จับตาย : เรื่องสั้น
เป็นเรื่องสั้นของ มนัส จรรยงค์ นักเขียนนามอุโฆษ มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับภาคใต้ ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารสวนอักษร และรวมพิมพ์เป็นเล่มในหนังสือรวมเรื่องเอกของ มนัส จรรยงค์ ชุด “จับตาย” จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๐ เรื่องสั้นเรื่องนี้ถือกันว่าเป็นเรื่องดีเด่นที่สุดของ มนัส จรรยงค์ ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษเพื่อตีพิมพ์ในหนังสือ SPAN ซึ่งเป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นชิ้นเอกของนักเขียนทั่วโลก มนัส จรรยงค์ เขียนเรื่องนี้จากประสบการณ์จริง เมื่อครั้งไปเป็นเจ้าหน้าที่ทัณฑสถานที่จังหวัดยะลาช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ.๒๔๗๕ ใหม่ ๆ โดยตัวผู้เขียนรับหน้าที่เป็นผู้จัดการร้านขายสินค้าของกองบัญชาการเรือนจำที่ไอเยอร์กะดง ซึ่งเป็นทัณฑนิคมเปิด ตั้งอยู่ในบริเวณป่าเขาห่างจากตัวจังหวัดยะลาไปตามเส้นทางสายยะลา-เบตง ในปัจจุบันประมาณ ๙๐ กิโลเมตร เรื่องย่อ มีดังนี้
พร เป็นนักโทษที่ถูกส่งมาจากแม่ฮ่องสอนเพื่อให้มารับโทษทำงานก่อนปล่อยตัวที่ทัณฑนิคมไอเยอร์กะดง จังหวัดยะลา และต้องออกไปอยู่ร่วมกับกองป่าซึ่งทำหน้าที่ถางป่าเพื่อแผ้วทางเป็นเบื้องต้นให้กับ “กองทาง” ที่กำลังตัดถนนสายยะลา-เบตงอยู่ พรเป็นนักโทษที่มีอัธยาศัยดี แข็งแรงและขยัน “ข้าพเจ้า” ซึ่งเป็นผู้เล่าเรื่องนี้ (มนัส จรรยงค์) ทำหน้าที่เป็นผู้คุมนักโทษที่ออกมาทำงานเหล่านั้น และสนิทสนมรักใคร่พรเป็นพิเศษ พรจะมาต้มน้ำให้อาบและคอยรับใช้ในเรื่องต่าง ๆ ในฐานะเป็นคนสนิท ประสิทธิ์เป็นผู้คุมหนุ่มที่มีพื้นฐานการศึกษามาจากโรงเรียนฝรั่ง เป็นคนโผงผางตรงไปตรงมา ก็อยู่ร่วมในกองป่าซึ่งต้องคุมนักโทษรวม ๑๔๐ คน รวมทั้งพรด้วย ในช่วงนี้เองพรเกิดรักใคร่ชอบพอกับ “หวัน” สาวบ้านป่าชาวบ้าน “วังไซ” ซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้ ๆ กับที่กองป่าของบรรดานักโทษตั้งอยู่ พรได้บอกกับ “ข้าพเจ้า” เสมอว่าเมื่อพ้นโทษแล้วก็จะตั้งหลักอยู่กินกับหวันที่นั่น แต่ภายหลังประสิทธิ์ซึ่งมีฐานะสูงกว่าเกิดไปผูกสัมพันธ์กับหวันขึ้นด้วย ท้ายที่สุดก็มีเรื่องกับพร