ใบตอง คือใบของกล้วย ใบพืชชนิดอื่น ๆ เรียกชื่อเหมือนกับชื่อของพืชชนิดนั้น ๆ แต่ใบของกล้วยไม่ว่าชนิดใดจะเรียกใบว่า ใบตองทั้งสิ้น
ใบตองมีก้านใบอยู่ส่วนกลางของใบ เรียกว่า ทางกล้วย มีลักษณะเป็นเส้นใยจากทางพอมองเห็น แผ่ออกไปทั้ง ๒ ข้างจนถึงขอบใบ ส่วนกลางของขอบใบทั้ง ๒ กว้างที่สุด แล้วจะเรียวสอบไปทางโคนและปลายใบ ไม่ถึงกับแหลมแต่จะมีลักษณะมน ๆ ทางกล้วยหรือก้านใบด้านบนเป็นร่อง ๆ ที่ส่วนโคนลึกมากที่สุด แล้วค่อย ๆ ตื้นขึ้นเรื่อย ๆ ไปจนถึงสุดทางหรือปลายก้านใบ ด้านล่างของทางหรือก้านใบนูนเป็นสันสีเหลืองอมเขียวเล็กน้อย ความยาวของทางกล้วยและความกว้างของใบตองจากทางไปจดขอบใบมีขนาดต่างกันตามชนิดพันธุ์ของกล้วย และตามความอุดมสมบูรณ์ของดินที่ปลูก ความยาวของทางกล้วยที่ยาวที่สุดยาวถึง ๒๑๐ เซนติเมตร ความกว้างของใบตองรวมถึงทางหรือก้านใบอาจถึง ๗๐ เซนติเมตร เช่น ใบตองของกล้วยพองลา กล้วยหักมุก และกล้วยนางญา ส่วนขนาดของทางและใบตองที่ลดหลั่นลงมา ได้แก่ ใบตองของกล้วยหอมทอง หอมเขียว กล้วยน้ำว้า ซึ่งจะมีความยาวของทางเฉลี่ย ๑๕๐-๑๖๐ เซนติเมตร ความกว้างของใบตองเฉลี่ย ๖๐ เซนติเมตร ที่มีขนาดของทางค่อนข้างสั้น และความกว้างของใบตองค่อนข้างน้อย ได้แก่ ใบตองของกล้วยขม กล้วยเล็บมือนาง กล้วยกินดิบ กล้วยไข่ ความยาวของทางประมาณ ๙๐-๑๑๐ เซนติเมตร ความกว้างของใบตองประมาณ ๔๕ เซนติเมตร ส่วนใบตองของกล้วยที่ขึ้นเองตามป่าตามเชิงเขา ได้แก่ กล้วยเถื่อน หรือบางแห่งเรียกกล้วยป่า ก็จะมีขนาดย่อมกว่าใบตองของกล้วยเล็บมือนาง ใบตองของกล้วยที่มีขนาดย่อมที่สุดได้แก่ กล้วยที่ปลูกไว้เพื่อความสวยงาม เช่น กล้วยร้อยหวี กล้วยสามสี ใบตองจะมีความกว้างไม่เกิน ๒๐ เซนติเมตร และทางกล้วยยาวประมาณ ๖๐-๖๕ เซนติเมตร ใบตองของกล้วยทุกชนิดมีสีเขียวอ่อนถึงสีเขียวแก่ ทั้งนี้ถ้าดินดีสมบูรณ์มากจะมีสีเขียวแก่อมดำ ใบตองที่อยู่ในที่โล่งริมขอบใบมักแตกถึงทางหรือก้านใบเพราะถูกกระแสลมแรงทำให้ใบฉีก ดังนั้นใบตองที่ใช้งานได้ดีจึงต้องอยู่ในที่กำบังลมได้ดี
ในอดีตใบตองมีประโยชน์ต่อชาวบ้านมาก เช่น ใบตองสดก่อนจะใช้จะกรีดออกจากทางเฉพาะส่วนกลาง ๆ เพราะมีความยาวของเส้นใยมาก ส่วนโคนและปลายทางไม่ใช้ หากใช้มือฉีกเอาแต่บางส่วน ฉีกจากปลายทางมาโคนทางแล้วกระตุกกลับก็จะได้ตามต้องการโดยไม่ต้องใช้มีดกรีด งานบางอย่างที่ใช้ใบตองสดจะลนไฟหรือตากแดดเสียก่อนเพียงเล็กน้อย เพื่อทำให้ใบตองอ่อนตัว ไม่กรอบและแตกง่าย งานบางอย่างที่ต้องใช้ความประณีต จะต้องเจียนริมให้ได้ขนาดพอเหมาะเสียก่อนแล้วใช้งาน เช่น ใช้ห่อขนมที่ปรุงเสร็จแล้วให้เป็นห่อ ๆ พับ ๒ ข้างขึ้นมา หนีบหัวท้ายให้ซ้อนกัน กลัดด้วยไม้กลัด หรือทำด้วยวิธีเดียวกัน แต่ใช้ห่อของคาว เช่น