กรงปินัง, อำเภอ

ประวัติความเป็นมา

          เมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๗ กระทรวงมหาดไทย ได้มีประกาศแบ่งท้องที่อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา ให้แยกตำบลกรงปินัง ตั้งเป็นกิ่งอำเภอกรงปินัง ให้มีเขตพื้นที่การปกครอง ๔ ตำบล คือ ตำบลกรงปินัง ตำบลสะเอะ ตำบลปุโรง และตำบลห้วยกระทิง

          นามสถาน กรงปินัง ศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ วินัจฉัยว่า เป็นคำประสมระหว่าง “กรง” ซึ่งเป็นภาษาไทย กับคำ “ปินัง” ซึ่งเป็นภาษามลายูท้องถิ่น คำว่า กรง เป็นคำไทยภาคใต้โบราณ มีความหมายอย่างเดียวกับ กง กรุง และ เกาะ หมายถึง บริเวณที่มีเขาโอบล้อม หรือเนินที่มี ที่ราบล้อมรอบ หรือที่ราบที่มีเนินหรือภูเขาล้อมรอบ มีชื่อเช่นนี้หลายแห่ง เช่น เขากงในจังหวัดนราธิวาส กรงอิตำในจังหวัดสงขลา กรุงชิงในจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นต้น พื้นที่บ้านกรงปินัง เป็นที่ราบตามแนวเขา ระหว่างเทือกเขา คือ มีเทือกเขาสันกาลาคีรีอยู่ทางทิศตะวันตก และมีเทือกเขาบือยอ อยู่ทางทิศตะวันออกเป็นแนวยาวตลอด ส่วนคำ “ปินัง” เป็นสำเนียงท้องถิ่น จากคำ “ปิแน” ซึ่งหมายถึง ต้นหมาก เช่นเดียวกับเกาะปินัง คือ เกาะหมาก “กรงปินัง” จึงหมายถึงป่าหมากที่โอบล้อมอยู่ด้วยเทือกเขา ดังกล่าวแล้ว อีกกระแสหนึ่งว่าชื่อ “กรงปินัง” มาจากคำมลายูว่า “กำปอปิแน” คำกำปอ คือ “กำปง” หมายถึงหมู่บ้าน เพราะในอดีตบริเวณตำบลกรงปินังเคยเป็นป่าหมาก มีต้นหมากเป็นจำนวนมาก

          กิ่งอำเภอกรงปินัง ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอกรงปินัง โดยประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่มที่ ๑๒๑ ตอนพิเศษ ๖๐ก ลงวันที่ ๗ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๔๗

          สภาพทั่วไป

          อำเภอกรงปินัง อยู่ในเขตปกครองของอำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา มีเนื้อที่ ๑๘๕ ตารางกิโลเมตร ที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่หมู่ที่ ๓ ตำบลสะเอะ อำเภอกรงปินัง

          อาณาเขต

          ทิศเหนือ ติดต่อกับตำบลเปาะเส้ง ตำบลบันนังสาเรง และตำบลบุดี อำเภอเมืองยะลา

          ทิศใต้ ติดต่อกับตำบลตาเนาะปูเต๊าะ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา

         ทิศตะวันออก ติดต่อกับตำบลบือมัง อำเภอรามัน จังหวัดยะลา

          ทิศตะวันตก ติดต่อกับตำบลปะแต อำเภอยะหา จังหวัดยะลา

          อำเภอกรงปินังแบ่งการปกครองออกเป็น ๔ ตำบล ๒๓ หมู่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่มีหน่วยงานระดับเทศบาล มีองค์การบริหารส่วนตำบล ๔ แห่ง ตำบลต่าง ๆ ในอำเภอกรงปินัง ได้แก่ ตำบลกรงปินัง ตำบลสะเอะ (เป็นภาษามลายู แปลว่า สูญหาย) ตำบลปุโรง (เป็นภาษามลายู หมายถึง กะลามะพร้าว) และตำบลห้วยกระทิง

          จำนวนประชากร ณ วันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๙ อำเภอกรงปินังมีจำนวนประชากรทั้งสิ้น ๒๑,๒๐๗ คน เป็นชาย ๑๐,๖๗๐ คน เป็นหญิง ๑๐,๕๓๗ คน ความหนาแน่นของประชากร ๑๑๔ คนต่อตารางกิโลเมตร ประชากรร้อยละ ๙๙.๓ นับถือศาสนาอิสลาม ทั้งอำเภอมีผู้นับถือศาสนาพุทธเพียง ๑๔๘ คน (ข้อมูลจากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดยะลา) การสื่อสารภายในท้องถิ่นส่วนใหญ่จึงใช้ภาษายาวี (ภาษามลายูท้องถิ่น) เป็นหลัก และจากข้อมูลจนถึงสิ้นปี พ.ศ.๒๕๔๘ อำเภอกรงปินังไม่มีสำนักสงฆ์หรือวัดในพุทธศาสนาตั้งอยู่ในอำเภอนี้แม้แต่แห่งเดียว

          ทรัพยากรธรรมชาติของอำเภอกรงปินัง ได้แก่ ป่าสงวนแห่งชาติลาบู-ถ้ำทะลุ ป่าสงวนแห่งชาติกาลอ แหล่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญ ได้แก่ แม่น้ำปัตตานี คลองเขาปิโร คลองบือยอ และมีแหล่งน้ำที่ปรับปรุงหรือสร้างขึ้นใหม่ในตำบลห้วยกระทิง คือ บึงอีโป๊ะ และในตำบลกรงปินัง คือ คูบ้านกรงปินัง สระบ้านราแง และสระบ้านสะเก

          ราษฎรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ได้แก่ การทำสวนยางพารา ทำสวนผลไม้ เช่น ทุเรียน เงาะ ลองกอง ส้มโชกุน จำปาดะ กล้วย มีการทำนาเพียงเล็กน้อย มีการทำอาชีพเสริม คือ การเลี้ยงสัตว์ เช่น โค แพะ แกะ ไก่ และการทำหัตถกรรมงานฝีมือ

          ผลิตภัณฑ์ส่งเสริมในอำเภอที่สำคัญ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ปักจักร ผลิตภัณฑ์หินลับมีด ผลิตภัณฑ์หมวกกะปิเยาะห์ ผลิตภัณฑ์ผ้าบาติก ผลิตภัณฑ์จักสานไม้ไผ่ขัดแตะ ผลิตภัณฑ์ไม้กวาดดอกหญ้า ผลิตภัณฑ์น้ำมันเหลือง ผลิตภัณฑ์ปลาส้ม

          สถานที่ท่องเที่ยวในอำเภอกรงปินัง ได้แก่ ถ้ำบาตูฆอ หมู่ที่ ๔ บ้านควนนางา ตำบลห้วยกระทิง

          อำเภอกรงปินังมีคำขวัญว่า “ตำนานเมืองหมาก มากมีผลไม้ ธรรมชาติสดใส ใจคนงดงาม” 

ชื่อคำ : กรงปินัง, อำเภอ
หมวดหมู่หลัก : โบราณคดี ประวัติศาสตร์ และการเมืองการปกครอง
หมวดหมู่ย่อย : ประวัติสถานที่ สิ่งของ และเครื่องมือเครื่องใช้
ชื่อผู้แต่ง : สวัสดิ์ ชูสังข์, ทีปวิท พงศ์ไพบูลย์
เล่มที่ : ๑
หน้าที่ : ๒๖