หลวงคเชนทรามาตย์ เป็นบุคคลแรกและคนเดียวของพัทลุงที่ได้เข้าสู่เมืองดุสิตธานีสถานที่ทดลองการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย และได้เป็นข้าราชการปฏิบัติงานในเมืองดังกล่าว มีโอกาสได้รับใช้ใกล้ชิดใต้เบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในฐานะเป็นมหาดเล็กหลวงคเชนทรามาตย์เป็นนักปกครอง นักพัฒนาท้องถิ่น และเป็นที่เคารพนับถือของบรรดาข้าราชการน้อยใหญ่ของจังหวัดพัทลุง ในฐานะเป็นรัตตัญญูบุคคล และเป็นผู้สืบเชื้อสายคนสำคัญของตระกูล ณ พัทลุง
หลวงคเชนทรามาตย์ นามเดิม สมบุญ สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง เกิดวันอังคารขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๕ ปีระกา ร.ศ. ๑๑๖ ตรงกับวันที่ ๑๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๔๐ ที่บ้านตำบลลำปำ อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง เป็นบุตรของขุนสุคนธสมบัติ (ชม) และนางล้วน สุคนธสมบัติ ขุนสุคนธสมบัติสืบเชื้อสายมาจากสุลต่านสุไลมานชาวเปอร์เซีย (อดีตเจ้าเมืองพัทลุง สมัยตั้งอยู่ที่หัวเขาแดง ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา) โดยมีผู้สืบสายตามลำดับดังนี้ สุลต่านสุไลมาน พระยาราชบังสัน (ตะตา) พระยาพัทลุง (ขุนคางเหล็ก) พระยาพัทลุง (ทองขาว) พระทิพกำแหงสงคราม (สุก) นายกลิ่น ขุนสุคนธสมบัติ และหลวงคเชนทรามาตย์
หลวงคเชนทรามาตย์เริ่มเข้ารับการศึกษาครั้งแรกเมื่ออายุ ๘ ขวบ ที่โรงเรียนอภยานุกูล (โรงเรียนประจำจังหวัดพัทลุง ครั้งที่ยังตั้งอยู่ในวัดวัง ตำบลลำปำ อำเภอเมืองพัทลุง) เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๘ สมัยเริ่มเปิดการศึกษาของจังหวัดนี้ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปี พ.ศ. ๒๔๕๒ เรียนจบชั้น ม.๖ ต่อมาท่านเจ้าคุณพระธรรมวโรดม (เซ่ง อุตฺตมเถร) อดีตรองเจ้าคณะภาคใต้ได้นำเข้ากรุงเทพฯ เพื่อถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร และเพื่อให้ศึกษาต่อด้วย โดยฝากให้อยู่ที่บ้านพระยาอรรถกระวีสุนทร (หงวน ศะตะรัต) ณ บ้านพานถม ตำบลบางลำพู แต่พลาดโอกาสทั้งสองอย่าง จึงกลับมาอยู่ที่บ้านพัทลุงตามเดิม ต่อมาได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดโพเด็ด ตำบลลำปำโดยมีพระครูกาเดิม อดีตเจ้าอาวาสและเจ้าคณะอำเภอเป็นพระอุปัชฌาย์ อยู่ในสมณเพศ ๑ พรรษา
ปี พ.ศ. ๒๔๕๗ ลาสิกขาออกมาฝึกหัดงานและเข้ารับราชการเป็นเสมียนแผนกสรรพากร จังหวัดพัทลุง สมัยพระสิทธิศักดิ์ภักดี (ปาน) เป็นสรรพากรจังหวัด พระยาอรรถกระวีสุนทร (สมัยยังเป็นหลวงวิชิตเสนีย์) เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง และสมเด็จฯ กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช และได้สมัครเข้าเป็นเสือป่ากองร้อยที่ ๓ พัทลุง