ถูกพรตบหน้าด้วยพานท้ายปืนแล้วพรก็หนี ผู้บัญชาการเรือนจำสั่ง “จับตาย” พรทันที ซึ่งนั่นก็หมายความว่า “ข้าพเจ้า” ต้องเป็นผู้ตาม “จับตาย” พรด้วยในฐานะเป็นผู้คุมที่รับผิดชอบ และท้ายที่สุด “ข้าพเจ้า” ก็ทราบจากชาวบ้านพรไปหลบอยู่ ณ กระท่อมในสวนร้างแห่งหนึ่งในตำบลธารโต แต่เมื่อตามไปก็พบแต่หวันผู้เป็นคนรักซึ่งหนีร่วมไปกับพร หวันบอกว่าพรต้องการยาแก้ไข้ป่าจาก “ข้าพเจ้า” “ข้าพเจ้า” ต้องต่อสู้กับความรู้สึกของตัวเองเป็นอย่างมาก เพราะด้านหนึ่งก็เป็นหน้าที่ แต่อีกด้านหนึ่งเป็นเรื่องมนุษยธรรมอีกทั้ง “ข้าพเจ้า” รู้ว่าพรไม่ใช้คนผิดในเรื่องราวที่เกิดขึ้น ท้ายที่สุด “ข้าพเจ้า” ก็แกล้งทำยาตกไว้ที่กระท่อมแห่งนั้น แต่ หวันไม่เห็นจึงไม่ได้ยาไป การติดตามเป็นเวลาแรมเดือน “ข้าพเจ้า” ไม่พบพรจึงเดินทางกลับ “ดอนหญ้าคา” อันเป็นที่ตั้งกองป่า และต่อมาอีกสองสามวันก็มีคนพบศพของพรในสภาพเน่าเฟะอยู่ในบริเวณใกล้เคียงที่ตั้งกองป่าที่ดอนหญ้าคานั่นเอง พรตายเพราะเป็นไข้จับสั่นและขาดยา ด้วยความรู้สึกผูกพัน “ข้าพเจ้า” ได้ให้นักโทษขุดหลุมฝังศพพรไว้ที่นั่น เรื่องจบลงเพียงเท่านี้
จับตาย นับเป็นเรื่องสั้นที่สะท้อนให้เห็นชีวิตของนักโทษที่ถูกเกณฑ์ไปถางป่าเพื่อสร้างทางสายยะลา-เบตง ในช่วงทศวรรษ ๒๔๘๐ ได้อย่างชัดเจน ทั้งยังเป็นเรื่องสั้นที่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึกที่มนุษย์มีต่อมนุษย์ได้อย่างถึงแก่น แต่ที่เหนืออื่นใดผู้เขียนคือ มนัส จรรยงค์ ได้บันทึกภาพอันทุรกันดารของดินแดนแถบไอเยอร์เวง ไอเยอร์กะดง ดอนหญ้าคา วังไซ และธารโต ในสมัยนั้นได้อย่างละเอียดแลเห็นภาพ นับเป็นข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่และผู้คนที่มีค่าทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภาคใต้ไม่น้อย
มนัส จรรยงค์ ได้บรรยายถึงสภาพที่ตั้งกองป่าของบรรดานักโทษ และความเป็นมาของนักโทษเหล่านี้ไว้อย่างละเอียด เช่น ตอนหนึ่งกล่าวว่า
“เขาถูกส่งมาจาก “ไอเยอร์กะดง” ที่ตั้งกองบัญชาการทันฑนิคมเมื่อครั้งกระโน้น ซึ่งที่ตั้งกองบัญชาการนั้นห่างจากจังหวัดยะลาเข้าไปในป่าลึกราว ๙๐ กิโลเมตร และที่ ๆ เขาถางป่าอยู่เดี๋ยวนี้ห่างจากกองบัญชาการมาอีกราว ๒๐ กิโลเมตร เขาจะต้องโค่นต้นไม้เหล่านี้ให้หมด เพื่อกองทางจะได้ตัดถนนสายยะลา-เบตงให้คืบหน้าต่อไป เมื่อเขายกกองกันมาใหม่ ๆ เขาเห็นที่แห่งนั้นมีชัยภูมิดี เพราะมีที่ราบอยู่นิดหนึ่งขนาดสนามฟุตบอลและมีหญ้าคาขึ้นรกรุงรังจึงถือเอาเป็นที่พำนักพักพิงเลยตั้งชื่อหมู่บ้านของเขาว่า ดอนหญ้าคา”
