จางวาง
จางวาง เป็นตำแหน่งยศข้าราชการในสมัยก่อน ตำแหน่งจางวางที่ใช้ในภาคกลางและโดยทั่วไป ได้แก่ ตำแหน่งยศข้าราชการชั้นสูงในกรมมหาดเล็ก ตำแหน่งผู้กำกับการ ตำแหน่งหัวหน้าข้ารับใช้ ของเจ้านายชั้นบรมวงศ์หรือทรงกรม
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีธรรมเนียมโปรดเกล้าฯ เลื่อนข้าราชการผู้ใหญ่ซึ่งจะรับราชการกวดขันต่อไป ไม่ได้ขึ้นเป็นจางวางเช่นเมื่อพระยานครศรีธรรมราช ผู้สำเร็จราชการเมืองนครศรีธรรมราชและพระยาวิเชียรคิรี ผู้ว่าราชการเมืองสงขลาซึ่งต่างเคยรับราชการสนองพระเดชพระคุณโดยเต็มกำลัง ครั้นต่อมาถึง ร.ศ. ๑๒๐ (พ.ศ. ๒๔๔๔) กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ทรงเห็นว่าข้าราชการทั้ง ๒ นายขาดกำลังและความสามารถที่จะรับราชการได้เต็มหน้าที่ ทรงกราบบังคมทูลฯ ให้โปรดเกล้าฯ ยกพระยานครศรีธรรมราช และพระยาวิเชียรคิรีเป็นจางวางกำกับราชการเมืองนครศรีธรรมราช และเมืองสงขลา ตามลำดับ เลื่อนยศพระยานครศรีธรรมราชขึ้นเป็นเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี เลื่อนยศพระยาวิเชียรคีรีขึ้นเป็นเจ้าพระยาวิเชียรคีรีโดยให้รับพระราชทานเบี้ยบำนาญเลี้ยงชีพ ให้พระยานครศรีธรรมราชได้รับพระราชทานปีละ ๖,๐๐๐ บาท พระยาวิเชียรคิรีปีละ ๘,๐๐๐ บาท มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ทั้ง ๒ เป็นพระยาจางวาง เมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ร.ศ. ๑๒๐ แล้วโปรดเกล้าฯ ให้พระยาสุนทราธรธุรกิจมารับตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองนครศรีธรรมราช และโปรดเกล้าฯ ให้พระยาชลบุรานุรักษ์เป็นผู้ว่าราชการเมืองสงขลาการเป็นพระยาจางวางนั้น พระยาจางวางมีฐานะพ้นจากราชการเปรียบได้กับเป็นข้าราชการบำนาญ แต่ถ้าจะช่วยปฏิบัติราชการพิเศษก็ย่อมได้ ดังปรากฏตามรายงานของเสนาบดี กระทรวงมหาดไทยที่ ๑๒๙๙/๑๒๔๐๗ ลงวันที่ ๒๐ มีนาคม ร.ศ. ๑๒๐ ตอนหนึ่งว่า “ในส่วนตัวพระยาวิเชียรคิรี ถึงแม้ว่าได้โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนเป็นจางวางแล้ว พระยาวิเชียรคิรียังมีความเต็มใจจะช่วยราชการกับพระยาสุขุมนัยวินิตอยู่เสมอ พระยาสุขุมนัยวินิตเห็นด้วยเกล้าฯ ว่า ซึ่งพระยาวิเชียรคิรียังมีความเอื้อเฟื้อต่อราชการดังนี้เปนการสมควรยิ่ง”
สำหรับหัวเมืองมลายู ชาวมลายูถือกันว่าการที่ทรงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งเป็น “จางวาง” เท่ากับทรงตั้งเป็น “สุลต่าน” ถ้าทรงตั้งเป็นเจ้าเมืองถือกันว่าเป็นแต่ “รายา” จึงพอใจจะเป็นจางวาง ด้วยเหตุนี้การโปรดเกล้าฯ ตั้งเป็นจางวางสำหรับในหัวเมืองมลายูนั้น ผู้ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งยังคงว่าราชการเมืองอยู่อย่างเดิม ตัวอย่างเช่นเมื่อพระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสแหลมมลายูเมื่อ ร.ศ.๑๑๗ (พ.ศ.๒๔๔๑) เมื่อเรือพระที่นั่งทอดอยู่หน้าเมืองกลันตัน พระยากลันตัน รายามุดา พะยารัษฎาบดีบุตร ลงมาเฝ้า ได้โปรดเกล้าฯ ให้สัญญาบัตรพระยากลันตันเป็นพระยาเดชานุชิตจางวาง โดยที่พระยาเดชานุชิตจางวางยังคงเป็นผู้ว่าราชการเมืองกลันตันอยู่อย่างเดิม (สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์)