ปี พ.ศ. ๒๔๕๘ พระบาทสมเด็จฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเลียบมณฑลภาคใต้ในระหว่างประทับแรมที่จังหวัดสงขลา ทางราชการมีคำสั่งให้ไปรอรับเสด็จที่จังหวัดสงขลา แล้วกลับไปรอรับเสด็จที่พระตำหนักนาวง จังหวัดพัทลุง หลวงคเชนทรามาตย์ได้แสดงละครพูดหน้าพระที่นั่ง และเมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปยังจังหวัดนครศรีธรรมราช ทรงประทับแรมที่วัดประตูขาว อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช และที่พระตำหนักน้ำตกโยง อำเภอทุ่งสง ก็มีคำสั่งให้ไปรอรับเสด็จอีก ได้แสดงละครเรื่อง “เสียรอย” ถวายหน้าพระที่นั่งที่พระตำหนักน้ำตกโยง
ในช่วงเวลาที่ล่วงหน้าไปรับเสด็จพระราชดำเนินประทับแรมที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เย็นวันที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๘ เจ้าคุณพระยามหาอำมาตยาธิบดี รองเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้ให้ สมบุญ (หลวงคเชนทรามาตย์) แต่งกายชุดเสือป่าไปเป็นมหาดเล็กในสมเด็จฯ กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสให้ตามตัวสมบุญไปเฝ้า ต่อมาในวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๘ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จางวางตรี พระยารณฤทธิ์ราชหัส นำสมบุญถวายตัวรับราชการฉลองพระเดชพระคุณในกรมหาดเล็ก พร้อมบุตรชายพระยาประชากิจกรจักร์ และมหาดเล็กรายงานตัวอีกรวม ๕ คน แล้วโดยเสด็จพระราชดำเนินเรื่อยไปทั้งทางสถลมารคและชลมารค ต่อมาในวันที่ ๓๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๘ ขณะที่เสด็จประทับแรมที่พระตำหนักสราญรมย์ บ้านท่าข้าม อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี สมบุญได้รับพระราชทานนามสกุลจากพระหัตถ์ว่า “สุคนธาภิรมย์” จนกระทั่งถึงวันพฤหัสบดี ที่ ๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๘ ตามเสด็จพระราชดำเนินกลับถึงพระตำหนักจิตลดารโหฐาน กรุงเทพมหานคร มีรับสั่งให้เข้ารับราชการประจำเป็นมหาดเล็กรับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทในกองตั้งเครื่อง ได้ตามเสด็จทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมืองที่เสด็จพระราชดำเนินทุกแห่ง ต่อมาเมื่อเสด็จแปรพระราชฐานประทับแรม ณ พระราชนิเวศมฤคทายวัน จังหวัดเพชรบุรี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จางวางโท พระยาบุรีนวราษฎร์ ราชเลขาในพระองค์ รับพระบรมราชานุญาตโปรดเกล้าฯ ให้เติมนามสกุลจาก “สุคนธาภิรมย์” เป็น “สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง”
ในปี พ.ศ. ๒๔๖๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หลวงคเชนทรามาตย์อุปสมบท ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จฯ กรมหลวงชินวรศิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้าเป็นพระอุปัชฌาย์ จำพรรษา ณ วัดบวรนิเวศฯ ๑ พรรษา
