพระอัษฎงคตทิศรักษา (คอซิมบี้ ณ ระนอง) ย้ายที่ตั้งเมืองกระจากตำบลปากจั่นมาตั้งที่ตำบลน้ำจืดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๘ แล้ว ด้วยเหตุที่พระอัษฎงคตฯ รู้จักชอบพอและเคารพนับถือหลวงพ่อจันทร์ซึ่งอยู่ที่วัดขี้ไฟ (ฝั่งของสาธารณรัฐสังคมนิยมแห่งสหภาพพม่า ซึ่งอยู่ตรงข้ามตำบลน้ำจืดที่ตั้งเมืองกระขึ้นไปทางเหนือเล็กน้อย) พระอัษฎงคตฯ จึงได้นิมนต์หลวงพ่อจันทร์มาอยู่ตำบลน้ำจืด โดยสร้างวัดให้ที่เชิงเขาชายคลองน้ำจืดห่างจากที่ตั้งเมืองประมาณ ๑ กิโลเมตร ทำเป็นกุฏิเล็ก ๆ ด้วยไม้เบญจพรรณมุงจากกั้นจาก อยู่ได้เฉพาะรูปเดียว เรียกว่า “วัดประทุมธาราเทพนิมิต” แต่ชาวบ้านเรียกว่า “วัดน้ำจืด” (ซึ่งที่ถูกต้องควรเรียกว่าเป็นสำนักสงฆ์)

      จากพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องเสด็จประพาสรอบแหลมมลายู ร.ศ.๑๐๙ ทรงเล่าว่า เมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ร.ศ. ๑๐๙ (พ.ศ. ๒๔๓๓) ขากลับแวะดูที่พระสงฆ์ไต่ถามหน่อยหนึ่งที่เป็นสมภาร ๒ องค์ คือสมภารวัดขี้ไฟ (เถ้าที่เห็นทำโบสถ์หรือศาลาใหม่เมื่อมานั้น เขาว่าเป็นคนดีจะข้ามมาอยู่ที่น้ำจืด

      หลวงพ่อจันทร์เป็นพระที่สนใจปฏิบัติในทางวิปัสสนาธุระเคร่งครัดในพระธรรมวินัย มักน้อย สันโดษ มีเมตตาธรรมสูง และเมื่อได้สร้างอุโบสถขึ้นที่หลังเขาด้วยไม้เบญจพรรณมุงด้วยจาก พอเป็นที่ทำสังฆกรรมได้ ได้บรรพชาอุปสมบทแก่กุลบุตร หลวงพ่อจันทร์เป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่วัดนี้เป็นเวลา ๒๒ ปี มีความเลื่อมใสเคารพนับถือมาก ท่านมรณกรรมด้วยโรคอุจจาระธาตุ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๕ รวมอายุได้ ๘๐ ปีเศษ ศิษย์ของท่านที่รับภาระปกครองวัดสืบต่อมาพร้อมด้วยผู้ที่เคารพนับถือในหลวงพ่อจันทร์ จึงเอาชื่อหลวงพ่อจันทร์ตั้งเป็นนามวัด เพื่อเป็นเกียรติเป็นอนุสรณ์ว่า “วัดจันทาราม” สืบต่อมาจนบัดนี้

      พ.ศ. ๒๔๘๐ พระปลัดเบ็ญจ์เป็นเจ้าอาวาส พระครูประจักษ์สารธรรมเป็นเจ้าคณะแขวง อำเภอกระบุรี ได้จัดการปรับปรุงส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรมขึ้นแต่ต้องไปสอบสนามหลวงวัดอุปนันทารา อำเภอเมืองระนอง จึงได้ดำเนินการขออนุญาตเปิดสนามหลวงสอบธรรมที่วัดจันทาราม อำเภอกระบุรี ได้รับอนุญาตให้เปิดสอบได้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๑ และได้เปิดสอบติดต่อเรื่อยมาจนบัดนี้

      ครั้น พ.ศ. ๒๔๘๔ เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ญี่ปุ่นยาตราทัพมาอำเภอกระบุรี ที่ตำบลปากจั่น เป็นที่ตั้งกองบัญชาการพันธมิตร ญี่ปุ่นได้สร้างทางรถไฟจากจังหวัดชุมพรผ่านอำเภอกระบุรีไปถึง ปากน้ำละอุ่นและสร้างท่าเรือเพื่อส่งกำลังบำรุงไปยังพม่า ญี่ปุ่นได้ตั้งสถานีกองทหารและที่พักคนงานจนถึงเขตวัดจันทาราม

      วัดจันทารามได้มีพัฒนาเจริญเป็นลำดับโดยเฉพาะในช่วงที่พระอธิการเรวัตร (บุญให้) สีลวฒฺโนเป็นเจ้าอาวาส (พ.ศ.๒๔๙๕-๒๕๑๖) และพระครูนิวาตธรรมคุณเป็นเจ้าอาวาส (พ.ศ.๒๕๑๗-๒๕๒๑) (จรัล อุ๋ยเล่งจ่วน)

ชื่อคำ : จันทาราม, วัด
หมวดหมู่หลัก : ศิลปกรรม
หมวดหมู่ย่อย : สถาปัตยกรรมเกี่ยวกับศาสนา
ชื่อผู้แต่ง : จรัล อุ๋ยเล่งจ่วน
เล่มที่ : ๓
หน้าที่ : ๑๕๑๒