ไชยา : ชุมชนโบราณ

         ชุมชนโบราณไชยา เป็นชุมชนสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ชุมชนหนึ่งของภาคใต้ ประกอบด้วยกลุ่มชุมชนและแหล่งโบราณคดีในเขตอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ปรากฏตามพิกัดภูมิศาสตร์โดยส่วนรวมดังนี้ ละติจูด ๙ องศา ๒๐ พิลิปดาเหนือ ถึง ๙ องศา ๒๘ ลิปดาเหนือ ลองจิจูด ๙๙ องศา ๗ ลิปดาตะวันออก ถึง ๙๙ องศา ๑๙ ลิปดาตะวันออก

อาณาเขต

         ทิศเหนือ ติดต่อเขาพนมแบก

         ทิศใต้ ติดต่อคลองท่าปูน อ่าวบ้านดอนหรือทะเลอ่าวไทย

         ทิศตะวันออก ติดต่ออ่าวบ้านดอนหรือทะเลอ่าวไทย

         ทิศตะวันตก ติดต่อบ้านโมถ่าย ตำบลโมถ่าย อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี

         ตามลักษณะทำเลที่ตั้งของแหล่งในขอบเขตของชุมชนโบราณไชยาอาจแบ่งเป็นกลุ่มชุมชนที่สำคัญ ๆ ได้แก่ กลุ่มชุมชนบนสันทรายไชยา กลุ่มชุมชนบนริ้วสันทรายเล็ก ๆ กลุ่มชุมชนแนวลำน้ำ กลุ่มชุมชนบนเนินเขาริมลำน้ำ กลุ่มชุมชนชายฝั่งทะเล

         กลุ่มชุมชนบนสันทรายไชยา ประกอบด้วย

         - แหล่งโบราณคดีวัดเวียง ตำแหน่งที่ตั้ง หมู่ที่ ๔ บ้านเวียง ตำบลตลาดไชยา อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี พิกัดทางภูมิศาสตร์ ละติจูด ๙ องศา ๒๓ ลิปดา ๕ พิลิปดาเหนือ ลองจิจูด ๙๙ องศา ๑๑ ลิปดา ๔๐ พิลิปดาตะวันออก

         - แหล่งโบราณคดีวัดหลง ตำแหน่งที่ตั้ง ตำบลตลาดไชยา อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี พิกัดทางภูมิศาสตร์ ละติจูด ๙ องศา ๒๒ ลิปดา ๕๐ พิลิปดาเหนือ ลองจิจูด ๙๙ องศา ๑๑ ลิปดา ๔๐ พิลิปดาตะวันออก

         - แหล่งโบราณคดีวัดแก้ว ตำแหน่งที่ตั้ง ตำบลเลม็ด อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี พิกัดทางภูมิศาสตร์ ละติจูด ๙ องศา ๒๒ ลิปดา ๔๐ พิลิปดาเหนือ ลองจิจูด ๙๙ องศา ๑๑ ลิปดา ๔๐ พิลิปดาตะวันออก

         - แหล่งโบราณคดีบ้านหัวคู ตำแหน่งที่ตั้ง บ้านหัวคู ตำบลเวียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี พิกัดทางภูมิศาสตร์ ละติจูด ๙ องศา ๒๒ ลิปดา ๔๐ พิลิปดาเหนือ ลองจิจูด ๙๙ องศา ๑๑ ลิปดา ๓๐ พิลิปดาตะวันออก

         กลุ่มชุมชนบนริ้วสันทรายเล็ก ๆ ประกอบด้วย

         - แหล่งโบราณคดีบ้านลำไย ตำแหน่งที่ตั้ง หมู่ที่ ๖ บ้านลำไย ตำบลทุ่ง อำเภอไชยา จังหวัด สุราษฎร์ธานี พิกัดทางภูมิศาสตร์ ละติจูด ๙ องศา ๒๕ ลิปดาเหนือ ลองจิจูด ๙๙ องศา ๑๔-๑๕ ลิปดาตะวันออก

         - แหล่งโบราณคดีวัดอิฐ ตำแหน่งที่ตั้ง หมู่ที่ ๖ ตำบลทุ่ง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี พิกัดทางภูมิศาสตร์ ละติจูด ๙ องศา ๒๔ ลิปดา ๔๕ พิลิปดาเหนือ ลองจิจูด ๙๙ องศา ๑๔ ลิปดาตะวันออก

         - แหล่งโบราณคดีวัดประสบ ตำแหน่งที่ตั้ง ตำบลทุ่ง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี พิกัดทางภูมิศาสตร์ ละติจูด ๙ องศา ๒๔ ลิปดา ๓๐ พิลิปดาเหนือ ลองจิจูด ๙๙ องศา ๑๓ ลิปดา ๔๐ พิลิปดาตะวันออก

         - แหล่งโบราณคดีตำบลทุ่ง ตำแหน่งที่ตั้ง ตำบลทุ่ง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี พิกัดทางภูมิศาสตร์ ละติจูด ๙ องศา ๒๔ ลิปดาเหนือ ลองจิจูด ๙๙ องศา ๑๓-๑๔ ลิปดาตะวันออก

         กลุ่มชุมชนแนวลำน้ำ ประกอบด้วย

         - แหล่งโบราณคดีบ้านมณฑล (แนวลำคลองท่าตีนหรือคลองตะเคียน) ตำแหน่งที่ตั้ง บ้านมณฑล ตำบลป่าเว อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี พิกัดทางภูมิศาสตร์ ละติจูด ๙ องศา ๒๔ ลิปดา ๕๙ พิลิปดาเหนือ ลองจิจูด ๙๙ องศา ๙ ลิปดาตะวันออก

         - แหล่งโบราณคดีวัดเดิมเจ้า (แนวลำคลองไชยา) ตำแหน่งที่ตั้ง บ้านเดิมเจ้า ตำบลป่าเว อำเภอ ไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี พิกัดทางภูมิศาสตร์ ละติจูด ๙ องศา ๒๔ ลิปดา ๕๕ พิลิปดาเหนือ ลองจิจูด ๙๙ องศา ๙ ลิปดา ๑๕ พิลิปดาตะวันออก

         - แหล่งโบราณคดีวัดเววน (แนวลำคลองไชยา) ตำแหน่งที่ตั้งตำบลป่าเว อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี พิกัดทางภูมิศาสตร์ ละติจูด ๙ องศา ๒๔ ลิปดา ๑๒ พิลิปดาเหนือ ลองจิจูด ๙๙ องศา ๑๐ ลิปดา ๓๕ พิลิปดาตะวันออก

         - แหล่งโบราณคดีวัดศรีเวียง หรือวัดหนองอูม (แนวลำคลองไชยา) ตำแหน่งที่ตั้ง หมู่ที่ ๑๑ บ้านหนองอูม ตำบลเวียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี พิกัดทางภูมิศาสตร์ ละติจูด ๙ องศา ๒๓ ลิปดา ๒๕ พิลิปดาเหนือ ลองจิจูด ๙๙ องศา ๑๐ ลิปดา ๔๐ พิลิปดาตะวันออก

         - แหล่งโบราณคดีวัดใหม่ชลธาร (แนวลำคลองท่าโพธิ์) ตำแหน่งที่ตั้ง ตำบลตลาดไชนา อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี พิกัดทางภูมิศาสตร์ ละติจูด ๙ องศา ๒๓ ลิปดา ๑๐ พิลิปดาเหนือ ลองจิจูด ๙๙ องศา ๑๒ ลิปดา ๔๐ พิลิปดาตะวันออก

         - แหล่งโบราณคดีวัดศาลาทึง (แนวลำคลองไชยา) ตำแหน่งที่ตั้ง หมู่ที่ ๑ ตำบลตลาดไชยา อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี พิกัดทางภูมิศาสตร์ ละติจูด ๙ องศา ๒๓ ลิปดา ๑๐ พิลิปดาเหนือ ลองจิจูด ๙๙ องศา ๑๒ ลิปดา ๓๐ พิลิปดาตะวันออก

         - แหล่งโบราณคดีวัดพระบรมธาตุไชยา (แนวลำคลองไชยา) ตำแหน่งที่ตั้ง หมู่ที่ ๓ ตำบลเวียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี พิกัดทางภูมิศาสตร์ ละติจูด ๙ องศา ๒๓ ลิปดา ๕๕ พิลิปดาเหนือ ลองจิจูด ๙๙ องศา ๑๑ ลิปดา ๑๕ พิลิปดาตะวันออก

         กลุ่มชุมชนบนเนินเขาริมลำน้ำ ประกอบด้วย

         - แหล่งโบราณคดีเขาพนมแบก ตำแหน่งที่ตั้ง ตำบลเขาพนมแบก อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี พิกัดทางภูมิศาสตร์ ละติจูด ๙ องศา ๒๘ ลิปดาเหนือ ลองจิจูด ๙๙ องศา ๔๕ พิลิปดาตะวันออก

         - แหล่งโบราณคดีเขาสายสมอ ตำแหน่งที่ตั้ง ตำบลเวียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี พิกัดทางภูมิศาสตร์ ละติจูด ๙ องศา ๒๓ ลิปดา ๒๐ พิลิปดาเหนือ ลองจิจูด ๙๙ องศา ๙ ลิปดา ๑๕ พิลิปดาตะวันออก

         - แหล่งโบราณคดีเขาน้ำร้อน ตำแหน่งที่ตั้ง ตำบลเลม็ด อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี พิกัดทางภูมิศาสตร์ ละติจูด ๙ องศา ๒๑ ลิปดา ๕๐ พิลิปดาเหนือ ลองจิจูด ๙๙ องศา ๑๑ ลิปดา ๓๕ พิลิปดาตะวันออก

         กลุ่มชุมชนชายฝั่งทะเล ประกอบด้วย

         - แหล่งโบราณคดีวัดโพธาราม (วัดเหนือ) ตำแหน่งที่ตั้ง บ้านพุมเรียง ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี พิกัดทางภูมิศาสตร์ ละติจูด ๙ องศา ๒๓ ลิปดาเหนือ ลองจิจูด ๙๙ องศา ๑๕ ลิปดา ๓๕ พิลิปดาตะวันออก

         - แหล่งโบราณคดีแหลมโพธิ์ ตำแหน่งที่ตั้ง บ้านพุมเรียง ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี พิกัดทางภูมิศาสตร์ ละติจูด ๙ องศา ๒๒ ลิปดา ๓๐ พิลิปดาเหนือ ลองจิจูด ๙๙ องศา ๑๖ ลิปดา ๓๐ พิลิปดาตะวันออก

         ประวัติการศึกษาชุมชนโบราณไชยา

         พ.ศ. ๒๔๓๙-๒๔๔๔ พระชยาภิวัฒน์สุภัทรสังฆปาโมกข์ (หนู) เมื่อครั้งยังเป็นพระครูรัตนมุนีศรีสังฆราชาลังกาแก้ว เจ้าคณะเมืองไชยา (เก่า) ได้ชักชวนเจ้าอาวาสวัดต่าง ๆ ปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุเมืองไชยา โดยได้บันทึกถึงลักษณะสถาปัตยกรรมดั้งเดิมของพระบรมธาตุ (ดังปรากฏในรายงานเสนอพระยามหิบาลบริรักษ์ ข้าหลวงเทศามณฑลชุมพรสมัยนั้น) เมื่อเดือนกันยายน ร.ศ. ๑๒๙ ที่สำคัญคือองค์เจดีย์ตั้งอยู่บนฐาน ตอนต่อจากพื้นฐานขึ้นไปถึงหอระฆังลดชั้นมีหน้ามุขหน้าบัน และมีบราลีทุกชั้น แต่บราลีทำเป็นรูปเจดีย์เล็กๆ กำแพงระเบียงเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส และตามระเบียงมีพระพุทธปฏิมากรศิลาล้อมรอบนับได้ ๑๘๐ องค์ โครงสร้างเป็นอิฐไม่ใช้ปูนสอ แต่เป็นลักษณะ “อิฐป่นเป็นบายสอ” และใช้หินแทนอิฐในบางส่วนที่สำคัญ ๆ พระบรมธาตุไชยาก่อนการปฏิสังขรณ์ครั้งนี้ ปรากฏหลักฐานว่ามีการบูรณะมาแล้ว (ในสมัยโบราณ) ไม่น้อยกว่า ๒ ครั้ง

         พ.ศ. ๒๔๔๐-๒๔๕๔ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ขณะเสด็จตรวจราชการมณฑลปักษ์ใต้ได้พบพระพุทธรูปนาคปรกกับศิลาจารึก ๒ หลัก ที่วัดเวียง หลวงเสวีวรราช (แดง) นายอำเภอพุมเรียงสมัยนั้นได้นำเข้ามาถวาย ณ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๔๘ ปรากฏตามคำบอกเล่าของนายอุ ผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นผู้ดำเนินการขุดศิลาจารึกทั้ง ๒ หลัก (ในลิขิตของพระยาชยาภิวัฒน์ฯ ถึงพระยาคงคาธราธิบดี สมุหเทศาภิบาลมณฑลสุราษฎร์ธานี ลงวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๐) เกี่ยวกับตำแหน่งของศิลาจารึกและร่องรอยโบราณวัตถุสถานบริเวณที่พบจารึกในแหล่งโบราณคดีวัดเวียงที่สำคัญ คือ ศิลาจารึกอยู่ห่างจากวัดเวียงไปทางทิศตะวันตกราว ๑ เส้น ก่อเป็นฝาผนังขึ้นยาวไปตามทิศเหนือ ทิศใต้ ในนั้นมีเทวรูปอยู่กลางหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ศิลาแท่งใหญ่ห่างจากเทวรูปไปทางทิศเหนือราว ๓ ศอก รูปศิลาเป็นผืนผ้ายาวราว ๔ ศอก กว้างราว ๑ ศอก มีเดือยลงในเขียง ศิลาแท่งเล็กอยู่ทางทิศใต้ของเทวรูป...”

