จับช้างป่า
ช้างป่า เป็นทรัพยากรของชาติ ผู้ใดจะจับช้างต้องขออนุญาตตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการจับช้าง พ.ศ. ๒๔๖๔ ซึ่งบัญญัติว่า การจับช้างต้องเสียภาคหลวงร้อยละ ๒๐ จากราคาช้างที่เจ้าพนักงานและนายคอกช่วยกันประเมินได้ นอกจากนี้มีช้างบางชนิดที่กำหนดไว้ว่าใครจับได้ก็ต้องตกเป็นสมบัติของแผ่นดิน เช่น ช้างมงคลเจ็ดประการ ช้างสีประหลาด เป็นต้น ก่อนหน้านี้ผู้จับช้างจะต้องมอบช้างให้เป็นช้างหลวงตามอัตราที่ทางราชการกำหนด ช้างที่ต้องมอบให้หลวงเรียกว่า “ช้างหัวป่า” (ดู ช้างหัวป่า)
การขออนุญาตจับช้าง เมื่อทางจังหวัดพิจารณาเห็นว่าจังหวัดนั้น ๆ มีช้างพอที่จะตั้งคอกจับได้ ก็กำหนดสถานที่และเสนอเรื่องไปกระทรวงมหาดไทยแล้วเปิดการประมูล ผู้ที่มีสิทธิ์ประมูลได้จะต้องเป็นคนที่มีหลักทรัพย์พอที่จะชดใช้เมื่อผิดทัณฑ์บน นอกจากนี้จะต้องมี “ช้างเนียม” (ช้างต่อ) ด้วย ผู้ที่ประมูลในราคาสูงเป็นผู้ได้ทำคอกจับช้าง ก่อนที่จะออกใบอนุญาตให้ต้องทำสัญญาทัณฑ์บน เช่น นายคอกจะต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ทันทีเมื่อช้างเข้าคอก สำหรับใบอนุญาตจะกำหนดว่า
๑. ใบอนุญาตใช้ได้ ๑๒ เดือน กำหนดจำนวนช้างที่ให้จับ ถ้าจับเกิน ช้างที่เกินนั้นต้องตกเป็นของแผ่นดิน
๒. ช้างชรา ช้างที่มีความสูงน้อยกว่า ๑๕๐ เซนติเมตร “ช้างเชียง” (ท้อง) ช้างพังที่มีลูกติด ลูกต่ำกว่าขนาด ช้างเหล่านี้ถ้าจับได้จะต้องปล่อยกลับเข้าป่า
๓. ช้างอุทาม (เคยมีเจ้าของ) หากจับได้จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการเก็บของตก
การเตรียมดำเนินการ เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว ผู้ที่ได้รับอนุญาตเป็นนายคอกหาสมัครพรรคพวกหมอเฒ่า คนงาน โดยนายคอกดำเนินการสร้างคอก หมอเฒ่าเป็นผู้ประกอบพิธีกรรม การเรียกหุ้นในการทำคอกช้างมีสองประเภทคือ หุ้นแรงและหุ้นเงิน ผู้หุ้นเงินเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ผู้หุ้นแรงเป็นผู้ที่ใช้แรงทำงาน เช่น ตัดไม้ ตัดหวาย ไล่ช้าง ฯลฯ ผลประโยชน์เมื่อช้างเข้าคอก นายคอกและหมอเฒ่ามีสิทธิ์เลือกช้างก่อน ต่อมาก็พวกหุ้นเงิน ที่เหลือก็เป็นของพวกหุ้นแรง ถ้าช้างเข้าคอกน้อยก็ประเมินขึ้นเป็นเงินแล้วแยกไปตามเกณฑ์หุ้น ในการทำคอกช้างมักจะมีคนจำนวน ๒๐-๒๕ คน ถ้าคนมากส่วนแบ่ง ก็น้อย ถ้าคนน้อยงานก็หนัก
การตั้งคอกจับช้างเป็นงานใหญ่ รื้อถอนยาก ก่อนที่จะกำหนดที่ตั้งหมอเฒ่าและนายคอกต้องช่วยกันพิจารณาให้รอบคอบ ที่ที่เหมาะในการจะตั้งคอกช้างนั้น ควรอยู่ในย่านที่ช้างเดินผ่าน มีชัยภูมิที่ดี คือหน้าคอกต้องเป็นที่สูงเล็กน้อย แล้วลาดต่ำลงไปหาท้ายคอก ทางผ่านต้องไม่มีสายน้ำขวาง ซึ่งจะเป็นเหตุให้ช้างชะงัก ทั้งต้องมีต้นไม้ใหญ่ ๆ เป็นร่มเงา อีกอย่างจะต้องมีควนหรือเขาช่วยเป็นปีกนอกไว้บ้าง จะประหยัดการทำปีกได้มาก นอกจากนี้ทางหลังคอกควรมีสายน้ำ เพื่อคนงานจะได้ใช้และช้างที่จับแล้วจะได้ดื่มน้ำ
