ประวัติความเป็นมา
อาณาเขตเดิมของเมืองไชยากว้างใหญ่ ติดทะเลทั้ง ๒ ด้าน ด้านฝั่งทะเลตะวันออกจดอ่าวบ้านดอน (ซึ่งเดิม เรียกว่าอ่าวไชยา) ครอบคลุมเมืองต่าง ๆ ในอ่าวทั้งหมด และด้านฝั่งทะเลตะวันตกครอบคลุมเมืองตะกั่วป่า เมืองตะกั่วทุ่ง เมืองคุระ เมืองคุรอด จดทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย
เมืองไชยา เป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นเมืองศรีวิชัยที่มีความเจริญรุ่งเรืองในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๗ นับถือพุทธศาสนาลัทธิมหายาน คำว่า “ไชยา” น่าจะตัดจาก “วิชะยะ” หรือ “วิชัยยะ” และคำว่า “ศรีวิชัย” ก็คือคำว่า “ศรีวิชะยะ” นั่นเอง คนทางภาคใต้มักออกเสียงสั้น ๆ ว่า ชัยยะ เป็น ไชยา คำว่า “วิชัย” แปลว่า ชัยชนะ ความชนะ การปราบปราม การอยู่เหนืออำนาจหรืออาจแปลว่า ผู้มีชัย ความเป็นมาของชื่อเมืองไชยาก็คือ เป็นชื่อของพระเจ้าศรีวิชัย หรือชื่อ กรุงศรีวิชัย จะเป็นเมืองศูนย์กลางหรือเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรศรีวิชัยหรือไม่ ยากในการพิสูจน์ เพราะหลักฐานต่าง ๆ ที่มีอยู่ไม่ชัดเจนพอ อย่างไรก็ตามเมืองไชยาเคยเป็นเมืองใหญ่ที่มีอำนาจมาก เมื่อพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ อาณาจักรตามพรลิงค์แห่งนครศรีธรรมราชก็กลับฟื้นคืนอำนาจอีกครั้งหนึ่ง เมืองไชยาลดบทบาทความสำคัญลงไปขึ้นกับเมืองศรีธรรมราช ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ ๑๙ เมื่อเมืองนครศรีธรรมราชตกเป็นเมืองประเทศราชของอาณาจักรสุโขทัย เมืองไชยาก็อยู่ในอำนาจของกรุงสุโขทัยด้วย
ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น เมืองไชยาอยู่ในความปกครองของเมืองนครศรีธรรมราช เป็นหัวเมืองหนึ่งในเมือง ๑๒ นักษัตร เรียกว่า เมืองบันไทยสมอ ใช้ตราลิง (ปีวอก) เป็นตราประจำเมือง ต่อมาได้เปลี่ยนฐานะเป็นหัวเมืองชั้นตรีขึ้นฝ่ายกลาโหม แล้วยกไปขึ้นกับกรมท่าเช่นเดียวกับเมืองตะกั่วป่า แล้วได้ย้ายมาขึ้นกับฝ่ายกลาโหมอีกในตอนต้นสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี พ.ศ. ๒๓๑๒ กองทัพเมืองกรุงยกลงไปปราบก๊กเจ้าพระยานคร โปรดให้หลวงนายศักดิ์ (เจ้าพระยาจักรีแขก) เป็นแม่ทัพ ยกทัพบกผ่านเมืองปะทิว เมืองชุมพร ชาวเมืองอพยพหนีเข้าป่าสิ้น แต่ยังมีนายมั่นคุมสมัครพรรคพวกเข้ามาอ่อนน้อมหาแม่ทัพ จึงได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงตั้งให้นายมั่นเป็นพระชุมพร ให้กะเกณฑ์พลอาสาสมัครร่วมกับกองทัพหลวง ครั้นมาถึงเมืองไชยาหลวงปลัดเมืองไชยารวบรวมไพร่พลเข้ามาสวามิภักดิ์แก่แม่ทัพเพื่อเข้าร่วมกองทัพด้วย เมื่อทรงทราบก็โปรดเกล้าฯ ตั้งให้หลวงปลัดเป็นพระยาวิชัยภักดี เจ้าเมืองไชยา ราชทินนามบรรดาศักดิ์ประจำตำแหน่งเจ้าเมืองไชยา จึงมีชื่อเรียกว่า พระยาวิชิตภักดี ตั้งแต่นั้นมา