         ส่วนที่แหล่งโบราณคดีวัดพระบรมธาตุไชยา สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้นำประติมากรรมรูปพระโพธิสัตว์จากโบสถ์พราหมณ์ บริเวณนอกกำแพงชั้นนอกทิศตะวันออกเฉียงเหนือเข้ามาไว้ยังกรุงเทพฯ

         พ.ศ. ๒๔๔๖ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ขณะทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการในการเสด็จตรวจราชการแหลมมลายู (มณฑลภูเก็ต มณฑลนครศรีธรรมราช มณฑลชุมพร) ได้เสด็จมาที่วัดพระบรมธาตุไชยาฯ ในจดหมายเหตุบันทึก (ตีพิมพ์ในสมัยต่อมาโดยใช้ชื่อว่า “จดหมายระยะทางไปตรวจราชการแหลมมลายู ร.ศ. ๑๒๑”) ทรงวินิจฉัยตามที่ทรงศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นไว้ว่า เมืองโบราณก่อนการก่อตั้งพระบรมธาตุไชยานั้น อยู่บริเวณต้นน้ำคลองไชยา บริเวณเขาเพ-ลา ที่วัดพระธาตุนี้คือเมืองไชยา ตั้งครั้งที่สอง เมืองเก่าขึ้นไปตามคลองไชยา ทางวัน หนึ่ง เหนือปากหมากอยู่ระหว่างเขาเพ-ลา กำแพงยังอยู่ทำด้วยหิน แล้วว่ายกจากวัดพระธาตุไปตั้งบ้านสงขลาแล้วจึงไปพุมเรียง...”

         นอกจากนี้แล้ว ทรงร่างแผนที่หรือแผนผังวัดพระบรมธาตุไชยาฯ ทรงบันทึกถึงโบราณวัตถุ ในวัดพระบรมธาตุไชยาฯ ทรงกล่าวถึงพระพุทธรูปองค์เล็ก ๆ ประทับยืนในพระปรางค์เป็นพระพุทธรูปรุ่นเดียวกับในอุโบสถที่พระปฐมเจดีย์ (นครปฐม) ซึ่งน่าจะทรงหมายถึงพระพุทธรูปแบบศิลปะทวารวดี พ.ศ. ๒๔๕๒-๒๔๕๕ นายเอเตียน เอ็ดมองต์ ลูเนต์ เดอ ลาจงกิแยร์ (E.E.Lunet de Lajonquière) ชาวฝรั่งเศส เข้ามาสำรวจโบราณสถานและโบราณวัตถุภาคใต้ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๒ และตีพิมพ์ผลงานไว้ใน Bulletin de la commission Archèologique de I'Indochine เรื่อง “La Domaine Archèologique du Siam” และ “Essai d'Inventaire Archèologique du Siam” โดยกล่าวถึงชุมชนโบราณไชยาว่า ในสมัยโบราณบริเวณอำเภอไชยาน่าจะเป็นอาณาจักรที่ปรากฏชื่อตามจดหมายเหตุจีนว่า “พัน-พัน” ร่องรอยของหลักฐานที่สำคัญ คือ พระบรมธาตุไชยา ซึ่งมีเทคนิคคล้ายคลึงกับสถาปัตยกรรมแบบจามและเขมร มีพระพุทธรูปหินทรายแดงในวัดพระบรมธาตุไชยาฯ จัดเป็นศิลปะกลุ่มไทย ส่วนประติมากรรมหรือเทวรูปจากแหล่งโบราณคดีวัดเวียง จัดไว้ในกลุ่มศิลปะอิทธิพลอินเดีย-เขมร

         พ.ศ. ๒๔๕๘ พระยาธนกิจรักษา กล่าวถึงการเสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการพระบรมธาตุไชยาของพระบาทสมเด็จฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ในจดหมายเหตุระยะทางเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลปักษ์ใต้ของสักขี) บรรยายถึงวัดพระบรมธาตุไชยาฯ และบริเวณแหล่งที่พบพระโพธิสัตว์สำริดขนาดใหญ่ครึ่งพระองค์ว่า ที่หน้าวัดพระธาตุนี้มีต้นโพธิ์ต้นหนึ่ง ว่าใต้ต้นโพธิ์นี้เป็นที่ขุดรูปพระบรมโพธิ์สัตว์ หล่อเพียงบั้นพระองค์ ซึ่งเชิญเข้าไปในกรุงเทพฯ ประดิษฐานอยู่ ณ พระราชวังดุสิต...”

         พ.ศ. ๒๔๕๙-๒๔๖๐ โวเรตซ์ (E.A.Voretzsch) ตีพิมพ์รูปพระโพธิ์สัตว์ขนาดใหญ่ครึ่งพระองค์ที่ได้จากวัดพระบรมธาตุไชยาฯ ในบทความเรื่อง “Uber Althbuddhistische Kunst in Siam” หนังสือ Ost, Zeitschiff, 5-6 (1916-1917)

         พ.ศ. ๒๔๖๐ หลวงวิชิตภักดี นายอำเภอเมืองไชยาสมัยนั้น ขุดตรวจสอบบริเวณที่พบศิลาจารึกจากวัดเวียง ได้พบส่วนที่เป็นฐานเลียบจารึกเพิ่มเติม ดังปรากฏในจดหมายของพระยาคงคาธราธิบดี มหาเสวกตรี สมุหเทศาภิบาล มณฑลสุราษฎร์ธานี ถึงสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ลงวันที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ ในข้อความที่ว่า ขุดลงไปพบเขียงศิลาจมอยู่เสมอพื้นดิน เขียงเป็นรูปสี่เหลี่ยมรี ยาว ๒๗ นิ้วฟุต กว้าง ๑๘ นิ้วฟุต สูง ๑๗ นิ้วฟุต รูปข้างทั้ง ๔ ด้าน ตั้งตรงขึ้นมาไม่ล้มแลไม่มีลวด น่าบนมีรูตรงกลางเป็นสี่เหลี่ยมรี ยาว ๑๗ นิ้วฟุต กว้าง ๕ นิ้วฟุต ลึก ๘ นิ้วฟุต...” การขุดตรวจสอบครั้งนี้จึงเป็นหลักฐานที่ยืนยันได้ว่า ศิลาจารึกหลัก ๒๔ ก. และ ๒๔ ข. พบที่แหล่งโบราณคดีวัดเวียง

         พ.ศ. ๒๔๖๑-๒๔๗๐ ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ (George Coedès) ในผลงานเรื่อง “Le royaume de Crivijaya” (Bulletin de I'Ecole Française d'Extrême, Orient, XVIII, 1918) และ “A propos de la chut du royaume de Çrivijaya" (BKI, vol 83) ซี ออตโต บลักเดน (C.Otto Blagden) ในผลงานเรื่อง “The empire of the Maharaja, King of the Mountain and Lord of the Isles” (Journal Straits Branch Royal Asiatic Society, no 81, 1920) และกาเบรียล เฟอร์รองต์ (Gabriel Ferrand) ในผลงานเรื่อง “L'empire sumatranais de Çrivijaya” (1922) วิเคราะห์จารึกบนฐานพระพุทธรูปนาคปรกสำริดซึ่งพบในแหล่งโบราณคดีวัดเวียงว่าเป็นจารึกภาษาเขมร อักษรขอมขื่อ “ครหิ” ที่ปรากฏในจารึกเป็นชื่อเดียวกับ “เกียโลหิ” ในจดหมายเหตุจีนหมายถึงเมืองไชยาโบราณ โดยในปี พ.ศ. ๑๗๗๓ ตามที่ระบุในจารึก กษัตริย์ในพระราชวงศ์เดียวกับที่ครองเมืองมลายูสั่งให้ผู้ดูแลเมืองครหิหล่อพระพุทธรูปขึ้น เมืองไชยาโบราณในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ จึงน่าจะอยู่ในความปกครองของกษัตริย์แห่งเมืองมลายู ซึ่งรวมอยู่ในอาณาจักรศรีวิชัย

         พ.ศ. ๒๔๖๙ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ตีพิมพ์ผลงานเรื่อง “ตำนานพุทธเจดีย์สยาม” กำหนดให้พระบรมธาตุไชยาเป็นตัวอย่างของมณฑปหลังคาทรงสถูป ภายในใช้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปในลัทธิมหายานและพระโพธิสัตว์หินและสำริดที่พบในแหล่งโบราณคดีต่าง ๆ ในชุมชนโบราณไชยา จัดอยู่ในกลุ่มศิลปะสมัยศรีวิชัยมีอายุระหว่าง พ.ศ. ๑๒๐๐-๑๔๐๐

         พ.ศ.๒๔๖๙ หลวงวิชิตภักดี นายอำเภอไชยาสมัยนั้น นำโบราณวัตถุที่ได้จากแหล่งโบราณคดีในชุมชนโบราณไชยา มามอบให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร โบราณวัตถุที่สำคัญที่ปรากฏในทะเบียนโบราณวัตถุกองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ได้แก่ พระพิมพ์จากวัดเวียง (เลขทะเบียนวัตถุที่ ศว ๑๔ ๑๑๑๗), พระพุทธรูปสำริดจากวิหารวัดพระบรมธาตุไชยาฯ (เลขทะเบียนวัตถุที่ ศว ๑๘ ๑๐๑๘ และ ศว ๑)

         พ.ศ. ๒๔๗๐ หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ เมื่อครั้งยังเป็นขุนบริบาลบุรีภัณฑ์ ภัณฑารักษ์ราชบัณฑิตยสภา ได้ดำเนินการขุดตรวจสอบรากฐานด้านทิศใต้ของโบราณสถานวัดแก้ว กล่าวถึงลักษณะของโบราณสถานวัดแก้วว่าเป็นเจดีย์โบราณลักษณะคล้ายพระบรมธาตุไชยาแต่ขนาดใหญ่กว่าและยังไม่ได้ซ่อมแซมด้านทิศตะวันออกมีรอยร้าว ส่วนด้านเหนือและด้านตะวันตกเป็นดินคลุม

         พ.ศ. ๒๔๖๙-๒๔๗๒ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นำศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ มาศึกษาโบราณสถานและศิลปวัตถุที่ไชยา และได้ศึกษาศิลปวัตถุจากไชยาที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ โปรดให้นำมาเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ เสนอผลงานเรื่อง “Les Collections Archèologique du Musèe National de Bangkok (Ars Asiatica, 1982, XII) กล่าวถึงเรื่องราวของศิลปวัตถุที่ไชยาว่าเป็นศิลปะร่วมสมัยศรีวิชัย นอกจากนั้นแล้วยังได้วินิจฉัยว่าเพราะโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรหินจากแหล่งโบราณคดีวัดศาลาทึงเป็นประติมากรรมที่มีลักษณะใกล้เคียงกับประติมากรรมทวารวดี ส่วนพระโพธิสัตว์สำริดขนาดใหญ่ครึ่งองค์จากวัดพระบรมธาตุไชยาฯ มีลักษณะใกล้เคียงกับประติมากรรมจาม

         และในปี พ.ศ. ๒๔๗๒ ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ ได้ตีพิมพ์ “ประชุมศิลาจารึกสยาม ภาค ๒” โดยได้บันทึกภาพรวบรวมผลการแปล คำอธิบายของจารึกทั้ง ๓ หลัก ที่พบจากแหล่งโบราณคดีวัดเวียง คือจารึกหลักที่ ๒๔ ก. และ ๒๔ ข (ยังไม่ได้แปล) และจารึกหลักที่ ๒๕ (จารึกฐานพระพุทธรูปนาคปรก) โดยกล่าวไว้ในหัวข้อจารึกเมืองประเทศราชขึ้นแก่กรุงศรีวิชัย