เมื่อเลือกสถานที่ได้แล้ว หมอเฒ่าก็จัดทำพิธีกรรมร่ายมนต์ขอนิมิตต่อครูอุปัชฌาย์ แล้วเอาไม้ปักเป็นเสากระทู้ ๓ ต้น สำหรับการตั้งคอก ต่อจากนั้นก็เป็นเรื่องของนายคอกที่จะต้องแบ่งงานให้คนงานทำ มีการตัดไม้ เย็บจาก ตัดหวาย เจาะน้ำมันยาง ฯลฯ เมื่อเรื่องต่าง ๆ นี้ผ่านไปก็รีบเตรียมการสร้างคอกต่อไป โดยให้ตัดไม้มา ๒ ขนาด ขนาดใหญ่ใช้ทำเสาแม่อุ้ม (หน้าที่เหมือนไม้กระทู้ ซึ่งอยู่ด้านในไม้คาด ส่วนแม่อุ้มอยู่นอกไม้คาด) ขนาดกลางใช้ทำไม้กระทู้และไม้คาด นอกจากนี้ต้องเตรียมหวายขนาดใหญ่ขนาดเล็กให้พอเพียงแก่ความต้องการ
การสร้างคอกช้างมีความแตกต่างกันบ้างตามสถานที่แต่และท้องถิ่น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความ เหมาะสมและเทคนิคการทำที่เห็นว่าสะดวก อาจมีการดัดแปลง ละเว้น เพิ่มเติมจากแบบที่เคยทำกันมาแต่เดิมได้บ้าง ในการสร้างคอกช้างใช้เวลาราว ๒๐-๒๕ วัน ถ้าจะประมาณให้ช้างเข้าได้ถึง ๓๐ เชือกต้องทำคอกยาวถึง ๔๔ วา ความสูงราว ๗ ศอก ปากคอกกว้าง ๙ ศอก ท้ายคอกกว้าง ๕ ศอก เมื่อเสร็จแล้วคอกจะมีรูปปากผาย ท้ายเรียว ข้างคอกด้านนอกมี “หลักแม่ไพ” (บางแห่งวางขอนไม้แทน) ปักเป็นระยะสำหรับเอาหวายเชือกบาศมาผูกติดเท้าช้างไว้กับหลัก นอกจากนี้มี “ทะลวง” (ไม้แทงช้างเมื่อช้างด้นคอก) ติดไว้ทุกหลักสำหรับแทงเมื่อช้างดันคอก มีบานประตูสำหรับปิดคอก เรียกว่า “กุมพัด” กุมพัดมี ๒ แบบ (ในการทำแต่ละแห่งจะนิยมแบบใดก็ได้) แบบหนึ่งเรียกว่ากุมพัดตก กุมพัดชนิดนี้เมื่อหมอเฒ่าสับหวายขาด กุมพัดก็ตกลงขวางปากคอก อีกอย่างหนึ่งเรียกว่า กุมพัดแม่วี มีลักษณะเหมือนบานประตูธรรมดา เมื่อสับกุมพัดหวายขาด กิ่งไม้จะเหนี่ยวกุมพัดปิดประตู ที่ท้ายคอกมีไม้ไผ่เรียกว่า “ลูกเฟือง” (ไม้ไผ่ทั้งลำราว ๗ ท่อนกองแผ่ไว้บนพื้น บางแห่งทำไว้เป็นระยะ ๆ ไปตามทางเดินช้างในช่วงที่เป็นขาทรายแข็ง ไว้ฟังเสียงจะได้ทราบว่าช้างเดินมาถึงจุดใดแล้ว) ขวางท้ายคอกไว้ สำหรับให้หมอเฒ่าฟังเสียงเมื่อช้างตัวแรกเดินถึงท้ายคอก ตรงปากคอกมีไม้แวง (ไม้ที่แขวนห้อยที่ช่องประตูเพื่อใช้แกว่งไล่ช้างอย่าให้ขวางจนทำให้ประตูปิดไม่ลง) ห้อยแขวนไว้เพื่อหมอเฒ่าจะได้ตรวจก่อนที่จะสับกุมพัด ทางท้ายคอกเลยลูกเฟืองไปทำช่องประตูเล็ก ๆ ที่ไม่ติดอันดับลอดออกไป ภายในคอกปลูกต้นกล้วยและอ้อยไว้เพื่อทำพิธีกรรม หลังคอกมีศาลเตี้ย ๆ ปลูกไว้หนึ่งแห่งเรียกว่า “ช่องอุเชน” สำหรับให้ช้างเล็ก ๆ ที่ไม่ติดอันดับลอดออกมา ภายในคอกปลูกต้นกล้วยและอ้อยไว้เพื่อทำพิธีกรรม หลังคอกมีศาลเตี้ย ๆ ปลูกไว้หนึ่งแห่งเรียกว่า “หลาอุเชน” รั้วคอกทำโดยใช้ไม้กระทู้ปักเป็นแนว ใช้ไม้เคร่าคาดด้านนอกแข็งแรง ๓ อัน เป็นแนวนอนไป ๓ แถว (สำหรับกันช้าง ๓ ขนาด) ใช้ไม้แม่อุ้มปักดันด้านนอกไม้เคร่า บานประตูปิดเปิดได้โดยใช้เชือกรั้งแขวนไว้กับต้นนางโยงที่อยู่ของประตูเพื่อช่วยยกไม่ให้ประตูขูดลากไปตามพื้น นอกจากนี้จะต้องใช้เชือกเส้นยาวไปผูกไว้ยอดไม้บริเวณขาทรายแข็ง น้าวให้กิ่งไม้น้อมมาผูกไว้กับประตูเพื่อให้กระตุกบานประตูปิดเมื่อสับกุมพัด (ถ้าไม้กิ่งเดียวแรงอ่อนก็ใช้เชือกไปคล้องผูกหลาย