ในสมัยรัชกาลที่ ๑ พ.ศ. ๒๓๒๘ ครั้งเกิดศึกพระเจ้าปะดุง พม่ายกกองทัพมารุกรานหัวเมืองปักษ์ใต้ ตีได้เมืองระนอง เมืองกระบุรี เมืองชุมพรได้โดยง่าย แล้วเผาเมืองชุมพรเสียก่อนที่จะยกลงมาตีเมืองไชยา เมืองนครศรีธรรมราชต่อไป ปรากฏว่าเมืองไชยาถูกพม่าเผาเสียในคราวนั้นด้วย
เข้าใจว่าหลังจากเมืองไชยาถูกพม่าทำลายเผาเมืองเสียหายยากที่จะปฏิสังขรณ์ จึงได้ย้ายที่ตั้งเมืองจากบ้านเวียงไปตั้งใหม่ที่ชายทะเลบ้านนอกค่าย ตำบลพุมเรียง เนื่องจากบริเวณปากคลองพุมเรียงมีบ้านเรือนผู้คนหนาแน่น เป็นท่าเรือทั้งเรือประมงและเรือค้าขาย จึงเป็นชุมชนที่เจริญมานาน เพราะสะดวกต่อการติดต่อค้าขายและคมนาคมกับหัวเมืองอื่น ๆ อยู่ใกล้ทะเลมาก ห่างเพียง ๑ กิโลเมตรเท่านั้น และมีวัดเก่าอยู่ ๒-๓ วัด ที่สร้างมาแต่สมัยอยุธยาคือ วัดรอ (สมุหนิมิต) วัดโพธาราม เป็นต้น
เมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน ร.ศ.๑๑๕ (พ.ศ.๒๔๓๙) สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ทรงทราบว่าตามที่ได้มีกระแสพระราชดำริให้จัดหัวเมืองปักษ์ใต้ตอนเหนือเมืองนครศรีธรรมราชขึ้น คือ เมืองชุมพร เมืองไชยา เมืองหลังสวน เมืองกาญจนดิษฐ์และเมืองกำเนิดนพคุณ (บางสะพาน) ทั้ง ๕ หัวเมืองรวมเข้าเป็นมณฑลเทศาภิบาลเรียกว่า มณฑลชุมพร แต่เมืองกำเนิดนพคุณเป็นเมืองน้อย เห็นควรยกมาขึ้นเมืองชุมพร ดังนั้นเมืองในมณฑลชุมพรจึงคงมีเพียง ๔ หัวเมือง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นชอบตามที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพดำเนินการไป นอกจากนี้ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเมืองคีรีรัฐนิคม ซึ่งเคยเป็นเมืองขึ้นกับเมืองตะกั่วป่าให้มาขึ้นกับเมืองไชยา เพราะเหตุที่เมืองคีรีรัฐนิคมอยู่ฝ่ายน้ำริมข้างฝั่งทะเลตะวันออก ตั้งอยู่ริมลำน้ำเมืองไชยาไปมาถึงกันง่าย พร้อมทั้งโปรดเกล้าฯ ให้ยกเกาะสมุย ซึ่งเคยขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราชและเกาะพะงัน ซึ่งเคยขึ้นกับเมืองไชยารวมเป็นอำเภอเดียวกันให้ไปขึ้นแก่เมืองกาญจนดิษฐ์ ซึ่งอยู่ใกล้กว่าเมืองอื่น สามารถเดินทางไปมาติดต่อกันได้สะดวกขึ้น
ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน ร.ศ. ๑๑๘ (พ.ศ. ๒๔๔๒) สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอพระบรมราชานุญาตรวมเมืองกาญจนดิษฐ์กับเมืองไชยาเข้าเป็นเมืองเดียวกัน เรียกว่า “เมืองไชยา” เนื่องจาก ๒ เมืองนี้เป็นเมืองใกล้ชิดติดต่อกันและไม่ใหญ่เท่าใดนัก ขอให้หลวงวิเศษภักดีข้าหลวงว่าราชการเมืองไชยารักษาราชการต่อไปทั้ง ๒ เมือง โดยให้ไปตั้งศาลากลางที่บ้านดอน หรือที่เมืองกาญจนดิษฐ์ (ตัวเมืองสุราษฎร์ธานีปัจจุบัน) ส่วนเมืองไชยาเดิมซึ่งย้ายไปตั้งที่ตำบลพุมเรียงนั้น ให้เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอพุมเรียง ตามนามตำบล สาเหตุที่ให้คงชื่อเมืองไชยาไว้เนื่องจากทรงเห็นว่าเป็นเมืองประวัติศาสตร์สำคัญเก่าแก่ มีชื่อเสียงเมืองหนึ่ง