ระหว่างที่รับราชการในพระราชสำนักใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทอยู่นั้น ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้อยู่งานถวายนวดพระองค์ในเวลาเสวยพระกระยาหารกลางคืน ซึ่งทรงประทับโต๊ะคืนเว้นคืน ประมาณคืนละ ๑ ชั่วโมง และให้แสดงโขนและละครพูดในพระราชสำนักหลายเรื่อง โดยแสดงร่วมกับพระองค์เองและเจ้าพระยารามราฆพ จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๖๘ ทรงพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ มีพระกระแสรับสั่งฝากตัวให้ไปอยู่กับสมเด็จฯ กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย รวมเวลาอยู่รับราชการสนองพระมหากรุณาธิคุณใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท ๑๐ ปี ได้รับราชการเรื่อยมาจนเกษียณอายุราชการเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๑ ท่านได้ใช้ความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากราชสำนักไปปฏิบัติราชการของกระทรวงมหาดไทยในตำแหน่งต่าง ๆ ตามท้องที่ต่าง ๆ เกือบทุกภาคของประเทศ ประมวลตำแหน่งราชการและสถานที่ที่รับราชการตามลำดับดังนี้ เป็นเสมียนสรรพากร จังหวัดพัทลุง (พ.ศ.๒๔๕๗) มหาดเล็กสำรอง (พ.ศ.๒๔๕๘) มหาดเล็กวิเศษ (พ.ศ.๒๔๕๙) รองหุ้มแพรเวชศักดิ์ (พ.ศ.๒๔๖๐) หุ้มแพรนายยามเวรเดช (พ.ศ.๒๔๖๒) ปลัดกรม กรมวิเศษ กระทรวงมหาดไทย (เทียบเลขานุการประจำกระทรวง พ.ศ.๒๔๖๙-๒๔๗๕) ปลัดจังหวัดสุราษฎร์ธานี (พ.ศ.๒๔๗๖) ปลัดจังหวัดระนอง (พ.ศ.๒๔๗๗) นายอำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส (พ.ศ.๒๔๗๘) ปลัดจังหวัดปัตตานี (พ.ศ.๒๔๗๙-๒๔๘๐) นายอำเภอมีนบุรี จังหวัดพระนคร (พ.ศ.๒๔๘๑-๒๔๘๔) ปลัดจังหวัด จังหวัดแม่ฮ่องสอน (พ.ศ.๒๔๘๕-๒๔๘๘) ปลัดจังหวัด จังหวัดลำพูน (พ.ศ.๒๔๘๙-๒๔๙๐) นายอำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี (พ.ศ.๒๔๙๑-๒๔๙๔) นายอำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี (พ.ศ.๒๔๙๕) ปลัดจังหวัดนครศรีธรรมราช (พ.ศ.๒๔๙๖-๒๔๙๘) มหาดเล็กภาค ๙ จังหวัดสงขลา (สมัยนายอุดม บุณยประสพ เป็นผู้ว่าราชการภาค : พ.ศ.๒๔๙๙) ประจำกรมมหาดไทย (กรมการปกครองปัจจุบัน : พ.ศ.๒๔๙๙)รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา (สมัยนายพ่วง สุวรรณรัฐ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด : ๒๕๐๐)
ในระหว่างที่รับราชการได้รับยศและบรรดาศักดิ์ เรียงตามลำดับดังนี้ เป็นนายรองชัยขรรค์(พ.ศ.๒๔๕๙) นายเสน่ห์ หุ้มแพร (พ.ศ.๒๔๖๒) หลวงวรบาทบริหาร (พ.ศ.๒๔๖๘) หลวงคเชนทรามาตย์ (พ.ศ.๒๔๖๙) รองอำมาตย์เอก (พ.ศ.๒๔๖๙) อำมาตย์ตรี (พ.ศ.๒๔๗๓)
เกี่ยวกับเสือป่า ได้รับยศและตำแหน่งพิเศษประมวลได้ดังนี้ เป็นนายสิบตรี ทหารมหาดเล็ก กองพัน ๑ รักษาพระองค์ นายอำเภอดุสิต ในเมืองดุสิตธานี ผู้บังคับกองร้อยตำรวจเมืองดุสิตธานี พลเสือป่ากองร้อย ๓ พัทลุง (พ.ศ.๒๔๕๗) พลเสือป่ากองร้อยราบหลวง กรมเสนาหลวงรักษาพระองค์ (พ.ศ.๒๔๕๘) นายหมู่เอกและนายเสือป่าคนสนิท กรมเดินข่าวหลวงหรือกรมเหล่าวิเศษ (พ.ศ.๒๔๖๑) ว่าที่นายหมวดตรี (พ.ศ.๒๔๖๒) นายหมวดตรี (พ.ศ.๒๔๖๓) นายหมวดโท (พ.ศ.๒๔๖๔) ผู้บังคับกองกรมเดินข่าวหลวงหรือกรมเหล่าวิเศษ (พ.ศ.๒๔๖๕) นายหมวดเอก (พ.ศ.๒๔๖๖) นายเสือป่าคนสนิทของ ผู้บัญชาการเสือป่าเสนาปักษ์ใต้ (สมเด็จฯ กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ : พ.ศ.๒๔๖๘) และเป็นนายกองโทกองตำรวจอาสารักษาดินแดน (พ.ศ.๒๔๙๗)