ๆ กิ่งเพื่อให้มีแรงรวม) หลังประตูใช้เชือกรั้งประตูให้เปิด เส้นเชือกรั้งผ่านห้างลาดที่หมอเฒ่าทำงาน ห้างลาดสำหรับที่ทำงานของหมอเฒ่าเป็นประเภทห้างขัด (ห้างใช้ทำงานระยะสั้น ไม่ต้องมุงหลังคา) ห้างลาดแต่ละท้องถิ่นทำแตกต่างกันบ้าง บางถิ่นทำไว้บนคอกเหนือประตู บางถิ่นทำไว้ข้างประตูแล้วมีสะพานเดินมาตรวจที่ช่องประตูได้ บางถิ่นทำเป็นชานยาวไปตามแนวคอกด้านนอกเพื่อสะดวกในการเดินตรวจดูภายในคอกได้ทั่วถึง
หน้าคอกมีปีกออกไป ๒ ข้าง ตอนแรกเรียกว่า “ขาทรายแข็ง” ต่อจากนั้นไปเรียกว่า “ขาทรายหูเกียง” หรือ “ขาทรายอ่อน” ต่อไปก็เป็น “ขาทรายไต้” ขาทรายแข็งมีไม้ปักแข็งแรง มีไม้เคร่าทำนองรั้วมีความยาว ๓-๔ ชั่วศอก “ขาทรายอ่อน” หรือ “หูเกียง” ทำโดยการโค่นต้นไม้ให้ล้มทับกันเป็นแนวรั้ว มีความยาวพอ ๆ กับความยาวของขาทรายแข็ง ต่อจากหูเกียงก็เป็น “ขาไต้” หรือ “ขาทรายไต้” ใช้สำหรับติดไต้หลก (น้ำมันยางใส่กระบอกไม้ไผ่สั้น ๆ มีขา ๒ ขา) มีหลักสำหรับติด “ไต้หลัก” วาต่อต้น แล้วค่อย ๆ ห่างออกเรื่อย ๆ จน ๒ วาต่อต้น ขาทรายไต้นี้มีความยาวไปตามแนวปีกทั้ง ๒ ข้างของคอกราว ๒ กิโลเมตร ตามแนวขาไต้นี้ต้องแต่งทางให้เตียน เพื่อสะดวกแก่การวิ่งทำงานในเวลาค่ำคืน ขาทรายไต้หรือขาไต้นี้จะต้องทำจากปลายปีกสุดด้านนอกไปหาปลายปีกสุดด้านนอกอีกปีกหนึ่งด้วยขาทรายไต้ที่ทำตัดด้านหน้าเข้าหากันนี้เรียกว่า “ขาทรายหน้าด่าน”
นอกจากนี้ก็จัดทำห้าง (ห้างคือที่ทำงาน อาจใช้เสาหรือดัดแปลงกิ่งไม้บนต้นไม้ก็ได้ ทำสูงๆ) ห้างมี ๒ แบบ คือ ห้างขัดกับห้างเพิง “ห้างขัด” คือห้างที่ไม่ต้องใช้ความประณีตในการทำ สำหรับขึ้นไปปฏิบัติงานชั่วระยะสั้น ไม่ต้องกั้นและมุง “ห้างเพิง” คือห้างที่ทำอย่างดีต้องมุงและกั้นฝา ห้างขัดที่ ๑ สำหรับหมอเฒ่าทำงานอยู่บนคอกเรียกว่า “ห้างลาด” (กล่าวมาแล้วตอนว่าด้วยคอก) ห้างขัดที่ ๒ ตั้งอยู่หน้าประตูคอกในเขตขาทรายแข็งเรียกว่า “ห้างทูด” (ตะเพิด) สำหรับทิ้งไฟไล่ช้างให้เข้ากลุ่มอัดเข้าในคอก นอกจากนี้ที่หูเกียง (ขาทรายอ่อน) บางแห่งก็ทำเป็นห้าง เรียกว่า “ห้างหูเกียง” อยู่ข้างละ ๑ ห้าง บางแห่งก็ให้คนยืนถือปืนไม่ต้องทำห้าง สำหรับช่วยเมื่อช้างจะแหกขาทรายตอนนี้ ห้างหูเกียงเป็นประเภทห้างขัด (ถ้ามี) เครื่องมือสำหรับคนที่ทำงานบนห้างนี้มีปืน ประทัด ลูกร้อง (ไม้ไผ่เล็ก ๆ ตัดมาเป่าให้เกิดเสียง) นอกจากนี้ต้องทำห้างเพิงไปตามแนวขาไต้หลาย ๆ ห้าง ห่างกันขนาดพอกู่กันได้ยินเรียกว่า “ห้างราย” (ห้างราวก็เรียก มีห้างราวหูซ้ายและห้างราวหูขวา) เป็นประเภทห้างเพิง มีคนทำงานโดยปกติ ๒ คน วิ่งจุดไต้หลกไปคนละด้าน ไปต่อกับงานของคนที่ทำงานมาจากห้างอื่นเครื่องมือของห้างนี้มี ลูกร้อง ประทัด ไฟ ทางด้านปีกสดของขาทรายไต้ทำขาทรายต่อออกไปจนเชื่อมต่อกับปีกขาทรายทั้ง ๒ข้างเรียกว่า “ขาทรายหน้าด่าน” ห้างที่อยู่ตามแนวนี้เรียกว่า “ห้างหน้าด่าน” หรือ “ด้านดอกศร” วางคนทำหน้าที่เหมือนคนที่ห้างรายหรือห้างราวหูขวา-ซ้าย ในขณะที่สร้างคอกจวนจะเสร็จนี้ ช้างที่นำไปใช้งานต้องขี่เดินให้เกิดเป็นรอยทางเดินของช้างจากนอกขาทรายหน้าด่านมาถึงปากคอก เพื่อให้ช้างป่าไม่เกิดความระแวงในการเดินเข้ามาหาคอก