ในปีถัดมา สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้ทำหนังสือลงวันที่ ๓ เมษายน ร.ศ. ๑๑๙ (พ.ศ. ๒๔๔๓) กราบบังคมทูลให้ทรงทราบว่าได้รับใบบอกพระยารัตนเศรษฐีข้าหลวงเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลชุมพรลงวันที่ ๑๒ มีนาคม ร.ศ. ๑๑๘ ว่าหลวงวิเศษภักดี ข้าหลวงว่าราชการเมืองไชยาเสนอว่าในการที่จะรวมเมืองกาญจนดิษฐ์เป็นเมืองไชยานั้น ควรยกศาลเมืองไชยาไปรวมตั้งอยู่ที่บ้านดอนและยกอำเภอเมืองไชยาขึ้นเป็นศาลแขวง มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของราษฎรตามพระธรรมนูญศาลหัวเมืองก็จะพอระงับกิจทุกข์สุขของราษฎรเรียบร้อยได้ และยกคลังเมืองไชยาไปรวมอยู่กับคลังบ้านดอน การรับเงินที่เมืองไชยาปีหนึ่งไม่เกินกว่า ๕๐,๐๐๐ บาท การรักษาพระราชทรัพย์แต่แห่งเดียวเป็นที่มั่นคงขึ้น ทั้งเป็นการง่ายในการเบิกจ่ายทำบัญชีทั้งปวง และขอให้ยกที่ว่าการเมืองไชยาไปรวมอยู่ที่บ้านดอนพลางก่อนจนกว่าจะได้จัดการก่อสร้างขึ้นที่ตำบลท่าข้าม (อำเภอพุนพินปัจจุบัน) ที่เมืองไชยานั้นให้ปลัดอยู่ประจำรักษาราชการ ส่วนผู้ว่าราชการเมืองนั้นจะได้ออกตรวจราชการต่าง ๆ ทั่วไป ทั้งบ้านดอนและไชยา พระยารัตนเศรษฐีจึงได้มีหนังสือตอบไปยังหลวงวิเศษภักดีว่าให้รีบจัดการไปตามความเห็นของหลวงวิเศษภักดีไปพลางก่อน แต่การศาลเมือง ไชยานั้นให้ปรึกษากับพระศรีสัตยารักษ์ ข้าหลวงพิเศษให้เป็นที่ตกลงกัน
ใน พ.ศ. ๒๔๕๘ สมัยรัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเมืองไชยาที่บ้านดอนว่า เมืองสุราษฎร์ธานี ส่วนชื่อเมืองไชยาให้กลับนำไปใช้เป็นชื่อของอำเภอพุมเรียง เพื่อรักษาชื่อเมืองสำคัญในประวัติศาสตร์ไว้ (เดิมเมื่อแรกย้ายเมืองไปตั้งที่บ้านนอกค่าย ตำบลพุมเรียง ก็เรียกชื่อว่าเมืองไชยาอยู่ก่อนแล้ว)
ครั้นถึง พ.ศ. ๒๔๗๘ ได้ย้ายที่ตั้งอำเภอจากพุมเรียงกลับขึ้นมาตั้งที่บ้านดอนโรงทอง ตำบลทุ่ง ห่างจากบ้านเวียงประมาณครึ่งกิโลเมตรเศษ เนื่องจากทางบกมีรถไฟตัดผ่าน การสัญจรสะดวกกว่าทางน้ำ ทางทะเลลดบทบาทความสำคัญลง ยิ่งในฤดูมรสุมลำบากมาก
ในปี พ.ศ. ๒๔๘๑ เมื่อมีระเบียบการเรียกชื่ออำเภอในทางการปกครองว่าอำเภอใดที่มีศาลากลางจังหวัดนั้นตั้งอยู่ให้เรียกว่า อำเภอเมือง และให้มีชื่อตามชื่อจังหวัด อำเภอเมืองไชยาจึงต้องตัดคำว่า “เมือง” ออกเสีย อำเภอเมืองไชยาจึงเป็นอำเภอไชยาและแยกบริเวณที่ตั้งที่ว่าการอำเภออกจากตำบลทุ่ง ตั้งขึ้นเป็นตำบลตลาดไชยาอีกตำบลหนึ่ง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒ ดังที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้