         พ.ศ. ๒๔๗๒ หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ เมื่อครั้งยังเป็นขุนบริบาลบุรีภัณฑ์ ไปตรวจโบราณสถานในจังหวัดภาคใต้ครั้งที่ ๘ ในเดือนพฤศจิกายน ได้นำนายชอง อีฟ แกลย์ (Jean Yves Claeys) ไปศึกษาโบราณวัตถุสถานที่วัดพระบรมธาตุไชยาฯ วัดเวียง วัดหลง วัดแก้ว เขาน้ำร้อน วัดใหม่ชลธาร วัดประสบ วัดป่าเลไลยก์ วัดศาลาทึง

         นายชอง อีฟ แกลย์ ได้ขุดตรวจสอบส่วนรากฐานของโบราณสถานวัดเวียง วัดหลง และศึกษาโบราณสถานวัดแก้ว เสนอแนวความคิด (ไว้ใน L' Archèeologie du Siam, 1931) ว่าสถาปัตยกรรมวัดแก้วคล้ายเจดีย์องค์หนึ่งในเมืองจาม (ศิลปะจาม) ส่วนซากโบราณสถานอิฐที่วัดหลง วัดเวียง เป็นศาสนสถานฐานสี่เหลี่ยม มีการบูรณะบางส่วนในสมัยหลัง (หลังสมัยที่สร้างศาสนสถานแห่งนี้) แต่เดิมน่าจะเป็นศาสนสถานร่วมสมัยพระบรมธาตุไชยา

         หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ ได้นำโบราณวัตถุจากแหล่งโบราณคดีในชุมชนโบราณไชยาขึ้นมาไว้ยังกรุงเทพฯ ได้แก่ พระสถูปหินทรงระฆังบนฐาน ๖ ชั้นจากวัดประสบ

         พ.ศ. ๒๔๗๓ หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ ไปตรวจโบราณวัตถุสถานในเขตอำเภอไชยาเมื่อเดือนกันยายน ได้รายงานถึงโบราณวัตถุที่พบในเขตชุมชนโบราณไชยาเพิ่มเติมคือ พระพุทธรูปหินลงรักปิดทองแบบศิลปะทวารวดีในองค์พระบรมธาตุไชยา ๑ องค์ พระพุทธรูปหินประทับนั่งแบบศิลปะทวารวดีในซุ้มหน้าองค์พระบรมธาตุไชยา ๑ องค์ พระพุทธรูปหินแบบศิลปะศรีวิชัยจากระเบียงพระบรมธาตุไชยา ๒ องค์ เทวรูปพระวิษณุ (พระนารายณ์) หิน จากวัดใหม่ชลธาร

         พ.ศ.๒๔๗๗ ดร.เอช.จี.ควอริทช์ เวลส์ (H.G.Quaritch Wales) เข้ามาดำเนินการสำรวจโบราณสถานโบราณวัตถุในภาคใต้ และดำเนินการขุดทดสอบฐานรากวัดแก้วทางด้านตะวันออก เสนอแนวความคิดไว้ในผลงานเรื่อง “A New Explored Route of Ancient Indian Cultural Expansion” ใน Indian Art and Letters (vol. 1 pt I, 1935) โดยกล่าวว่าบริเวณชุมชนโบราณไชยาน่าจะเป็นที่ตั้ง (หรือศูนย์กลาง) ของอาณาจักรศรีวิชัย เพราะปรากฏร่องรอยของโบราณสถานและโบราณวัตถุมากกว่าที่พบในสุมาตราและชวา และมีเส้นทางการติดต่อทางวัฒนธรรมจากชุมชนโบราณตะกั่วป่ามาไชยาและในการขุดตรวจสอบรากฐานวัดแก้วพบเศษภาชนะดินเผาเนื้อดินแบบพื้นเมืองและในปีเดียวกันนี้ นายสอน เพชรศักดิ์ ราษฎรบ้านหัวคู ขุดบ่อน้ำบริเวณสวนกล้วยพบนางดารา ๘ กรสำริด ชิ้นส่วนคันฉ่องสำริดสมัยราชวงศ์ซ้อง ชิ้นส่วนเครื่องประดับหิน ลูกปัดสีเหลือง ดร.เอช จี ควอริทช์ เวลส์ จึงตั้งข้อสันนิษฐานในเวลาต่อมา (ในผลงานเรื่อง “The Malay Peninsula in Hindu Times”, 1976) ว่าแหล่งโบราณคดีบ้านหัวคู เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของชุมชนโบราณสมัยราชวงศ์ซ้องของจีน

         พ.ศ. ๒๔๗๘ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงวินิจฉัยเกี่ยวกับชุมชนโบราณไชยา โบราณสถานและโบราณวัตถุที่พบ (ไว้ในพระหัตถเลขาถึงสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์สาส์นสมเด็จ) ดังนี้

         ๑) ในบรรดาเมืองโบราณในภาคใต้ เมืองไชยาเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุด โดยเมืองไชยาโบราณนี้หมายถึงรวมเมืองเวียงสระเข้าไว้ในเขตนี้ด้วย

         ๒) กำหนดให้พระบรมธาตุไชยาเป็นพระเจดีย์ทรงมณฑป ซึ่งเป็นแบบหนึ่งในบรรดาเจดีย์ ๕ ลักษณะที่สร้างในเมืองไทย เป็นศิลปะแบบสมัยศรีวิชัย โดยมีลักษณะเป็นศิลปะหลังคุปตะ

         ๓) เมืองไชยานิยมสร้างพระพุทธรูปด้วยหินทรายแดง คงเพราะได้วัตถุดิบจากภูเขาหินทรายแดงซึ่งอยู่ใกล้เมืองและพระพุทธรูปหินทรายแดงเหล่านี้น่าจะสร้างขึ้นมาในปลายสมัยศรีวิชัยร่วมสมัยขอมตอนปลาย เนื่องจากลักษณะพระพักตร์คล้ายคลึงกับพระพักตร์พระพุทธรูปนาคปรกสำริดที่วัดเวียงและในสมัยที่สร้างพระพุทธรูปศิลาทรายแดง พระบรมธาตุไชยายังคงเป็นมหาเจดีย์สถานที่รับนับถือกันอยู่

         พ.ศ.๒๔๗๙ กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานต่าง ๆ ในเขตชุมชนโบราณไชยา ปรากฏในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๓ หน้า ๑๕๓๒-๑๕๓๓ วันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๙ แหล่งซึ่งปรากฏโบราณสถานสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ ได้แก่ วัดพระบรมธาตุไชยาฯ วัดเวียง วัดหลง วัดแก้ว เขาน้ำร้อน เขาสายสมอ และวัดใหม่ชลธาร

         พ.ศ.๒๔๗๙ ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ เสนอผลงานเรื่อง “A propos d'une nouvelle thèorie sur le site de Çrivijaya” ใน Journal of the Malayan Branch of the Royal Asiatic Society, XIV, 1936 เสนอความเห็นต่อทฤษฎีของ ดร.เอช.จี. ควอริทช์ เวลส์ เกี่ยวกับศูนย์กลางอาณาจักรศรีวิชัยที่ไชยา ว่าในพุทธศตวรรษที่ ๑๓ อาจเป็นไปได้ที่ว่าอาณาจักรศรีวิชัยมีเมืองสำคัญอยู่ที่ไชยา เนื่องจากลักษณะของศิลปกรรม เช่น พระโพธิสัตว์ที่พบในแหล่งโบราณคดีในไชยาแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์กับศิลปกรรมที่เมนดุต ชวา (ประเทศอินโดนีเซีย) ซึ่งน่าจะเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรศรีวิชัยมาก่อน

         พ.ศ.๒๔๘๑ เรอจินาล เลอ เมย์ (Reginald Le May) เสนอผลงานเรื่อง “A Concise History of Buddhist Art in Siam” ให้ข้อสังเกตว่าพระพุทธรูปนาคปรกสำริดฐานมีจารึกแหล่งโบราณคดีวัดเวียง เป็นพระพุทธรูปของพุทธศาสนาฝ่ายหินยาน (หรือเถรวาท) ส่วนที่เป็นนาคกับองค์พระพุทธรูปสร้างขึ้นไม่พร้อมกัน กล่าวคือลักษณะของนาคเป็นศิลปะแบบเขมร ส่วนองค์พระพุทธรูปมีลักษณะบางประการที่คล้ายคลึงศิลปะทวารวดี ดังนั้นจึงสันนิษฐานว่ากษัตริย์ที่สั่งให้หล่อพระพุทธรูปองค์นี้ขึ้น (ตามปรากฏชื่อในจารึกที่ฐานพระพุทธรูปองค์นี้) น่าจะเป็นกษัตริย์เชื้อสายเขมรที่เข้ามาครอบครองดินแดนแถบลพบุรี พระพุทธรูปนาคปรกองค์นี้น่าจะเคลื่อนย้ายมาจากที่อื่น

         พ.ศ. ๒๔๘๓ พระอธิการอรรถ ศิลโต ขุดพระพิมพ์ดินเผารูปพระพุทธรูปปางมารวิชัยเป็นแผง ๑๖ องค์ ได้ที่วัดเดิมเจ้า นำมามอบให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ในวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๓

         พ.ศ. ๒๔๘๔-๒๔๘๕ ปิแอร์ ดูปองต์ (Pierre Dupont) นักวิชาการชาวฝรั่งเศส เสนอผลงานในวารสาร Bulletin de I'Ecole FranÇaise d'Extreme Orient เรื่อง “Vishnu mitrés de l Indochine occidentale” (vol. XLI, 1941) และ “Le Buddha de Grahi et L'école de Chaiya” (vol. XLII, 1942) กล่าวถึงเทวรูปพระวิษณุที่พบในแหล่งโบราณคดีชุมชนโบราณไชยาว่าน่าจะอยู่ในสกุลช่างเดียวกันกับเทวรูปพระวิษณุที่ปราจีนบุรี สำหรับพระพุทธรูปนาคปรกสำริดฐานมีจารึกจากแหล่งโบราณคดีวัดเวียง เป็นลักษณะของสกุลช่างเฉพาะภาคใต้ โดยจัดให้เป็น สกุลช่างไชยา และให้ข้อวิจารณ์ว่า ประติมากรรมนี้สามารถแยกได้ ๓ ส่วน ส่วนที่เป็นนาคปรกอาจทำขึ้นร่วมสมัยกับส่วนฐานที่เป็นจารึก แต่องค์พระพุทธรูปอาจสร้างขึ้นในสมัยหลัง นอกจากนั้นพระพุทธรูปหินและสำริดอื่น ๆ ที่กำหนดอายุไว้ในพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ซึ่งพบในแหล่งโบราณคดีในชุมชนโบราณไชยามีลักษณะที่แสดงถึงการสืบทอดของศิลปกรรมศรีวิชัย

         พ.ศ. ๒๔๘๗-๒๔๙๑ ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ ในผลงานเรื่อง “Histoire Ancienne des Etats Hindouises d'Extrême Orient” (1944 และ “Les Etats Hindouises d'Indochine et d'Indonésie” ในหนังสือ Histoire du Monde (vol. VIII, 2, 1948) สันนิษฐานว่าข้อความในศิลาจารึกหลักที่ ๒๔ (๒๔ ก.) ซึ่งพบที่แหล่งโบราณคดีวัดเวียงนั้น เป็นเรื่องราวของจันทรภาณุและตามพรลิงค์ โดยจันทรภาณุคือชื่อกษัตริย์ซึ่งน่าจะเป็นองค์เดียวกับที่ครอบครองอาณาจักรตามพรลิงค์หรือนครศรีธรรมราช และเป็นพระราชาของพวกชาวกะที่ปรากฏในหนังสือมหาวงศ์พงศาวดารลังกา เป็นกษัตริย์ที่นับถือพุทธศาสนาในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘

         พ.ศ. ๒๔๙๓ พุทธทาสภิกขุ (พระเทพวิสุทธิเมธี) แห่งสวนโมกขพลาราม ไชยา เมื่อครั้งยังเป็นพระครูอินทปัญญาจารย์ ภัณฑารักษ์พิพิธภัณฑสถานวัดพระบรมธาตุไชยาฯ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตีพิมพ์ผลงานเรื่อง “แนวสังเขปของโบราณคดีรอบอ่าวบ้านดอน” เสนอข้อสันนิษฐานที่สำคัญเกี่ยวกับชุมชนโบราณไชยา คือ ชุมชนโบราณไชยามี ๓ ช่วงสมัยที่สำคัญ ได้แก่

         ๑. ช่วงสมัยของชนพื้นเมืองเดิม ซึ่งน่าจะเป็นกลุ่มชนที่อยู่บริเวณเขาเพ-ลา ต้นน้ำคลองไชยา เคลื่อนย้ายลงมาผสมกับชาวอินเดียโพ้นทะเลที่เดินทางเข้ามาตั้งถิ่นฐาน