เมื่อนายคอกทำคอกเสร็จ หมอเฒ่าก็เลือกวันเพื่อประกอบพิธีพลีกรรม บวงสรวงเทวดาและครูอุปัชฌาย์อาจารย์เสร็จแล้วก็ทำพิธีเบิกไพรขออนุญาตเจ้าป่าเพื่อทำการจับช้างสุดท้ายก็ร่ายมนต์ปัดรังควาน ในวันพิธีหมอเฒ่าจะปลูกศาลเพียงตาขึ้นในคอกมีศาลมหาสิทธิ์ ศาลตรีเศียร ศาลเทวดาตะวันตก ศาลเทวดาตะวันออก ฯลฯ เครื่องบัตรพลีมี หมาก พลู ธูป เทียน เป็ด ไก่ ขนมขาว ขนมแดง สุรา แล้วลงหลักมหาเสน่ห์ (บางแห่งเรียกหลักชัย) ซึ่งทำด้วยไม้ท้อน (สะท้อน) หมอเฒ่าจะประกาศให้เทวดาและนางไม้ทราบ แล้วไหว้พญายอดน้ำอย่าให้งูกัด ไหว้พญาวังอย่าให้เสือกัด ไหว้พระพิฆเนศให้อภิบาลรักษา ไหว้ตลอดถึงเจ้าที่เจ้าทาง ผีสางนางไม้ ผีป่า ผีไพร ผีห้วย ผีหูด อย่าให้หลอกหลอน เสร็จแล้วให้คนแต่งตัวนุ่งผ้าขาด ๆ (คล้ายแต่งประกวดแฟนซี) ซ้อมให้พูดโต้ตอบกันเป็นที่พอใจระหว่างคนที่แต่งตัวเช่นนี้กับหมอเฒ่า แล้วให้ออกไปยืนอยู่ไกล ๆ คนที่แต่งตัวจำนวน ๒ คน สมมติตัวเป็น “อ้ายเร่” กับ “อ้ายร่าน” (เชื่อกันว่าอ้ายเร่ อ้ายร่านเป็นผีป่าที่คอยรังควาน มักจะปรากฏตัวให้เห็นเหมือนที่สมมตินี้) หมอเฒ่าออกไปยืนกู่ที่ประตูคอก ๓ ครั้ง ผู้ที่สมมติเป็นอ้ายเร่ อ้ายร่าน ก็ขานรับแล้วเดินเข้ามาหา หมอเฒ่าพูดขอช้างตามจำนวนที่ได้รับอนุญาต โดยการเสนอให้หมูเห็ดเป็ดไก่ และสุรากิน อ้ายเร่ อ้ายร่าน ก็ตกลง จากนั้นก็ไปกินเครื่องบวงสรวงในคอก เสร็จแล้วทั้ง ๒ คนที่สมมติตัวออกไปทางหลังคอก พรรคพวกไปจับตัวมารดน้ำมนตร์ (ถ้าไม่ทำเชื่อกันว่าจะบ้าวิ่งเข้าป่า)
ครั้นเสร็จพิธีในคอกศาลทั้งหมดก็ถูกรื้อเอามาปลูกเป็นศาลไว้ศาลเดียวข้างนอก (ศาลอุเชน) นายคอกจะต้องเขียนทัณฑ์บนติดไว้ที่ศาลและต้องไปอ่านทุกวัน จนกว่าจะจับช้างได้ ข้อความที่เขียนเป็นทัณฑ์บนไว้นั้น ว่าดังนี้
“ถ้าเจ้าพ่อให้ช้างเข้าคอก ๓๐ เชือก จะจัดเครื่องสังเวยให้ดังนี้ กระบือ ๑ ตัว สุกร ๑ ตัว สุราจนพอและแถมมโนราห์ราฉลองอีก ๑ คืน
ลงชื่อ............................................นายคอก”
นอกจากนี้หมอเฒ่าจะต้องสั่งให้ทุกคนถือปฏิบัติในขณะที่ทำคอกช้าง ถ้าฝ่าฝืนจะเป็นเสนียดจัญไร ข้อที่ให้ถือปฏิบัติ มีดังนี้
๑. อย่าพูดหยอกล้อซึ่งกันและกัน
๒. กินแห่งเดียวกัน ทำงานพร้อมกัน
๓. ไม่เอาภรรยามาอยู่ด้วย
การทำคอกช้างเป็นงานที่จะต้องร่วมแรงกันทำเป็นเวลาแรมเดือน ฉะนั้นการเตรียมอาหารและสิ่งจำเป็นอื่น ๆ จะต้องให้มีชีวิตอยู่ได้อย่างสะดวกสบายพอควร สิ่งที่จะต้องเตรียม เช่น ข้าวสาร เกลือพริก น้ำตาล กะปิ ปลาเค็ม ขมิ้น หอม กระเทียม ยาเส้น ใบจาก มีดพร้า เสียม ขวาน ปืน ยาประจำบ้าน กับข้าวสดอาจหาได้ในป่า เช่น ปลา เต่า ตะพาบน้ำ นกต่าง ๆ อาจใช้แร้วดัก เช่น นกหว้า ไก่ฟ้า ไก่จุก ไก่เจี๊ยบ ไก่ป่า นกอื่น ๆ ผักก็มียอดหวาน กล้วยป่า ยอดเรียน เต่าร้าง หน่อไม้ไผ่ป่า ฯลฯ
