จับผึ้ง

จับผึ้ง


จับผึ้ง 

          จับผึ้ง หรือ ตีผึ้ง เป็นวิธีการหาน้ำผึ้งของชาวบ้านป่า โดยการพยายามติดตามตัวผึ้งไปจนพบรังผึ้ง แล้วขึ้นไปเก็บรังผึ้งโดยอาศัยวิธีการ เครื่องมือ ขั้นตอน และความเชื่อที่ถือปฏิบัติสืบต่อกันมา จนได้น้ำผึ้งมาใช้ประโยชน์ตามต้องการ

ประเภทของผึ้งที่ชาวบ้านนิยมจับกันมี ๔ ชนิด คือผึ้งแมลงวัน ผึ้งหนอกวัว ผึ้งสอง และผึ้งใหญ่หรือผึ้งหลวง (บางแห่งเรียกผึ้งยวน และเรียกการจับผึ้งชนิดนี้ว่า “เสียบยวน”) ผึ้งที่ให้น้ำผึ้งมากที่สุด คือผึ้งใหญ่ ซึ่งเป็นผึ้งป่าที่มีตัวขนาดใหญ่กว่าผึ้งชนิดอื่น ชอบทำรังในที่สูง ๆ และเป็นที่มีความสงบ ผึ้งชนิดนี้ไม่สามารถนำมาเลี้ยงได้ น้ำผึ้งที่ผลิตมีคุณภาพและปริมาณมากที่สุด ผึ้งใหญ่จะทำรังในฤดูร้อนคือประมาณเดือน ๓ ถึงเดือน ๕ โดยฝูงผึ้งจะไปทำรังที่ต้นไม้สูง เรียกว่า “ยวนผึ้ง” แต่ละต้นจะมีตั้งแต่ ๑๐-๔๐ รัง และมักทำรังที่ต้นไม้ต้นเดิมเป็นประจำทุกปีเว้นแต่จะถูกโค่นทำลายให้โล่งเตียนเสีย เรียกการมาทำรังของฝูงผึ้งชนิดนี้ว่า “ผึ้งลง” และเรียกต้นไม้ที่ผึ้งทำรังว่า “ต้นยวนทอง”

นักจับผึ้งต้องรู้วิธีการติดตามผึ้งเมื่อมันออกมาหาน้ำหวาน โดยการสังเกตช่วงเวลาของการอยู่เก็บน้ำหวานของผึ้ง ถ้ามันอยู่นานแสดงว่ารังอยู่ใกล้ ถ้าอยู่ไม่นานแสดงว่ารังอยู่ไกล เมื่อผึ้งบินกลับรังนักจับผึ้งจะติดตามไปจนพบรัง แล้วทำเครื่องหมายแสดงความเป็นเจ้าของไว้เรียกว่า “ปักกำ”

นักจับผึ้งนิยมจับผึ้งในช่วงเวลาที่ในรังผึ้งมีน้ำหวานมาก วิธีสังเกตให้รู้ว่ารังใดมีน้ำผึ้งมากหรือน้อยจะดูรูปทรงตรงปลายติ่งของรังตรงจุดที่เรียกว่า “หัวน้ำ” ถ้าหัวน้ำมีลักษณะกลมแสดงว่ามีน้ำผึ้งน้อย ถ้าหัวน้ำมีลักษณะรี บาง แสดงว่ามีน้ำผึ้งมาก ลักษณะรังเช่นนี้เรียกว่า “บ่อร้อยรู”

เนื่องจากผึ้งใหญ่ทำรังบนต้นไม้สูงและแต่ละต้นมีผึ้งหลายรัง การตีผึ้งจึงทำกันเป็นคณะ เรียกคณะตีผึ้ง (เฉพาะในตอนไปปฏิบัติงาน) ว่า “โหมน” โดยถือเป็นเคล็ดว่าจะไม่เรียกชื่อจริง คนที่เป็นหัวหน้าคณะเรียกว่า “นายโหมน” ลูกน้องเรียกว่า “ลูกโหมน” และเรียกผึ้งอีกอย่างหนึ่งว่า “นางศรีดอกไม้”

เนื่องจากต้นยวนทองทั้งใหญ่และสูง (มิเช่นนั้นผึ้งจะไม่ทำรัง) คณะตีผึ้งจึงต้องหาวิธีให้ขึ้นต้นไม้นั้นสะดวกและปลอดภัย จึงต้องเดินทางไปล่วงหน้า นับตั้งแต่ออกเดินทางก็เริ่มเรียกกันว่า “โหมน” และมีความเชื่อว่าตลอดเวลาที่ไปจับผึ้งนั้นห้ามลูกเมียที่อยู่ทางบ้านแต่งตัวสีฉูดฉาด ห้ามใช้เครื่องประทินผิวและห้ามทะเลาะกับใครเด็ดขาด มิฉะนั้นโหมนจะมีอันเป็นไปอาจถึงแก่ชีวิต ครั้นบรรดาโหมนไปถึงบริเวณใกล้ยวนทองก็จะช่วยกันทำที่พักแรมซึ่งเรียกว่า “ทับ” พอตกเย็นก็ช่วยกันทำบันไดสำหรับปีนขึ้นไปตีผึ้ง เรียกบันไดนั้นว่า “ไม้แค” ซึ่งมีวิธีทำโดยเฉพาะกล่าวคือ ต้องตัดไม้ขนาดประมาณเท่าลำแขนที่มีความยาวจนเกือบถึงรังผึ้งมา “แค” กับต้นยวนทอง (ทำอย่างพะองแต่ไม่ให้ไม้แคแนบติดต้นยวนทอง) โดยมีท่อนไม้ขนาดสั้น ๒ อันขัดไขว้เป็นรูปขาหยั่งรองรับไว้เป็นช่วง ๆ เรียกไม้ ที่ขัดไขว้กันนั้นว่า “ลูกแค” (อาจใช้ไม้มีปางแทนก็ได้) ปลายอีกข้างหนึ่งของลูกแคใช้เชือกมัดติดกับต้นยวนทอง