         ๒. ช่วงสมัยทวารวดีปรากฏตามหลักฐาน คือ พระพุทธรูปแบบทวารวดี ได้แก่ พระพุทธรูป ประทับยืนและพระพุทธรูปหินประทับนั่งปางสมาธิจากวัดพระบรมธาตุไชยาฯ พระพุทธรูปประทับนั่งปางสมาธิจากวัดเววน พระพุทธรูปหินประทับยืน (ไม่มีเศียร) จากวัดแก้วและวัดเวียง พระพุทธรูปสำริดขนาดเล็กในเจดีย์เก่าองค์หนึ่งของวัดโพธาราม ซึ่งเป็นศิลปกรรมที่น่าจะนำมาจากชุมชนทวารวดีในจังหวัดนครปฐม ยกเว้นพระพุทธรูปประทับยืนไม่มีเศียรจากวัดแก้ว น่าจะเป็นประติมากรรมที่นำเข้ามาพร้อมกับเทวรูปในศาสนาฮินดูจากอินเดียโดยตรง ดังนั้นชุมชนโบราณไชยาสมัยนี้ จึงเป็นชุมชนที่รับนับถือพุทธศาสนาอย่างเถรวาทหรือหินยาน ต่อมาจึงถูกแทนที่ด้วยพุทธศาสนาแบบมหายานในช่วงสมัยหลัง

         ๓. ช่วงสมัยศรีวิชัย เป็นการปกครองของกษัตริย์ไศเลนทร์วงศ์ มีเขาน้ำร้อนเป็นภูเขาประจำราชวงศ์ และเป็นชุมชนเมืองท่า มีอำนาจทางทะเล ปรากฏจากหลักฐานและตำนานท้องถิ่นสอดคล้องกันคือ บริเวณเขาสายสมอเป็นที่ซึ่งคนโบราณเคยพบสมอเรือ สัมพันธ์กับตำนานเรื่องกองทัพเรือของ พระยายุมบา

         สำหรับประติมากรรมสำคัญ ๆ ที่ได้รับการขนานนามจากชาวท้องถิ่น เป็นต้นว่าพระพุทธรูป จากแหล่งโบราณคดีวัดเวียงเรียกว่า “พระหน้าหมอหรือพระหมอ” พระพุทธรูปหินจากแหล่งโบราณคดีวัดเววน เรียกว่า “พ่อตาเชี่ยว” ประติมากรรมรูปเด็กไว้ผมจุก มือหนึ่งอุ้มน้องอีกมือหนึ่งอุ้มไก่ จากแหล่งโบราณคดีวัดเววน เรียกว่า “เจ้ามรรคผล” และยังได้ตีพิมพ์ภาพศิลปวัตถุอื่น ๆ ที่พบในแหล่งโบราณคดีในชุมชนโบราณไชยา เช่น เศียรเทวรูป (ซึ่งพุทธทาสภิกขุบันทึกไว้ว่าเป็นเศียรอสูร) จากแหล่งโบราณคดีเขาน้ำร้อน เครื่องเคลือบรูปใบหน้าบุคคล (ซึ่งพุทธทาสภิกขุบันทึกไว้ว่าเป็นเศียรพระพุทธรูปกระเบื้อง) จากแหล่งโบราณคดีวัดศรีเวียง (วัดหนองอูม) ฐานโยนิหินในพระบรมธาตุไชยา เป็นต้น

         นอกจากนี้ยังกล่าวถึงเจดีย์สมัยหลังซึ่งได้รับอิทธิพลรูปแบบเจดีย์วัดพระบรมธาตุไชยาฯ วัดแก้ว ในชุมชนโบราณไชยา เช่น เจดีย์วัดถ้ำสิงขร อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี เจดีย์วัดเขาพระอานนท์ อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี

         พ.ศ. ๒๔๙๔ ดร.เอช.จี.ควอริทช์ เวลส์ (H.G. Quaritch Wales) ในผลงานเรื่อง “The Making of Greater India : a study in South-East Asian culture change” วินิจฉัยว่าพระพุทธรูปหินจากแหล่งโบราณคดีวัดแก้ว (พระพุทธรูปหินประทับยืนไม่มีเศียร) และพระพุทธรูปหินประทับนั่ง (พ่อตาเชี่ยว) จากแหล่งโบราณคดีวัดเววนอยู่ในสมัยคุปตะ โดยกำหนดอายุว่าอยู่ระหว่างกลางพุทธศตวรรษที่ ๘-๑๑ ส่วนสถาปัตยกรรมวัดแก้วและพระบรมธาตุไชยาอยู่ในสมัยปาละประมาณ พ.ศ. ๑๑๙๓-๑๔๔๓ อันเป็นศิลปกรรมอินเดียผ่านทางชวา

         พ.ศ. ๒๔๙๓-๒๔๙๔ หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ เขียนหนังสือร่วมกับนายอเล็กซานเดอร์ บี.กริสโวลด์ (Alexander B.Griswold) เรื่อง “ประติมากรรมแห่งคาบสมุทรสยามในสมัยอยุธยา” (๒๔๙๓) หรือ “Sculpture of Peninsular Siam in the Ayuthya Period” ใน Journal of the Siam Society, XXXVIII, pt III, 1951 นอกจากจัดให้ศิลปกรรมที่พบในแหล่งโบราณคดีของชุมชนโบราณไชยาส่วนใหญ่เป็นศิลปกรรมสมัยศรีวิชัยแล้ว ยังกำหนดให้เทวรูปพระวิษณุเป็นศิลปกรรมของพราหมณ์ก่อนเขมร และพระพุทธรูปหินทรายแดงไม่ได้เป็นศิลปกรรมของชุมชนสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ แต่เป็นศิลปกรรมร่วมสมัยอยุธยาในรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง

         พ.ศ. ๒๔๙๖ นายธรรมทาส พานิช เสนอบทความเรื่อง “ศรีวิชัย” ในวารสารศิลปากร ปีที่ ๗ เล่ม ๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๖ ให้ข้อสันนิษฐานว่า เมื่อศึกษาจากหนังสือภูมิศาสตร์ปโตเลมีที่กล่าวถึงเมืองท่าในคาบสมุทรทอง (ราวพุทธศตวรรษที่ ๗) ประกอบกับการศึกษาลักษณะทางภูมิศาสตร์และ หลักฐานด้านโบราณวัตถุสถานในไชยาแล้ว เมืองไชยาในสมัยโบราณคือ เมืองท่าซาบา ซึ่งเป็นเมืองท่าทางฝั่งตะวันออกคู่กับเมืองท่าฝั่งตะวันตก คือ ตะโกลา บริเวณตะกั่วป่า จังหวัดพังงา

         พ.ศ.๒๔๙๘ หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ ดำเนินการขุดตรวจสอบรากฐานแหล่งโบราณคดีวัดหลง พบว่าเป็นโบราณสถานมีฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาด ๓๐ x ๓๐ เมตร เป็นโบราณสถานก่ออิฐไม่สอปูน

         พ.ศ.๒๕๐๐ หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุ รัชนี และนายเขียน ยิ้มศิริ เสนอผลงานเรื่อง “Thai Monumental Bronzes” (1957) ให้ทัศนะต่อพระพุทธรูปสำริดนาคปรกฐานมีจารึกจากแหล่งโบราณคดีวัดเวียงแตกต่างออกไปจากทัศนของปิแอร์ ดูปองต์ คือ องค์พระพุทธรูปกับฐานนาคปรกซึ่งหล่อแยกส่วนกันนั้น ควรจะสร้างขึ้นพร้อมกันและควรจะจัดให้เป็นพระพุทธรูปแบบอู่ทอง เนื่องจากมีลักษณะเช่นเดียวกับพระพุทธรูปอู่ทองรุ่นที่ ๑ จากเมืองสุพรรณบุรี

         พ.ศ. ๒๕๐๒ ในผลงานของนายปิแอร์ ดูปองต์ (Pierre Dupont) เรื่อง “L'Archéologie Mône de Dvãrãvati” ได้จัดพระพุทธรูปแบบทวารวดีที่พบในแหล่งโบราณคดีต่าง ๆ เช่น พระพุทธรูปหินปางสมาธิจากวัดพระบรมธาตุไชยาฯ พระพุทธรูปหินประทับยืน (ไม่มีเศียร) จากวัดแก้วไว้ในหมวดต่าง ๆ ของพระพุทธรูปแบบทวารวดี

         พ.ศ. ๒๕๐๕ โกรส์ลิเยร์ (B.P.Groslier) ตีพิมพ์ผลงานเรื่อง “Indochina : Art in the Melting Pot of Races” (1962) ให้ทัศนะเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมวัดแก้วว่า แบบแผนของเจดีย์วัดแก้วที่มีลักษณะคล้ายคลึงจามนั้น เป็นเพราะช่างที่ไชยากับช่างจามได้เจริญรอยตามแบบฉบับอันเดียวกัน ดังนั้นจึงเป็นพัฒนาการร่วมสมัยกัน มิใช่การรับอิทธิพลจากจามโดยตรง

         พ.ศ. ๒๕๐๖ ศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ในผลงานเรื่อง “ศิลปะในประเทศไทย” วินิจฉัยว่าเทวรูปพระวิษณุหินจากแหล่งโบราณคดีวัดศาลาทึงอยู่ในกลุ่มศิลปะสมัยของ “เทวรูปรุ่นเก่า” ซึ่งอยู่ระหว่างกลุ่มศิลปะสมัยทวารวดีกับศรีวิชัย

         พ.ศ. ๒๕๐๘ ศาสตราจารย์ชอง บวสเซอลิเยร์ (Professeur Jean Boisselier) นักประวัติศาสตร์ศิลปะชาวฝรั่งเศส ดำเนินการสำรวจโบราณสถานโบราณวัตถุในไชยาและตีพิมพ์ผลงาน เรื่อง “ประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทย” (เขียนร่วมกับศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ ; หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงแปล พ.ศ. ๒๕๐๘) และ “Recherches archéologiques en Thailand II : Rapport sommaire de la mission 1965” (Arts Asiatiques XX, 1965) โดยวินิจฉัยถึงอิทธิพลศิลปกรรมแบบศรีวิชัยจากภาคใต้ต่อดินแดนภาคกลางของประเทศไทย หลักฐานที่สำคัญคือสถาปัตยกรรมแบบเจดีย์แปดเหลี่ยมตามแบบพระบรมธาตุไชยา สำหรับเจดีย์วัดแก้วเป็นสถาปัตยกรรมที่มีลักษณะผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมจาม ปราสาทเขมรก่อนพระนคร และศิลปกรรมชวา กล่าวคือเป็นลักษณะของเจดีย์ที่ปรากฏในภาพสลักนูนที่บุโรพุทโธในอินโดนีเซีย (ชวา) นอกจากนี้ยังมีลักษณะบางประการคล้ายกับพระบรมธาตุไชยา จึงกำหนดอายุให้อยู่ในราวครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ ๑๔

         พ.ศ. ๒๕๐๙ ศาสตราจารย์โอ. ดับบลิว. วอลเตอรส์ (O.W. Wolters) ในผลงานเรื่อง “A note on the capital of Srivijaya during the eleventh century” (Artibus Asiae, 1966) วินิจฉัยว่าดินแดนบริเวณภูมิภาคไชยาเป็นชุมชนก่อนอาณาจักรศรีวิชัยเป็นดินแดนที่ปรากฏในจดหมายเหตุจีนว่า พัน-พัน เป็นดินแดนสำคัญมากในพุทธศตวรรษที่ ๙ และคงอยู่สืบต่อมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๒

         พ.ศ. ๒๕๑๐ ศาสตราจารย์เดอกาสปารีส์ (J.G. de Casparis) เสนอบทความเรื่อง “The date of the Grahi Buddha” ใน Journal of the Siam Society, LV, Part I, January 1967. วินิจฉัยว่าศักราชที่ปรากฏบนฐานพระพุทธรูปนาคปรกสำริดจากวัดเวียง น่าจะหมายถึง พ.ศ.๑๘๒๒ หรือ พ.ศ. ๑๘๓๔ มากกว่าปี พ.ศ. ๑๗๒๖ ตามที่ศาสตราจารย์เซเดส์ เคยระบุไว้