พวกที่ไม่ออกไปต้อนช้างต้องทำงานที่คอกอาจเป็น ๒-๓ คนจะหาโอกาสกลับบ้านเยี่ยมครอบครัวบ้างก็ได้ หรือไปเอาอุปกรณ์ที่ขาดแคลนลงบางครั้งบางคราว พวกที่อยู่คอกต้องเตรียมพร้อมไว้เสมอ เพราะไม่แน่ว่าช้างจะมาถึงคอกเมื่อใด งานสำหรับคนที่อยู่คอกมี
๑. การตัดหวาย จะต้องตัดหวายพรวน (หวายพวน) สำหรับทำปลอกและทามไว้ประมาณ ๒๐๐ เส้น เพราะต้องใช้กับช้างใหญ่เชือกละ๘-๑๒ เส้น ช้างขนาดกลาง ๖ เส้น ช้างขนาดเล็ก ๔ เส้น นอกจากนี้จะต้องเตรียมหวายสำหรับทำเชือกรุม
๒. ทำไต้หลกและไต้มัด ไต้หลกทำโดยการใช้น้ำมันยางใส่ในกระบอกไม้ไผ่ ใช้ทางไม้หลุมพี (เป็นพืชพวกส้มอยู่ในที่ลุ่มต้นคล้ายไม้ระกำ) ทำเป็นไส้ยัดไว้ใน นำไปคาดติดหลักขาไต้ตลอดทุกแนว แล้วทำกรวยปิดกันฝน ไต้หลกต้องมีประมาณ ๖๐๐ กระบอก ส่วนไต้มัดหรือเรียกว่าไต้เหยื่อ ใช้น้ำมันยางชุบเปลือกไม้ เช่น เปลือกไม้เสม็ดที่ตากแห้งแล้ว ชุบน้ำมันยางแล้วห่อด้วยใบไม้ เช่น ใบเตยป่า ใบกะชิง ใบกะพ้อ ใช้เชือกผูกแต่งเป็นลำยาว ๆ ขนาด ๕๐ เซนติเมตร ไต้ชนิดนี้เอาไว้ใช้จุดแทนตะเกียงน้ำมัน หรือจุดใช้เดินทางสำหรับพวกไล่ช้าง โดยเฉพาะไต้มัดนี้ใช้มากเวลาช้างเข้าคอกแล้ว
การตระเวนค้นหาช้างสำหรับกองไล่ ชีวิตความเป็นอยู่ของพวกกองไล่นี้เป็นชีวิตที่ลำบากมากต้องมีความทรหดอดทนต่อทุก ๆ อย่างในป่าชัฏอันกว้างใหญ่ โดยการเที่ยวตระเวนไปอย่างไม่มีจุดหมายและไม่มีผู้คนที่จะได้สอบถามต้องใช้วิชาความรู้สำหรับป่าเฉพาะที่จะรักษาตัวไม่ให้หลงทิศทางและสามารถกลับออกสู่บ้านคนได้ กลางวันเดินค้นหา กลางคืนหยุดนอนในสถานที่ที่เห็นว่าปลอดภัย อาจเป็นบนคาคบหรือในโพรงไม้ บางครั้งก็แอบขอนไม้ก็แล้วแต่จะเห็นควรเป็นคืน ๆ ไป การค้นหาช้างบางครั้งอยู่ในสภาพนี้ถึง ๕-๖ วัน ถ้าไม่พบช้างอาจกลับมาเปลี่ยนพวกใหม่ไปอีก ไปทำการค้นหาต่อจากที่พวกก่อนค้นมาแล้ว หาไปจนกว่าจะพบโขลงช้าง การค้นหาช้างมักทำกันในฤดูแล้ง เช่นเดือน ๔, ๕ ,๖, ๗ เพราะในฤดูฝนตกหนักจะเพิ่มความลำบากขึ้นมากในการใช้ชีวิตในป่าจะต้องเกี่ยวด้วยการกิน การนอน กองไล่ที่ออกไปใช้ชีวิตในป่านี้ไปเป็นจำนวนคี่ เช่น ๕, ๗ สิ่งที่พวกกองไล่จะต้องนำติดตัวไปมีข้าวสาร พริก เกลือ กะปิ น้ำตาล หอม กระเทียม ไม้ขีด ปืน ลูกประทัด ลูกร้อง ไต้มัด (ไต้เหยื่อ) มีด ในป่ามีสัตว์ร้าย โดยเฉพาะอสรพิษมีมาก เช่น งู ตะขาบ เข็บ ทาก มด ปลวก แมลง บางแห่งหาน้ำดื่มไม่ได้เป็นระยะทางยาว ถ้าเช่นนี้ต้องอาศัยน้ำจากย่านเชือก โดยการตัดเชือกแล้วนำกระบอกไม้ไผ่รองรับเชือกที่ให้น้ำดื่มไม่ค่อยมีรสแปลก เช่น ย่านปด ย่านชิงโค ย่านสะบ้า ย่านอิโร่ ย่านไก่ต้ม ฯลฯ การหุงข้าวใช้หลามด้วยกระบอกไม้ไผ่ สำหรับการนอนใช้ใบไม้ตัดมารองนอน แล้วสุมไฟไล่ริ้นยุงและกันสัตว์ร้ายไปด้วย นอกจากนี้ต้องมีสิ่งที่ป้องกันความหนาวด้วย การค้นหาช้างเมื่อเริ่มพบรอยฝูงช้างใหม่ ๆ ก็เริ่มมีความหวังขึ้นโดยการตามรอยไปเรื่อย ๆ เมื่อตามไปใกล้โขลงช้าง ก็จะได้ยินเสียงช้างหักไม้โครมครามอยู่เบื้องหน้า วิสัยข้างเดินไปกินอาหารไป พบสายน้ำก็อาบน้ำดื่มน้ำ ถึงเวลาค่ำช้างก็หยุดนอนเช่นกัน กองไล่เมื่อพบรอยช้างนอนก็อาจสำรวจนับช้างทั้งโขลงได้ โดยการแยกดูว่ามีช้างเล็กกี่ตัว ช้างใหญ่กี่ตัว ช้างพังกี่ตัว ช้างพลายกี่ตัว เป็นช้างหนุ่มกี่ตัว เป็นช้างแก่กี่ตัว สามารถแยกออกได้จากหลักเกณฑ์ดังนี้ คือ ในคืนหนึ่งโดยปกติช้างจะขี้และเยี่ยวตัวละครั้ง อันนี้ทำให้นับจำนวนช้างได้ทั้งโขลง ช้างแก่ขี้จะหยาบและระบบการย่อยอาหารไม่ดี ช้างหนุ่มขี้จะละเอียด อันนี้เป็นการแยกช้างหนุ่มและช้างแก่ให้ทราบจำนวน ช้างพังขี้และเยี่ยวจะรวมเป็นกองเดียวกัน ช้างพลายขี้และเยี่ยวห่างกันเห็นได้ชัด ช้างใดมีนัยน์ตาเสียข้างหนึ่งจะหาอาหารกินข้างที่มีนัยน์ตาดีก็รู้ได้ ช้างที่มีงายาวจะมีการใช้งาทิ่มแทงดิน จากหลักเกณฑ์ที่กล่าวมานี้ พวกกองไล่อาจทราบรายละเอียดของช้างทั้งโขลงพอสมควร แต่ก็ต้องตามจนเห็นตัวช้างจึงแน่ใจ เมื่อได้ยินเสียงหักไม้จะต้องเข้าไปใกล้เพื่อจะได้เห็นด้วยตา มีสิ่งที่ต้องระวังอยู่บ้างคือ ช้างพลายตัวใหญ่มักจะเดินนอกโขลงช้าง ต้องระวังช้างตัวนี้ดุ ไม่ค่อยหนี ช้างพลายตัวนี้จะเข้าฝูงก็ต่อเมื่อไปติดต่อแม่ช้างเพื่อผสมพันธุ์เท่านั้น โดยปกติจะไม่ยอมอยู่ในโขลงเพราะช้างเล็ก ๆ รบกวน สิ่งที่ต้องปฏิบัติอีกอย่างในการเข้าใกล้โขลงช้าง คือต้องเข้าทางใต้ของทิศทางลม ในโขลงช้างมีแม่ช้างใหญ่คอยควบคุมโขลงช้างอยู่ตัวหนึ่ง เรียกว่า “แม่แปรน” หรือ “แม่แปรก” จะคอยดูแลคอยจับกลิ่นหรือฟังเสียง ถ้ารู้สึกผิดปกติแล้ว แม่แปรนหรือแม่แปรกจะให้ความปลอดภัยแก่ช้างทั้งโขลง เมื่อกองไล่เข้าใกล้และล้อมโขลงช้างไว้แล้ว จะยิงปืนเพื่อป้องกันไม่ให้ช้างพลายที่อยู่นอกโขลงเข้ามาช่วย ในโขลงช้างแม่แปรนจะให้สัญญาณด้วยการฟัดงวงหรือคราง ตอนนี้ช้างทั้งหมดจะมารวมกันที่แม่แปรน ถ้าแม่แปรนส่งเสียง “แปร๋น” ๒ ครั้ง ช้างทั้งโขลงจะวิ่งไปทางใดทางหนึ่งทันที
เมื่อสำรวจพบโขลงช้างแล้ว พวกกองไล่จะแบ่งออกเป็น ๓ ด้าน ปล่อยให้ทางที่จะไปสู่ปากคอกว่างไว้ การล้อมจะต้องไม่ให้ช้างเห็นตัวเพราะช้างจะตื่น พวกกองไล่ใช้ลูกร้องเป่า ช้างจะเดินไปตามทิศทางที่ไม่มีเสียงลูกร้อง การต้อนช้างก็จะต้องไม่รีบร้อนจนเกินไป ปล่อยให้ไปตามสบาย ๆ ถ้าหากเห็นว่าช้าผิดปกติก็เป่าลูกร้องช้างจะเดินต่อไป การต้อนถ้าถึงที่มีน้ำก็ต้องให้เวลาช้างอาบดื่มพอสมควร ถ้าหากเป็นกลางคืนพวกไล่ต้องจุดไต้ไว้รอบๆ โขลงช้าง ถ้าช้างฝ่าวงล้อมไปด้านใดต้องจุดประทัดดักหน้า การไล่ต้อนบางครั้งต้องทำ ๓ ถึง ๔ วัน ช้างจึงเดินถึงคอก เมื่อเหลือเวลาประมาณ ๑วันจะถึงคอกพวกกองไล่จะต้องส่งข่าวให้ทางคอกทราบ เพื่อทางคอกจะได้เตรียมพร้อม การต้อนช้างมาถึงตอนนี้ พวกกองไล่จะต้องชะลอเวลา เพื่อประวิงให้ช้างถึงคอกตอนกลางคืน
พวกทางคอกเมื่อได้รับข่าวว่าช้างเดินทางมากำลังจะถึงคอกต่างก็ดีอกดีใจทำงานกันตัวตายไม่คิด เพราะทำงานมาเป็นเดือนจะสัมฤทธิ์ผลก็ตอนนี้เอง ยิ่งทราบว่าช้างจำนวนที่เดินทางมามากก็ยิ่งดีอกดีใจเป็นทวีคูณ ช่วยกันตรวจความเรียบร้อยของคอกทั้งอุปกรณ์ที่จะใช้ เช่น ปลอก หวาย ไต้ เมื่อถึง เวลาเย็นต่างก็รับประทานให้เรียบร้อยทุกคน แล้วดับไฟให้หมดอย่าให้มีแสงให้เห็นเป็นการพรางตาช้าง ทุกคนเข้าประจำหน้าที่ หมอเฒ่าก็ขึ้นประจำที่ห้างลาด พวกห้างราย ห้างดอกศร ห้างทูด ห้างหูเกียง ก็ไปประจำหน้าที่ พวกกองช่วยก็รออยู่ที่ปีกขาไต้