งานของหลวงคเชนทรามาตย์ ส่วนหนึ่งเป็นงานรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทในพระราชสำนักส่วนหนึ่งเป็นงานในราชการของกระทรวงมหาดไทย และอีกส่วนหนึ่งเป็นงานช่วยเหลือสังคมเมืองมาตุภูมิหลังจากเกษียณอายุแล้ว สมัยเป็นนายอำเภอดุสิตธานี เมืองปฐมประชาธิปไตย หลวงคเชนทรามาตย์ ปฏิบัติหน้าที่ได้ดีเด่น ได้รับใบประกาศนียบัตรในการรักษาความสะอาด วิชาทำสวน และวิชาสถาปัตยกรรม รวม ๖ ฉบับ โดยมีพระปรมาภิไธยย่อ “ราม ณ กรุงเทพ” กำกับ และเมื่อรับตำแหน่งผู้บังคับกองร้อยตำรวจในเมืองดุสิตธานี ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็ง จับกุมพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังษิยากรโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักด์ ในข้อหาเอาค้อนทุบทำลายคิ้วถนนของราชการและของราษฎรในเมืองดุสิตธานี คดีนี้ถึงศาลสถิตยุติธรรม ผู้พิพากษาตัดสินลงโทษผู้กระทำผิดห้ามมิให้เสวยพระกระยาหารและไอศกรีมในโฮเต็ลเมโทรโปน ๗ วัน (เล่นตามพระราชอัธยาศัย) สมัยที่รับราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทย หลวงคเชนทรามาตย์สนใจงานพัฒนาท้องถิ่น นั้น ๆ ด้านการคมนาคม การศึกษาการศาสนา การปรับปรุงอาคารสถานที่ และได้รับหน้าที่สำคัญพิเศษ สรุปได้ดังนี้
ด้านการคมนาคม สมัยดำรงตำแหน่งปลัดจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้สร้างถนนสายท่าข้าม-บ้านดอน ต่อจากที่พระยาสุรินทราอธิบดีกรมนคราทรสร้างไว้ จนสำเร็จเรียบร้อย สมัยเป็นนายอำเภอมีนบุรีสร้างถนนและสะพานสายหนองจอก-มีนบุรี สร้างและซ่อมบำรุงถนนดินและสะพานสายวัดแสนแสบ-ที่ว่าการอำเภอ และสายที่ว่าการอำเภอ ผ่านริมคลองสามวาถึงอำเภอธัญญบุรี และขุดคลองสามวาที่ตื้นเขินให้ลึกจนเรือเดินได้สะดวกและทำนบปิดระบายน้ำที่ปากคลอง สมัยเป็นนายอำเภอยะรัง อำนวยการสร้างสะพานเหล็กโยงข้ามคลองใหม่ ระหว่างอำเภอยะรังกับอำเภอหนองจิก สมัยเป็นนายอำเภอสุไหงปาดี บูรณะถนนและสะพานสายตำบลลำกอ สายสุไหงปาดี และสร้างถนนสายตำบลโต๊ะเด็ง-ตำบล สุไหงปาดี ระยะทาง ๕๐ กิโลเมตร และสมัยเป็นนายอำเภอยะหริ่ง บูรณะถนนบริเวณที่ว่าการอำเภอ
ด้านการศึกษา สมัยเป็นนายอำเภอสุไหงปาดี สร้างโรงเรียนประชาบาลหลังสถานีบ้านโต๊ะเด็ง ๑ หลัง สมัยเป็นนายอำเภอมีนบุรี สร้างโรงเรียนช่างไม้บริเวณใกล้ที่ว่าการอำเภอ ๑ หลัง และสมัยเป็นนายอำเภอยะรัง เป็นผู้ริเริ่มจัดทำหนังสือแบบเรียนเร็วสำหรับนักเรียนไทยพุทธและไทยมุสลิม เขียนด้วยตัวอักษรไทย ใช้ภาษามลายู โดยความเห็นชอบของพระยาพิบูลพิทยพรรค อดีตธรรมการมณฑลปัตตานีและนครศรีธรรมราช และด้วยความร่วมมือของโต๊ะครูกรรมการอิสลาม ทดลองใช้กับนักเรียนชั้นประถมในโรงเรียนต่าง ๆ เช่น โรงเรียนบ้านโต๊ะเด็ง อำเภอยะรัง ได้ผลเป็นที่พอใจ แต่ทางกระทรวงศึกษาธิการสมัยนั้นไม่เห็นด้วยจึงยกเลิกไป