การแคนี้เป็นหน้าที่ของลูกโหมน เมื่อลูกโหมนแคเสร็จเรียบร้อยแล้วก็ต้องกลับลงมาเพื่อให้นายโหมนขึ้นไปตีผึ้งซึ่งจะเริ่มกระทำในตอนพลบค่ำ

 นายโหมนพร้อมด้วยลูกโหมนอีก ๑ คนจะปีนขึ้นไปตามไม้แคโดยใช้ลูกแคแทนขั้นบันได พร้อมกับนำอุปกรณ์ไปด้วย ๔ อย่าง คือ 

 (๑) เชียกครู (เชือกครู) เป็นเชือกที่ฟั่นด้วยหวายใช้สำหรับโยงน้ำผึ้งลงมาข้างล่าง 

 (๒) กาย นิยมทำด้วยย่านพืชชนิดหนึ่งซึ่งมีชื่อว่า “อ้ายแกรก” นำมาทุบให้แตกแล้วย่างไฟให้แห้ง แล้วนำมามัดรวมกันเป็นมัดใช้จุดไฟเพื่อไล่ให้ผึ้งออกจากรัง 

 (๓) ปลี ทำด้วยไม้หมากหรือไม้เหลาชะโอน หรือไม้ชนิดอื่นที่มีเนื้อคล้ายไม้หมาก เหลาให้ปลายแหลมมีคมทั้ง ๒ ข้างคล้ายพระขรรค์ ใช้สำหรับปาดส่วนยอดของรังผึ้งที่เรียกว่า “หัวน้ำ” เพื่อเอาน้ำผึ้งและรังผึ้ง 

 (๔) โหม้ง หรือโตระ ทำด้วยกาบหมาก โดยนำมาขอดให้เป็นรูปทรงกระบอกใส่ขอบให้ทรงรูปได้ดียิ่งขึ้น แล้วมัดติดกับสาแหรกใช้สำหรับใส่น้ำผึ้ง 

 การตีผึ้งจะเริ่มจากรังที่อยู่ต่ำที่สุดโดยนายโหมนจุดกายไล่ผึ้งออกจากรังจนหมด แล้วใช้โหม้งรองรับไว้ใต้รังผึ้งแล้วจึงใช้ปลีตัดหัวน้ำ ปล่อยให้น้ำผึ้งไหลลงสู่โหม้ง พอได้น้ำผึ้งเกือบเต็มก็ใช้เชียกครูผูกโหม้งหย่อนลงมาข้างล่าง เมื่อตีผึ้งเสร็จรังหนึ่งแล้ว ก็ตีรังต่อ ๆ ไปจนหมดต้นยวนทองต้นนั้น ถ้าบังเอิญรุ่งเช้าเสียก่อนก็จะต้องหยุดแล้วกลับลงมาคอยตีผึ้งใหม่ในคืนต่อไป เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้วก่อนนำน้ำผึ้งกลับบ้านจะต้องทำพิธี “ตั้งโหมน” คือการสังเวยเจ้าที่เจ้าทางเสียก่อน แล้วจึงช่วยกันนำน้ำผึ้งกลับบ้านแบ่งปันกันตามส่วน 

 ผู้มีอาชีพตีผึ้งหรือโหมนยังมีความเชื่ออื่น ๆ ที่ถือปฏิบัติกันอย่างเคร่งครัดอีกหลายอย่าง เช่น เมื่อนายโหมนปีนไม้แคขึ้นไปตีผึ้งทุกครั้งจะต้องนำเชียกครูติดตัวไปด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้ผึ้งต่อยไม่เช่นนั้นจะถูกผึ้งรุมต่อย เชื่อกันว่าทุกครั้งที่ได้น้ำผึ้งเรียบร้อยแล้วต้องนำมาตั้งให้เจ้าที่เจ้าทางเจ้าป่าเจ้าเขากินเสียก่อน มิเช่นนั้นจะ “ถูกเจ้าที่” คือมีความเป็นไปต่าง ๆ นานา เชื่อกันว่าถือปฏิบัติถูกต้องอย่างเคร่งครัดทุกประการจะมีครูหมอมาเข้าทรงในขณะที่ขึ้นไปตีผึ้งโดยไม่รู้สึกตัว จึงสามารถทำงานได้เกินกำลังความสามารถของตนเอง ทำให้เกิดความกล้าเป็นพิเศษทำงานไม่รู้จักเหนื่อย (อนุชิต เพ็งภัตรา, สุภาคย์ อินทองคง)

ดาวน์โหลด PDF