สภาพทั่วไป
อำเภอไชยา เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ ๖๖ กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมด ๑,๐๐๔.๖๓๔ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๖๒๗,๘๙๖ ไร่ ที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่ที่ถนนรักษ์นรกิจ ตำบลตลาดไชยา (เดิมเรียกว่า ดอนโรงทอง หรือบ้านดอนโรงทอง)
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดต่ออำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ทิศใต้ ติดต่ออำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ทิศตะวันออก ติดต่ออ่าวบ้านดอน (อ่าวไทย)
ทิศตะวันตก ติดต่ออำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี
อำเภอไชยาแบ่งเขตการปกครองออกเป็น ๙ ตำบล ๕๔ หมู่บ้าน มีเทศบาล ๒ แห่ง องค์การบริหารส่วนตำบล ๗ แห่ง ตำบลต่าง ๆ ในอำเภอไชยา ได้แก่ ตำบลตลาด ไชยา ตำบลพุมเรียง ตำบลเลม็ด ตำบลเวียง ตำบลทุ่ง ตำบลป่าเว ตำบลตะกรบ ตำบลโมถ่าย และตำบลปากหมาก
จำนวนประชากร ณ วันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๙ อำเภอไชยามีประชากรทั้งสิ้น ๔๗,๒๗๒ คน เป็นชาย ๒๓,๒๔๐ คน เป็นหญิง ๒๔,๐๓๒ คน ความหนาแน่นของประชากร ๔๗ คนต่อตารางกิโลเมตร ประชากรนับถือศาสนาพุทธร้อยละ ๙๐ นับถือศาสนาอิสลามร้อยละ ๙ และนับถือศาสนาคริสต์ร้อยละ ๑
ลักษณะภูมิประเทศ อาจแบ่งได้เป็น ๒ ตอน คือ พื้นที่ทางด้านตะวันตกของอำเภอเป็นที่สูง เป็น ป่าเขา ได้แก่ เขาแดน เขาเพ-ลา เขาจอมสี ซึ่งอยู่ในทิวเขาภูเก็ต ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับอำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง ในเขตตำบลบ้านปากหมาก บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ราบสูงเป็นป่าเขา ส่วนพื้นที่ทางด้านตะวันออกใกล้ทะเลเป็นที่ราบชายฝั่ง มีป่าชายเลนประมาณ ๒๓,๗๖๙ ไร่ แม้ทั่วไปจะมีลูกควนและภูเขาขนาดย่อมกระจายอยู่บ้าง แต่ก็เป็นพื้นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การทำนาในรัศมี ๑๒ กิโลเมตร จากทะเล จะเป็นแหล่งเพาะปลูกยาวขนานไปตามแนวชายฝั่งอ่าวไทย ในที่ราบลุ่มเหล่านั้นจะมีดอน อันเกิดจากการกระทำของทะเลเป็นสันดอนทรายทรงกลมกระจายอยู่ทั่วไป เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง จึงเหมาะสำหรับปลูกบ้านอยู่อาศัย ตั้งวัด โรงเรียน ฯลฯ ดังปรากฏชื่อดอนนำหน้าหลายแหล่ง เช่น ดอนโรงทอง ดอนแดง ดอนดวด ดอนไส ดอนทูบ ฯลฯ