ห่อหมกที่ยังดิบหรือห่อขนมค่อม (ขนมสอดไส้) ขนมเทียนที่ยังไม่สุกเพื่อนำไปนึ่งจนสุก ใช้ทำซองใส่หมากพลู ใส่ดอกไม้ธูปเทียนเพื่อทำบุญถวายพระหรือเมื่อบวชนาค ใช้ทำกระทงใส่เครื่องสังเวยลอยเคราะห์ ลอยแม่ซื้อ ใช้ทำกระทงใส่ข้าวสุก ใส่อาหารแทนถ้วยชาม ทำกระทงและพับจีบใส่ดอกไม้ แทนขันน้ำหรือถาด พับจับทำบายศรี พับจีบประกอบลายกระหนกของบางส่วนที่แทงหยวกแล้วในการทำเมรุและทำที่รดน้ำสระหัวในเบญจา ใช้ห่อผัก ห่อปลา ห่อเนื้อ และห่อของหมักดองที่ไม่มีน้ำแต่ยังดิบอยู่ ใช้ห่อปลาร้า ปลาเค็ม ปลาใส่อวนสำหรับปิ้งบนไฟ ห่ออาหารแห้งบางชนิด เช่น มะพร้าว คั่วเครื่องเนื้อ ปิ้งย่างแทนใช้คั่วในกระทะ ใช้ปิดกระทะเมื่อหุงข้าวด้วยกระทะแทนฝาชี ใช้รองกระทะทำข้าวเหนียวสองดัง คือเอาข้าวเหนียวดิบคลุกกะทิใช้ใบตองห่อ ๒ ชั้น กดให้ข้าวเหนียวแบน แล้วใส่ในกระทะตั้งไฟอ่อนจนข้าวเหนียวสุกเป็นข้าวตังกรอบ พลิกอีกด้านหนึ่งในทำนองเดียวกัน จะได้ข้าวเหนียว ๒ หน้า กรอบเป็นข้าวตั้ง เขี่ยใบตองที่ไหม้กรอบด้วยนั้นออกเสีย เรียกว่า “เหนียวสองดัง” ใบตองทั้งทางใช้กางกันฝนแทนร่มในระหว่างทางที่ฝนตก และเมื่อเดินทางแดดร้อนจัด ใบตองทั้งทางยังใช้ปิดบังแสงแดดให้ต้นไม้อ่อนเมื่อปลูกใหม่ ๆ สำหรับใบตองแห้ง ใช้อุดปากกระบอกเหนียวหลาม (ข้าวหลาม) บางแห่งใช้กากมะพร้าวอุดปากกระบอกแล้วเอาใบตองแห้งปิดไว้ข้างบนสุดอีกทีหนึ่ง บางแห่งใช้ไส้ในของทางจากหรือของไม้ระกำตัดแล้วห่อด้วยใบตองแห้งอุดปากกระบอก บางแห่งใช้ใบตองแห้งซ้อนเข้าหลายชั้นขมวดจนแน่นอุดปากกระบอก ใบตองแห้งยังใช้ปิดปากไหปากโอ่งกะปิ ขัดน้ำ ใช้มวนบุหรี่ ใช้ห่อยาเส้นเพื่อเก็บไว้สูบได้นาน ๆ ใช้ห่อเมล็ดผักสุกพันธุ์ต่าง ๆ ที่แห้งแล้วเก็บไว้เพื่อปลูกเมื่อถึงหน้าเพาะปลูก ใช้สำหรับเพาะถั่วงอกโดยวิธีเอาใบตองแห้งปูบนพื้นดินหรือบนแคร่ไม้ไผ่ แล้วเอาเมล็ดถั่วเขียวที่แช่น้ำประมาณ ๑๒ ชั่วโมง เทลงไปบนใบตองแห้งที่เตรียมไว้ เกลี่ยให้กระจายแล้วเอาใบตอง แห้งอีกส่วนหนึ่งฉีกให้เป็นริ้ว ๆ วางทับบนให้หนารดน้ำจนเปียกชุ่ม เอาใบตองสดหรือแห้งทั้งทางปูปิดบน กันน้ำระเหยและเพื่อเก็บความชื้นไว้ คอยพรมน้ำทุกวัน ประมาณ ๕ วัน เปิดขึ้นดูจะได้ถั่วงอกที่สวยงาม สะอาด สลัดออกจากใบตองแห้งล้างน้ำก็จะได้ถั่วงอกใช้รับประทานได้ ใบตองแห้งจุ่มน้ำมันมะพร้าวยังใช้ขัดเครื่องใช้เครื่องประดับที่ทำด้วยเขาวัวเขาควายทำด้วยกระดูกสัตว์และงาให้เป็นเงาได้อย่างดี หรือใช้ขี้เถ้าใบตองแห้งผสมน้ำมะนาวและน้ำมันมะพร้าวแต่เพียงส่วนน้อยขัดโลหะทองเหลือง ทองแดง เป็นมันเงาดีและอยู่ได้นาน ในปัจจุบันบทบาทของใบตองทั้งสดและแห้งลดลงมาก โดยเฉพาะที่ใช้ห่อของพลาสติกเข้ามามีบทบาทแทน แต่ก็ยังมีใช้อยู่บ้างในงานศิลปะที่ใช้ใบตอง (เฉลียว เรืองเดช)