         พ.ศ. ๒๕๑๓-๒๕๑๙ ประทุม ชุ่มเพ็งพันธ์ ภัณฑารักษ์กองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกรมศิลปากร สมัยเมื่อครั้งยังเป็นหัวหน้าหน่วยศิลปากรที่ ๘ นครศรีธรรมราช ดำเนินการขุดค้นแหล่งโบราณคดีวัดเวียง บริเวณใต้โคนต้นสำโรงในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ เพื่อตรวจสอบแหล่งที่พบศิลาจารึกหลักที่ ๒๔ ก. และ ๒๔ ข. ผลการขุดค้นและศึกษาศิลปวัตถุในชุมชนโบราณไชยา ปรากฏผลงานตีพิมพ์เผยแพร่ในบทความเรื่อง “ศิลปกรรมสมัยทวารวดีในภาคใต้ของประเทศไทย” (วารสารโบราณคดี ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๑๕) “ของดีเมืองนครศรีธรรมราช” (วารสารโบราณคดี ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๕) “โบราณวัตถุสถานในภาคใต้ตอนเหนือรวม ๗ จังหวัด” (พ.ศ. ๒๕๑๗) “ไชยา-สุราษฎร์ธานี” (พ.ศ. ๒๕๑๙) กล่าวถึงการตั้งถิ่นฐานและการเข้าอยู่อาศัยของชุนชนโบราณบริเวณวัดเวียง วัฒนธรรมการใช้เครื่องปั้นดินเผา ลักษณะหม้อลายเขียนสี ซึ่งพบในแหล่งโบราณคดีบ้านมณฑลอีกด้วย กำไลสำริดขนดไขว้ นอกจากนั้นยังกล่าวถึงที่มาของโบราณวัตถุบางชิ้นที่สำคัญในชุมชนโบราณไชยา ได้แก่ กลองมโหระทึกสำริดที่พบในเขตอำเภอไชยา ชิ้นส่วนเสมาธรรมจักรหินจากแหล่งโบราณคดีในตำบลทุ่ง ชิ้นส่วนพระกรและพระหัตถ์ของพระโพธิสัตว์สำริดจากแหล่งโบราณคดีเขาพนมแบก เครื่องมือเครื่องใช้โลหะและภาชนะเขียนสี จากแหล่งโบราณคดีวัดเววน กลุ่มเทวรูปพระวิษณุ (นารายณ์) หิน ๓ องค์ และพระพุทธรูปจากวัดใหม่ชลธาร ตลอดจนเสนอแนวความคิดที่ว่ามีศิลปกรรมแบบทวารวดีในชุมชนโบราณไชยา และชุมชนโบราณไชยายังเป็นชุมชนสมัยศรีวิชัยตอนปลาย

         พ.ศ. ๒๕๑๕ สแตนลี่ เจ.โอ. คอนเนอร์ จูเนียร์ (Stanley J.O' Connor Jr.) ใน ผลงานเรื่อง “Hindu Gods of Peninsular Siam” (Ascona : Artibus Asiae) เสนอข้อวินิจฉัยเกี่ยวกับเทวรูปพระวิษณุหิน ๔ กรจากแหล่งโบราณคดีวัดศาลาทึงว่าเป็นประติมากรรมฮินดูที่เก่าแก่ที่สุดในเอเชียอาคเนย์คือมีอายุถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๐ เป็นประติมากรรมที่ได้รับอิทธิพลศิลปะอินเดียแบบมถุราจากอินเดียใต้ (ตามแบบอย่างอิทธิพลเมืองอันธารประเทศ) โดยเฉพาะอย่างยิ่งลักษณะของการถือสังข์ที่สะโพก แต่ขนาดสัดส่วนที่ใหญ่เทอะทะน่าจะแสดงให้เห็นว่าเป็นลักษณะของประติมากรรมที่ทำขึ้นในท้องถิ่น ประติมากรรมชิ้นนี้เป็นหลักฐานสำคัญที่อาจยืนยันได้ว่าชุมชนโบราณไชยาติดต่อกับวัฒนธรรมอินเดียในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๙-๑๑ ตรงตามที่ปรากฏในจดหมายเหตุจีน

         พ.ศ. ๒๕๑๖ ประยูร อุลุชาฏะ (หรือ น. ณ ปากน้ำ) ในผลงานเรื่อง “สถูปเจดีย์ในประเทศไทย” กล่าวถึงลักษณะทางสถาปัตยกรรมของพระบรมธาตุไชยาและเจดีย์วัดแก้วว่า เป็นเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยมก่อด้วยอิฐสอยางไม้สนิท การเรียงอิฐไม่มีระบบ แต่เทคนิคการก่ออิฐประณีตคล้ายปราสาทขอมรุ่นแรก (แบบเดียวกับปรางค์แขกลพบุรี) ลักษณะเป็นเจดีย์สี่เหลี่ยมทรงมณฑปคล้ายกับจันทิเมนดุดในชวา ซึ่งเป็นศิลปกรรมศรีวิชัย และเจดีย์ในชุมชนโบราณไชยานี้มีอิทธิพลต่อเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยมทรงสูงในสุโขทัย เชียงใหม่และเชียงแสน (เช่น เจดีย์วัดตระพังทองหลาง เจดีย์วัดตึกในจังหวัดสุโขทัย เจดีย์วัดเขาใหญ่ อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย)

         พ.ศ. ๒๕๑๗ ธรรมทาส พานิชในผลงานเรื่อง “ประวัติศาสตร์พุทธศาสนาสมัยศรีวิชัย” เสนอแนวความคิดว่าเมืองไชยาโบราณเป็นราชธานีของศรีวิชัยระหว่าง พ.ศ. ๑๒๐๙-๑๓๑๐ มีชื่อเรียกว่ากรุงปาตลีบุตร หรือ กรุงสุวรรณปุระ หรือ โฉโป หรือ ซี-หลี-ฮุด-ซี หรือกรุงศรีโพธิ เป็นศูนย์กลางการปกครองวัฒนธรรมทางพุทธศาสนาร่วมกับกรุงตามพรลิงค์ที่นครศรีธรรมราช

         พ.ศ. ๒๕๑๗ ศาสตราจารย์ซอง บวสเซอลิเยร์ (Professeur Jean Boisselier) เสนอผลงานเรื่อง “La Sculpture en Thailande” ให้การวินิจฉัยที่สำคัญ คือ

         ๑) ประติมากรรมจากชุมชนโบราณไชยา มีลักษณะของคตินิยมในการสร้างต่าง ๆ กันไป ไม่ได้อยู่ในสกุลช่างแบบเดียวกันทั้งหมด

         ๒) รูปประติมากรรมพระวิษณุหินจากวัดศาลาทึง เป็นตัวอย่างของรูปเคารพรุ่นแรก ๆ แสดงอิทธิพลอินเดียใต้ เป็นประติมากรรมในช่วงสมัยก่อนพระนครของอาณาจักรเขมร

         ๓) ประติมากรรมรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรที่พบในชุมชนโบราณไชยา มี ๒ ลักษณะ คือ เป็นพระโพธิสัตว์แสดงลักษณะของนักบวชหนุ่ม กับพระโพธิสัตว์ในลักษณะของเจ้าชาย

         ๔) ประติมากรรมรูปพระโพธิสัตว์หินจากชุมชนโบราณไชยา มีลักษณะของศิลปะแบบปัลลวะมากกว่าศิลปะของชวาภาคกลาง

         ๕) พระพุทธรูปนาคปรกสำริดจากแหล่งโบราณคดีวัดเวียง เป็นตัวอย่างของพระพุทธรูปศิลปะอิทธิพลเขมรแบบบายนและจัดให้อยู่ใน “สกุลช่างไชยา”

         ๖) สุริยะเทพหิน ซึ่งพบจากแหล่งโบราณคดีวัดศาลาทึง เป็นตัวอย่างของศิลปกรรมอิทธิพลโจฬะ กำหนดอายุได้ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๖

         พ.ศ. ๒๕๑๘ เอช.จี ควอริทช์ เวลส์ (H.G.Quaritch Wales) ตีพิมพ์ผลงานเรื่อง “The Malay Peninsula in Hindu Times” ได้กล่าวถึงพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรหินขนาดสูง ๔๕ นิ้ว ว่าพบที่แหล่งโบราณคดีวัดศาลาทึง เป็นประติมากรรมที่มีลักษณะแบบหลังคุปตะ โดยเป็นแบบอย่างของศิลปกรรมสมัยศรีวิชัยบนคาบสมุทร และมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ และน่าจะเก่ากว่าพระโพธิสัตว์สำริดขนาดใหญ่ครึ่งองค์ซึ่งพบที่แหล่งโบราณคดีวัดพระบรมธาตุไชยาฯ

         พ.ศ. ๒๕๑๙-๒๕๒๒ กองโบราณคดี กรมศิลปากร ดำเนินการขุดแต่งบูรณะโบราณสถานวัด แก้ว ทำให้ปรากฏลักษณะที่ชัดเจนของโบราณสถานวัดแก้วว่า แผนผังขององค์เจดีย์เป็นแกนกากบาทมีเทคนิคขัดสอดินแบบพระบรมธาตุไชยา ฐานอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสและเจดีย์รูปจัตุรัสย่อมุม ผลการขุดแต่งบูรณะครั้งนี้ทำให้ศาสตราจารย์ชอง บวสเซอลิเยร์ (Professeur Jean Boisselier) เมื่อเดินทางมาศึกษาโบราณสถานวัดแก้วหลังการบูรณะ ได้เสนอบทความเรื่อง “Degagement du phra chedi de Wat Keo, Chaiya” ใน Journal of the Siam Society LXVII pt II July 1979 กล่าวถึงลักษณะอันเป็นแบบฉบับของวัดแก้วว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่มีอุโบสถหรือห้องคูหาประกอบกันเป็นองค์ประกอบแกนกลาง ลักษณะของแผนผัง บัวฐานอาคารและลักษณะบางประการของมุขเด็จคล้ายสถาปัตยกรรมชวา แต่แผนผังรูปด้านคล้ายสถาปัตยกรรมจาม กล่าวคือลักษณะของเสาคล้ายศาสนสถานองค์กลางที่ดงเดือง ดังนั้นสถาปัตยกรรมที่วัดแก้วจึงเป็นงานสถาปัตยกรรมแบบผสมมีลักษณะการริเริ่มและได้รับอิทธิพลหลายรูปแบบ มีอายุราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕ ส่วนประติมากรรมที่พบเพิ่มเติมจากการขุดแต่งบูรณะครั้งนี้ที่สำคัญ คือ พระพุทธรูปหินประทับนั่ง (ไม่มีเศียร) บนฐานมีลายสลักรูปวัชรคู่และรูปสิงห์ซึ่งพบในซุ้มเล็กด้านทิศตะวันออกขององค์วัดแก้ว เป็นรูปของพระพุทธเจ้าอักโษภยะ หรือพระพุทธรูปชินะ อักโษภยะ กำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕

         หลังการขุดแต่งและบูรณะกรมศิลปากรได้มอบหมายให้นายเขมชาติ เทพไชย ขุดตรวจสอบชั้นดินวัฒนธรรมและขุดตรวจสอบแนวอิฐทางด้านตะวันออกขององค์เจดีย์ในบริเวณวัดแก้ว ปรากฏตามรายงานทางวิชาการ (เสนอต่อกองโบราณคดี กรมศิลปากร) และบทความเรื่อง “การสำรวจขุดค้นวัดแก้ว อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี” (นิตยสารศิลปากร ปีที่ ๒๔ ฉบับที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๓) มีสาระสำคัญคือ

         ๑) สถูปประกอบที่มุมต่าง ๆ ขององค์เจดีย์วัดแก้ว ทำด้วยหินทรายแดง ซึ่งน่าจะนำมาจากเขานางเอ (เขานางฮี) อยู่ห่างจากวัดแก้วประมาณ ๔ กิโลเมตร

         ๒) อิทธิพลอยุธยาในส่วนที่เป็นโบราณสถานไม่เด่นชัด นอกจากมุขด้านต่าง ๆ ขององค์เจดีย์ซึ่งพบพระพุทธรูปหินทรายแดงหลายองค์ที่เป็นศิลปะอยุธยาในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒

         ๓) ผลจากการขุดตรวจสอบบริเวณที่เป็นแนวอิฐด้านตะวันออกขององค์เจดีย์พบว่าน่าจะเป็นซากวิหาร ฐานรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง ๓ เมตร ยาว ๗.๕ เมตร

         ๔) ขุดพบโบราณวัตถุในแหล่งโบราณคดีวัดแก้ว ได้แก่ ขวานหินขัด เศษภาชนะดินเผาลายเขียนสี ลายกดประทับ ลายขูดขีด ภาชนะเคลือบของจีนสมัยราชวงศ์เหม็ง และเช็ง

         พ.ศ. ๒๕๒๑ โครงการสำรวจและขึ้นทะเบียนโบราณสถาน กองโบราณคดี กรมศิลปากร ขณะสำรวจแหล่งโบราณคดีต่าง ๆ ในชุมชนโบราณไชยาได้พบโบราณวัตถุสำคัญที่แหล่งโบราณคดีบ้าน ลำไย คือ ประภามณฑลของรูปเคารพหล่อด้วยสำริด ขนาดกว้าง ๙ เซนติเมตร สูง ๒๖ เซนติเมตร นอกจากนี้ยังได้รายงานถึงการพบและรวบรวมขวานหินขัดของชาวท้องถิ่น ซึ่งส่วนใหญ่ได้จากต้นน้ำคลองไชยาและในลำคลองไชยา