พอเหลือระยะทางที่ช้างต้องเดิน ๒-๓ กิโลเมตรจะถึงคอก พวกกองไล่จะยิงปืนให้สัญญาณขึ้น ๒ นัด พวกกองช่วยจะออกมาช่วยล้อมโขลงช้างให้หนาแน่นยิ่งขึ้น การล้อมตอนนี้จะล้อมเฉย ๆ ให้ฝูงช้างหากินไปตามสบาย รอเวลาให้ตกกลางคืนจึงต้อนให้ช้างเข้าคอก ถ้าตอนกลางคืนฝนตก จุดไต้หลกไม่ได้ ก็ต้องล้อมไว้รอคืนของวันรุ่งขึ้น เมื่อตกค่ำเป็นเวลาที่จะต้องตัดสินใจไล่ช้างเข้าคอก พวกกองไล่ก็จะจุดไต้ขึ้น ๓ ด้าน ปล่อยด้านหน้าให้มืดไว้แล้วเป่าลูกร้อง โขลงช้างจะเดินไปทางที่ไม่มีไฟและเสียงตอนนี้พวกกองไล่ก็จะทำงานกันหนักมาก เมื่อโขลงช้างเดินเข้าไปในเขตขาทรายไต้ คนงานห้างดอกศรจะลงมาจุดไต้ไม่ให้ช้างกลับหลัง คนงานห้างรายทั้งสองข้างขาทรายไต้ก็จะจุดไต้หลกขนานกันไปกับโขลงช้าง (ต้องระวังไม่จุดไต้หลกก่อนที่ช้างจะผ่านไปถึง) ทั้งช่วยกันทำเสียงไม่ให้ช้างแหกขาทรายออกไป พอช้างเดินเข้าปีกกาของขาทรายอ่อนหรือหูเกียง แต่ละจุดจะจุดประทัดเมื่อช้างผ่านเป็นการเร่งช้าง พอช้างเดินเข้าปีกกาของขาทรายแข็งซึ่งเป็นงานสำคัญขั้นสุดท้าย คนงานที่ประจำห้างทูด ก็จะจุดทิ้งลูกไฟหรือจุดประทัดทั้งตับทิ้งลงมา เพื่อให้ช้างตกใจวิ่งเข้าสู่ประตูคอกเมื่อทิ้งลูกไฟลงมาแล้วจะต้องลงมาจุดไต้หลกสกัดไว้อีก ตอนนี้ช้างจะตกใจไม่รู้อะไรเป็นอะไร จะพากันวิ่งเข้าสู่ประตูคอก เสียงลูกเฟืองจะแตกดัง เมื่อช้างตัวแรกและตัวต่อมาเหยียบลูกเฟืองช้างเหล่านั้นก็จะหันกลับมา เดินสวนทางกับช้างที่กำลังเข้าคนละฝ่ายคอก พวกที่หมุนตัวออกจะมุ่งเดินเข้าไปในซองของประตูข้างที่ตรงกันข้ามกับทางที่เดินเข้า ในขณะที่ช้างตัวแรกหมุนตัวกลับมานี้กว่าจะเข้าชนซองด้านในประตู หมอเฒ่าก็แกว่งไม้ ที่ห้อยไว้ที่ริมนางโยง เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีช้างขวางประตู ถ้ามีก็ต้องแก้ปัญหาให้เร่งเข้า เมื่อเป็นที่แน่ใจว่าประตูสามารถปิดได้ปกติ ต่อแต่นั้นจึงเริ่มสับกุมพัด ประตูก็ปิดลงทันที หมอเฒ่าก็ตีเหลาะ (ดู เหลาะ) เพื่อส่งสัญญาณให้ทุกคนทราบ เมื่อได้ยินเสียงเหลาะ ทุกคนก็ทราบได้ทันทีว่าหน้าที่ที่ทำอยู่เดิม หมดความจำเป็นแล้ว ทุกคนต่างก็จุดไต้มัดวิ่งมารวมกันที่คอก
เมื่อฝูงช้างเข้าคอกแล้วต่างก็ส่งเสียงแผดเสียงดิ้นและดันคอกเอาหัวและลำตัวเข้าชน เอางวงเข้าไขว่คว้า ดึงทุก ๆ อย่างที่อยู่ใกล้ตัว เสียงคอกและเสียงหวายดังอี๊ดอ๊อด เหมือนจะทานกำลังช้างไม่ไหว ดังเขยื้อนไปทั้งคอก ทุกคนจะช่วยกันระดมจุดไต้มัดสว่างพรึบไปหมดเหมือนกลางวัน แล้วช่วยกันหยิบไม้ทะลวงทิ่มแทงไม่ให้ช้างพังคอก ช้างเมื่อพังคอกไม่ได้ก็หันมาอาละวาดกันเอง เหยียบย่ำแทงกัน บ้างก็ตกใจขี้เยี่ยวราด และค่อยอ่อนแรงสงบไปเอง คนงานก็เอาเชือกบ่วงซึ่งเรียกว่า “เชือกบาศ” หรือ “เชือกปะกำ” คล้องเท้าช้าง แล้วผูกยึดกับหลักแม่ไพหรือขอนไม้ที่เรียงไว้รอบนอกของคอก ต่อมาเอาหวายทามคอ (ผูกที่คอ) ผูกติดไว้กับหลักแม่ไพอีกด้วย การตกบาศและทามช้าง ทำกับช้างพลายตัวใหญ่มาหาช้างเล็ก เพราะช้างพลายมักทำร้ายตัวอื่น ๆ แล้วต่อมาทำกับช้างพัง ตอนนี้คนทั้งหมดต้องทำงานหนักขนาดตัวตายไม่คิด ด้วยความระโหยโรยแรง