และได้บรรยายสภาพของหมู่บ้านรวมทั้งวิถีชีวิตของผู้คนในแถบนั้นไว้ว่า
“...เราไปตามหมู่บ้านชาวป่า ซึ่งน้อยนักน้อยหนาที่จะมีคนได้เคยไปพบ เราไปถึงบ้านแมะหวาดลึกเข้าไปถึง “วังหิน” “ปู่เล่า” “วังไซ” หมู่บ้านเหล่านี้เป็นหมู่บ้านของคนป่าแท้ ๆ ไม่เคยไปแม้แต่เพียงจังหวัดยะลา หมู่บ้านหนึ่งๆ มีบ้านราว ๆ ๒๐-๓๐ ห้อง ใช้ไม้ไผ่ทะลุปล้องขนาดยาวใส่น้ำไว้รับประทานบ้านละหลาย ๆ กระบอก เราไปซื้อไก่เขารับประทานและซื้อมะพร้าวจากเขา ที่บ้านเขาเต็มไปด้วยผลไม้ ทุเรียน ลูกเงาะ สางสาด ฯลฯ ...เรามาตามทางมันเต็มไปด้วยลูกไม้ชนิดนี้ ทั้งนั้น...”
และตอนหนึ่งได้บรรยายถึงความสัมพันธ์ของชาวบ้านแถบนั้นกับพวกเงาะหรือ “ซาไก” รวมทั้งเล่าถึงลักษณะของเงาะแถบธารโตว่า
“ฉันรู้ดีว่าหล่อนเป็นมิตรของพวกเงาะ เจ้าพวกซาไก พวกนี้เรียกหล่อนว่า “เจ้านาย” พวกเงาะไปช่วยหล่อนตำข้าวในเวลาเช้า ในเวลาเย็นก็พากันกลับ หล่อนก็จะให้ข้าวสารไปหน่อยหนึ่งเพื่อเป็นค่าแรงงาน เมื่อเด็ก ๆ หล่อนเคยเล่นกับเด็ก ๆ ซาไก พวกซาไกไวอย่างไรนะหรือ? อ๋อ ไก่ทีเดียวแหละท่าน เราเคยให้กางเกงเขานุ่ง พอจะเข้าป่า เขาก็คงรูปเดิมของเขา ถอดกางเกงมาผูกเอวเมื่อเข้าป่าได้แล้วเราวิ่งตามไปดูเขาจะเดินกันอย่างไร เพราะตามปกติเราไม่เห็นเขาเดินตามทางคนเดินเลย เขาไม่ได้เดินดอกเขาหายตัวไป เขากระโดดเข้าหาต้นไม้ต้นนี้แล้วไปต้นโน้น เราไม่อาจเห็นได้เลย...”
และอีกตอนหนึ่งบรรยายถึงวิธีการดักนกหว้าของคนแถบนั้นว่า
“...บางคนก็มีนกมาย่าง นกนั้นเรียกว่านก “กะหว้า” (นกยูงขาว) เขาไปดักมาได้แต่ยอดเขาสูง โดยใช้พริกแดง ๆ ล่อไว้หน้าคลึง เจ้านกยูงขาวจะรำแพนเข้ามาด้วยความคึกคะนองแล้วติดคลึง...”
“จับตาย” นับว่าเป็นงานวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับภาคใต้ชิ้นสำคัญยิ่ง เพราะนอกจากจะมีความดีเด่นทางด้านวรรณศิลป์แล้วยังเป็นแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับสภาพชีวิตและวัฒนธรรมต่าง ๆ ของชาวบ้านแถบจังหวัดยะลาในอดีตอีกด้วย (สถาพร ศรีสัจจัง)