         พ.ศ. ๒๕๒๒ ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ เสนอผลงานเรื่อง “ศิลปทักษิณก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๙” (กรมศิลปากร) เสนอแนวความคิดสนับสนุนแนวความคิดที่ว่าไชยาเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรศรีวิชัย กล่าวคือจากการศึกษาศิลปะแสดงว่าไชยาเป็นศูนย์กลางทางพุทธศาสนาที่สำคัญที่สุดในสมัยอิทธิพลมอญและอาณาจักรทักษิณ ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ และในพุทธศตวรรษต่อมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ไชยาคงความเป็นศูนย์กลางของการสร้างสรรค์ศิลปกรรมควบคู่ไปกับบทบาททางการเมืองในฐานะที่เป็นศูนย์กลางของอาณาจักรศรีวิชัย ซึ่งปกครองทั้ง ๒ ฝั่งทะเลของดินแดนแถบคาบสมุทร

         พ.ศ. ๒๕๒๔ อมรา ขันติสิทธิ์ นักโบราณคดี กรมศิลปากร ดำเนินการขุดค้นแหล่งโบราณคดีวัดเวียง ผลจากการขุดค้นพบว่าเป็นแหล่งเข้าอยู่อาศัยของชุมชนในพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘ ร่วมสมัยกับศิลาจารึกหลักที่ ๒๔ ก. และ ๒๔ ข. โดยพบหลักฐานที่สำคัญคือเครื่องปั้นดินเผาแบบพื้นเมืองลายกดประทับและลายเขียนสีเนื้อดินขาวและเนื้อดินขาวเหนียว เครื่องเคลือบจีนสมัยราชวงศ์ซ้องและหยวน เครื่องถ้วยแบบลพบุรี ลูกปัดแก้วและลูกปัดแก้วประกอบหิน ลูกกลิ้งหินบด หินลับ ลูกกระสุนดินเผา ฯลฯ และสำรวจเพิ่มเติมแหล่งโบราณคดีบ้านลำไย แหล่งโบราณคดีวัดอิฐ ซึ่งเคยพบฐานศิวลึงค์ (โยนิโทรณะ) ปรากฏว่ารอยร่องรอยของซากศาสนสถานอิฐ

         พ.ศ. ๒๕๒๔-๒๕๒๕ เขมชาติ เทพไชย และบรรจง วงศ์วิเชียร ดำเนินการขุดค้น ขุดแต่ง และบูรณะแหล่งโบราณคดีวัดหลง แหล่งโบราณคดีแหลมโพธิ์ ปรากฏบทความและรายงานทางวิชาการ ได้แก่ “หลักฐานใหม่เกี่ยวกับการเดินเรือสมัยศรีวิชัยที่แหลมโพธิ์ อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี” (นิตยสารศิลปากร ปีที่ ๒๖ ฉบับที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๕) โดยเขมชาติ เทพไชย และภุชชงค์ จันทวิช “The Excavation at Laem Pho : A Srivijaya entrepot” (SPAFA : final Report Consultative Workshop on Archaéology and Environmental Studies on Srivijaya (T.W. 3) Bangkok and South Thailand March 29-April 11, 1983) by Khemchati Thepchai.) “การสำรวจขุดค้นและศึกษาทางด้านโบราณคดีเพื่อหาหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องศรีวิชัย” โดยเขมชาติ เทพไชย และ “การสำรวจ ขุดค้น ขุดแต่ง เพื่อทำหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องศรีวิชัย” โดย บรรจง วงศ์วิเชียร (รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์โบราณคดีศรีวิชัย ณ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ๒๕-๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๕)

         .๒๕๒๔-๒๕๒๖ ณัฎฐภัทร และภุชชงค์ จันทวิช ในผลงานเรื่อง “เครื่องถ้วยจีนที่พบจากแหล่งโบราณคดีในประเทศไทย” (วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, พ.ศ. ๒๕๒๔) “ความสัมพันธ์ทางด้านเครื่องถ้วยจีนที่เกี่ยวข้องกับศรีวิชัย” (รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์โบราณคดีศรีวิชัย ณ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ๒๕-๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๕) “เครื่องถ้วยจีนจากแหล่งโบราณคดีแหลมโพธิ์และป่ายาง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี” (ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๖) กล่าวถึงเครื่องถ้วยชามจีนที่พบในชุมชนโบราณไชยา คือ

         ๑) “เครื่องถ้วยวัดหลง” เป็นถ้วยชามจีนแบบเครื่องถ้วยจากเตาหลงฉวน ได้ชื่อว่าเครื่องถ้วยวัดหลง เนื่องจากขุดพบครั้งแรกที่วัดหลง กำหนดอายุได้ว่าอยู่ในสมัยราชวงศ์หยวนของจีน หรือประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๙

         ๒) เครื่องถ้วยจีนแบบอื่น ๆ ที่พบในชุมชนโบราณไชยา ได้แก่ เครื่องถ้วยเขียวไข่กาจากภาคเหนือของจีน กระปุกลายครามสมัยราชวงศ์หยวนและเหม็ง

         ๓) เครื่องถ้วยจีนที่พบในแหล่งโบราณคดีแหลมโพธิ์ เป็นเครื่องถ้วยชามจีนแบบฉางช่าและแบบซิ่งเหยา มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕

         พ.ศ. ๒๕๒๕ ธรรมทาส พานิช เสนอบทความเรื่อง “วิหารพราหมณ์เมืองไชยา” (ในหนังสือชุมนุมแถลงกิจการของมูลนิธิในอำเภอไชยา) ได้กล่าวถึงซากศาสนสถานในบริเวณแหล่งโบราณคดีวัดศาลาทึง วัดพระบรมธาตุไชยาฯ วัดใหม่ท่าโพธิ์ (หรือวัดใหม่ชลธาร) วัดเวียง วัดโพธาราม ว่าเป็นซากของวิหารพราหมณ์ในสมัยศรีวิชัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งซากศาสนสถานบริเวณวัดศาลาทึงเคยเป็นที่ดอน ชาวท้องถิ่นเรียกว่า ดอนรายณ์ หรือ ในรายณ์ เป็นสถานที่พบพระวิษณุ แท่นโยนิ สุริยะเทพและยังมีสระน้ำในบริเวณข้างเคียง ส่วนวิหารพราหมณ์วัดเวียงน่าจะได้แก่ บริเวณที่เรียกว่า วิหารพระหมอ และเป็นบริเวณเดียวกับที่เคยพบศิลาจารึกหลักที่ ๒๔ ก. และ ๒๔ ข.

         พ.ศ. ๒๕๒๕-๒๕๒๖ กรมศิลปากรจัดการสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “ประวัติศาสตร์โบราณคดีศรีวิชัย” (๒๕-๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๕) และ “SPAFA consultative workshop on Archaéological and Environmental Studies on Srivijaya (T.W. 3) March 29-April 11, 1983” นักวิชาการต่าง ๆ ได้เสนอบทความและความเห็นในที่ประชุมสัมมนามีสาระสำคัญที่เกี่ยวกับชุมชนโบราณไชยา คือชุมชนโบราณไชยาในช่วงสมัยของศรีวิชัยมีความสัมพันธ์กับชุมชนอื่น ๆ ทั้งในดินแดนภาคใต้มาเลเซียและอินโดนีเซียที่พบหลักฐานในสมัยศรีวิชัยในฐานะสมาพันธรัฐที่ศูนย์กลางอำนาจเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่มีวัฒนธรรมศรีวิชัยร่วมกันคือ การนับถือพุทธศาสนาลัทธิมหายาน

         พ.ศ. ๒๕๒๖ ก่องแก้ว วีระประจักษ์ นักภาษาโบราณ กองหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร เสนอผลงานเรื่อง “พบภาษาไทยในจารึก่อนมีลายสือไทย” (นิตยสารศิลปากร ปีที่ ๒๗ ฉบับที่ ๕ พ.ศ. ๒๕๒๖) ให้ข้อวินิจฉัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับจารึกบนฐานพระพุทธรูปนาคปรกสำริดจากแหล่งโบราณคดีวัดเวียงว่าจารึกโดยใช้รูปแบบอักษรขอมแต่มีคำภาษาไทย เช่น ลักษณะการบอกศักราชแบบไทย (มีศักราชแล้วต่อท้ายด้วยปีนักษัตร) ซึ่งแสดงว่ามีภาษาไทยใช้ในดินแดนภาคใต้ในพุทธศตวรรษที่ ๑๘

         พ.ศ. ๒๕๒๗ ประยูร อุลุชาฏะ (หรือ น. ณ ปากน้ำ) เสนอบทความเรื่อง “ศิลปะโบราณที่สุราษฎร์ธานี” (เมืองโบราณ ปีที่ ๑๐ ฉบับที่ ๑ มกราคม-มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๗) วินิจฉัยว่าพระสุริยะเทพหินจากวัดศาลาทึง เป็นประติมากรรมฝีมือช่างไชยาโบราณ (ช่างท้องถิ่น) มีลักษณะทางศิลปะคุปตะ กำหนดให้มีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๐-๑๑ ส่วนพระพุทธรูปหินทรายแดงในชุมชนโบราณไชยา เป็นศิลปกรรมในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ หรือต้นสมัยสุโขทัย

         พ.ศ. ๒๕๒๗ วิทยาลัยครูสุราษฎร์ธานี (มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีปัจจุบัน) จัดสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “ประวัติศาสตร์สุราษฎร์ธานี” ระหว่างวันที่ ๒๐-๒๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๗ ได้มีนักวิชาการเสนอเอกสารประกอบการสัมมนา โดยมีแนวความคิดสำคัญ ๆ ได้แก่ บทความของภิญญู ภิญโญศิริกุล เรื่อง “เมืองไชยาในอดีต” เสนอข้อสันนิษฐานว่า “ชาวไทร-หยา” หรือชนพื้นเมืองเดิมซึ่งอยู่บริเวณเขาเพ-ลา ในเขตอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี น่าจะเป็นผู้คนที่คลี่คลายมาจากชนก่อนประวัติศาสตร์ เป็นบรรพบุรุษของชนโบราณสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ของไชยา บทความของ ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ เรื่อง “หลักฐานทางโบราณคดี รอบอ่าวบ้านดอนระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๐-๑๔" ได้เสนอแนวความคิดในการจำแนกศิลปกรรมที่พบในชุมชนโบราณไชยาเป็นสมัยอิทธิพลต่างๆ ได้แก่ สมัยอิทธิพลอินเดีย (พ.ศ. ๕๙๓-๑๐๔๓) ตัวอย่างคือพระวิษณุจากแหล่งโบราณคดีวัดศาลาทึง สมัยอิทธิพลมอญ (พ.ศ. ๑๐๔๓-๑๓๑๘) ตัวอย่างคือพระโพธิสัตว์สำริดครึ่งพระองค์และพระโพธิสัตว์หินจากวัดพระบรมธาตุไชยาฯ พระพุทธรูปหินปางสมาธิจากวัดพระบรมธาตุไชยาฯ ภาชนะดินเผาลายเขียนสีจากแหล่งโบราณคดีวัดเวียงและบ้านมณฑล และสันนิษฐานว่าความเจริญสูงสุดของศิลปกรรมสมัยนี้ น่าจะแสดงว่าไชยาเคยเป็นที่ตั้งของรัฐจิถูและรัฐโฟชิหรือชิลิโฟชิ (ศรีวิชัย)ในจดหมายเหตุจีน สมัยอิทธิพลอินเดีย-ชวา (พ.ศ. ๑๓๑๘-๑๔๙๓) ตัวอย่างคือ พระโพธิสัตวอวโลกิเตศวร ๘ กรจากวัดพระบรมธาตุไชยาฯ (อยู่ในสกุลช่างไชยา) พระพุทธเจ้าอักโษภยะ (อยู่ในแบบจาม) สมัยอิทธิพลเขมร (พ.ศ. ๑๔๙๓-๑๘๓๕) ตัวอย่างคือพระสุริยะเทพหินจากวัดศาลาทึง สมัยอิทธิพลมอญ-หริภุญไชย (พ.ศ. ๑๗๖๒-๑๘๓๕) ตัวอย่างคือ พระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัยจากวัดพระบรมธาตุไชยาฯ พระพุทธรูปนาคปรกสำริดฐานมีจารึกจากแหล่งโบราณคดีวัดเวียง บทความของ ปรีชา นุ่นสุข เรื่อง “มรดกทางวัฒนธรรมของศาสนาพราหมณ์ในสุราษฎร์ธานี” กล่าวถึงลักษณะของประติมากรรมศิลา ๓ องค์ จากวัดใหม่ชลธาร (ร้าง) ว่าองค์ที่สูง ๙๗ เซนติเมตร เป็นรูปพระวิษณุเศียรหัก พระหัตถ์ซ้ายทรงถือคทายื่นออกมาข้างหน้า องค์ที่สูง ๕๓ เซนติเมตร อาจเป็นพระวิษณุนุ่งผ้ายาวถือคทาแนบพระองค์ และองค์ที่สูง ๗๓ เซนติเมตร อาจเป็นรูปเทพี กำหนดให้ศิวลึงค์หินที่พบในซุ้มโบราณสถานวัดแก้ว (ขนาดสูง ๑๕ เซนติเมตร) มีอายุราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๑-กลางพุทธศตวรรษที่๑๒ ส่วนพระพิฆเนศวรหินทรายแดงจากวัดแก้วเช่นเดียวกัน (ขนาดสูง ๔๓เซนติเมตร) มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงโยนิโทรณะหินจากวัดพระบรมธาตุไชยาฯ ว่ามีลักษณะพิเศษ คือ มีรางน้ำมนต์ ๒ ด้านตรงข้ามกัน โยนิโทรณะหินจากวัดศาลาทึงมีลักษณะคล้ายคลึงกับโยนิโทรณะจากแหล่งโบราณคดีเขาศรีวิชัยในชุมชนโบราณพุนพิน