การคมนาคม ในเขตอำเภอไชยา มีทั้งทางบกและทางน้ำ สมัยโบราณเมืองไชยาเป็นเมืองท่าที่สำคัญ ท่าเรือใหญ่อยู่ที่แหลมโพธิ์ ตำบลพุมเรียง เรือขนาดย่อมสามารถเข้าไปในตัวเมืองไชยาได้ ดังนั้นการคมนาคมติดต่อระหว่างเมืองต่าง ๆ ที่ห่างไกลไปทางปากแม่น้ำเจ้าพระยาภาคกลาง และหัวเมืองฝ่ายใต้ตลอดถึงปลายแหลมมลายู เช่น สิงคโปร์ สมัยก่อนจึงมีทั้งเรือไทย เรือแขก (ชวา-มลายู) และเรือจีน บรรทุกสินค้าและเวียนขึ้นล่องอยู่เสมอ นับว่าการคมนาคมทางทะเลสะดวกมาก
การคมนาคมบก อำเภอไชยา มีทางรถไฟสายใต้ผ่านหลายสถานี จึงสะดวกในการไปมาทั้งไปเหนือและล่องใต้ นอกจากทางรถไฟแล้วก็มีทางรถยนต์ ซึ่งมีถนนสายสำคัญ ได้แก่
ก. ถนนสายอำเภอไชยา-ตำบลพุมเรียง ระยะทาง ๖ กิโลเมตร เป็นทางติดต่อกับทะเลหรือปากน้ำ มีความสำคัญมาแต่โบราณ
ข. ถนนสายอำเภอไชยา-ตำบลปากหมาก ระยะทาง ๑๕ กิโลเมตร เพิ่งสร้างเสร็จไม่นาน ทำให้คนในตำบลนั้นได้รับความสะดวกในการติดต่อกับภายนอก ทำให้ชาวพื้นเมืองมีสภาพชีวิตและสังคมเปลี่ยนไป
ค. ถนนสายอำเภอไชยา-ท่าฉาง-พุนพิน (ท่าข้าม) ระยะทาง ๓๘ กิโลเมตร ปัจจุบันมี ๒ สาย คือ ถนนสายเก่าเป็นถนนที่ทางจังหวัดสุราษฎร์ธานีสร้าง อีกสายหนึ่งเป็นถนนสายกรมทางหลวงแผ่นดิน เรียกว่าถนนสายเอเชีย
การคมนาคมทางน้ำ คือ การเดินทางด้วยเรือ ซึ่งใช้กันมาแต่สมัยโบราณ มีคลองสำคัญ ๆ ที่ใช้เพื่อการคมนาคมและใช้น้ำเพื่อการเกษตร ๓ สาย คือ
๑. คลองไชยา ต้นน้ำเกิดจากแพรกหรือแควน้ำต่าง ๆ ที่เกิดจากภูเขาในเทือกเขาแดน ซึ่งเป็นทิวเขาภูเก็ตที่กั้นแดนระหว่างอำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร กับตำบลปากหมาก อำเภอไชยา ตอนต้นน้ำมีคลองท่าใหญ่กับคลองท่าไม้แดง ไหลมาบรรจบกันที่ปากแพรก ในเขตตำบลปากหมาก แล้วไหลรวมเป็นคลองเดียวกัน จึงเรียกคลองไชยา สายน้ำไหลผ่านตำบลโมถ่าย ตำบลป่าเว เมื่อไหลมาถึงบ้านดอนแตงในเขตตำบลเวียงสายน้ำได้แยกออกเป็น ๒ สาย สายหนึ่งไหลผ่านตำบลเวียง ตำบลเลม็ด ไหลไปลงคลองท่าปูน ไปออกทะเลที่ปากน้ำท่าปูน ในเขตตำบลเลม็ด อีกสายหนึ่งไหลผ่านตำบลเวียง ตำบลตลาดไชยา ตำบลทุ่ง ไปออกทะเลที่ปากน้ำไชยา ยาวประมาณ ๘๐ กิโลเมตร ปากน้ำกว้างประมาณ ๒๐ เมตร
๒. คลองตะเคียน ต้นน้ำเกิดจากเขาจอมสี ในอำเภอท่าชนะ ตอนต้นน้ำเรียก คลองท่าชนะ ไหลผ่านตำบลประสงค์หนองหวาย (ท่าชนะ) ออกทะเลที่ปากน้ำกระจาย แล้วแตกสาขาไหลเข้าสู่อำเภอ ไชยาในท้องที่ตำบลป่าเว เรียกว่า คลองตะเคียน (คลองท่าตีน ก็เรียก) ไหลผ่านตำบลตลาดไชยา ตำบลทุ่ง ตำบลพุมเรียง ออกทะเลที่ปากน้ำใต้พุมเรียง โดยมีคลองท่าโพธิ์ อันเป็นคลองเล็กและสั้น ซึ่งไหลผ่านตำบลตลาด แล้วมาบรรจบร่วมลงคลองตะเคียน ในตำบลทุ่งอีกแพรกหนึ่ง