รุ่งขึ้นจัดการรื้อท้ายคอก แล้วนำช้างต่อมาผูกหางไม่ให้วี เพื่อกันช้างป่ากัด นำเข้าทามช้างในคอกนำออกมาทีละเชือก ถ้าช้างใหญ่กำลังมากก็ต้องใช้ช้างทามถึง ๒เชือก ช้างป่าที่พาออกมาจากคอกจะต้องตกปลอกขาทั้งสอง และทามคอไว้กับต้นไม้ใกล้ห้วยซึ่งอยู่หลังคอกให้ช้างป่าพักอยู่ใต้ต้นไม้ รอเจ้าพนักงานที่จะมาตรวจและตีราคาคิดค่าภาคหลวง
การตรวจและตีราคาภาคหลวง เมื่อช้างป่าเข้าคอกแล้ว นายคอกจะต้องแจ้งให้เจ้าพนักงานที่ว่าการอำเภอทราบโดยเร็ว ทางอำเภอจะได้รายงานให้ทางจังหวัดทราบ ทางจังหวัดก็แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ออกมาร่วมด้วยเจ้าหน้าที่อำเภอร่วมกันไปตีราคา การตีราคาภาคหลวงช้างขั้นแรกเจ้าหน้าที่ต้องตรวจดูช้างที่ต้องห้ามตามกฎหมายก่อน คือ ช้างที่ต้องตกเป็นของหลวงหรือของแผ่นดินกันไว้ส่วนหนึ่งและช้างประเภทที่ต้องห้ามจะต้องปล่อยเข้าป่าตามเดิมสำหรับลูกช้างถ้าเล็กเกินไปจะปล่อยไปก็ตายให้ประมูลขายไป เนื่องจากช้างที่ได้มาใหม่การตรวจจะทำได้ไม่ง่ายนัก เจ้าหน้าที่จะต้องให้เจ้าของคอกเตรียมช้างต่อไว้ ถ้าเจ้าหน้าที่ตรวจดูโดยใช้ช้างต่อเป็นพาหนะหรือมีผู้คุ้มกัน ช้างใดที่จะต้องปล่อยเข้าป่าให้ช้างต่อนำไปไกลแล้วตัดปลอกและเชือกล่ามแล้วทำเสียงไล่ช้างก็วิ่งเข้าป่าไปเลย การตีค่าภาคหลวงเคยชักเอาช้าง ๕ เชือกต่อ ๑ เชือก ต่อมาตีราคาช้างครั้งละเชือก แล้วนำมารวมกันเอา ๕ หาร เป็นค่าภาคหลวง ราคานี้ต้องตีราคาปานกลาง ช้างที่ตีค่าภาคหลวงแล้วต้องจดตำหนิ รูปพรรณ เพศ ชื่องาหรือขนายเล็บเท้าช้างนั้น จะตกลงให้เป็นของผู้ใด ผู้นั้นต้องไปชำระค่าภาคหลวงที่ที่ว่าการอำเภอ ส่วนการทำตั๋วรูปพรรณสัตว์จะทำเมื่อฝึกชำนาญและใช้งานได้แล้ว สำหรับช้างอุทามจะสังเกตท่าทางของช้างได้และจะมีแผลเป็นรอยตกปลอกมาก่อนแล้ว
การหัดช้าง ช้างป่าที่ได้มาใหม่ ๆ ช้างย่อมฉุนเฉียว เพราะถูกจำกัดเสรีภาพ จึงต้องใช้บาศเชือกผูกเท้าทั้งหมดและเชือกทามที่คอ แล้วนำไปมัดกับต้นไม้ ตลอดเวลาที่ฝึกหัดเจ้าของจะต้องราดน้ำให้ชุ่ม อยู่เสมอ เมื่อหายทุรนทุรายแล้วจึงเริ่มหัดเอาช้างต่อมาเทียมด้วยเชือกทาม ส่วนที่ผูกไว้กับต้นไม้มาผูกกับช้างต่อแล้วนำลงอาบน้ำกินหญ้า ต่อมาเจ้าของหาหญ้ามาให้กินแล้วลูบ ๆ คลำ ๆ จนช้างเริ่มเชื่องเข้าจึงเริ่มหัดให้ใช้เท้าตามบังคับอันนี้เป็นการหัดครั้งแรกที่ยังจะต้องใช้ช้างต่อบังคับเคียงข้าง แล้วค่อยหัดให้เดินตามหลังช้างต่อ การหัดตอนนี้ใช้เวลาราว ๓ เดือนจึงสามารถขึ้นขี่ได้ ขั้นต่อไปเป็นการหัดหมอบ หัดลุกงอขาหน้าเอางวงจับเชิงใส่ปลอกหักกิ่งไม้ขวางทางการหัดขั้นนี้ใช้เวลาอีกราว ๓ เดือน ขั้นสุดท้ายคือการหัดใช้งาน ได้แก่ การหัดลากไม้ ลากซุง และทำงานต่าง ๆ เท่าที่ช้างจะพึงทำได้ (สนิท พลเดช, สมพงษ์ นาควิเชียร)