         บทความของรองศาสตราจารย์อนุวิทย์ เจริญศุภกุล เรื่อง “บทบาทของสถาปัตยกรรมแบบศรีวิชัยกลุ่มไชยากับประวัติศาสตร์อารยธรรมเอเชียอาคเนย์ : แนวความคิดเบื้องต้น” เสนอแนวความคิดที่สำคัญคือ เจดีย์ในกลุ่มชุมชนโบราณไชยาฯ เป็นสถาปัตยกรรมเนื่องในพุทธศาสนามหายานนิกายวัชรยาน มีแผนผังแบบวัดมหายานในเบงกอลก่อสร้างโดยใช้อิฐขัดก่อสอดินและใช้แผ่นหินเป็นกรอบประตู มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕ ตัวอย่างสำคัญได้แก่ เจดีย์วัดพระบรมธาตุไชยาฯ เจดีย์วัดแก้ว และเจดีย์วัดหลง ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมใน “สกุลช่างศรีวิชัย” โดยพระบรมธาตุไชยาฯ มีแผนผังรูปทรงคล้ายคลึงกับแบบจันทิที่ปรากฏอยู่ในผนังที่ ๔๐ ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของบุโรพุทโธ ส่วนเจดีย์วัดหลงก็ใช้เทคนิคก่อสร้างเช่นเดียวกับเจดีย์วัดแก้วและวัดพระบรมธาตุไชยาฯ แต่เนื่องจากอิฐส่วนบนถูกรื้อไปทำกำแพงแก้วในครั้งบูรณะพระบรมธาตุ จึงไม่ปรากฏรูปทรงตอนบน

         ลักษณะของชุมชนโบราณ

         ชุมชนโบราณไชยามีแหล่งโบราณคดีต่าง ๆ อยู่รวมกันหรือกระจายกันเป็นกลุ่ม ๆ ตามสภาพ ทางภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกัน พรมแดนของชุมชนทางทิศเหนือเป็นเขาพนมแบกและพื้นที่ราบลุ่มกว้างใหญ่ต่อแดนไปถึงแหล่งโบราณคดีในชุมชนโบราณท่าชนะและปากน้ำท่ากระจาย ทางทิศตะวันออกจดฝั่งทะเลอ่าวไทยหรืออ่าวบ้านดอนที่ซึ่งลำน้ำหลายสายไหลผ่านชุมชนออกสู่ทะเล ทางทิศตะวันตกเป็นบริเวณหมู่บ้านโมถ่ายอยู่ใกล้พื้นที่ป่าเขา ต้นน้ำคลองไชยา คลองท่าตีนและแนวเทือกเขาหลังคาตึกอันเป็นแนวหนึ่งของทิวเขาที่แบ่งภูมิภาคด้านตะวันตกและด้านตะวันออกของภาคใต้ ทางทิศใต้สิ้นสุดขอบเขตชุมชนที่แนวลำคลองท่าปูนและเขาพุดทอง (หรือเขาโพธิ์ทองบริเวณที่ตั้งสวนโมกขพลาราม)

         ลักษณะภูมิสัณฐานที่สำคัญในบริเวณชุมชน ได้แก่ แนวสันทรายไชยาซึ่งวางตัวพาดในแนวเหนือใต้บริเวณตอนกลางของชุมชน เป็นสันทรายยาวประมาณ ๓ กิโลเมตร กว้างประมาณ ๓๐๐-๔๐๐ เมตร และสูงกว่าพื้นที่ราบลุ่มซึ่งเป็นที่ทำการกสิกรรมและเกษตรกรรมโดยรอบประมาณ ๑-๒ เมตร มีคลองไชยาไหลผ่านทางตอนเหนือ และเขาน้ำร้อนซึ่งเป็นเขาลูกโดด (สูงประมาณ ๕๐ เมตร) อยู่ทาง ตอนใต้

         พื้นที่ตอนกลางชุมชนมีแนวลำคลองสำคัญ ๒ สายไหลคู่ขนานกัน คือ คลองท่าตีนอยู่ทางเหนือของแนวสันทรายกับคลองไชยาไหลตัดแนวสันทรายตอนเหนือ ทั้งคลองท่าตีนและคลองไชยามีต้นน้ำมาจากแนวเขาแดนซึ่งอยู่ทางตะวันตกของชุมชนคลองท่าตีนและคลองไชยาไหลผ่านพื้นที่ราบบริเวณป่าเขาอันเป็นที่ซึ่งพบหลักฐานว่าเป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์แห่งหนึ่ง (แหล่งปากหมาก) ผ่านพื้นที่ราบลุ่มทางด้านตะวันตก และด้านเหนือของสันทราย (เฉพาะคลองไชยาไหลตัดผ่านสันทราย) แล้วผ่านที่ราบลุ่มด้านตะวันออก ออกสู่ทะเลอ่าวไทยที่ตำบลพุมเรียง

         ทางด้านตะวันออกของชุมชนประกอบด้วยพื้นที่ราบลุ่มต่อกับพื้นที่ป่าชายเลนและชายฝั่งทะเล มีเส้นทางน้ำสำคัญ ๆ ได้แก่ คลองท่าโพธิ์ คลองตะเคียน และคลองพุมเรียง อันเป็นเส้นทางคมนาคมติดต่อระหว่างกลุ่มชุมชนชายฝั่งทะเลกับกลุ่มชุมชนแนวลำน้ำด้านตะวันออก

         นอกจากนี้ยังมีบริเวณที่เป็นริ้วสันทรายเล็ก ๆ กระจัดกระจายอยู่บริเวณด้านตะวันออกและหย่อมเนินเขา หรือเขาลูกโดดเล็ก ๆ ทางตอนเหนือ ตะวันตก และทางตอนใต้ โดยเนินเขาบางแห่งอาจอยู่ในแนวของสันทราย เช่น เขาน้ำร้อน บางแห่งอาจอยู่ในแนวลำน้ำ เช่น เขาสายสมอ

         บริเวณสำคัญที่สุดสำหรับการก่อตั้งเป็นชุมชน คือ แนวสันทรายไชยา อันเป็นที่ตั้งของแหล่ง โบราณคดีวัดเวียง วัดแก้ว วัดหลง

         ตามสภาพทางภูมิศาสตร์และตำแหน่งที่ตั้งของสันทรายไชยาแห่งนี้ นอกจากจะอยู่ในทำเลที่เป็นแกนกลางของชุมชนแล้วยังอยู่ในทำเลที่สามารถเชื่อมโยงกลุ่มชุมชนต่าง ๆ เข้าด้วยกัน กล่าวคือ สามารถติดต่อกับกลุ่มชุมชนตามแนวลำคลองไชยา ทั้งทางด้านตะวันตกใกล้พื้นที่ป่าเขาและทางด้านตะวันออกบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเล

         สภาพภูมิประเทศที่ด้านหนึ่งเป็นชายฝั่งทะเล มีเส้นทางน้ำหลายสายจากต้นน้ำในพื้นที่ป่าเขาไหลผ่านพื้นที่ราบลุ่มและหย่อมเนิน ตลอดจนแนวสันทรายและริ้วสันทรายเล็ก ๆ ทำให้บริเวณนี้สามารถพัฒนาการตั้งถิ่นฐานจนกลายเป็นชุมชนสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่สุดชุมชนหนึ่ง ของภาคใต้

         หลักฐานทางโบราณคดีและเรื่องราวของชุมชน

          ชนพื้นเมืองเดิมกับการก่อตั้งเป็นชุมชนสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์

         จากการศึกษาทางโบราณคดีในเขตอำเภอไชยา นักโบราณคดีพบว่ามี “แหล่งพบหลักฐาน” ร่วมสมัยก่อนประวัติศาสตร์บริเวณที่เรียกว่าแหล่งโบราณคดีปากหมาก (บ้านโมถ่าย) ต้นน้ำคลองไชยาทางแนวเขาด้านตะวันตกของชุมชน นอกจากนั้นแล้วยังปรากฏวัฒนธรรมทางวัตถุรูปแบบนิยมของสมัยก่อนประวัติศาสตร์ (ขวานหินขัด กลองมโหระทึกสำริด) ในบริเวณขอบเขตของชุมชน ทำให้นักโบราณคดีสันนิษฐานว่ากลุ่มชนก่อนประวัติศาสตร์ในพื้นที่ป่าเขาทางตะวันตกน่าจะเป็นกลุ่มชนที่เคลื่อนย้ายลงมาตั้งถิ่นฐานบนพื้นที่ราบตามแนวลำน้ำ และมีการติดต่อกับชุมชนสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์หรือสมัยประวัติศาสตร์จากภายนอกขณะที่ยังเป็นกลุ่มชนที่ดำรงชีวิตแบบชุมชนเกษตรกรรมไม่น้อยกว่าพุทธศตวรรษที่ ๕ และสืบเนื่องต่อมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๐ ด้วยเหตุที่ลักษณะของชุมชนประกอบด้วยพื้นที่ราบกว้างใหญ่ มีเส้นทางน้ำหลายสายไปออกสู่ทะเล กลุ่มชนได้กระจายกันอยู่ตามลุ่มน้ำต่าง ๆ นอกจากดำรงชีวิตด้วยการเกษตรกรรม กสิกรรม หาของป่า ยังดำรงชีวิตด้วยการประมง (จับสัตว์น้ำ) ทั้งในห้วงน้ำลำคลองและทะเลทางฝั่งตะวันออก ทำให้การก่อตั้งชุมชนขยายไปทางตะวันออกบนสันทรายแนวฝั่งลำน้ำและพื้นที่ราบลุ่มชายฝั่งทะเล

         ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๐ ปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีที่แสดงให้เห็นว่ากลุ่มชนต่าง ๆ ในชุมชนโบราณไชยาติดต่อรับอารยธรรมจากนักเดินเรือต่างชาติที่เดินเรือเข้ามาทางอ่าวบ้านดอน หรือฝั่งทะเลตะวันออกของชุมชุน

         การติดต่อกับชุมชนภายนอก

         นอกจากกลองมโหระทึกสำริดที่พบในชุมชน ซึ่งเป็นหลักฐานอย่างหนึ่งที่อาจสันนิษฐานได้ว่าชุมชนโบราณไชยาเริ่มติดต่อทางทะเลกับต่างชุมชนไม่น้อยไปกว่าพุทธศตวรรษที่ ๕ แล้ว ลักษณะทำเลที่ตั้งอันเหมาะสมของชุมชนยังเอื้ออำนวยต่อการติดต่อทางทะเลกับชุมชนโพ้นทะเลอันนำไปสู่การพัฒนาขึ้นเป็นชุมชนเมืองท่าของชุมชนในช่วงระยะเวลาต่อมา ชุมชนโพ้นทะเลที่เข้ามาทางฝั่งทะเลตะวันออกติดต่อกับชุมชนโดยตรงน่าจะได้แก่ ชุมชนในดินแดนประเทศเขมร เวียดนาม จีน ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือและชุมชนในดินแดนทางทิศใต้ บริเวณหมู่เกาะในประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย โดยชุมชนโบราณไชยาอาจเป็นเมืองท่าหรือสถานีแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างเรือจีนหรือเรือของชนชาติทางฝั่งทะเลตะวันออกกับอินเดียและอาหรับ แหล่งโบราณคดีในชุมชนที่น่าจะเป็นเมืองท่าสำคัญอาจเริ่มจากกลุ่มชุมชนชายฝั่งทะเล เป็นต้นว่าแหล่งโบราณคดีแหลมโพธิ์ ซึ่งพบหลักฐานเครื่องถ้วยชามจีนและเครื่องแก้วอาหรับตลอดจนลูกปัดแบบอินเดียระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕ ขณะที่กลุ่มชุมชนบนแนวสันทรายและแนวลำน้ำได้สถาปนาขึ้นเป็นชุมชนเมือง ศูนย์กลางการปกครองและศาสนา ซึ่งไม่เพียงแต่ติดต่อกับนักเดินเรือต่างชาติทางเมืองท่าในชุมชนบริเวณฝั่งตะวันออกเท่านั้น แต่ได้ติดต่อกับชุมชนในดินแดนในดินแดนภาคใต้ ทางฝั่งตะวันออกที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง เช่น ชุมชนโบราณท่าชนะ ชุมชนโบราณพุนพิน และชุมชนตอนกลางแผ่นดิน เช่น ชุมชนโบราณเวียงสระ ตลอดจนอาจใช้เส้นทางข้ามคาบสมุทรโดยลัดแนวช่องเขาทางด้านตะวันตกเพื่อข้ามไปสู่ชุมชนทางฝั่งตะวันตก เช่น ชุมชนโบราณตะกั่วป่าอันเป็นเมืองท่าที่ตั้งรับเรือเดินทะเลจากอาหรับและอินเดียโดยตรง การติดต่อเชื่อมโยงกับชุมชนต่าง ๆ ร่วมสมัยเดียวกันนี้ ทำให้ชุมชนโบราณไชยามีวัฒนธรรมผสมผสานทั้งตามแบบฉบับของวัฒนธรรมท้องถิ่นกับวัฒนธรรมจากต่างแดน ปรากฏรูปแบบของศิลปกรรมมากมายที่มีส่วนคล้ายคลึงกับศิลปกรรมที่ปรากฏในชุมชนโบราณอื่น ๆ ในภาคใต้

         ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙ หลักฐานทางโบราณคดี เช่น ศิลาจารึก เครื่องปั้นดินเผา และรูปแบบทางประติมากรรม ตลอดจนร่องรอยการเข้าอยู่อาศัยของคนในชุมชน เป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าชุมชนโบราณไชยาเจริญรุ่งเรืองขึ้นอีกครั้งหนึ่ง แม้ว่ากลุ่มชุมชนชายฝั่งทะเลที่เคยเป็นเมืองท่าได้ลดบทบาทลง แต่กลุ่มชุมชนบนสันทรายไชยาได้พัฒนาขึ้นเป็นชุมชนเมืองที่สำคัญเช่นเดียวกับสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕ การติดต่อกับดินแดนภายนอก ได้แก่ เขมรและอาณาจักรสุโขทัย ในช่วงสมัยนี้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงลักษณะบางประการของสังคม เช่น สถาบันศาสนาและการปกครองที่ต่างออกไปจากชุมชนในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕

         การประดิษฐานลัทธิศาสนา

         หลักฐานทางโบราณคดีในชุมชนโบราณไชยาแสดงให้เห็นว่าลัทธิศาสนาจากชนชาติอินเดีย ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๐ แพร่กระจายในกลุ่มชุมชนต่าง ๆ ปรากฏร่องรอยในรูปของการประดิษฐานศาสนสถานและรูปเคารพตามลัทธิศาสนา

         ลัทธิศาสนาสำคัญที่เข้ามาสู่ชุมชนโบราณไชยา ได้แก่ ศาสนาพุทธและศาสนาฮินดู โดยระยะสมัยแรกตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๐-๑๓ ปรากฏรูปเคารพในพุทธศาสนา ซึ่งนักวิชาการบางท่านวินิจฉัยว่าเป็นประติมากรรมแบบศิลปะทวารวดีและน่าจะเป็นพุทธศาสนาแบบหินยาน รูปเคารพเหล่านี้พบประปรายตามแหล่งโบราณคดีในกลุ่มชนต่าง ๆ กัน เช่น แหล่งโบราณคดีวัดโพธาราม ในกลุ่มชุมชนชายฝั่งทะเล แหล่งโบราณคดีวัดเววนและวัดพระบรมธาตุไชยา ในกลุ่มชุมชนแนวลำน้ำ แหล่งโบราณคดีวัดแก้ว ในกลุ่มชุมชนบนสันทรายไชยา

         อย่างไรก็ตามนักวิชาการยังไม่อาจวินิจฉัยถึงการประดิษฐานรูปเคารพทางพุทธศาสนารุ่นแรก ๆ เหล่านี้ได้อย่างชัดเจนเท่ากับรูปเคารพในศาสนาฮินดู

         รูปเคารพในศาสนาฮินดูมักปรากฏกระจายอยู่ตามแหล่งโบราณคดีต่าง ๆ ที่มีร่องรอยของซากศาสนสถานอิฐ ส่วนใหญ่มักเป็นศาสนสถานอิฐประกอบหิน กล่าวคือมีโครงสร้างของกรอบประตู ธรณีประตูทำด้วยหิน รูปเคารพหรือประติมากรรมในศาสนาฮินดู ได้แก่ รูปพระวิษณุ ศิวลึงค์และโยนิโทรณะ รูปพระสุริยะเทพ พระคเณศ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้คนในชุมชนรับนับถือศาสนาฮินดูทั้งลัทธิไศวนิกาย (การนับถือพระศิวะเป็นใหญ่) และไวษณพนิกาย (หรือวิษณุนิกาย การนับถือพระวิษณุเป็นใหญ่)

         แหล่งโบราณคดีในชุมชนโบราณไชยา ซึ่งพบหลักฐานว่าเคยเป็นที่ประดิษฐานศาสนาฮินดูที่สำคัญ ได้แก่ แหล่งโบราณคดีวัดใหม่ชลธาร วัดพระบรมธาตุไชยา วัดศาลาทึง ในกลุ่มชุมชนแนวลำน้ำ แหล่งโบราณคดีวัดแก้ว ในกลุ่มชุมชนบนสันทรายไชยา แหล่งโบราณคดีวัดอิฐ ในกลุ่มชุมชนบนสันทรายริ้วเล็ก ๆ

         ศาสนาฮินดูคงเป็นที่รับนับถือสืบเนื่องมาและเจริญรุ่งเรืองจนถึงราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ พุทธศาสนาแบบมหายานเข้ามามีบทบาทสำคัญและเจริญรุ่งเรืองที่สุดตลอดช่วง พุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕ ทำให้ศาสนาฮินดูลดความสำคัญลง

         พุทธศาสนาแบบมหายานประดิษฐานชัดเจนบริเวณกลุ่มชุมชนที่เป็นแกนกลางของชุมชนโบราณไชยา คือบนแนวสันทรายไชยาและแนวลำคลองไชยา ซึ่งประกอบด้วยแหล่งโบราณคดีที่สำคัญ คือ แหล่งโบราณคดีวัดพระบรมธาตุไชยา แหล่งโบราณคดีวัดแก้ว แหล่งโบราณคดีวัดหลง แหล่งโบราณคดีวัดเวียง แหล่งโบราณคดีวัดศาลาทึง แหล่งโบราณคดีบ้านป่าเว แหล่งโบราณคดีเหล่านี้ปรากฏหลักฐานสำคัญ คือ ศาสนสถานในรูปของเจดีย์ทรงมณฑป เป็นศาสนสถานอิฐขนาดใหญ่และใช้หินเป็นส่วนประกอบของโครงสร้างบางตอน บริเวณศาสนสถาน ซากศาสนสถานตลอดจนบริเวณชุมชนเข้าอยู่อาศัยแหล่งอื่น ๆ ปรากฏรูปเคารพในศาสนาพุทธลัทธิมหายาน เป็นต้นว่ารูปพระโพธิสัตว์ (หินและสำริด) นางดารา (สำริด) พระพุทธเจ้าอักโษภยะ

         ชุมชนพุทธศาสนามหายานหลายแหล่งได้ประดิษฐานศาสนสถานทางพุทธศาสนาขึ้นในบริเวณเดียวกับที่เคยเป็นที่ประดิษฐานศาสนาฮินดู เช่น แหล่งโบราณคดีวัดศาลาทึง แหล่งโบราณคดีวัดแก้ว แหล่งโบราณคดีวัดพระบรมธาตุไชยา

         พุทธศาสนาในชุมชนโบราณไชยาเจริญรุ่งเรืองอีกครั้งในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘ จนกระทั่งถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๙ มีทั้งพุทธศาสนามหายานและหินยาน โดยการรับอิทธิพลภาษาศิลปกรรมแบบเขมรและแบบสุโขทัย ซึ่งเติบโตขึ้นเป็นอาณาจักรสุโขทัยทางตอนเหนือในราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ศาสนสถานสำคัญ ๆ ของพุทธศาสนามหายานระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕ เช่น เจดีย์พระบรมธาตุไชยา วัดแก้ว ได้กลายเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปในแบบหินยานสืบต่อมาจนถึงสมัยอยุธยา

         อายุสมัยของชุมชน

         หลักฐานทางโบราณคดีในชุมชนโบราณไชยา ประกอบด้วยโบราณสถาน ได้แก่ ศาสนสถานในพุทธศาสนามหายาน ซากศาสนสถานในศาสนาฮินดู ศิลปวัตถุ ได้แก่ รูปเคารพตามลัทธิศาสนาทั้งศาสนาพุทธแบบหินยานและมหายาน ศาสนาฮินดูทั้งไศวนิกายและไวษณพนิกาย โบราณวัตถุอื่นๆ เช่น เครื่องถ้วยชามจีน เครื่องปั้นดินเผาแบบพื้นเมือง เครื่องใช้ในครัวเรือน เช่น หินลับ ลูกกลิ้ง หินบด และแท่นหินบด เครื่องประดับ เช่น ลูกปัด เครื่องแก้ว ตลอดจนการพบโบราณวัตถุแบบนิยมก่อนประวัติศาสตร์ เช่น ขวานหินขัด และกลองมโหระทึกสำริด นอกจากนั้นยังมีหลักฐานที่เป็นศิลาจารึกและอักษรจารึกบนฐานพระพุทธรูป ซึ่งสิ่งเหล่านี้นักวิชาการได้นำมาเป็นบรรทัดฐานในการกำหนดอายุสมัยของชุมชนโบราณวัตถุแบบนิยมก่อนประวัติศาสตร์ดังกล่าวอาจเป็นหลักฐานที่ใช้กำหนดได้ว่า กลุ่มคนตามพื้นที่ป่าเขาทางตะวันตกได้เริ่มก่อตั้งเป็นชุมชนโบราณไชยาไม่น้อยไปกว่าพุทธศตวรรษที่ ๕ และตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๐ หลักฐานจากสถาปัตยกรรมและศิลปกรรม เช่น ซากศาสนสถานและรูปเคารพในพุทธศาสนาและศาสนาฮินดู ตลอดจนเอกสารโบราณและจารึก แสดงให้เห็นเรื่องราวของการรับอารยธรรมสมัยประวัติศาสตร์จากอินเดียทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อพัฒนาเป็นชุมชนสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๓ เป็นช่วงสมัยของการประดิษฐานพุทธศาสนาควบคู่ไปกับศาสนาฮินดู แต่ต่อมาในระหว่างต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๔ ถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๕ พุทธศาสนาแบบมหายานกลายเป็นลัทธิศาสนาที่สำคัญที่สุดของชุมชน ศาสนสถานอิฐและประติมากรรมเนื่องในศาสนานี้ประดิษฐานในชุมชนโบราณไชยาอย่างเด่นชัดยิ่งกว่าที่อื่นใดในภาคใต้ ขณะเดียวกันชุมชนโบราณไชยาได้กลายเป็นชุมชนเมืองท่าที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งทางฝั่งทะเลตะวันออก

         ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๗ หลักฐานที่จะแสดงถึงเรื่องราวความเจริญรุ่งเรืองของชุมชน เช่น พุทธศตวรรษที่ผ่านมาขาดหายไป นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าชุมชนโบราณไชยาอาจลดความสำคัญในฐานะเมืองท่าหรือเมืองแกนกลางทางพุทธศาสนาลง อันเนื่องมาจากการขยายตัวของชุมชนอื่น ๆ ตลอดจนการสงครามระหว่างชนชาติต่าง ๆ ในเอเชียอาคเนย์และเอเชีย

         หลักฐานเกี่ยวกับชุมชนโบราณไชยาปรากฏชัดเจนขึ้นอีกระหว่างปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๗ พุทธศตวรรษที่ ๑๘ และต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙ กล่าวคือเรื่องราวตามอายุสมัยของชุมชนในช่วงเวลานี้ปรากฏอยู่ในศิลาจารึกซึ่งพบในชุมชนประกอบกับศิลปวัตถุจากผลการสำรวจขุดค้นแหล่งโบราณคดีบางแหล่งในชุมชน หลักฐานดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าในช่วงสมัยนี้ ชุมชนโบราณไชยาเป็นชุมชนพุทธศาสนาภายใต้อิทธิพลทางการเมืองและวัฒนธรรมของเขมร นครศรีธรรมราช สุโขทัย และอยุธยาตามลำดับ (ธราพงศ์ ศรีสุชาติ) 

ชื่อคำ : ไชยา : ชุมชนโบราณ
หมวดหมู่หลัก : โบราณคดี ประวัติศาสตร์ และการเมืองการปกครอง
หมวดหมู่ย่อย : ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
ชื่อผู้แต่ง : ธราพงศ์ ศรีสุชาติ
เล่มที่ : ๕
หน้าที่ : ๒๔๖๓