๓. คลองพุมเรียง เป็นคลองที่เกิดจากแพรกน้ำที่ไหลมาจากเทือกเขาทางทิศตะวันตก เกิดเป็นคลองขึ้นในตำบลตะกรบ ไหลลงทางใต้ ผ่านตำบลป่าเว ตำบลทุ่ง ไปออกทะเลในตำบลพุมเรียง เป็นคลองยาวประมาณ ๑๐ กิโลเมตร กว้างประมาณ ๑๐ เมตร มีน้ำไหลตลอดปี ตอนปากคลองมีหมู่บ้านชาวประมงอยู่กันหนาแน่น
อาชีพของพลเมือง
๑. การทำนา เป็นอาชีพที่สำคัญที่สุด บริเวณอ่าวบ้านดอน เมืองไชยาผลิตข้าวได้มากที่สุด เนื่องจากพื้นที่ราบไปจนสุดทะเลอ่าวไทย มีการเพาะปลูกมาก ดินดี น้ำบริบูรณ์ เมืองไชยาจึงเป็นอู่ข้าวอู่น้ำมาตั้งแต่สมัยศรีวิชัยจนปัจจุบัน ปัจจุบันทำนาได้ ๒ ครั้ง มีคำคล้องจองที่ชาวเมืองได้ผูกไว้มีความหมายให้ภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่เด่นชัดว่า “อันเมืองไชยา ใครไปใครมา อาหารไม่อด อารีอารอบ ไม่ชอบถือยศ เป็นที่ปรากฏกันมาแต่ไร” ซึ่งเป็นทำนองแสดงความอุดมสมบูรณ์ คือ “มีข้าวเต็มนา มีปลาเต็มน้ำ” นั่นเอง
๒. ทำการประมง การประมงของไชยามีทั้งประมงน้ำจืดและประมงน้ำเค็ม โดยเฉพาะบริเวณอ่าวบ้านดอน มีสัตว์น้ำเค็มชุกชุมมาก ส่วนการประมงน้ำจืดมีตามแม่น้ำลำคลองทั่วไป มีการเลี้ยงหอยแครง หอยตะโกรม เลี้ยงปลาใน และกุ้งกุลาดำ
๓. การทอผ้า เมืองไชยาเคยมีชื่อเสียงโด่งดังในการทอผ้ามาแต่โบราณ แหล่งผลิตผ้าที่ใหญ่ที่สุดอยู่ที่ตำบลพุมเรียง (ดู ผ้าทอพุมเรียง) จนถึงปัจจุบัน มีการทอผ้ายก ผ้าไหม ผ้าพื้น ผ้าขาวม้า ผ้าอาบ ผ้านุ่ง ผ้าห่ม ผ้ายกทอง ผ้ายกไหม ผ้าด้ายแกมไหม
๔. การเลี้ยงสัตว์ สัตว์เลี้ยงที่มีเกือบทุกครัวเรือน คือ ควาย เลี้ยงไว้เพื่อใช้ไถนา ยามว่างก็จะมีกีฬาชนควาย ซึ่งเป็นที่นิยมกันมาก ส่วนสัตว์เลี้ยงอื่น ๆ มี หมู เป็ด ไก่ ฯลฯ
๕. อาชีพอื่น ๆ มีการทำสวน ทำไข่เค็ม หัตถกรรมที่ผลิตจากตาล การทำน้ำตาล (ตาลโตนด) ฯลฯ
ผลิตภัณฑ์ส่งเสริมที่สำคัญในอำเภอ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ไข่เค็มไชยา ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมพุมเรียง
อำเภอไชยา มีสถานที่สำคัญและเป็นแหล่งท่องเที่ยว ได้แก่ สวนโมกขพลาราม อยู่บริเวณเขา พุทธทอง วัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร วัดแก้ว วัดหลง และ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไชยา อยู่ในเขตตำบลเวียง ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๑ กิโลเมตร หมู่บ้านพุมเรียง เป็นแหล่งทอผ้าพื้นเมือง ผ้าไหมพุมเรียง อยู่ห่างจากตัวเมืองไชยาประมาณ ๖ กิโลเมตร แหลมโพธิ์ เป็นสถานที่พักผ่อน อยู่ใกล้กับตลาดพุมเรียง
อำเภอไชยามีคำขวัญว่า “พระบรมธาตุคู่เมือง รุ่งเรืองพุทธศาสน์ พุทธทาสปราชญ์โลก สวนโมกขพลาราม ลือนามศรีวิชัย ผ้าไหมพุมเรียง ทะเลเคียงหาดทราย แหล่งซื้อขายไข่เค็ม” (ภิญโญ จิตต์ธรรม, ทีปวิท พงศ์ไพบูลย์)