ด้านการศาสนา เอาใจใส่ทำนุบำรุงพระภิกษุสามเณร วัดวาอาราม มัสยิด และการปฏิบัติกิจทางพระศาสนาของบรรดาชาวไทยพุทธและไทยมุสลิมในเขตที่รับผิดชอบปกครอง เช่น สมัยที่เป็นนายอำเภอมีนบุรี ดำเนินการขอพระราชทานสมณศักดิ์ให้แด่พระสงฆ์ผู้ทรงคุณ คือ วิชา จรณะ และปฏิปทาดี ริเริ่มให้ชาวไทยมุสลิมประกวดอ่านคัมภีร์อัล-กุรฺอานที่มัสยิดแสนแสบ ริเริ่มให้ทำทะเบียนรายชื่อผู้ที่ต้องมาทำละหมาดที่สุเหร่าและมัสยิดทุกวันศุกร์ และอบรมผู้ต้องขังทั้งไทยพุทธและไทยมุสลิมทุกวันพระและวันศุกร์
ด้านการปรับปรุงอาคารสถานที่ราชการ เช่น สมัยรับราชการอยู่ในเขตจังหวัดปัตตานี ได้จัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อหาเงินมาสร้างบ้านพักของข้าราชการประจำอำเภอ และสถานที่เก็บพัสดุ เป็นต้น คิดเป็นมูลค่าสมัยนั้นประมาณมากกว่า ๕๐,๐๐๐ บาท
ด้านอื่น ๆ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ สมัยที่เป็นนายอำเภอมีนบุรี ได้นำชาวไทยมุสลิมประมาณ ๓,๐๐๐ คน เข้าร่วมเรียกร้องรัฐบาลให้ประกาศสงครามกับประเทศอินโดจีน สมัยเป็นปลัดจังหวัดลำพูน รับผิดชอบจัดหาไม้ไผ่จำนวนมากส่งให้กองทัพไทยที่เชียงใหม่ และสมัยเป็นปลัดจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นหัวหน้าควบคุมการลำเลียงเสบียงอาหารด้วยโคต่างระหว่างแม่ฮ่องสอนถึงอำเภอปาย จังหวัดเชียงใหม่ ส่งให้กองทหาร ตำรวจ และพลเรือน ทำงานเรียบร้อยดีจนได้รับคำชมจากกระทรวงมหาดไทย
หลังจากเกษียณอายุแล้ว หลวงคเชนทรามาตย์ได้กลับไปประจำอยู่ที่จังหวัดพัทลุง ได้รับแต่งตั้งและเลือกตั้งให้ช่วยเหลือกิจการด้านต่าง ๆ ของจังหวัดทั้งด้านราชพิธี รัฐพิธี และหน้าที่อื่น ๆ มากมาย เช่น เป็นสมาชิกสภาเทศบาลเมืองพัทลุง เทศมนตรีเทศบาลเมืองพัทลุง นายกพุทธสมาคมจังหวัดพัทลุง กรรมการพิเศษลูกเสือจังหวัดพัทลุง กรรมการส่งเสริมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประธานดำเนินการจัดสร้างสถานที่ประดิษฐานพระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ พระพุทธรูปพระราชทานประจำภาคไว้ที่จังหวัดพัทลุง
ถึงปี พ.ศ. ๒๕๒๘ หลวงคเชนทรามาตย์ อายุ ๘๘ ปี ยังแข็งแรงอ่านเขียนหนังสือได้ และกำลังดำเนินการเชิญชวนญาติมิตรจัดสร้างอนุสาวรีย์ที่เก็บอัฐิของตาตุมะระโหม ต้นตระกูล ณ พัทลุง (น้องชายตาตุมะระหุ่ม อดีตเจ้าเมืองพัทลุงและสงขลา) ขึ้นไว้ ณ ตำบลชะรัด (ตำบลชรัดปัจจุบัน) อำเภอกงหรา จังหวัดพัทลุง ซึ่งเป็นสถานที่ซึ่งตาตุมะระโหมเสียชีวิต เพื่อเป็นที่เคารพสักการบูชาของลูกหลานและชาวพัทลุงสืบไป
หลวงคเชนทรามาตย์ใช้ชีวิตโสดมาโดยตลอด มีบุตรบุญธรรม ๒ คน เป็นชาย ๑ คน คือ พล วงศาโรจน์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดธนบุรี ปัจจุบันเป็นข้าราชการบำนาญ และเป็นหญิง ๑ คน คือคุณพวงพรรณ สุคนธาภิรมย์ ปัจจุบันเป็นอาจารย์โรงเรียนพัทลุง
ในวาระสุดท้าย แม้หลวงคเชนทรามาตย์ จะชราภาพก็ยังได้ทำประโยชน์ในการพระศาสนา การศึกษา และสังคมทั่วไป จนถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๐ สิริรวมอายุได้ ๑๐๐ ปี ๖ เดือน ๒๒ วัน (สุภาคย์ อินทองคง)